ความแค้นในอดีตของคนพวกนี้ ร้อยปีก็ไม่เคยหายไป
ยังพกไว้แน่นออกครับ
เงี้ยวก่อจลาจล มณฑลพายัพ 100 ปีที่แล้ว
มติชนรายวัน ฉบับประจำวันอังคารที่ 19 เมษายน 2554
25 กรกฎาคม 2445 เงี้ยวปล้นเมืองแพร่
เงี้ยว แปลว่างู (ตรงกันกับคำว่า เงือก, งึม) หมายถึงไทยใหญ่ (ไทยหลวง) อยู่ลุ่มน้ำสาละวิน (ลาวเรียกน้ำคง) ทางภาคเหนือของพม่า
ไทยสยามเรียกพวกไทยใหญ่เป็นลาว ว่าลาวพุงดำ เพราะสักลายตั้งแต่เอวลงไปถึงขา
หนังสือครบรอบ 100 ปี เหตุการณ์เงี้ยวก่อการจลาจล ในมณฑลพายัพ พ.ศ. 2445โดย พระธรรมวิมลโมลี และ เกรียงศักดิ์ ชัยดรุณ เล่าเรื่องเงี้ยวปล้นเมืองแพร่ว่า
“พวกเงี้ยวได้ประกาศว่าจะไม่ทำร้ายชาวลาวกับชาวต่างชาติ แต่จะทำร้ายเฉพาะชาวสยามเท่านั้นไม่เว้นแม้จะเป็นเด็กหรือผู้หญิงก็ตาม”
“ความเคียดแค้นชิงชังของพวกเงี้ยวที่มีต่อชาวสยาม มาจากปัญหาการไม่ได้รับความเป็นธรรมที่ข้าราชการสยามได้ปฏิบัติต่อพวกเงี้ยวมาเป็นเวลานานและปัญหานี้ไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาลกลาง กลับปล่อยให้ข้าราชการท้องถิ่นใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ จนสร้างความเดือดร้อนให้แก่พวกเงี้ยวและคนลาว ไม่ว่าเช่นกรณีออกกฎระเบียบกีดกันพวกเงี้ยวในการเดินทางหรือจำกัดสิทธิบางอย่างที่เคยมีแต่เดิม การเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงการถูกรีดไถจากข้าราชการท้องถิ่น ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ไม่ต่างกับระเบิดเวลาที่รอวันปะทุ เมื่อถึงเวลาจึงกลายเป็นปฏิกิริยาโต้ตอบอย่างรุนแรงด้วยอารมณ์โกรธแค้นชิงชังอย่างสุดลิ่ม”
พลิกแฟ้มคดีดัง :107 ปี กบฏเงี้ยวเมืองแพร่
คมชัดลึก
ทุกวันที่ 25 กรกฎาคมของทุกปี จะมีพิธีวางพวงมาลาสดุดีวีรกรรมพระยาไชยบูรณ์ (ทองอยู่ สุวรรณบาตร) ที่อนุสาวรีย์บนถนนยันตรกิจโกศล ต.นาจักร อ.เมือง จ.แพร่ ข้าหลวงเมืองแพร่ที่ถูก "กบฏเงี้ยวเมืองแพร่" ประหารชีวิตเมื่อ 107 ปีก่อน

ปฐมบทของเรื่องนี้เกิดเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2445 เวลา 7 โมงเช้า เงี้ยวซึ่งมีพะกาหม่องและสะลาโปไชยเป็นหัวหน้าโจร ได้นำสมุนราว 50 คนบุกเมืองแพร่ด้านประตูชัย จู่โจมสถานีตำรวจซึ่งมีกำลังพลอยู่แค่ 12 คน จึงไม่สามารถต้านทานได้ กองโจรเงี้ยวปลดอาวุธตำรวจแล้วพากันโจมตีที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข ตัดสายโทรเลข และทำลายอุปกรณ์สื่อสาร ก่อนจะมุ่งหน้าไปบ้านพักข้าหลวงเมืองแพร่ "พระยาไชยบูรณ์" แต่ท่านข้าหลวงได้พาครอบครัวพร้อมคุณหญิงเยื้อนภริยาหลบหนีออกจากบ้านไปก่อนหน้าแล้ว
