http://www.thairath..../content/423554
"อภิสิทธิ์" มอบ "นิพิฏฐ์" รวมหลักฐาน "ธาริต" ใช้อำนาจมิชอบ "ราเมศ" ตะเพิดพ้น ดีเอสไอฟ้องผิด ม. 157 อาญาเตือนอัยการอย่าเป็นเครื่องมือดีเอสไอ
วันที่ 18 พ.ค. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงการใช้อำนาจของนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ และในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ (ศอ.รส.) ว่า มีข้อน่าสงสัยหลายข้อ คือ
1. คำสั่งแต่งตั้ง ศอ.รส. ไม่มีโครงสร้างที่แต่งตั้งโดย กอ.รมน. นอกจากการแต่งตั้ง รมว.แรงงานให้เป็น ผอ.ศอ.รส.เท่านั้น แต่ขณะนี้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง พ้นตำแหน่งไปแล้ว จึงมีปัญหาทางกฎหมายว่า การปฏิบัติหน้าที่ของ ศอ.รส. ใช้กฎหมายใดรองรับ
2. การปฏิบัติหน้าที่ของ ศอ.รส. สนองงานการเมือง เช่น การอายัดบัญชีแกนนำ กปปส. และสมาชิกพรรค แต่ไม่มีการขออนุญาตไปยัง ปปง. จึงต้องถอนการอายัดดังกล่าว
3. การออกหมายจับ 31 แกนนำ กปปส. เพราะขอหมายจากศาลยุติธรรม ทำให้ศาลเข้าใจผิดว่า ถูกฟ้องแล้วจากอัยการ ทั้งที่อัยการยังไม่ได้สั่งฟ้องแต่อย่างใด 4. การบุกจับกุมนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ และนายสาธิต เซกัล ที่ใช้ตำรวจจำนวนมากพกพาอาวุธสงครามจนชาวบ้านแตกตื่น เป็นการปฏิบัติที่เกินขอบเขต ใช้อำนาจมิชอบ ข่มขู่ คุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชนชัดเจน ทราบว่าปฏิบัติการทั้งหมดบงการโดยนายธาริต
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค จึงมอบหมายให้นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค เป็นหัวหน้าคณะทำงานติดตามคดีนี้ พร้อมนายราเมศ รัตนะเชวง ฝ่ายกฎหมายพรรค เพื่อดำเนินคดีกับนายธาริต และบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นตัวอย่างไม่ให้มีการใช้อำนาจที่เกินขอบเขตในการคุกคามประชาชนอีกต่อไป
นายราเมศ รัตนะเชวง คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การขอให้ศาลออกหมายจับแกนนำ กปปส. ของดีเอสไอ และมีการจับกุมนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ มีการยื่นต่อศาลเพื่อขอฝากขัง แต่ศาลยกคำร้องดังกล่าวนั้น เป็นประเด็นสำคัญของกระบวนการยุติธรรม เพราะกระทบสิทธิเสรีภาพ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เนื่องจากศาลมีคำสั่งระบุชัดเจนในรายงานกระบวนพิจารณาว่า เจ้าพนักงานมีอำนาจควบคุมเท่าที่จำเป็นในการนำตัวส่งฟ้องต่อศาลเท่านั้น เพราะเป็นการขอหมายจับเพื่อยื่นฟ้องต่อศาล แต่พนักงานสอบสวนดีเอสไอกลับยื่นคำร้องขอฝากขังเพื่อดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติม ซึ่งตามหลักกฎหมายไม่มีสิทธิทำ
เนื่องจากเป็นอำนาจของศาล ที่สำคัญพนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจในการควบคุมตัวแกนนำ กปปส. คือเมื่อจับกุมได้ต้องส่งตัวเพื่อยื่นฟ้องต่อศาล โดยประสานกับทางอัยการทันทีเท่านั้น จะลักไก่ควบคุมตัวไว้ไม่ได้ เป็นเรื่องที่ขัดต่อบทบัญญัติกฎหมาย
เว้นแต่อัยการจะมีคำสั่งให้สอบเพิ่มเติม เพราะอำนาจไม่ได้อยู่ที่ดีเอสไอแล้ว จึงเรียกร้องขอความชัดเจนว่า อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องใคร ร่างคำฟ้องเสร็จหรือยัง หากเสร็จแล้วก็ต้องแจ้งไปยังดีเอสไอให้นำตัวผู้ต้องหาไปยื่นฟ้องต่อศาล ไม่ใช่ดีเอสไอลุยจับแต่ไม่ดำเนินการตามกฎหมาย อัยการอย่าตกเป็นเครื่องมือของดีเอสไอ
สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าพนักงานสอบสวนดีเอสไอไม่มีความรู้ทางกฎหมาย เพราะกระบวนการดำเนินคดีต้องอยู่บนพื้นฐานกฎหมายอาญา หากไม่ดำเนินการตามนี้ก็เตรียมตัวเข้าคุกได้เลย
"ผมเห็นว่านายธาริต ต้องรับผิดชอบในฐานะเป็นอธิบดีดีเอสไอ แต่กลับไม่มีความรู้ทางกฎหมาย สมควรลาออกจากการเป็นอธิบดีดีเอสไอ และขอกล่าวหาว่าทำงานเพื่อสนองฝ่ายการเมืองเป็นที่ตั้ง ทั้งที่ต้องยึดถือหลักกฎหมายของบ้านเมือง เรื่องนี้นายนิพิฏฐ์และผม จะประชุมพรุ่งนี้ รวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดีตามมาตรา 157 กับพนักงานสอบสวนและอธิบดีดีเอสไอ ซึ่งคณะทำงานกฎหมายของ กปปส. ก็เตรียมที่จะดำเนินคดีด้วยเช่นเดียวกัน” นายราเมศ กล่าว