'สไนเปอร์'ชีวิตในที่ซุ่ม ทีมข่าวรายงานพิเศษ : เรื่อง วัชรชัย คล้ายพงษ์ : ภาพ เสียงปืนแหวกอากาศพุ่งกระทบเป้าเหล็กที่อยู่ห่างออกไป 200 เมตร นานๆ ครั้งจึงดังขึ้นอีกนัด คราวนี้เสียงดังฟังชัดจนจำแนกได้ว่า มันมาจากปืนคนละกระบอก !?!
ชายชุดพรางสีเขียวเข้มคลุมด้วยชุดพรางทับอีกชั้นจนดูกลมกลืนไปกับสิ่งแวดล้อม ห่างออกไปเล็กน้อยชายฉกรรจ์อีกคนส่องกล้องจดจ่ออยู่กับบางสิ่งบางอย่าง ปากคอยบอกทิศทางสูงต่ำระยะกินของศูนย์ปืนเอ็ม 14 และกระสุนไรเฟิลขนาด 7.62 มม.
เยื้องไปทางขวาชายฉกรรจ์ผิวขาวกร้านจากเปลวแดด หน้าตาบ่งบอกว่า ไม่ใช่คนเอเชีย ชุดพรางสีอ่อนกว่าชายฉกรรจ์ 2 คนแรก แต่กำลังปฏิบัติการเหมือนกับทั้งสองอย่างมุ่งมั่นและเอาจริงเอาจัง
ทั้งหมดนี้ เป็นการฝึกสไนเปอร์หรือพลซุ่มยิง ณ สนามยิงปืนทราบระยะ
กองกำลังสุรนารี จ.นครราชสีมา ระหว่างการฝึกผสมนานาชาติภายใต้รหัส
คอบร้าโกลด์ 2012 นับเป็นครั้งที่ 31 แล้ว ที่ทหารไทยกับสหรัฐและนานาชาติฝึกร่วมกัน
ประเทศไทยไม่มีโรงเรียนฝึกสอนสไนเปอร์เป็นการเฉพาะเจาะจง แต่มีหลักสูตรพลซุ่มยิงแบบเดียวกับที่นานาชาติใช้ แบ่งเป็นพื้นที่ป่ากับพื้นที่เมือง แม้ทฤษฎีจะเหมือนกัน แต่ในทางปฏิบัติยังมีเทคนิคและกลยุทธ์ปลีกย่อย ผู้ผ่านการฝึกหลักสูตรสไนเปอร์เท่านั้น จึงจะเรียนรู้วิธีเหล่านี้ได้
“หลักสูตรส่วนใหญ่เหมือนกัน แต่แท็กติกเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่นวิธีคืบคลานเข้าพื้นที่ซุ่มยิง อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้บ้านเรายังไม่มี” ส.อ. หัวหน้าชุดสไนเปอร์ไทยให้ความเห็น
การฝึกครั้งนี้ ไทยจะได้เรียนรู้กลยุทธ์ทุกรูปแบบ ตั้งแต่ท่ายิง เริ่มจากท่านอนมาตรฐาน ท่านั่งคุกเข่า ท่านั่งราบ และที่ไม่ค่อยได้พบบ่อยนักคือการใช้สปอตเตอร์หรือพลตรวจวัดระยะและทิศทางลม
การยิงลักษณะนี้มี 2 ลักษณะ คือการใช้สปอตเตอร์นั่งอยู่ด้านหน้ากับยืนอยู่ด้านหน้าแล้วใช้บ่าเป็นฐานปืนให้แก่ชูตเตอร์หรือพลยิง กรณีนี้ต้องใช้ทักษะค่อนข้างสูง ทั้งชูตเตอร์กับสปอตเตอร์ต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
“สปอตเตอร์กับชูตเตอร์ต้องหายใจเข้า-ออกเป็นจังหวะเดียวกันและแผ่วเบาที่สุด เพื่อให้ปืนนิ่งไม่คลาดเคลื่อนจากเป้าหมาย” ส.อ.จอห์น หัวหน้าชุดสไนเปอร์สหรัฐที่หน้าตาดูอ่อนวัยจนไม่น่าเชื่อว่า เขากำจัดเป้าหมายมาแล้วอย่างน้อย 2 ศพ อธิบาย
ทักษะสำคัญของการเป็น