โจรเงี้ยวจึงบุกปล้นทรัพย์สินและสังหารคนใช้ ทำลายคลังหลวงและกวาดเงินสดไป ปล่อยนักโทษในเรือนจำและติดอาวุธให้บรรดานักโทษ จนมีกำลังสนับสนุนเพิ่มขึ้นเป็น 300 คน ราษฎรเมืองแพร่ต่างตื่นตกใจพากันอพยพไปอยู่นอกเมือง แต่กองโจรประกาศให้อยู่ในความสงบ และยืนยันจะไม่ทำร้ายชาวบ้าน ยกเว้นคนไทยภาคกลางที่มาปกครองเมืองแพร่ ราษฎรบางส่วนจึงเข้าร่วมกับกองโจรเงี้ยว จนมีกำลังเข้มแข็งยิ่งขึ้น
พระยาไชยบูรณ์ตรงไปยังคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ "พระยาพิริยวิไชย" หวังพึ่งกำลังเข้าตีโต้ แต่ได้รับการปฏิเสธเนื่องจากไม่มีทั้งกำลังคนและอาวุธ พระยาไชยบูรณ์จึงหนีออกจากเมืองแพร่ไปทางบ้านมหาโพธิ์ หวังไปขอกำลังจากเมืองอื่นมาปราบปรามในภายหลัง
พอตกสายวันที่ 25 กรกฎาคม กองโจรเงี้ยวก็สามารถยึดเมืองแพร่ได้เบ็ดเสร็จ พะกาหม่องและสะลาโปโชยตรงไปคุ้มเจ้าหลวง เชิญเจ้าเมืองแพร่ปกครองบ้านเมืองตามเดิม โดยให้เจ้าเมืองแพร่และบุตรหลานทำพิธีถือน้ำสาบาน มีพระยาพิริยวิไชยเป็นประธาน ร่วมด้วยเจ้าราชบุตร เจ้าไชยสงคราม และเจ้านายบุตรหลานคนอื่นๆ รวม 9 คน ตกลงว่าจะร่วมกันต่อต้านกองทัพรัฐบาล โดยกองโจรเงี้ยวเป็นกองหน้า ส่วนเจ้าเมืองเป็นกองหลังคอยส่งกำลังสนับสนุน
วันรุ่งขึ้นกองโจรเงี้ยวออกตามล่าข้าราชการฝ่ายไทยและคนไทยภาคกลาง พร้อมประกาศตั้งรางวัลนำจับพระยาไชยบูรณ์และพระเสนามาตย์ ยกกระบัตรเมืองแพร่ คนละ 5 ชั่ง วันที่ 27 กรกฎาคม พระยาไชยบูรณ์ซึ่งอดอาหารมา 3 วัน 2 คืน ซ่อนตัวอยู่บนต้นข่อยกลางทุ่งนาใกล้หมู่บ้านร่องอากาศได้ออกจากที่ซ่อนมาขออาหารชาวบ้าน หนานวงศ์ราษฎรบ้านร่องอากาศจึงนำความไปแจ้งพะกาหม่องเอาเงินรางวัล พะกาหม่องนำกำลังไปล้อมจับและนำตัวกลับเมืองแพร่
ตลอดการเดินทางมีการบังคับขู่เข็ญต่างๆ นานา ขณะที่พระยาไชยบูรณ์ก็ท้าทายให้โจรเงี้ยวฆ่า เมื่อมาถึงร่องกวางเคาโจรเงี้ยวจึงลงมือฆ่าพระยาไชยบูรณ์ พร้อมด้วยพระเสนามาตย์ ยกกระบัตรศาล หลวงวิมล ข้าหลวงผู้ช่วย ขุนพิพิธ ข้าหลวงคลัง และนายเฟื่อง ผู้พิพากษา นายแม้น อัยการ นายอำเภอ ปลัดอำเภอ และสมุห์บัญชีอำเภอต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก นับเป็นการเข่นฆ่าข้าราชการไทยครั้งใหญ่ในภาคเหนือ ปัจจุบันที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์พระยาไชยบูรณ์ด้วย
