http://www.komchadlu...502/183946.html
วันเสรีภาพสื่อวอนหยุด'วาทกรรมเกลียดชัง'
'ส.นักข่าว' จัดงานวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก เรียกร้องทุกฝ่ายหยุดใช้-ส่งต่อวาทกรรมสร้างความเกลียดชัง ด้าน 'ฮิวแมนไรต์วอตช์'หวั่นไทยเดินตามรอยฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 2 พ.ค.2557 ที่อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสนมีการจัดการเสวนาเนื่องวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก(World press freedom day) ในหัวข้อ "เสรีภาพบนความรับผิดชอบ...Stop Hate Speech" นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ นักวิชาการด้านไอที กล่าวว่า ปัจจุบันมีคดีหมิ่นประมาทที่ยอมความไม่ได้ ที่เกิดจากไอทีมากกว่าหมื่นคดี ทั้งจากเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ฯ โดยเป็นการใส่ความ ให้ร้าย ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมีความเชื่อว่ามีเสรีภาพในการแสดงออก จึงทำให้ฮึกเหิม ซึ่งในต่างประเทศมีกฎหมายที่ดูแลเรื่องการใช้ถ้อยคำที่สร้างความขัดแย้ง หรือแสดงความเห็นขัดแย้งต่อความมั่นคง
"และมีเยอะที่มีความเชื่อของคนเล่นอินเตอร์เน็ตว่าตั้งชื่อคนอื่นแล้วเจ้าหน้าที่ ไม่สามารถติดตามตัวได้ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะความจริงสามารถตรวจสอบได้ แต่ทว่ายังมีปัญหาสองส่วนคือหนึ่งจำนวนบุคลากรที่รู้ด้านไอทีน้อย และการติดตามตัวผู้กระทำผิดทำได้ยาก เพราะกฎหมายจำกัดแค่ในประเทศเท่านั้น แต่ยืนยันว่าสามารถตรวจสอบได้"นายไพบูลย์ กล่าว
นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่ากลไกลและมาตรการทางเทคนิคที่มีทำได้แค่ช่วยเหลือเยียวยา เพราะกฎหมายสามารถบังคับใช้ได้เฉพาะในประเทศไทย แต่นอกประเทศทำอะไรไม่ได้ รวมทั้งมาตรการบล็อคก็ไม่สามารถช่วยได้
ด้านนายพิภพ พานิชภักดิ์ นักสื่อสารมวลชนอิสระ กล่าวว่า ไม่อยากให้มองเรื่องเฮทสปีช(วาทกรรมสร้างความเกลียดชัง) เฉพาะมิติการเมืองเท่านั้น บางครั้งมีการใช้วาทกรรมเรื่องความเกลียดชังอาจจะเกิดในเรื่องของชาติพันธุ์ แต่ทั้งนี้ความเกลียดชังไม่ได้เกิดจากการพูดเท่านั้นแต่เกิดจากภาษาภาพ ที่มีการตัดต่อร้อยเรียง ให้คนบางคนดูเป็นเทพเป็นมาร ซึ่งเป็นทักษะของนักวิทยุโทรทัศน์ที่เลือกทำได้ แม้เป็นภาพจริงทั้งหมด แต่บางภาพสามารถสร้างความเกลียดชังได้
"การที่สื่อให้ความสำคัญไม่ใช่การเซ็นเซอร์ แต่ต้องรู้เท่าทัน และมีทักษะในการสังเกตเห็นวาทกรรมความเกลียดชังที่อาจจจะมาแบบสุภาพไม่ได้เป็นคำหยาบ แต่มันแฝงความเกลียดชัง"นายพิภพ กล่าว
ขณะที่นายสุนัย ผาสุก ผู้ประสานงานที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรต์วอตช์ประจำประเทศไทย กล่าวว่า สื่อต้องยอมรับว่าเป็นหนึ่งในกระบวนการของการกล่อมเกลาให้เกิดวาทกรรมทางการเมืองด้วยส่วนหนึ่ง ทำให้เกิดการแบ่งเขาแบ่งเรา ดีกว่า ด้อยกว่า ตัวเหม็น ฯ หรือหนักกว่านั้นคือพูดลดความเป็นมนุษย์ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง คนเช่น ควาย แมลงสาป ซึ่งคำว่าแมลงสาปเป็นคำที่ใช้จนเกิดการฆ่าลางเผ่าพันธุ์ในประเทศรวันดา รวมทั้งเริ่มมีถ้อยคำที่ใช้คำว่าขยะที่ต้องจัดการให้พ้นจากแผ่นดิน แต่ดีที่สื่อไม่ดึงประเด็นนี้ขึ้นมาสานต่อ
