ภายใต้กฏอัยการศึกซึ่งถือเป็นกฏหมายเดียวที่สามารถควบคุมสื่อหรือตรวจสอบบทความก่อนออกเผยแพร่ของสื่อได้ แน่นอนว่าไม่ใช่เพียงแค่สื่อมวลชนเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่ผลข้างเคียงนั้นเกิดขึ้นกับโลกออนไลน์ที่ทุกคนสามารถโพสต์ความเห็นส่วนตัวออกเผยแพร่ให้ผู้อื่นได้รับรู้ผ่าน'โซเชียลมีเดีย'ด้วย แถมไทยยังเป็นประเทศที่นิยมใช้โซเชียลมีเดียเป็นอันดับต้นๆของโลก ซึ่งแม้เงื่อนไขของการประกาศครั้งนี้จะบอกว่าสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติวิสัย แต่การโพสต์เผยแพร่ข้อมูลที่หมิ่นเหม่ ซึ่งขัดต่อประกาศของกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส) ก็ยังเป็นสิ่งต้องห้ามในช่วงการประกาศใช้กฏอัยการศึกนี้เช่นกัน
นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมายคอมพิวเตอร์กล่าวถึงแนวทางและข้อห้ามการโพสต์ข้อความบนโลกโซเชียลมีเดีย เพื่อให้ปลอดภัยจากการถูกจับในข้อหาร้ายแรง ด้วยการเผยแพร่สิ่งต้องห้ามโดยไม่รู้ตัว ภายใต้ข้อปฎิบัติที่จำเป็นดังต่อไปนี้
1. ควรงดการเผยแพร่ความเห็นที่เกี่ยวกับการเมืองในช่วงเวลานี้ไปก่อน เพื่อความปลอดภัย ซึ่งแม้ว่าจะเป็นความเห็นส่วนตัว แต่หากเข้าข่ายบิดเบือนจากข้อเท็จจริงซึ่งเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ยากมากในปัจุจบัน ก็จะเกิดความผิดได้เช่นกัน
2. งดการกดไลค์ เพือป้องกันการกระทำความผิดโดยไม่รู้ตัว หากข้อความนั้นหมิ่นเหม่ต่อความผิด การเข้าไปมีส่วนร่วม อาจจะเข้าข่ายการกระทำความผิดร่วมได้ แนะนำว่าไม่ควรกดไลค์ในช่วงเวลานี้
3. งดการกดแชร์หรือรีทวิต เพื่อเผยแพร่ข่าวสารที่หมิ่นเหม่ และถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง
ทั้งนี้การประกาศฉบับที่ 3 ของ กอ.รส ดังกล่าวนับว่ามีขอบเขตที่กว้างพอสมควร ดังนั้นชาวโซเชียลมีเดียควรป้องกันตัวเองด้วยการงดการโพสต์ ไลค์ แชร์ ข้อความเกี่ยวกับการเมืองเพื่อป้องกันการกระทำความผิดโดยไม่รู้ตัว
และหากต้องการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ควรเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่กระทบ และยั่วยุให้เกิดปัญหา หรือวิจารณ์การทำงานของหน่วยงาน กอ.รส ซึ่งจะผิดต่อประกาศ กอ.รศ อย่างชัดเจน แต่ประกาศดังกล่าวก็ยังเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่เป็นข้อเท็จจริงโดยสุจริตเท่านั้น
***เนื้อหาตามประกาศ กอ.รส. ฉบับที่ 3
ประกาศ กอ.รส. ฉบับที่ 3 ห้ามทุกสื่อ รวมถึงสื่อออนไลน์ ออกข่าวบิดเบือน หรือปลุกระดมให้เกิดความวุ่นวาย
วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 เวลาประมาณ 09.00 น. กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ได้ออกประกาศฉบับที่ 3/2557 ในการห้ามสื่อทีวี หนังสือพิมพ์ รวมถึงสื่อออนไลน์ นำเสนอข่าวบิดเบือน หรือปลุกระดมให้เกิดความวุ่นวาย แตกแยก โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 6 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ดังนี้
1. ห้ามนำเสนอข่าวทั้งในรูปแบบของเอกสาร ภาพ สื่อสิ่งพิมพ์ การออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์กระจายเสียง สถานีดาวเทียมและเคเบิล สถานีวิทยุกระจายเสียง และสถานีวิทยุชุมชน ตลอดจนการนำเสนอข่าวผ่านสื่อออนไลน์ ที่มีเจตนาบิดเบือน ปลุมระดมให้สร้างสถานการณ์ความวุ่นวาย แตกแยก หรือมีข้อความอันอาจทำให้ประชาชน เกิดความหวาดกลัว การเข้าใจผิด จนส่งผลกระทบต่อมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยของเจ้าหน้าที่
2. ห้ามแจกจ่าย จำหน่าย สิ่งพิมพ์ ที่มีการนำเสนอข้อมูล/ข่าวสาร อันอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยตามข้อ 1
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
http://www.manager.c...D=9570000055981