อีกไม่ถึงสองสัปดาห์เท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาทั่วประเทศ จังหวัดละ 1 คนรวม 77 คน แม้ภาพรวมบรรยากาศการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ก่อนจะถึงวันลงคะแนน 30 มีนาคม 2557 พบว่ากระแสไม่ค่อยแรง ประชาชนไม่ค่อยรับทราบข่าวสารกันมากเท่าไหร่ แต่เชื่อว่าช่วง 7 วันสุดท้ายก่อนวันลงคะแนนเสียง กระแสต่างๆ น่าจะคึกคักกว่านี้แน่นอน
ด้วยบทบาทความสำคัญของสว.เลือกตั้งชุดใหม่ ที่คือส่วนหนึ่งของฝายนิติบัญญัติและหน้าที่อื่นๆ ตามรัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ เช่นการลงมติคัดเลือกและเห็นชอบกรรมการองค์กรอิสระหลายแห่ง ที่จะทยอยหมดวาระตามวาระการดำรงตำแหน่งและหมดวาระเพราะอายุครบตามคุณสมบัติของรัฐธรรมนูญ
ที่เห็นๆ ก็เช่น อย่างช่วงกลางปีนี้ สว.เลือกตั้งชุดใหม่ 77 คนก็จะต้องร่วมกับสว.สรรหาเวลานี้ให้ความเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คนใหม่มาแทน”จรูญ อินทรจาร”ประธานศาลรธน.ที่จะหมดวาระในเดือนพ.ค.นี้เพราะอายุครบ 70 ปีเป็นต้น รวมถึงการลงมติในคดีถอดถอนทางการเมืองที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)จะส่งต่อมายังวุฒิสภาเช่น คดีรับจำนำข้าว-คดีแก้ไขรธน.เรื่องที่มาสว. ที่ดูแล้ว มีความเป็นไปได้มากกว่าที่ป.ป.ช.จะส่งมาในช่วงที่สว.เลือกตั้งชุดใหม่เข้าทำหน้าที่ เว้นแต่มีการติดเครื่องบางอย่างจนทำให้มีการชี้มูลความผิดทั้งสองคดีเร็วผิดคาดก็มีความเป็นไปได้ที่อาจจะส่งไปให้วุฒิสภาเวลานี้ ที่พวกสว.เลือกตั้งรักษาการอยู่ ได้ร่วมลงมติกับสว.สรรหา
ด้วยบทบาทสำคัญของสภาสูงดังกล่าวตลอดช่วง 6 ปีหลัง 30 มี.ค. จึงเป็นเรื่องที่ควรต้องให้ความสำคัญกับการติดตามการเลือกตั้งสว.ในวันที่ 30 มี.ค.นี้อย่างจริงจังนับแต่นี้
ยิ่งเมื่อหลายฝ่ายวิเคราะห์ตรงกันว่า มีแนวโน้มสูงที่วุฒิสภาชุดใหม่ บรรดาว่าที่สว.ทั้งหลาย จะยังคงลักษณะเดิมเหมือนกับสว.เลือกตั้งที่ผ่านมา 2 สมัยคือในปี 43 และ 51 คือจะมีการอิงการเมืองค่อนข้างสูง เพราะเมื่อพิจารณาจากรายชื่อผู้สมัครสว.หลายคน ก็พบว่า เป็นทั้งอดีตรัฐมนตรี-อดีตแกนนำพรรค-อดีตกรรมการบริหารพรรค-อดีตส.ส.-หัวคะแนนส.ส.ในพื้นที่ –เครือญาตินักการเมืองในจังหวัด ที่พากันลงสมัครสว.รอบนี้มากมาย
จึงไม่ผิดที่จะบอกว่าสภาสูงหลังจากนี้ อาจเป็นอีกหนึ่งสาขาทางการเมืองของนักการเมืองบางกลุ่ม-พรรคการเมืองบางพรรคต่อจากนี้
จากการสำรวจรายชื่อ ผู้สมัครสว. พบว่ามีหลายรายชื่อมีความเป็นมาน่าสนใจ และหลายคนที่นำมาอ้างในที่นี้ดูแล้วก็เป็นพวกตัวเต็งในจังหวัดพอสมควร โดยแยกเป็นกลุ่มหลักๆ ได้อาทิเช่น
อดีตสว.ปี 43