"บทบาทของสื่อที่ดีและจะมีประสิทธิภาพหากสื่อตำหนิพฤติกรรมนี้ ด้วยกดกริ่งเตือน ซึ่งเป็นปัญหาที่น่ากังวลอย่างมาก จึงเปรียบเหมือนขณะนี้มีการโยนฟืน ราดน้ำมัน ที่รอเพียงไม้ขีดโยนลงมาใส่เท่านั้น ซึ่งคล้ายกับเหตุการณ์นาซีสู้รบกับยิว และเหตุฆ่าล้างเผ่าพันุ์ในยุคเขมรแดง สำหรับประเทศไทยถ้ามันเกิดขึ้นจะทำให้เหตุการณ์ตุลา พฤษภา เล็กไปเลย ดังนั้นบทบาทของสื่อจึงสำคัญว่าจะเป็นคนโยนฟืน หรือ โยนเชือกลงไป"นายสุนัย กล่าว
ฮิวแมนไรต์วอตช์ประจำประเทศไทย กล่าวเสนอว่า วิธีสู้กับเฮทสปีช ที่ได้ผลคือการปลุกจิตสำนึก ไม่ว่าคนจะเห็นแตกต่างอย่างไรต้องปลูกฝังได้การเคารพความแตกต่างอย่างมีอารยะ ดังนั้นสื่อจะเป็นหน่วยที่ช่วยเบรคกระแสและสร้างภูมิคุ้มกันในสังคม เพราะเฮทสปีชอาจจะเกิดในสังคมอีกก็ได้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิจิตรา บุสึคาโมโต้ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ที่ทำงานวิจัยด้านเฮทสปีชด้วย กล่าวว่า ปัจจุบันมีการอุปโลกบุคคลขึ้นมา ให้เป็นคนที่มีคนรัก เมื่อคนนั้นถูกเหยียดหยามทำให้มีความไม่เป็นมนุษย์ เฮทสปีชจะทำงานได้ดี และเฮทสปีชมักอยู่บนฐานของอารมณ์มากกว่าเหตุผล เมื่อสื่อสิ่งพิมพ์ถูกผลิตซ้ำในทีวี อินเตอร์เน็ต มีการโค้ดข้อความ ดังนั้นสำนักข่าวต่าง ๆ มีความสำคัญมากเพราะเราคือแหล่งอ้างอิงว่าเป็นข้อมูลจริง
ผศ.พิจิตรา กล่าวอีกว่า ลำดับเฮทสปีชของประเทศไทยเป็นเรื่องซีเรียสและมีวิวัฒนาการมากขึ้น มาพร้อมบริบททางสังคม ซึ่งในยุโรปมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มาแล้วกับการใช้เฮทสปีช รวมทั้งประเทศไทยในอดีต ถ้ามีการด่าคนเชื้อสายจีนว่า "เจ๊ก" ก็จะโกรธ แต่ปัจจุบันจะไม่รู้สึกอะไร ดังนั้นแม้สื่อจะมีเสรีภาพแต่ต้องมีความรับผิดชอบ ในยุคที่เทคโนโลยีฟรีมากเพราะคนทั่วไปสามารถเข้าถึง อย่างไรก็ตามในส่วนของสื่อมวลชนเราต้องระมัดระวัง แต่ไม่ลดทอนการมีเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงการเกิดขึ้นของทีวีดิจิตอล 24 ช่องน่าจะเป็นตัวช่วยให้เราผลิตรายการที่แตกต่างบนหลักการของเหตุผลด้วยอีกทาง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังการเสวนามีการเปิดโอกาสให้รับฟังการเสวนาได้แสดงความคิดเห็น โดยนางยุวดี ธัญญสิริ ผู้สื่อข่าวอาวุโสประจำทำเนียบรัฐบาล กล่าวแสดงความเห็นถึงวิธีป้องกันเฮทสปีชว่า ถ้าเราเขียนข่าวชิ้นหนึ่งเราต้องคำนึงถึงกระทบความมั่นคงต่อให้ร้อยเฮทสปีชก็ทำอะไรไม่ได้
ขณะที่นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกฯสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งปประเทศไทย กล่าวก่อนปิดการเสวนาว่า ตนรับข้อเสนอกดกริ่งเตือนสังคม โดยจะมีการจัดรณรงค์ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนการเสวนา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และนายวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย อ่านแถลงการณ์เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกประจำปีนี้ ในหัวข้อ "เสรีภาพบนความรับผิดชอบ" ข้อความว่า