สไนเปอร์ คือสมาธิและความอดทนอดกลั้น เพราะบางครั้งต้องใช้เวลาเฝ้ารอเป้าหมายกินเวลายาวนาน ที่สำคัญคือสไนเปอร์ไม่สูบบุหรี่ และช่วงอายุที่ดีที่สุดของสไนเปอร์คืออายุ 35 ปี แต่ก็อยู่ได้ถึง 49 ปี ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลว่า ควบคุมสมาธิและอดทนในสภาวะกดดันเวลาเฝ้ารอได้เพียงใด
ส.อ. รองหัวหน้าชุดสไนเปอร์ของไทย ซึ่งเคยปฏิบัติหน้าที่สู้รบบริเวณภูมะเขือ เขาพระวิหาร จ.ศรีสะเกษ เมื่อต้นปี 2554 รู้ดีว่าทรมานแค่ไหน
“มันระแวงไปหมด ได้ยินหรือเห็นอะไรเป็นต้องผวา” เขาสะท้อนความรู้สึก
ปัจจุบันอาวุธที่พลซุ่มยิงของไทยใช้คือปืนเอ็ม 14 ส่วนของทหารสหรัฐที่นำมาฝึกครั้งนี้เป็นเอ็ม 110 สโตเนอร์ ที่พวกเขาออกตัวว่าเป็นอาวุธที่มีอานุภาพปานกลาง ใช้กระสุนขนาด 7.62 มม. แต่กระนั้นก็มีที่เก็บเสียงและสามารถติดกล้องส่องเวลากลางคืนได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ส.อ.จอห์น ให้ความเห็นว่า ทางทฤษฎีแล้วสไนเปอร์ส่วนใหญ่จะ
ให้ความสำคัญกับตัวบุคคลมากกว่าอาวุธ เพราะ
คนสามารถพัฒนาขีดความสามารถและเอาชนะขีดจำกัดของอาวุธได้ อาวุธเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น นั่นหมายถึงทหารไทยสามารถพัฒนาขีดความสามารถนี้ได้ด้วยเช่นกัน !!
คุณสมบัติของเสียงเป็นเรื่องจำเป็นของ
สไนเปอร์ การเคลื่อนไหวและการกระทำใดๆ ต้องให้เกิดเสียงน้อยที่สุด ดังนั้น ปืนที่เสียงดังมากๆ จะเป็นตัวชี้เป้าว่าพลซุ่มยิงมาจากจุดไหน ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายมาก ด้วยเหตุนี้พลซุ่มยิงของไทยจึงได้เรียนรู้การทำชุดพรางจากเชือกป่านและแผ่นรอง เพื่อให้การเคลื่อนที่ไร้เสียงและป้องกันการบาดเจ็บ ตลอดจนแท็กติกเล็กๆ น้อยๆ ในการพรางหน้าในจุดที่กระทบแสงแดด ซึ่งมันจะแจ้งที่ซ่อนของสไนเปอร์ให้แก่ศัตรูด้วย
...สไนเปอร์ของไทยและสหรัฐค่อยๆ คืบคลานเข้าพื้นที่เป้าหมาย โดยนอนราบไปกับพื้น ขาเหยียดตรง มีเพียงนิ้วมือกับนิ้วเท้าเท่านั้นที่ค่อยๆ ดึงและยันตัวไปข้างหน้าราวกับสิ่งที่ปราศจากชีวิต !?!
ขณะที่สไนเปอร์ร่างยักษ์หน้า***มได้รับสมญานามจากเพื่อนๆ ทั้งในชุดสไนเปอร์สหรัฐและสไนเปอร์ไทยที่ร่วมฝึกคอบร้าโกลด์ครั้งนี้ว่า "บราวน์ 13 ศพ" ยืนมองการฝึกอยู่ใกล้ๆ ให้ความเห็นสั้นๆ และไร้ความรู้สึกถึงการกำจัดเป้าหมายมีชีวิตครั้งแรกว่า ไม่รู้สึกอะไรมากไปกว่าแรงถีบสะท้อนถอยหลังของปืนที่ใช้ยิง !!?
21 ก.พ.2555