โดยพบว่ามีอดีตสว.ปี 43 หลายคนขอหวนคืนเวทีสภาสูงอีกรอบ และหลายคนก็เป็นเครือข่ายอยู่ในพรรคการเมืองบางพรรค หรือกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม อาทิ สุรสิทธิ์ ฉัตรชัยเดช อดีต ส.ว. พิจิตรและทนายความ ก่อนหน้านี้เคยลงสมัครส.ส.พิจิตร พรรคมัชฌิมาธิปไตยของสมศักดิ์ เทพสุทิน ช่วงหลังข่าวว่าสนิทกับพ.ต.ท.อดุลย์ บุญเศรษฐ ที่คุมพื้นที่พิจิตรให้เพื่อไทย ,ถาวร เกียรติไชยากร อดีต ส.ว.เชียงใหม่ น้องชาย สุรพล เกียรติไชยากร อดีตส.ส.เชียงใหม่ เพื่อไทยหลายสมัย ,ศรีเมือง เจริญศิริ อดีตรมว.ศึกษาธิการ-อดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน มาคราวนี้ ศรีเมืองกลับมาลงสว.มหาสารคามอีกครั้งสู้กับ วิทยา มะเสนา อดีตสว.มหาสารคามรุ่นปี 43 เช่นกัน
ฟากสายกลุ่มต่อต้านระบอบทักษิณที่เป็นอดีตสว.ปี 43 ก็กลับมาลงสมัครกันหลายคนเช่น การุณ ใสงาม อดีตสว.บุรีรัมย์และอดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ เพิ่งพ้นโทษแบนคดียุบพรรคมัชฌิมาธิปไตยมา นอกจากนี้ก็มีโกเมศ ทีฆธนานนท์ อดีต ส.ว. ขอนแก่น ,นิพัทธา อมรรัตนเมธา อดีตสว. ปทุมธานี ,มารุต โรจนาปิยาวงศ์ อดีตสว.นครนายก ,เตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสว.เชียงราย ปี 43 ,สมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ อดีต ส.ว.ตรัง เป็นต้น
เครือข่ายสายนปช.-เสื้อแดงและพรรคเพื่อไทย
อาทิเช่น นางดวงพร เทียนทอง ผู้บริหารโรงแรมอรัญเมอร์เมด หลาน เสนาะ เทียนทอง หากดวงพร ได้รับเลือกเท่ากับ ตระกูลเทียนทอง ก็ผูกขาดการเมืองในสระแก้วทั้งส.ส.และสว.เบ็ดเสร็จ ,ชาติชัย สาลีผล อดีตรองปลัดจังหวัด อบจ.เพชรบูรณ์ ที่เป็นคู่เขยกับสันติ พร้อมพัฒน์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทยที่คุมพื้นที่เพชรบูรณ์ ,นายสมเกียรติ พื้นแสน อดีตผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาร้อยเอ็ด น้องชายพล.ต.อ.วิรุฬ ฟื้นแสน อดีตส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อไทย ลงสมัครสว.ร้อยเอ็ดตามคาดเพราะอยู่ในพื้นที่มานาน
นางเปรมฤดี ชามพูนท อดีตนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก 5 สมัย ภรรยาสุชน ชามพูนท อดีตส.ส.พิษณุโลก 12 สมัย ตำแหน่งล่าสุดเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี(ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร),ส่วนที่ นครสวรรค์ มีชื่อ ร.อ.จักรวาล ตั้งภากรณ์ อดีตรองนายก อบจ.นครสวรรค์ พี่ชายบรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีตส.ส.นครสวรรค์และอดีตรมช.พาณิชย์ ปัจจุบันอยู่เพื่อไทย