ตามที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้ประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก” เพื่อย้ำเจตนารมณ์และหลักการที่เป็นพื้นฐานของเสรีภาพสื่อมวลชนทั่วโลก คือเสรีภาพในการคิดและการแสดงออก เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้เสนอข้อเท็จจริงโดยเสรีและปลอดภัย ซึ่งในปี พ.ศ.2557 ทางยูเนสโกให้ความสำคัญกับ 3 ประเด็นหลัก คือ การพัฒนาสื่อ ความปลอดภัยของสื่อและหลักนิติธรรม และความอยู่รอดและเกียรติภูมิของสื่อ ซึ่งทั้ง 3 ประเด็นดังกล่าวล้วนมีความสำคัญต่อการส่งเสริม และปกป้องสิทธิเสรีภาพสื่อทั้งสิ้น
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สนับสนุนหลักการดังกล่าว และต้องการเห็นสื่อทุกประเภทตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพและยึดมั่นในหลักการ “เสรีภาพบนความรับผิดชอบ”
สำหรับสถานการณ์เสรีภาพของสื่อมวลชนไทยในรอบปีที่ผ่านมา องค์กรสื่อมวลชนยังตกเป็นเป้าหมายของการถูกปิดล้อมและกดดันโดยมวลชนของแต่ละฝ่าย รวมทั้งนักข่าวจำนวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บจากการเข้าไปทำข่าวในพื้นที่การชุมนุมทางการเมือง
ที่สำคัญในยุคที่การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนมีได้หลากหลายช่องทางและรายการที่ตัวเองสนใจ ทั้งจากวิทยุ วิทยุชุมชน หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม รวมถึงสถานีโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลอีก 24 ช่อง นอกจากนี้ยังมีเว็บไซต์ สื่อสังคมออนไลน์ ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ประชาชนไม่ได้เป็นผู้ “รับสาร” อย่างเดียวอีกต่อไป แต่ยังเป็นผู้ส่งข้อมูลข่าวสาร ภาพข่าว หรือเผยแพร่คลิปออกไปอย่างรวดเร็วผ่านเครือข่ายสื่อต่าง ๆ แต่อีกด้านหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังพบว่ามีการนำเสนอข้อความ หรือการสร้างวาทกรรม หรือภาพตัดต่อในรูปแบบต่างๆ ที่อาจสร้างความเกลียดชังจนนำไปสู่ความรุนแรงและขยายความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญผู้ที่อยู่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ยังสามารถส่งต่อความเกลียดชังหรือความขัดแย้งได้ง่าย โดยการกดไลค์ กดแชร์ หรือนำลิงค์ข้อความส่งต่อให้กับผู้อื่น รวมทั้งสื่อประเภทต่าง ๆ มีการนำเสนอและผลิตซ้ำภาพเหตุการณ์ความรุนแรงอันจะนำไปสู่ความเคยชินของประชาชนผู้รับข้อมูลจนคิดว่าความรุนแรงเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน
ในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ขอเรียกร้องฝ่ายต่างๆ ร่วมกันตระหนักถึงการส่งต่อข้อความ หรือการเผยแพร่ภาพที่จะนำไปสู่การ “สร้างความเกลียดชัง ความรุนแรง และเพิ่มความขัดแย้ง” ดังต่อไปนี้
1.เรียกร้องให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนทุกแขนงตระหนักในการใช้ ”เสรีภาพบนความรับผิดชอบ” โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อบุคคลและสังคมโดยรวม ควรงดเว้นการนำเสนอและผลิตซ้ำ ด้วยการใช้ภาษา ข้อความ หรือภาพข่าวที่นำไปสู่ความเกลียดชัง ซึ่งจะก่อให้เกิดความรุนแรงที่จะตามมา
2.เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งในสังคม” หยุดสร้าง หยุดใช้ “วาทกรรมสร้างความเกลียดชัง ผ่านช่องทางสื่อในรูปแบบต่างๆ เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายของแต่ละฝ่าย โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายต่อสังคมโดยรวม
