ผมชอบหัวข้อนี้มาก และรู้สึกแบบเดียวกัน รู้สึกด้วยหัวใจหวั่นๆด้วย
http://www.oknation....4/04/16/entry-1
Posted by สุทธิชัย หยุ่น
ผลการสำรวจความเห็นประชาชนล่าสุดของมหาวิทยาลัยหอการค้าบอกว่าคนไทยไร้ความสุข และความเชื่อมั่นผู้บริโภคของเดือนมีนาคมที่ผ่านมา “ปรับลดลงทุกรายการ”
และเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 อีกทั้งยังอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 149 เดือนหรือ 12 ปีกับ 5 เดือนนับจากเดือนพฤศจิกายนปี 2544
เหตุผลที่ผู้ถูกสำรวจทั่วประเทศ 2,256 รายให้สำหรับความรู้สึกที่ย่ำแย่เช่นนี้คือความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองหลังการเลือกตั้งเป็นโมฆะ ร่าง พ.ร.บ. เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทขัดรัฐธรรมนูญ รวมทั้งความวิตกต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยจากปัญหาความล่าช้าของการจ่ายเงินค่าจำนำข้าว ราคาข้าวและยางพาราตกต่ำ ทำให้กำลังซื้อของเกษตรกรต่ำลง
ใครต่อใครบอกว่า “พื้นฐาน” ของไทยดี ดังนั้นหากวิกฤตการเมืองจบลงเมื่อไหร่ เศรษฐกิจของเราจะฟื้นตัวได้เร็วและจะพุ่งพรวดพราดขึ้นมาอีกครั้งอย่างไม่ต้องสงสัย
แต่ผมชักจะเป็นห่วงว่านั่นเป็นการ “ปลอบใจตัวเราเอง” หรือเปล่า เพราะเอาเข้าจริง ๆ หากเรายังอ่อนปวกเปียกอย่างนี้ไปอีกระยะหนึ่ง เช่นหกเดือนหรือหนึ่งปี, อะไร ๆ ที่เราเรียกว่า “พื้นฐานดี” ก็อาจจะเสื่อมทรุดลงได้อย่างฉับพลัน
เหมือนที่ ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยบอกผมในการสัมภาษณ์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าประเทศไทยในภาวะที่เจอกับวิกฤตการเมืองยืดเยื้อเช่นนี้อาการชักจะเริ่มไม่ค่อยดี
หากเปรียบเป็นคนไข้, ประเทศวันนี้ก็คงไม่ถึงกับต้องล้มหมอนนอนเสื่อเพราะโรคหัวใจวายเฉียบพลัน แต่ก็ประมาทไม่ได้ เพราะหากตรวจโรคอย่างละเอียดตอนนี้ก็อาจจะพบว่าร่างกายเริ่มอ่อนแอและภูมิต้านทานโรคเริ่มจะลดน้อยถอยลง
ที่บอกว่าไม่ถึงกับล้มหงายตึง แต่ก็อาจจะเริ่มติดเชื้อมะเร็งร้ายแล้วเพราะปัญหาที่สั่งสมนั้นยังไม่เห็นมียาอะไรรักษาได้ เพราะคนไข้เริ่มจะดื้อยา และอาการไม่กระเตื้องขึ้นเลย
ที่ผมห่วงก็คือว่าหากคนไทยเริ่มจะ “ชาชินกับวิกฤติ” นั่นคืออันตราย เพราะเมื่อต่างฝ่ายของความขัดแย้งคิดว่าตนสามารถจะยื้อต่อไปเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งหมดแรงก่อน
ก็หมายความว่าสังคมโดยรวมจะมองไม่เห็นทางออก และสิ่งที่เคยคิดว่าเป็นเรื่องร้ายแรง พออยู่กับความ “ผิดปกติ” ไปนาน ๆ จนกลายเป็นเรื่อง “ปกติ”
หากเรายอมรับว่าการยิงระเบิดใส่กัน ตำรวจจับใครไม่ได้ อาวุธสงครามเช่น M79 กลายเป็นสิ่งที่ใครก็มีในครอบครองและใช้ถล่มคู่ต่อสู้ได้โดยที่ไม่ต้องเกรงกลัวกฎหมาย, นั่นย่อมแปลว่าเรื่อง “ผิดปกติ” กลายเป็น “มาตรฐานปกติ” ของสังคมไทย
หรือหากกฎหมายขาดความศักดิ์สิทธิ์ บ้านเมืองไร้ขื่อไร้แป คนบางส่วนจะยอมรับคำวินิจฉัยของศาลก็ต่อเมื่อเป็นประโยชน์ต่อตนเท่านั้น, นั่นก็ย่อมหมายความว่าคนไข้คนนี้อาการทรุดหนักลงไปอย่างชัดเจน
อาการเช่นนี้สะท้อนว่าคนไข้ไม่เพียงแต่จะรักษาไม่หายเท่านั้น แต่ยังกำลังเข้าสู่ภาวะที่ไม่ฟังหมอ และไม่ยอมกินยา อีกทั้งยังไม่ฟังคำวินิจฉัยโรคของหมอเพราะหมอพูดความจริงตามหลักของการรักษาที่ได้ร่ำเรียนมาอย่างถูกต้องด้วยหลักการ
หากอาการของประเทศยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ก็จะเริ่มมีโรคแทรกซ้อนที่จะทำให้คนป่วยล้มหมอนนอนเสื่อได้ ถึงตอนนั้นก็คงอ้างไม่ได้ว่า “พื้นฐาน” ของคนไข้แข็งแรงดี สามารถจะตั้งรับโรคภัยไข้เจ็บได้อีกระยะหนึ่ง
เพราะ “อีกระยะหนึ่ง” นั้นไม่มีใครตอบได้ว่ามันยาวนานเพียงใด และยิ่งรอไปนานเข้าก็ยิ่งจะติดโรค “ชินชาวิกฤติ” ซึ่งก็จะย่างเข้าใกล้จุด “เกินเยียวยา”
ฝรั่งเรียกสถานการณ์อย่างนี้ว่า Situation normal, all fouled up (SNAFU) ซึ่งแปลได้คล้าย ๆ กับว่า “สถานการณ์ปกติ, ทุกอย่างเละหมด”
ถึงจุดนั้นเมื่อไหร่, สิ้นชาติได้จริง ๆ.