คนอื่นที่น่าสนใจคนอื่นก็เช่นที่พะเยา ไพรัตน์ ตันบรรจง อดีตนายก อบจ.พะเยา น้องชายไพโรจน์ ตันบรรจง อดีตส.ส.หลายสมัย ดูแล้วน่าจะไร้คู่แข่งขัน ,น.ส.วิลดา อินฉัตร น้องสาว น.ส.มาลินี อินฉัตร อดีต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคเพื่อไทยก็ลงที่ศรีษะเกษ,พงษ์เสกสรร แสนสุข บุตรเขย นายชูกัน กุลวงษา อดีตส.ส.นครพนม เพื่อไทย
แล้วก็ยังมี นายวิวรรธนไชย ณ กาฬสินธุ์ อดีต ส.ส. กาฬสินธุ์ พรรคไทยรักไทย กลุ่มสมศักดิ์ เทพสุทิน ชื่อเงียบหายไปหลายปีกลับมาอีกทีลงสว.กาฬสินธุ์เสียเลย ,นางลัดดา วงศ์ใหญ่ พี่สาวประสิทธิ์ ชัยวิรัตนะ อดีตส.ส.ชัยภูมิ และรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ลงที่ชัยภูมิ, อนุสรณ์ ตั้งปณิธานนท์ นักธุรกิจ มีสถานะเป็นพี่ชายของนายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ อดีต ส.ส.มุกดาหาร พรรคเพื่อไทยลงที่มุกดาหาร ,นายประดุจ มั่นหมาย อดีต ส.ส.สุรินทร์ ไทยรักไทย ลงที่สุรินทร์ ส่วนที่อีสานอีกหนึ่งจังหวัดคือยโสธร ก็พบว่า วิฑูรย์ วงษ์ไกร อดีต ส.ส.ยโสธร ไทยรักไทยก็มาลงสมัคร
ที่น่าสนใจอีกคนก็คือ สมชาย เหล่าสายเชื้อ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทโตโยต้าดีเดี่ยมอุบลราชธานี ที่เป็นโชว์รูมโตโยต้าที่ใหญ่ที่สุดในเอเซีย ข่าวบอกว่าแม้จะสนิทกับทั้งวิฑูร นามบุตร แกนนำประชาธิปัตย์ในอุบลราชธานีแต่ก็สนิทกับสายเกรียง กัลป์ตินันท์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยรวมถึงอดีตส.ส.อุบลราชธานี เพื่อไทยทั้งพรรค ช่วงหลังกระแสในพื้นที่หลายคนเชื่อว่ามีโอกาสเข้าวินสูง
ส่วนที่ปทุมธานี ก็มีชื่อ นางมาลา หาญสวัสดิ์ อดีตที่ปรึกษานายกเทศมนตรีเมืองปทุมธานี คนในตระกูล”หาญสวัสดิ์”ที่ยึดกุมอำนาจการเมืองในปทุมธานีทั้งการเมืองระดับชาติและท้องถิ่นมาหลายสิบปี ที่หากนางมาลาได้รับเลือกก็จะเป็นคนตระกูลหาญสวัสดิ์คนแรกที่ได้เป็นสว.
ส่วนที่ชัยนาท เป็นการแข่งกันเองของสองตระกูลใหญ่ที่อยู่ในเพื่อไทยคือ มณเฑียร สงฆ์ประชา พี่ชายนางนันทนา สงฆ์ประชา ว่าที่ ส.ส.ชัยนาท พรรคเพื่อไทย ที่ย้ายมาพร้อมสมศักดิ์ เทพสุทิน หากจำกันได้ มณเฑียร คือคนที่ทำให้พรรคชาติไทยถูกยุบกรณีการซื้อเสียงที่ชัยนาท จะแข่งกับ น.ส.วรรณอนงค์ ทรัพย์รวงทอง เครือญาติ ชัยวัฒน์ ทรัพย์รวงทอง อดีตส.ส.ชัยนาทและอดีตที่ปรึกษารมช.พาณิชย์(ภูมิ สาระผล)
ที่เชียงรายก็มี ปรีชา พัวนุกุลนนท์ อดีตรองนายกเทศมนตรีนครเชียงรายสายยงยุทธ ติยะไพรัชและสามารถ แก้วมีชัย เป็นตัวเต็งคนหนึ่ง ส่วนที่ลำพูน ก็มี ตรี ด่านไพบูลย์หรือชื่อเดิม มนตรี ด่านไพบูลย์ อดีตรมว.แรงงาน-อดีตส.ส.ลำพูน หลายสมัย เด็กในคาถาพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นพี่ชายนิรันดร์ ด่านไพบูลย์ นายก อบจ.ลำพูนที่อิงฐานพรรคเพื่อไทย