3.เรียกร้องให้ประชาชนและผู้ใช้สื่อในรูปแบบต่างๆ ใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสารด้วยการกลั่นกรองอย่างรอบด้าน และระมัดระวังในการเผยแพร่ หรือส่งต่อข้อมูลที่จะนำไปสู่ความเกลียดชังและความขัดแย้งในวงกว้าง
4.เรียกร้องให้ภาครัฐ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และองค์กรวิชาชีพสื่อ ดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ โดยไม่เลือกปฏิบัติในการเฝ้าระวังและกำกับดูแลสื่อทุกประเภท ให้อยู่ภายใต้กรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพและบทบัญญัติของกฎหมาย
สมาคมนักข่าวทั้งสอง ขอย้ำเตือนว่ารัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ต้องตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องเคารพเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อมวลชนเพราะเสรีภาพสื่อมวลชนมีส่วนในการกระตุ้นให้เกิดความโปร่งใสและเกิดธรรมาภิบาลเพื่อเป็นหลักประกันว่า สังคมจะได้รับความยุติธรรมที่แท้จริง
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
เก็บตกจากข่าวเมื่อวานนี้ ซึ่งในวันนี้ผมก็ยังเห็นผู้ประกาศข่าวบางช่องใส่เสื้อยืดสีขาวที่เขียนว่าเสรีภาพบนความรับผิดชอบอยู่
ยอมรับความจริงว่า คำพูดที่ยั่วยุการแสดงความเกลียดชังยังมีอยู่ ทั้งในเรื่องความคิดเห็นและข่าวการเมือง (รวมถึงความมั่นคงของประเทศ อย่างการหมิ่นเบื้องสูงตาม ป.อาญา มาตรา 112 ที่มีข้อความเสียดสีไม่ได้ต่างกันเลย มีให้เห็นในเน็ต และอาจรวมถึงช่องการเมืองบางช่องด้วยที่มีเนื้อหาสุ่มเสี่ยง)
ข้อความ คำ ที่สื่อถึงความเกลียดชัง ส่วนหนึ่งมันเกิดจากการกระทำและแนวคิดของตน เข้าทำนองว่าดีชั่วอยู่ที่ตัวทำ สูงต่ำอยู่ที่ทำตัว อะไรแบบนั้น
ทำตัวดีก็จะมีคุณค่า มีคนชื่นชมยกย่อง ทำตัวเสียก็ไร้คุณค่า มีคนตำหนิติเตียน(อย่างวาทกรรม ขยะแผ่นดิน ที่มีหลายคนเดือดร้อนจากวาทกรรมนี้เป็นจำนวนมาก ก็เพราะที่ทำตัวเองเป็นขยะให้คนด่านี่ไง) แต่บางทีการเปรียบเทียบ การกระทบกระเทียบด้วยคำพูดคำจามันดูรุนแรง อ่อนไหว เวลาฝ่ายตนโดนบ้างก็มักจะเดือดร้อนเป็นธรรมดาอยู่แล้ว
ระดับการใช้ภาษา คำหยาบคาย หรือไม่หยาบคาย แต่ดูแรง ขึ้นอยู่กับการเรียบเรียงคำพูด มันก็บ่งบอกได้ว่ามันเป็น Hate speech หรือไม่
สำหรับผม ในฐานะคนที่อ่านข่าวทุกวัน ดูข่าวทุกวัน ทั้งในทีวีและอินเทอร์เน็ต ส่วนวิทยุผมไม่ได้ฟัง คำว่า "เสรีภาพบนความรับผิดชอบ" มันมีความหมายกว้างกว่านั้น ไม่ใช่ว่าจะเจาะแค่วาทกรรมที่สร้างความเกลียดชังตาม Theme ของงานในปีนี้ กล่าวคือ การนำเสนอข่าวที่เป็นความจริง ไม่มีการบิดเบือนแต่งเติม ให้น้ำหนักในการนำเสนอข่าวทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมจริงๆ อย่างการปล่อยเสียงการให้สัมภาษณ์ก็ต้องให้ฟังทุกฝ่าย ไม่ใช่ปล่อยเสียงของอีกฝ่ายหนึ่ง แต่อีกฝ่ายหนึ่งมีให้สัมภาษณ์กับนักข่าวเหมือนกัน แต่ผู้ประกาศหรือผู้ดำเนินรายการพากย์ให้ฟังทับลงไปแบบชี้นำ
พอดีกว่า ให้เพื่อนๆ สมาชิกคนอื่นได้ออกความเห็นบ้าง ...
**เกลาไปหลายรอบเลยเนอะ ความเห็นท้ายข่าวของผม
Edited by อู๋ ฮานามิ ประธาน กปปส., 3 May 2014 - 13:50.