ร.ฟ.ท.เล็งกลับใช้งบ 1.76 แสนล้านบาท ที่ ครม.อนุมัติไว้เมื่อปี 53 มาสร้างรถไฟร่างคู่แทน หลังพ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาทฯ สะดุด
นายทนงศักดิ์ พงษ์ประเสริฐ ผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ร.ฟ.ท.จะกลับไปใช้เงินกู้ 1.76 แสนล้านบาท ที่ ครม.เคยอนุมัติปี 53 ให้นำไปลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของ ร.ฟ.ท. แทนการใช้เงินกู้จาก พรบ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เนื่องจาก พ.ร.บ.ดังกล่าวยังรอการพิจาณาจากศาลรัฐธรรมนูญ อีกทั้งหากดำเนินการได้ ก็อาจต้องล่าช้า และต้องรอรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาพิจารณาว่าจะเดินหน้าต่อไปหรือไม่
“ร.ฟ.ท.เห็นว่าการกลับไปใช้เงินกู้ 1.76แสนล้านบาท น่าจะดำเนินการได้ เพราะเป็นกรอบวงเงินที่มติของ ครม.เคยอนุมัติไว้อยู่แล้ว แต่ภายหลัง เมื่อรัฐบาลชุดที่ผ่านมามีการผลักดันโครงการใน พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท จึงได้ยกก้อน 1.76 แสนรวมเข้าไปด้วย ดังนั้นขณะนี้เมื่อ พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน สะดุด จึงสามารถโยกกลับไปใช้งบเงินกู้เดิมได้”
สำหรับโครงการสำคัญ ที่ต้องดำเนินการภายใต้เงินกู้ดังกล่าว จะเป็นการก่อสร้างรถไฟทางคู่ทั่วประเทศตามแผนงานที่กำหนด เนื่องจากเป็นเรื่องจำเป็น ที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญ และมองว่าจะต้องเดินหน้าโครงการต่อไป แม้จะเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ก็ตาม ซึ่งการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการจัดซื้อขบวนรถใหม่มาให้บริการ เพื่อให้ขบวนรถเพียงพอกับความต้องการของประชาชนในทุกเส้นทาง เพราะหากก่อสร้างรถไฟทางคู่ได้แล้วเสร็จ การเดินรถจะสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนเข้าใช้บริการเพิ่มขึ้นด้วย
นายทนงศักดิ์ กล่าวว่า จำนวนขบวนรถที่มีอยู่ในปัจจุบัน ถือว่าสามารถให้บริการกับประชาชนได้อย่างเพียงพอในช่วงเวลาปกติ แต่หากเป็นช่วงเทศกาลจะมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก อาจจะไม่เพียงพอ ร.ฟ.ท.จึงอยู่ระหว่างทยอยจัดซื้อมาให้บริการเพิ่มเติมตามแผนงานที่กำหนด แต่หากมีรถไฟทางคู่ครอบคลุมไปในทุกพื้นที่แล้ว ก็ต้องพิจารณาว่าจะทยอยเพิ่มรถเท่าไรถึงเพียงพอ
ส่วนการให้บริการขบวนรถไฟฟรี ขณะนี้ยังเพียงพอ โดยขบวนรถที่ให้บริการในภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศมี 164 ขบวนต่อวัน จะวิ่งให้บริการในระยะทางไม่ไกล 100-150 กม.ส่วนขบวนรถเร็ว ซึ่งเป็นรถไฟชั้น 3 ที่ให้บริการในเส้นทางระยะไกล จากกรุงเทพฯ ออกไปยังทุกเส้นทางในต่างจังหวัดมี 8 ขบวนต่อวัน แต่ละขบวนสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 600 คน
ทั้งนี้การบริการรถไฟฟรี ไม่ส่งผลกระทบกับรายได้ของ ร.ฟ.ท. เพราะได้รับการชดเชยจากรัฐบาลอยู่แล้ว แต่อาจได้เงินช้าบ้าง จึงไม่สามารถนำเงินมาหมุนเวียนได้ทันทีเหมือนกับการเก็บรายได้จากผู้โดยสารโดยตรง ส่วนการให้บริการต่อไปหรือยกเลิกบริการ เป็นอำนาจของรัฐบาลใหม่เป็นผู้พิจารณา โดยต้องการให้หาวิธีคัดกรองให้ผู้ใช้บริการเป็นผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง เพื่อให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของการจัดทำโครงการนี้ขึ้นมาด้วย