ส่วนจังหวัด สุโขทัย หลายคนเก็ง ภูมิสิทธิ์ มั่นคง อดีตเลขานุการ พรรณสิริ กุลนาถศิริ น้องสาวสมศักดิ์ เทพสุทิน ซึ่งพี่ชายเคยส่งไปเป็นรมช.สาธารณสุข สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะโดยภูมิสิทธิ์ ทำงานกับ พรรณสิริ ตอนเป็น นายก อบจ.สุโขทัย
ฟากจังหวัดใหญ่อย่างนครราชสีมา ก็พบว่า ปรีชา กำพุฒกลาง ที่ลาออกจากตำแหน่งรอง ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมามาลงสมัครสว.โคราช ก็มีกระแสข่าวว่าได้รับการสนับสนุนจากวิรัช รัตนเศรษฐ แกนนำเพื่อไทยในพื้นที่โคราช รวมถึงอาทิตย์ ศรีตะบุตร น้องชายของยุทธนา ศรีตะบุตร นายก อบจ.หนองคาย ก็น่าจะได้แรงหนุนจากอดีตส.ส.หนองคายเพื่อไทยหลายคน
แดง-นปช.ก็หวังหลายคน
ขณะที่ในสาย นปช.-คนเสื้อแดง ก็มีลงสมัครกันหลายจังหวัดหลายคน ส่วนใหญ่ก็เป็นพวกแกนนำนปช.ระดับจังหวัด ที่หวังยกระดับตัวเองให้ขึ้นมาเป็นสว.
เด่นสุดคงไม่พ้น นางอาภรณ์ สาราคำ ภรรยานายขวัญชัย สาราคำหรือขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดรฯ ลงสมัครสว.ที่อุดรธานี ,ที่เชียงใหม่ ก็มีกฤษณพงษ์ พรมบึงรำ แกนนำกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 สายเพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล ที่ปรึกษารมว.พัฒนาสังคมฯ ที่ก่อนหน้านี้โด่งดังจากเรื่องสปป.ล้านนา
แล้วก็ยังมี ไสว สดใส อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ ประธานกลุ่มลำดวนแดงเพื่อประชาธิปไตยจังหวัดศรีสะเกษที่เป็นแดงจัดตั้งศรีสะเกษที่มีบทบาทมากที่สุดในจังหวัด หรืออนนต์ ตันตระกูล อดีตเทศมนตรีเมืองน่าน แกนนำแดงจังหวัดน่านก็ ลงสมัครสว.น่าน เช่นเดียวกับ น.ส.พนิดา มะโนธรรม จากกลุ่มเชียงรายตะวันแดงกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ลงสมัครที่เชียงรายแต่ดูแล้ว น่าจะชนะได้ยาก
เครือข่ายสายพรรคร่วมรัฐบาล
พบว่าก็มีผู้สมัครสว.หลายคน หลายจังหวัด ที่เป็นตัวเต็ง ก็มีบางคนมีความสัมพันธ์อันดีกับสายพรรคร่วมรัฐบาลเวลานี้ อาทิเช่น นายพงษ์ศิริ กุสุมภ์ อดีตผู้ว่าฯหลายจังหวัด ที่มีข่าวว่าสนิทกับ แกนนำพรรคชาติพัฒนาหลายคนโดยเฉพาะสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เพราะเคยเป็นรองผู้ว่าฯนครราชสีมามาก่อน
หรือในสายของ”พรรคชาติไทยพัฒนา”ก็มีเช่นกันอาทิ ที่สุพรรณบุรี ที่เป็นการแข่งขันกันของสองตระกูลใหญ่ของเมืองสุพรรณบุรี ที่ต่างก็อยู่ใต้ชายคาชาติไทยพัฒนาคือวิทวัส โพธสุธน นักธุรกิจใหญ่เชียงราย บุตรชาย ประสิทธิ์ โพธสุธน อดีตสว.สุพรรณบุรี มือประสานสิบทิศในสภาสูงครั้งที่แล้ว และยังเป็นหลานชายนายประภัตร โพธสุธน อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนาหลายสมัย โดย วิทวัส จะต้องสู้กับจองชัย เที่ยงธรรม อดีต ส.ส.สุบรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา เจ้าของสโลแกน”คิดไม่ออก บอกจองชัย” ที่พอพ้นโทษแบนคดียุบพรรคชาติไทยก็เบนเข็มลงสภาสูง นอกจากนี้ก็ยังมี ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ อดีต ส.ส.สิงห์บุรี พรรคชาติไทยพัฒนา รายนี้ก็เพิ่งพ้นโทษแบนคดียุบพรรคชาติไทยมาเหมือนกัน
