2.2.2 ในกรณีที่มีการเพิกถอนนิติกรรมทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะกำหนดให้การเพิกถอนมีผลย้อนหลังหรือไม่ย้อนหลังหรือมีผลไปในอนาคต นั้น ในระบบกฎหมายปกครองของต่างประเทศ (เช่น ในประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส) มีวิวัฒนาการดังนี้
(1) แต่เดิม ศาลปกครองของของฝรั่งเศสจะถือเคร่งครัดว่า นิติกรรมทางปกครองใดที่ศาลวินิจฉัยว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลจะเพิกถอนนิติกรรมทางปกครองนั้นโดยให้การเพิกถอนมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่นิติกรรมทางปกครองดังกล่าวมีผลใช้บังคับโดยยึดถือตามหลักการที่ว่าการกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมาย และเป็นหน้าที่ของหน่วยงานทางปกครองที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลที่ให้เพิกถอนโดยให้มีผลย้อนหลัง ซึ่งก็คือการย้อนเวลากลับไปในอดีตโดยถือเสมือนหนึ่งว่าไม่เคยมีการออกนิติกรรมทางปกครองที่ถูกศาลเพิกถอนมาก่อน เช่น ในกรณีที่ศาลเพิกถอนประกาศผลการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ หรือในกรณีที่ศาลเพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัยข้าราชการหรือคำสั่งให้ข้าราชการออกจากราชการด้วยเหตุอื่นโดยให้การเพิกถอนมีผลย้อนหลัง หน่วยงานทางปกครองก็จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลโดยการจัดให้มีการสอบแข่งขันใหม่หรือโดยการดำเนินการให้ข้าราชการที่ถูกสั่งให้ออกจากราชการได้กลับคืนสู่สถานภาพเดิม โดยจะต้องคืนตำแหน่ง เงินเดือน สิทธิในการเลื่อนขั้นเงินเดือน สิทธิในการเลื่อนระดับตำแหน่ง อายุราชการ ฯลฯ ทั้งนี้ โดยพิจารณาตามกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น
(2) ต่อมา ศาลปกครองของฝรั่งเศสได้ยอมรับว่า หน้าที่ของหน่วยงานทางปกครองที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลที่ให้เพิกถอนนิติกรรมทางปกครองโดยให้มีผลย้อนหลังโดยการดำเนินการให้ผู้ฟ้องคดีที่ชนะคดีได้กลับคืนสู่สถานภาพเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการดำเนินการให้ผู้ที่ถูกสั่งให้ออกจากราชการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ได้กลับเข้ารับราชการนั้น อาจกระทำได้แต่เพียงในทางนิตินัยเท่านั้น มิได้หมายความว่า หน่วยงานทางปกครองมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้ผู้นั้นได้กลับเข้ารับราชการในทางพฤตินัยจริงๆ ทั้งนี้ เนื่องจากในระหว่างการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลซึ่งอาจใช้เวลานานหลายปี ผู้ฟ้องคดีอาจจะขาดคุณสมบัติที่จะกลับเข้ารับราชการได้แล้ว เช่น ผู้ฟ้องคดีมีอายุเกินกำหนดหรือมีปัญหาเจ็บป่วยหรือทุพพลภาพ เช่นนี้ การดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลก็คือการดำเนินการในทางนิตินัย โดยการคืนสิทธิอันพึงมีพึงได้ให้แก่ผู้ฟ้องคดีเท่าที่ยังสามารถดำเนินการให้ได้อยู่ (เช่น เงินเดือนสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่อาจคำนวณเป็นเงินได้) และโดยการชดเชยความเสียหายเป็นเงินให้แก่ผู้ฟ้องคดีแทนการดำเนินการในทางพฤตินัย
นอกจากนี้ ในกรณีที่ผู้ฟ้องคดียังมีคุณสมบัติที่จะกลับเข้ารับราชการได้ ก็มิได้หมายความว่า หน่วยงานทางปกครองจะต้องดำเนินการให้ผู้ฟ้องคดีได้กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิมเสมอไป ทั้งนี้ เนื่องจากในระหว่างการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล ในตำแหน่งเดิมที่ผู้ฟ้องคดีเคยครองอยู่ ก็ย่อมมีการแต่งตั้งบุคคลอื่นให้ดำรงตำแหน่งแทนผู้ฟ้องคดีไปแล้วหลายคน ดังนั้น หน่วยงานทางปกครองจึงอาจแต่งตั้งให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้าสู่ตำแหน่งที่มีลักษณะเหมือนกันหรือตำแหน่งที่เทียบเท่าได้ โดยมีข้อยกเว้นสำหรับตำแหน่งผู้พิพากษาหรือตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงานบางหน่วยงานที่มีลักษณะเฉพาะ
