น้ำลายพวกนั้นอันตรายกว่าน้ำทุ่งกับน้ำท่ารวมกันในช่วงมรสุมแน่นอนอยู่แล้วครับ
ไปพบบทความเกี่ยวกับเขื่อนที่น่าสนใจ ลงในมติชนช่วงที่น้ำกำลังไหลโกรกท่วมภาคกลางเรียบร้อย
จึงขออนุญาตนำมาฝากประกอบกระทู้ได้เหมาะเจาะพอดีครับ
เขื่อนมีก็ดี แต่พอแล้ว
เขื่อน “เอนกประสงค์” ที่ปั่นไฟก็ได้ ผันน้ำเข้านาก็ดี ขนาดความจุกว่าหมื่นล้านลูกบาศก์เมตรเปิดตัวเป็นแห่งแรกที่จังหวัดตาก
เมื่อปี 2507 จากนั้นไม่ถึงสองทศวรรษ เมืองไทยมีเขื่อนประเภทนี้ต่างขนาดกันเกือบ 40 แห่งทั่วทุกภาค
แต่คงไม่มีเพิ่มอีกในประเทศ หลังจากรัฐหันไปลงทุนสร้างในลาว (ลุ่มแม่น้ำโขง) จีน (มณฑลยุนนาน) และพม่า (โครงการสาละวิน)
จำยอมซื้อกระแสไฟฟ้าจากโรงงานของตัวเอง แปลกดี!
แต่รัฐคงคิดว่าสุดคุ้ม ที่ไม่ต้องมาเสียเวลาปวดหัวกับกระแสต่อต้านเขื่อนแบบที่ประชาสังคมและชาวบ้าน
บริเวณเขื่อนแก่งเสือเต้น ปากมูล และราศีไศลเมื่อ 20 กว่าปีก่อนเคยเรียกร้องให้เลิกสร้าง
วยเหตุผลที่ว่าเขื่อนทำลายแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ ลำธาร ป่าเขาเพียงเพื่อเปลี่ยนสภาพมาเป็นอ่างเก็บน้ำยักษ์
ไม่คุ้มกับการที่ห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศจากต้นน้ำลำธารเหนือเขื่อนถูกตัดขาด ปริมาณสัตว์ น้ำหลากหลายชนิดที่รอวันสูญพันธุ์
กระทบเต็มๆต่อการดำรงชีพของชาวบ้านในพื้นที่ทับซ้อน
กลุ่มคัดค้านขอให้รัฐบาลเลือกว่าจะเอาเขื่อนหรือเอาคน
ฟังดูก็มีเมล็ดความจริง อย่างน้อย ถึงไม่มีเขื่อน น้ำท่าที่ตกมาจากฟ้าก็น่าจะมีพอปลูกข้าวอยู่
แต่หากรัฐจะเอาเขื่อน ก็ต้องมีมาตรการรองรับผลกระทบ ตั้งแต่ขั้นตอนอพยพชุมชนที่พลัดที่นาคาที่อยู่ออกจากบริเวณพื้นที่สร้างอ่างเก็บน้ำ
เช่น หากชาวบ้านเคยเลี้ยงปศุสัตว์ ที่อยู่ใหม่ก็ควรเป็นทุ่งหญ้า หรือหากถนัดจับปลา ก็ไม่ควรเอาไปไว้บนดอย
ประสบการณ์จาก “เขื่อนเจ้าเณร” ระหว่างผู้เขียนร่วมสำรวจหาแหล่งที่อยู่ใหม่ให้ชาวบ้านที่ประสบชะตากรรมเดียวกัน
ทำให้ต้องตระหนักว่า หากปล่อยให้พวกเขาไปตายเอาดาบหน้า ถ้าไม่กลายเป็นผู้บุกรุกป่าซ้ำ ก็คงแห่กันไปเพิ่มสลัมในเมือง
อีกอย่าง มีเขื่อนแล้ว หากไม่มีการชลประทานที่วางโครงสร้างอย่างมีระบบพอ หรือมีการบริหารจัดการน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพ
ถึงอยู่ใต้เขื่อนก็อาจต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพาะปลูกได้
ซ้ำอาจต้องถูกน้ำท่วมทั้งๆที่ก่อนมีเขื่อนอาจไม่เคยประสบมาก่อน
ไม่ต้องพูดถึงชุมชนเหนือเขื่อนที่ย่อมจมอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำไปแล้ว
เขื่อนจึงมีประโยชน์แน่นอนถ้าบริหารจัดการดี แต่หลักการอยู่ที่ยุทธศาสตร์
กรณีของไทยออกจะเน้นด้านพลังงานมากกว่าอาหาร
ทำให้ฉุกคิดถึงคำกล่าวของ ม.จ. สิทธิพร กฤดากรที่ว่า “เงินทองของมายา ข้าวปลาสิของจริง”
ดังนั้น เมื่อจะมีเขื่อนเอนกประสงค์และได้อานิสงส์โดยแท้ ผู้บริหารจัดการน้ำต้องรู้เท่าทันจริตร้อยแปดของน้ำ
ตั้งแต่
น้ำฝน ที่ลมหอบมาตกเหนือเขื่อนและไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ
น้ำท่า ในลำอุทกที่จะมากน้อยปกติกขึ้นกับอิทธิพลของการขึ้นลงของน้ำทะเล
และ
น้ำทุ่ง ที่บ่ายหน้าไหลลงทะเลลูกเดียว
เหล่านี้มีบุคลิกต่างกันที่ต้องเรียนรู้ หากจะบริหารจัดการที่ต้อง "เอาอยู่"
เพราะหาไม่แล้วเขื่อนจะเป็นดาบสองคม และเสี่ยงต่อการเกิดโศกนาฏกรรม
ผู้หาญกล้าต่อกรกับจริตของน้ำต้องคอยเฝ้าสังเกต ระวัง และหมั่นอัพเดทปฏิกิริยาของน้ำ
ผ่านความเปลี่ยนแปลงของลมฟ้าอากาศ ภูมิประเทศ เหตุการณ์ ฤดูกาล
มีระบบตรวจสอบเพื่อการตัดสินใจที่ผิดพลาดน้อยที่สุด ยกตัวอย่าง เมื่อต้องบริหารมวลน้ำสนองมาตรการเพิ่มผลผลิตในฤดูแล้ง
ก็จะต้องมั่นใจว่าพอได้เวลาเปิดน้ำจะมีน้ำพอให้พร่อง มิใช่เผลอปล่อยให้น้ำแทบจะแห้งขอดอ่างเก็บน้ำไปเสียแล้ว
แต่ความผิดพลาดอย่างนี้ยังตรวจสอบได้ไม่ยาก แก้ไขได้
อาจปรับความเป็นเอกภาพระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้กระชับขึ้น เป็นต้น
แต่บางกรณีที่เป็นผลมาจากการจัดคนรู้เท่าไม่ถึงการณ์มาทำการบริหารจัดการน้ำมักจะพลาดแล้วพลาดเลย
เสียระบบควบคุม ผลพวงหายนะจะตามมาเป็นลูกโซ่ ดังมหาอุทกภัยที่กำลังกลืนชีวิตและทรัพย์สินคนไทยไปครึ่งค่อนประเทศในขณะนี้
เขื่อนไม่ใช่สาเหตุโดยตรง แต่เท่าที่มีอยู่ ก็เพียงพอแล้ว
………………………….
ธีรเวทย์ ประมวญรัฐการ
มติชน หน้า 6
10 พฤศจิกายน 2554