ส่วนที่ ชลบุรี ก็มีชื่อ นายสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรลักษณ์ อดีต ส.ส.ชลบุรี หลายสมัย กลุ่มสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล
ประชาธิปัตย์
ผู้สมัครที่ถูกมองว่ามีความสัมพันธ์อันดีกับคนของพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ก็เป็นญาติกับอดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ก็พบว่ามีลงสมัครหลายคน
เช่น กำแพงเพชร นายจุลพันธ์ ทับทิม อดีตนายก อบจ.กำแพงเพชร ที่มีข่าว ได้รับแรงหนุนจากสายปรีชา มุสิกุล อดีตสส.กำแพงเพชร ปชป.หลายสมัย เพราะก่อนหน้านี้ จุลพันธ์ขับเคี่ยวกับกลุ่มของวราเทพ รัตนากร แกนนำเพื่อไทยมาตลอด ในสนามนายกฯอบจ.กำแพงเพชร, ลำปาง-บุญชู ตรีทอง อดีตรัฐมนตรีและอดีตส.ส.ลำปางหลายสมัย ที่ตอนหลังส่งญาติเข้าพรรคประชาธิปัตย์ , เพชรบุรี-นางลักขณา สุภาแพ่ง น้องสาวนายอภิชาติ สุภาแพ่ง อดีต ส.ส.เพชรบุรี ประชาธิปัตย์เจ้าของฉายา”สจ.ร้อยศพ”, ที่ฉะเชิงเทราก็มีชื่อนพ.เชาวลิต เจริญพร อดีตผู้สมัคร ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคประชาธิปัตย์,ตราด-นายบุญส่ง ไข่เกษ อดีต ส.ส.ตราด หลายสมัยของพรรคประชาธิปัตย์, ที่ระยอง ถิ่นของสาธิต ปิตะเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็มีชื่อ นายสุรชัย ปิตุเตชะ อดีตสจ.ระยอง ญาติสาธิตลงสมัคร
ขณะที่ จังหวัด ตากก็มีคนให้จับตามอง ชิงชัย ก่อประภากิจ อดีตนายก อบจ.ตาก ที่ข่าวว่าสนิทกับแกนนำประชาธิปัตย์ที่เป็นอดีตส.ส.ตากหลายคน รวมถึง นายสืบยศ ใบแย้ม อดีตรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก็รู้กันในประจวบคีรีขันธ์ว่า เป็นสายตรงของกลุ่มประจวบคีรีขันธ์ของเฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และยังพบว่าในสายกปปส. ที่ก็อิงฐานประชาธิปัตย์อยู่ไม่น้อย ก็ลงสมัครกันหลายคน เช่น นายเสถียร เม่นบางผึ้ง ประธาน กปปส.เพชรบูรณ์ที่ลงสมัครสว.เพชรบูรณ์
ขณะที่ภาคใต้ ก็น่าเชื่อว่าหลายคนที่จะได้รับเลือกน่าจะอิงฐานประชาธิปัตย์และกปปส.ภาคใต้ ไม่น้อยเช่น ที่พังงา มีชื่อ นายวระชาติ ทนังผล อดีตรองนายก อบจ.พังงา และอดีตเป็นแกนนำ กปปส.พังงาลงสมัครสว.พังงา ส่วนที่จังหวัดตรัง ก็มีชื่อ นายสมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ อดีต ส.ว.ตรัง และนักธุรกิจรับเหมา พี่ชายนายสมชาย โล่สถาพรพิพิธ อดีต ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์