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นรัฐบาลจึงส่งกองทัพจากเมืองใกล้เคียง ทั้งพิชัย สวรรคโลก สุโขทัย ตาก น่าน และเชียงใหม่เข้าปราบปรามโจรเงี้ยวเมืองแพร่ และมอบหมายให้พระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) ยกทัพหลวงขึ้นไปปราบปรามและสอบสวน โดยให้ถือว่าผู้ปฏิบัติการทั้งหมดเป็นกบฏเรียกว่า "กบฏเงี้ยวเมืองแพร่"
ส่วนกองโจรเงี้ยวเมื่อก่อกบฏสำเร็จก็ไม่ได้ตระเตรียมกำลังป้องกัน กระทั่งวันที่ 1 สิงหาคม 2445 เมื่อทราบข่าวกองทัพรัฐบาลจะยกมาปราบปราม จึงแบ่งกำลังออกเป็น 2 กอง กองหนึ่งนำโดยสะลาโปไชยยกไปขัดตาทัพที่ด้านใต้ ส่วนอีกกองนำโดยพะกาหม่องยกไปด้านตะวันตกตีนครลำปาง เพื่อใช้เป็นฐานที่มั่น แต่นครลำปางที่รู้ตัวล่วงหน้าได้เตรียมกำลังไว้ป้องกัน เป็นเหตุให้พะกาหม่องพลาดท่าถูกยิงเสียชีวิต ส่วนกองโจรแตกพลัดพรายหายไป
การประหัตประหารของกองทัพฝ่ายรัฐบาลกับเงี้ยวดำเนินไปจนถึงวันที่ 11 สิงหาคม สุดท้ายกองโจรเงี้ยวก็ต้านทานต่อไปไม่ไหว แตกกระจัดกระจายไม่อาจรวมกันได้ติด อีก 3 วันถัดมาพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพ เนติโพธิ์) ผู้ว่าราชการเมืองพิชัย พร้อมกำลังก็ยึดเมืองแพร่ได้สำเร็จ
ต่อมาเมื่อเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีนำทัพหลวงถึงเมืองแพร่ ลงมือไต่สวนความผิด โดยขั้นแรกสั่งจับตัวหนานวงศ์มาประหารชีวิต ตามด้วยจับพญายอด ผู้นำกำลังจับหลวงวิมลมาประหารชีวิตตามติดไปอีกหนึ่ง การไต่สวนดำเนินไปตามนโยบายของกรมหลวงดำรงราชานุภาพ ที่ทรงกำชับไม่ให้ตั้งข้อสงสัยหรือกล่าวหาเจ้าเมืองแพร่และเจ้านายบุตรหลานล่วงหน้า
ทว่าเมื่อการสอบสวนดำเนินไปก็พบหลักฐานต่างๆ ผูกมัดเจ้าเมืองแพร่และเจ้านายบางคน เช่น เจ้าราชบุตร เจ้าไชยสงคราม แต่ก่อนจะชำระความผิด เจ้าราชวงศ์และภริยาเกรงความผิดจึงดื่มยาพิษฆ่าตัวตายเสียก่อน
การกระทำอัตวินิบาตกรรมข้างต้น ส่งผลให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเกรงว่าจะเป็นการสร้างความเข้าใจผิดว่า รัฐบาลกระทำการรุนแรงต่อเจ้านายเมืองแพร่ ครั้นจะสืบหาพยานต่อไปหลักฐานก็จะผูกมัดเจ้าเมืองแพร่และบุตรหลาน ในที่สุดก็ต้องถูกประหารชีวิตในข้อหากบฏ หากเป็นเช่นนี้ย่อมกระทบกระเทือนใจเจ้านายเมืองเหนือทุกเมือง ด้วยต่างเกี่ยวพันฉันญาติผู้สืบสายราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนด้วยกัน ทั้งยังสร้างความสะเทือนใจแก่ราษฎรทั้งหลายในล้านนา