(3) โดยที่การที่ศาลปกครองเพิกถอนนิติกรรมทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยให้การเพิกถอนมีผลย้อนหลังอาจมีผลกระทบต่อหลักความมั่นคงทางนิติฐานะและการคุ้มครองสิทธิของบุคคลซึ่งสุจริต ตลอดจนส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินในวงกว้างได้ ดังนั้น นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา ศาลปกครองของฝรั่งเศสจึงปรับเปลี่ยนแนวคำวินิจฉัยเดิมที่เคยถือเคร่งครัดว่าจะต้องเพิกถอนโดยให้มีผลย้อนหลังเสมอ เป็นให้มีข้อยกเว้นได้ในกรณีที่การเพิกถอนนิติกรรมทางปกครองโดยให้มีผลย้อนหลังจะส่งผลกระทบที่รุนแรงเกินขนาดอย่างชัดแจ้งและก่อให้เกิดผลที่ตามมาซึ่งไม่ได้สัดส่วนกับความไม่ชอบด้วยกฎหมายของนิติกรรมทางปกครองนั้น ในกรณีเช่นว่านี้ ศาลปกครองอาจเพิกถอนนิติกรรมทางปกครองนั้นโดยให้การเพิกถอนมีผลไปในอนาคตได้ ทั้งนี้ เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อผลทางกฎหมายของนิติกรรมทางปกครองนั้นที่ได้เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่วันที่นิติกรรมทางปกครองนั้นได้มีผลใช้บังคับมาจนถึงวันที่ศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอน นอกจากนี้ ในกรณีที่ศาลปกครองเพิกถอนนิติกรรมทางปกครองที่ได้ออกมาโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ศาลปกครองก็อาจกำหนดให้การเพิกถอนมีผลไปในอนาคตได้ ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงานทางปกครองได้มีโอกาสและเวลาไปดำเนินการจัดทำนิติกรรมทางปกครองในเรื่องนั้นใหม่โดยดำเนินการให้ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ในระบบกฎหมายปกครองของต่างประเทศนั้นการเพิกถอนนิติกรรมทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ศาลปกครองไม่จำเป็นต้องเพิกถอนโดยให้มีผลย้อนหลังเสมอไป โดยศาลปกครองอาจเพิกถอนโดยให้มีผลไปในอนาคตก็ได้ในกรณีที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น
------------------------------
2.2.3 ในระบบกฎหมายปกครองของไทย มีการบัญญัติไว้อย่างชัดเจนในกฎหมาย 2 ฉบับว่า การเพิกถอนนิติกรรมทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจะให้มีผลย้อนหลังหรือไม่ย้อนหลังหรือมีผลไปในอนาคตถึงขณะใดขณะหนึ่งก็ได้ ดังนี้คือ
(1) พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
“ มาตรา 50 คำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอาจถูกเพิกถอนทั้งหมดหรือบางส่วนโดยจะให้มีผลย้อนหลังหรือไม่ย้อนหลังหรือมีผลในอนาคตไปถึงขณะใดขณะหนึ่งตามที่กำหนดได้ แต่ถ้าคำสั่งนั้นเป็นคำสั่งซึ่งเป็นการให้ประโยชน์แก่ผู้รับ การเพิกถอนต้องเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 51 และมาตรา 52”
“มาตรา 51 การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นการให้เงินหรือให้ทรัพย์สินหรือให้ประโยชน์ที่อาจแบ่งแยกได้ ให้คำนึงถึงความเชื่อโดยสุจริตของผู้รับประโยชน์ในความคงอยู่ของคำสั่งทางปกครองนั้นกับประโยชน์สาธารณะประกอบกัน ฯลฯ”
(2) พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
“มาตรา 72 ในการพิพากษาคดี ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ (1) สั่งให้เพิกถอนกฎหรือคำสั่งหรือสั่งห้ามการกระทำทั้งหมดหรือบางส่วน ในกรณีที่มีการฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) ฯลฯ ฯลฯ
ในการมีคำบังคับตามวรรคหนึ่ง (1) ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดว่าจะให้มีผลย้อนหลังหรือไม่ย้อนหลังหรือมีผลไปในอนาคตถึงขณะใดขณะหนึ่งได้ หรือจะกำหนดให้มีเงื่อนไขอย่างใดก็ได้ ทั้งนี้ ตามความเป็นธรรมแห่งกรณี ฯลฯ ฯลฯ”
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ในระบบกฎหมายปกครองของไทยนั้น การเพิกถอนนิติกรรมทางปกครอง (กฎหรือคำสั่งทางปกครอง) ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่จำเป็นต้องเพิกถอนโดยให้มีผลย้อนหลัง โดยอาจเพิกถอนให้มีผลไม่ย้อนหลังหรือมีผลไปในอนาคตก็ได้ โดยให้คำนึงถึงความเชื่อโดยสุจริตของผู้ที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะประกอบกัน ทั้งนี้ ตามความเป็นธรรมแห่งกรณ
------------------------------
2.3 ในการพิจารณาพิพากษาคดีที่ผ่านมาที่มีการเพิกถอนนิติกรรมทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองสูงสุดได้เคยกำหนดให้การเพิกถอนมีผลไม่ย้อนหลังมาแล้วหลายคดี...........................................[บลาๆๆๆ]