ขณะที่ในจังหวัด พัทลุง มีชื่อ นายทวี ภูมิสิงหราช อดีตรองนายกเทศมนตรีเมืองพัทลุงและแกนนำ กปปส.พัทลุง ลงสมัคร แต่ต้องแข่งกับ ตัวเต็งอันดับหนึ่งคือ สานันท์ สุพรรณชนะบุรี"อดีต ส.ส.พัทลุง สมัยพรรคประชาชน-ความหวังใหม่ อดีตนายก อบจ.พัทลุง 2 สมัย และอดีตนายกสมาคม อบจ.แห่งประเทศไทย
เช่นเดียวกับที่ชุมพรก็น่าจะแข่งกันสนุกเพราะมีทั้ง นายสุทรรศ พะลัง น้องชาย นายสุวโรช พะลัง อดีต ส.ส.ชุมพรหลายสมัย ลงชนกับพงศา ชูแนม ที่เคยขึ้นเวทีกปปส.ที่กรุงเทพฯช่วงก่อนและหลังซัดดาวน์กรุงเทพฯ แต่ช่วงหลังหายเงียบไป โดยเฉพาะในช่วงก่อนเลือกตั้งส.ส. 2 ก.พ. ที่กปปส.รณรงค์ให้โนโหวต การลงสมัครของพงศา แสดงให้เห็นว่าเจ้าตัวไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งส.ส.ที่ขัดกับแนวทางกปปส. แถมยังมาสู้กับ คนของประชาธิปัตย์ทั้ง สุทรรศและ พ.ต.อ.นรินทร์ บุษยวิทย์อดีตรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชุมพรที่ได้รับแรงหนุนจากลูกหมี ชุมพล จุลใส อดีตส.ส.ชุมพร แกนนำกปปส.
ที่กระบี่มีชื่อ นายอดิเรก เอ่งฉ้วน ญาติอาคม เอ่งฉ้วน อดีตส.ส.กระบี่หลายสมัย คงแข่งกับนายอภิชาติ ดำดี นักพูดชื่อดัง และอดีต ส.ส.ร.ปี 2550 ที่ก่อนหน้านี้ก็ขึ้นเวทีกปปส.ที่กรุงเทพฯบ่อยครั้ง
ส่วนอดีตพันธมิตรฝ่ายค้านกับประชาธิปัตย์คือ “ภูมิใจไทย”ก็พบว่ามีคนในเครือข่ายไปลงสมัครสว.กันพอสมควร เช่นที่บุรีรัมย์ ฐานใหญ่ของภูมิใจไทยและเนวิน ชิดชอบ ก็มีชื่อ เสริมศักดิ์ ทองศรี อดีตรองนายก อบจ.บุรีรัมย์ พี่ชายนายทรงศักดิ์ ทองศรี อดีตรมช.คมนาคมและแกนนำพรรคภูมิใจไทยลงสมัคร หรือที่ชัยภูมิ ก็มีชื่อบัณฑูรย์ เกียรติก้องชูชัย พี่ชายนายโอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย อดีต ส.ส.ชัยภูมิ ภูมิใจไทยลงสมัคร
อดีตข้าราชการประจำระดับสูง
ก็มีหลายคนลงสมัคร ส่วนใหญ่ก็เป็นพวกสายมหาดไทยหรือไม่ก็ตำรวจ ซึ่งพวกมหาดไทยที่ไปลงสมัครในจังหวัดพบว่าก็จะเป็นอดีตผวจ.ในจังหวัดนั้นๆ ที่ไปลงสาเหตุก็เพราะมั่นใจว่าตอนเป็นผู้ว่าฯหลายปีคนในจังหวัดรู้จักกันจำนวนมากเลยน่าจะทำให้หาเสียงง่าย
ซึ่งที่น่าสนใจและนำมานำเสนอก็จะเป็นอดีตผวจ.ที่ไปลงสมัครในจังหวัดที่ระบุชื่อเอาไว้ ก็มีเช่นดิเรก ก้อนกลีบ อดีตผวจ.ลำพูน ,รังสรรค์ เพียรอดวงษ์ อดีตผวจ.มหาสารคาม ,จำลอง โพธิ์สุข อดีตผวจ.ชัยนาท,วณิชย์ ฤทธิ์เดช อดีตรอง ผวจ.ศรีสะเกษ,สนิท บุญก่อสกุล อดีตรองผู้ว่าฯประจวบคีรีขันธ์,อดิศร กำเนิดศิริ อดีตรองผู้ว่าฯเชียงใหม่ ที่ลาออกเมื่อต้นเดือนมีนาคมเพื่อมาสมัครสว.ท่ามกลางข่าวสนิทกับอดีตส.ส.เชียงใหม่เพื่อไทยหลายคน ,นายประมุข ลมุล อดีตผู้ว่าฯปัตตานี สนิทกับแกนนำนปช.