ดังนั้น เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีจึงหาทางออกอย่างละมุนละม่อม ด้วยการปล่อยข่าวว่าจะมีการจับกุมเจ้าเมืองแพร่และเจ้านาย พอตกดึกเจ้าเมืองแพร่พร้อมคนสนิทก็หลบหนีออกจากเมืองแพร่ โดยเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีมีคำสั่งลับ มิให้กองทหารที่ตั้งสกัดรอบเมืองขัดขวาง ทำให้การหลบหนีครั้งนี้เป็นไปอย่างสะดวก จนถึงหลวงพระบางอย่างปลอดภัย
เมื่อเจ้าเมืองแพร่หนีไปได้ 15 วัน ถือเป็นการละทิ้งหน้าที่ราชการ เปิดโอกาสให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีออกคำสั่งถอดเจ้าพิริยวิไชยออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองแพร่ อายัดทรัพย์ชดใช้หนี้หลวง ส่วนความผิดฐานร่วมกันก่อกบฏให้ระงับไป ไม่มีการรื้อฟื้นขึ้นอีก สำหรับเจ้าพิริยวิไชยเจ้าเมืองแพร่คนสุดท้าย ได้ใช้ชีวิตบั้นปลายที่หลวงพระบางจนถึงแก่พิราลัย
นับแต่นั้นเป็นต้นมา ทุกวันที่ 25 กรกฎาคมของทุกปีจึงมีพิธีวางพวงมาลาสดุดีวีรกรรมพระยาไชยบูรณ์ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
ปูม 'เงี้ยว'
"เงี้ยว" เป็นชนเผ่าไทชนเผ่าหนึ่งอาศัยอยู่ตามพื้นที่สูงบนเขา บางส่วนย้ายรกรากมาตั้งถิ่นฐานทางภาคตะวันออกของพม่า ดินแดนทางใต้มีพื้นที่ติดต่อกับล้านนาของไทย ปี 2428 อังกฤษเข้ายึดพม่าและรวมเอาดินแดนเงี้ยวไว้กับอินเดีย ตามประวัติศาสตร์เงี้ยวจึงถูกควบคุมโดยชาติใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็น จีน พม่า หรืออังกฤษ
ตลอดระยะเวลากว่าศตวรรษเงี้ยวจึงต้องกรำศึกสงครามไม่ว่างเว้น ทั้งศึกน้อยศึกใหญ่ ทั้งคะฉิ่น กะเหรี่ยง ตลอดจนรบแย่งชิงอำนาจกันเอง สถานการณ์เริ่มสงบหลังอังกฤษเข้ายึดครอง ขณะเดียวกันก็เริ่มเข้ามาค้าขายกับไทยผ่านพม่าเข้ามาทางภาคเหนือออกหลวงพระบางและยูนนาน กระทั่งมีเงี้ยวบางส่วนตกค้างทำมาหากินอยู่ในประเทศไทย
เวลานั้นภาคเหนือของไทยยังสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้ บริษัทต่างชาติจากอังกฤษเข้ามาทำธุรกิจค้าไม้ โดยจ้างเงี้ยวเป็นผู้แผ้วถางป่า ต่อมาผู้ครองแคว้นต่างๅ ได้ยุยงให้เงี้ยวแข็งข้อขึ้นเรื่อยๆ