2.4 ในคดีอื่นที่ศาลปกครองสูงสุดได้เคยพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งโอนข้าราชการโดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่คำสั่งโอนมีผลใช้บังคับนั้น ตำแหน่งข้าราชการที่มีการโอนมีความแตกต่างจากตำแหน่งที่เป็นปัญหาในคดีนี้ เช่น
คดีหมายเลขแดงที่ อ. 229/2554 ระหว่างนายจาดุร อภิชาตบุตร ผู้ฟ้องคดี กับนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กับพวก
ในคดีดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีถูกโอนจากตำแหน่งรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งโอนผู้ฟ้องคดีโดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่คำสั่งโอนมีผลบังคับ ซึ่งตำแหน่งในคดีดังกล่าวมีลักษณะที่แตกต่างจากตำแหน่งในคดีนี้ กล่าวคือ ตำแหน่งรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งรองหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงที่มีได้หลายตำแหน่ง และในกรณีที่ศาลปกครองพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งโอนโดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่คำสั่งโอนมีผลบังคับ ถึงแม้ว่าในขณะนั้น ตำแหน่งรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเลขที่ตำแหน่งเดิมที่ผู้ฟ้องคดีในคดีดังกล่าวเคยครองอยู่จะไม่ว่างแล้วเนื่องจากได้มีการแต่งตั้งบุคคลอื่นให้มาดำรงตำแหน่งแทนแล้วก็ตาม ก็มิได้หมายความว่าผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องทำให้ตำแหน่งรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเลขที่ตำแหน่งเดิมที่ผู้ฟ้องคดีในคดีดังกล่าวเคยครองอยู่ว่างลงโดยการโอนบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในขณะนั้นไปดำรงตำแหน่งอื่น แต่ผู้ถูกฟ้องคดีก็สามารถขอให้ ก.พ. ดำเนินการตามมาตรา 71 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 โดยกำหนดตำแหน่งรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีขึ้นมาใหม่เป็นการเฉพาะตัวของผู้ฟ้องคดีในคดีดังกล่าวได้ แต่ตำแหน่งในคดีนี้เป็นตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติซึ่งเป็นตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือรับผิดชอบการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี
ซึ่งนอกจากจะเป็นตำแหน่งที่มีเพียงตำแหน่งเดียวแล้ว ยังเป็นตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่ปฏิบัติราชการรับผิดชอบงานด้านความมั่นคงของประเทศโดยตรงที่ผู้ดำรงตำแหน่งจะต้องเป็นบุคคลซึ่งได้รับความไว้วางใจจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ว่าจะสามารถปฏิบัติราชการตอบสนองนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมา เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินแทนรัฐบาลเดิมก็จะคัดเลือกบุคคลที่รัฐบาลใหม่ให้ความไว้วางใจให้เข้ามาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ นอกจากนี้ ยังปรากฏข้อเท็จจริงในคดีนี้ว่า ภายหลังจากที่ได้มีการโอนผู้ฟ้องคดีให้พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติแล้ว ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวจากผู้ฟ้องคดีมาเป็นพลตำรวจเอก วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี และได้มีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวจากพลตำรวจเอก วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี มาเป็น พลโท ภราดร พัฒนถาบุตร ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่มิได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับ การพิจารณาพิพากษาคดีนี้และได้เข้าดำรงตำแหน่งดังกล่าวโดยสุจริต โดยไม่มีผู้ใดนำคำสั่งแต่งตั้งพลโท ภราดร พัฒนถาบุตร มาฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอน ดังนั้น การที่ศาลปกครองพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งโอนผู้ฟ้องคดีโดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่คำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับ ก็ย่อมจะมีผลกระทบต่อการดำรงตำแหน่งดังกล่าวของพลโท ภราดร พัฒนถาบุตร และอาจมีผลกระทบต่อความต่อเนื่องของการปฏิบัติราชการของผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติตามภารกิจต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายจากสภาความมั่นคงแห่งชาติและจากรัฐบาลได้ นอกจากนี้ การเพิกถอนคำสั่งโอนผู้ฟ้องคดีโดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่คำสั่งโอนมีผลบังคับ ก็มีผลในทางนิตินัยเท่านั้น แต่มิได้มีผลในทางพฤตินัยเพราะตามความเป็นจริงไม่อาจย้อนเวลากลับไปหาอดีตได้อีกแล้ว