โดยเฉพาะจตุพร พรหมพันธุ์และณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ลงที่ปัตตานี ,นายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล อดีต ผวจ.สุราษฎร์ธานี และอดีต ผวจ.ตรัง ที่ถูกรัฐบาลเพื่อไทย โดยจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย ย้ายจากผู้ว่าฯตรัง เข้ากรุผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยเลยลาออกจากราชการทันที คราวนี้มาลงสมัครสว.สุราษฎร์ธานี โดยมีคู่แข่งสำคัญคือ นายไสว สงศิริ นักธุรกิจสุราษฎร์ธานี
เครือข่ายญาติ สว.เลือกตั้งปี 51
ก็พบว่ามีสว.เลือกตั้งปี 51 หลายคน ก็ดันเครือญาติตัวเองลงสมัครสว.สืบต่อจากตัวเองที่กำลังจะหมดวาระในอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อจากนี้
ที่น่าสนใจก็มีเช่น ที่เพชรบุรี น.ส.นฤมล สุตะวิริยะวัฒน์ หลาน น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ อดีต ส.ว.เพชรบุรีหนึ่งในแกนนำกลุ่ม 40 สว.มีชื่อลงสมัครสว.เพชรบุรี
ส่วนที ราชบุรี ก็มี นางเพียงเพ็ญ ศักดิ์สมบูรณ์ อดีตรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี ภรรยาของนายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ อดีต ส.ว.ราชบุรี -นายไพโรจน์ ทุ่งทอง เจ้าของสวนลุมไนท์บาซาร์ ญาติผู้พี่นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีต ส.ว.อุทัยธานี ที่ถูกมองว่าเป็นสว.สายรัฐบาล ก็ลงสมัครสว.อุทัยธานี ,นางประไพพิศ วงษ์สุวรรณ์ ภรรยานายวรวิทย์ วงษ์สุวรรณ์ อดีตสว.ลพบุรีลงที่ลพบุรี ,นางไพรินทร์ จิรัฐิติเจริญ ภรรยานายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ อดีต ส.ว.ปราจีนบุรีลงปราจีนบุรี ,ที่นราธิวาสมีชื่อ นายนิมันซูร จิยี่งอ อดีตครู มีสถานภาพเป็นน้องเขยนายมูหามะรอสดี บอตอ ส.ว.นราธิวาสคนปัจจุบันที่เป็นพี่น้องกับฟัครุดดีน บอตอ อดีตสว.นราธิวาสปี 43 อีกด้วย รวมถึงศักดิ์ชัย จงสุทธนามณี อดีตสจ.เชียงรายเป็นน้องนางจิราวรรณ วัฒนศิริธรหรือนามสกุลเดิม จงสุทธนามณี ส.ว.เชียงราย ก็ลงสมัครสว.เชียงราย
ส่วน รักพงษ์ ณ อุบล ส.ว.หนองบัวลำภู ที่นอกจากต้องลุ้นไม่ให้โดนป.ป.ช.ชี้มูลความผิดคดีแก้ไขรธน.ที่มาสว.แล้วก็ยังต้องลุ้นให้ นางณัฐพิชา นามพรหม ภรรยาตัวเองได้รับเลือกให้เป็นสว.หนองบัวลำภูในรอบนี้ด้วย เช่นเดียวกันก็พบว่า นพ.จตุรงค์ ธีระกนก สว.ร้อยเอ็ด ก็ดัน นางจิรภา ธีระกนก ภรรยาลงสมัครสว.ร้อยเอ็ด เช่นกัน เหมือนกับที่อำนาจเจริญซึ่ง บวรศักดิ์ คนาเสน สว.อำนาจเจริญ ก็ส่งพี่ชายตัวเองคือชาญณรงค์ คณาเสน นักธุรกิจใหญ่ของจังหวัด ลงสืบต่ออำนาจต่อจากตัวเอง เช่นเดียวกับประสิทธิ์ โพธสุธน ที่ส่ง ลูกชาย วิทวัส ลงสมัครสว.สุพรรณบุรี และไพบูลย์ ขำศิริพงษ์ ที่ส่งภรรยาคือ นางเอมอร ขำศิริพงษ์ ลงสมัครสว.ปทุมธานีต่อจากตัวเอง เป็นต้น
