เว็บไซต์หนังสือพิมพ์เจแปนไทมส์ ประเทศญี่ปุ่น ตีพิมพ์บทบรรณาธิการถึงสถานการณ์การเมืองไทยในหัวข้อ "ประชาธิปไตยไทยลัดวงจร" มีเนื้อหากังวลต่อเหตุการณ์ที่กระทบต่อประชาธิปไตย ในประเทศไทย ตั้งแต่การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นสภาพ เนื่องจากการโยกย้ายประธานสภาความมั่นคงในปี 2554
เจแปนไทมส์ระบุว่า ในขณะที่นายกรัฐมนตรีส่วนใหญ่มีสิทธิที่จะคัดเลือกทีมงานและคนในคณะรัฐมนตรีได้เอง แต่กรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์กลับถูกมองว่าใช้อำนาจในทางมิชอบ มีเจตนาแอบแฝงจะเอื้อประโยชน์จากการโยกย้ายให้ญาติ ทำไปโดยไม่อยู่ในหลักจริยธรรม และต้องพ้นสภาพไปในทันที
"น่าเศร้าว่าลัทธิที่ดำเนินการเพื่อให้บรรลุผลทางการเมืองเช่นนี้ไม่ใช่ว่าไม่เคยเกิดขึ้นเพราะนายกรัฐมนตรีคนก่อนที่อยู่ในสายเดียวกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกทำให้พ้นสภาพเพราะไปออกรายการทีวีทำกับข้าว(คาดว่าเพราะรับค่าจ้างที่ไปออกรายการ)
ประเด็นจริงๆก็คือการต่อสู้ระหว่างกองกำลังในสังคมไทยที่ต่อต้านอย่างรุ่มร้อนต่อพ.ต.ท.ทักษิณชินวัตรผู้ถูกโค่นจากตำแหน่งในการ รัฐประหารปี 2549 กับกองกำลังของคนที่สนับสนุนทักษิณและนโยบายของทักษิณ" เจแปนไทมส์ระบุ
หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของญี่ปุ่นระบุต่อว่า ปัญหาก็คือทักษิณได้รับความนิยมมาก ขนาดว่าถูกโค่นจากตำแหน่งในการรัฐประหารของกองทัพไปแล้ว มีรัฐธรรมนูญที่เขียนโดยรัฐบาลชุดต่อจากนั้นที่พยายามสกัดกั้นการกลับมาของทักษิณก็แล้ว แต่พรรคของทักษิณก็ยังชนะการเลือกตั้งอีก ส่วนฝ่ายที่ต่อต้านทักษิณก็ยังเดินหน้าทุกทางที่จะขัดขวางพันธมิตรของทักษิณไม่ให้เป็นรัฐบาล
ผลก็คือเกิดรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่าสลับกับความพ่ายแพ้หลังการเลือกตั้งและการรอให้มีแรงกดดันใหม่อย่างในวิกฤตครั้งล่าสุดนี้เมื่อมีการเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่จะทำให้ทักษิณกลับบ้านได้จึงเกิดการประท้วงในกรุงเทพฯทำให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ยุบสภาให้เลือกตั้งใหม่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลรู้ว่าไม่มีทางชนะจึงไปบล็อกคูหาเลือกตั้ง ขวางการลงคะแนน ขวางผู้สมัครบางคนไปลงทะเบียน จากผลดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญก็ตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ
จากที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้สภาผู้แทนฯแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตอนนี้สุเทพเทือกสุบรรณกลับบอกว่าหน้าที่นั้นตกเป็นของวุฒิสภาแล้ว
ในตอนท้ายของบทบ.ก.เจแปนไทมส์ระบุว่าถึงฝ่ายค้านของไทยอาจชนะการต่อสู้เหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แต่ชัยชนะเหล่านั้นคือชัยชนะแบบที่ได้ไม่คุ้มเสียนำไปสู่การปราชัยในที่สุดเพราะไม่เพียงส่งผลต่อเสถียรภาพและความโกลาหลที่ก่อความเสียหายพอกับที่ทักษิณต้องการปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจและเศรษฐกิจแต่ยังบั่นทอนรากฐานความชอบด้วยกฎหมายของประเทศ
การแทรกแซงของทหารที่ครั้งหนึ่งเป็นเรื่องปกติในการเมืองไทย ยุคนั้นจบลงไปแล้ว แต่เหลือเชื่อที่สถานการณ์ในไทยตอนนี้อาจเป็นลางหรือพัฒนาไปเลวร้ายยิ่งกว่า เมื่อเดินสู่ความรุนแรง หรือแม้แต่เกิดสงครามกลางเมือง
http://www.khaosod.c...E9PQ===
Edited by Arctinurus, 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 - 11:42.