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดฝ่ายเสียงข้างน้อย จึงไม่เห็นพ้องด้วยกับมติของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดฝ่ายเสียงข้างมากที่ให้เพิกถอนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือน ลงวันที่ 30 กันยายน 2554 ให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับ โดยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ควรที่จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายเพื่อให้ผู้ฟ้องคดีได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทั้งนี้ ภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่มีคำพิพากษา โดยตุลาการในศาลปกครองสูงสุดฝ่ายเสียงข้างน้อยเห็นควรกำหนดให้การเพิกถอนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าวมีผลเมื่อครบกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่มีคำพิพากษานี้ โดยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาโดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายเพื่อให้ผู้ฟ้องคดีได้ดำรงตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งอื่นที่มีอำนาจหน้าที่ในทางบริหารเทียบเท่ากับตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทั้งนี้ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่มีคำพิพากษา
------------------------------
3. ความเห็นแย้งเฉพาะตน
นอกจากความเห็นแย้งดังกล่าวข้างต้นแล้ว นายวิษณุ วรัญญู ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด ยังมีความเห็นแย้งเพิ่มเติมอันเป็นความเห็นเฉพาะตน......................................[หลายบรรทัด] ...................................
กรณีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 กันยายน 2554 เป็นเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งผู้ฟ้องคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีจึงต้องปฏิบัติตามข้อ 7 ของ กฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 เสียก่อน เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการ กรณีจึงต้องถือว่าผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ตามมาตรา 42 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
3. ในคำขอท้ายฟ้องลงวันที่ 30 เมษายน 2555 ผู้ฟ้องคดีมิได้ระบุขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 กันยายน 2554 การที่ศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุดหยิบยกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 กันยายน 2554 ขึ้นมาพิจารณาและพิพากษาเพิกถอน จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ
โดยที่ประเด็นเรื่องการพิพากษาเกินคำขอเป็นข้อกฎหมายสำคัญและเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยอันศาลปกครองสูงสุดหยิบยกขึ้นพิจารณาได้เองแม้คู่กรณีจะมิได้กล่าวอ้างในอุทธรณ์ จึงไม่เห็นด้วยที่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดไม่หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นพิจารณาด้วย
โดยที่ก่อนผู้ฟ้องคดีนำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2555 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 กันยายน 2554 อันมีผลทำให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติและได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำแล้ว
คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 152/2554 ลงวันที่ 7 กันยายน 2554 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี จึงสิ้นผลไปโดยปริยายแล้ว เหตุแห่งการฟ้องคดีในคดีนี้จึงหมดสิ้นไป ดังนั้น นายวิษณุ วรัญญู ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด จึงเห็นว่าคดีนี้ชอบที่ศาลจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
Edited by temp, 11 March 2014 - 09:46.