นอกจากนี้ก็มีคนมีชื่อเสียงอีกหลายคนลงสมัครเช่น พญเพชรดาว โต๊ะมีนา บุตรสาวเด่น โต๊ะมีนา อดีตนักการเมืองดังจังหวัดปัตตานีและเป็นอดีตสว.ปัตตานีปี 43 ด้วย -ณัฐณิชาช์ เพิ่มทองอินทร์ อดีตนายกเทศมนตรี ภรรยา พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหมที่แม้จะมีข่าวสนิทกับสุพล ฟองงาม อดีตรมช.มหาดไทย แกนนำกลุ่มอุบลราชธานีของเพื่อไทย แต่ช่วงหลังพอพลเอกเสถียรมีปัญหากับพรรคเพื่อไทย ก็ทำให้ณัฐณิชาช์ คงสู้เหนื่อย
กระนั้นก็พบว่า ในหลายรายชื่อที่อยู่ในรายงานฉบับนี้ ล่าสุดทาง กกต. ก็ได้ประกาศชื่อมาว่า ขาดคุณสมบัติในการลงสมัครสว.ด้วยเหตุผลต่างๆ กันไป
เช่น เพราะเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เช่น นายไสว สดใส แกนนำเสื้อแดงศรีษะเกษที่ลงสมัครสว.ศรีสะเกษ หรือเพราะ ลาออกหรือพ้นจากการดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่เกิน 5 ปีซึ่งหลายคนเป็นตัวเต็งเสียด้วยเช่น นางเพียงเพ็ญ ศักดิ์สมบูรณ์ ผู้สมัครที่ราชบุรี-นายสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ที่ชลบุรี- ร.อ.อ.จักวาล ตั้งภากรณ์ที่นครสวรรค์เป็นต้น
แต่ผู้สมัครที่กกต.ไม่รับรองดังกล่าว ก็ยังใช้สิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้ ที่ก็ยังไม่แน่ว่าผลอาจออกมาว่าลงสมัครได้ เพราะอย่างเลือกตั้งส.ส. 2 ก.พ. ทางกกต.ก็ไม่รับรองผู้สมัครหลายคนด้วยเหตุผลต่างๆ เช่นไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง แล้วคนเหล่านั้นไปร้องต่อศาล จนต่อมาศาลก็คืนสิทธิให้ จึงต้องรอดูผลในชั้นศาลเสียก่อน
ทว่าเมื่อพิจารณาจากรายชื่อผู้สมัครหลายคนในหลายจังหวัด ก็พอจะมองเห็นภาพ สภาสูงต่อจากนี้ได้ดีว่า ดูแล้ว หากสภาสูง ชุดใหม่ หลัง 30 มี.ค.มีพวกเครือข่ายนักการเมือง-พรรคการเมืองเข้ามากันจำนวนมากเหมือนปี 43 และ 51 การทำงานของสภาสูงต่อจากนี้โดยเฉพาะกับพวกสว.สายเลือกตั้ง 77 คน ก็คงยากที่จะไม่อิงฐานการเมืองในสภาล่าง-พรรคการเมือง ส่วนจะเป็นเหมือนยุค”สภาชิน-สภาทาส”แบบที่ผ่านมาหรือไม่ ก็ต้องรอดูกันหลัง 30 มี.ค.นี้
ภาพ : ซ้าย จารุวรรณ เมณฑกา กลาง : ณัฐณิชาช์ เพิ่มทองอินทร์ (ภรรยาพล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์) ขวา : อาภรณ์ สาราคำ (ภรรยานายขวัญชัย สารคำ แกนนำคนเสื้อแดงจ.อุดรธานี)
ขอบคุณ สำนักข่าวอิศรา ครับ http://www.isranews....27997-sowo.html
.....................................................................................................
เห็นมีเพื่อนสมาชิกสอบถามเรื่องเลือกตั้ง สว. ไปเจอข่าวนี้เลยเอามาลงให้พิจารณาและวิเคราะห์ดูครับ
ปล.ยาวหน่อยครับ ยังไม่ได้คัดกรอง