นิติราษฎร์แก้ไขอะไรบ้างในม.112เห็นจากเพจมั่นใจฯมีอยู่นิดเดียวรู้สึกว่าจะไม่ค่อยตรงกับบริบทอื่นๆที่เค้าแสดงออกกัน
#1
ตอบ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 12:45
เห็นจากเพจมั่นใจว่าคนไทยเกิน1ล้านสนับสนุนข้อเสนอนิติราษฎร์
ที่อ่านมาก็มีไม่กี่ข้อ อ่านคร่าวๆก็พอรับฟังได้ ยังไม่เห็นด้วยทั้งหมด
แต่การแสดงออกของคนในนิติราษฎร์แต่ละคนมันเหมือนจะเยอะกว่านั้น
แล้วข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ?
คนในเพจเหมือนจะกล่าวหาว่าคนที่โวยวายต่อต้านนิติราษฎร์ไม่ยอมหาข้อมูลข้อเท็จจริงก่อนมากล่าวหาเขาผิดๆ
เพื่อนๆมีข้อมูลกันมั้ยคะ ขอความรู้หน่อย
#2
ตอบ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 12:56
กลุ่มนักวิชาการในนามคณะนิติราษฎร์ ได้จัดเวทีเปิดตัวคณะรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 (ครก.112) เพื่อผลักดันร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดย น.ส.กฤตยา อาชวนิจกุล อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อ่านแถลงการณ์ตอนหนึ่งว่า คณะนิติราษฎร์ขอเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยมีสาระสำคัญคือ
1.ให้ยกเลิกมาตรา 112 ออกจากลักษณะว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร
2.เพิ่มหมวดลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
3.แบ่งแยกการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระมหาษัตริย์ ออกจากการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
4.เปลี่ยนบทลงโทษให้กำหนดโทษสูงสุดอยู่ที่การจำคุกไม่เกิน 3 ปีสำหรับการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือการแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และไม่เกิน 2 ปีในกรณีที่กระทำต่อพระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
5.เพิ่มเหตุยกเว้นความผิดกรณีแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต
6.เพิ่มเหตุยกเว้นโทษ ในกรณีที่ข้อความที่กล่าวหานั้นได้รับการพิสูจน์ว่า เป็นความจริงและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และ
7.ให้สำนักราชเลขาธิการเท่านั้นมีอำนาจเป็นผู้กล่าวโทษผู้ที่ทำความผิดแทนพระองค์
คณะนิติราษฎร์ จะร่วมกับกลุ่มนักกิจกรรมทางสังคม นักเขียน และนักวิชาการ ได้มีมติผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ด้วยการทำในนามของ ครก.112 และรวบรวมรายชื่อประชาชนอย่างน้อย 10,000 คน ภายในเวลา 112 วัน เพื่อนำเสนอร่างกฎหมายนี้ต่อไป
นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “ทำไมจึงต้องแก้ไขมาตรา 112”
ในข้อ4 อาฆาตคนธรรมดายังโทษหนักกว่าอาฆารราชินีและรัชทายาท!
ชัดเจนว่ามันไม่ใช้การเสวนาทางวิชากร เพราะมีการรณรงค์รวมรายชื่อมันกลายเป็นการเมืองไปแล้ว
จากข้อเสนอนิติราษฎร์ ถ้าทำได้จริงมันเท่ากับว่าเราไม่มีกฎหมายคุ้มครองพระมหากษัตริย์ ต่อไปนี้ใครจะโกหกยังไงก็ได้ในนามงานวิชาการ ส่วนหมิ่นประมาทคงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้สำนักราชเลขาธิการไปไล่ฟ้องรายคนเพราะเท่ากับดึงสถาบันไปเป็นคู่ขัดแย้ง
และนายนิธิ เคยพูดในรายการตอบโจทย์ ว่าไม่เคยศึกษากฎหมายมาตรา112 ...ไม่เคยศึกษาแต่พูดได้นี่แหละสังคมไทย
Edited by ดราม่า, 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 13:01.
#3
ตอบ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 13:03
วรเจตน์บอกให้กษัตริย์สาบานตนว่าพิทักษ์รธน. เพื่อให้ทหารไม่กล้าปฎิวัติ
http://webboard.seri...กษัตริย์สาบานต/
#4
ตอบ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 13:08
อันนี้ถกกันในแนววิชาการนะคะ มองข้ามประเด็นเรื่องของการเมืองไปก่อนสำหรับคนที่มองว่ากลุ่มนี้มีการเมืองแอบแฝง
ส่วนตัวรู้สึกว่ากลุ่มนี้และผู้สนับสนุนไม่ต่างอะไรกับกลุ่มเสื้อแดงหรือเสื้อเหลือง
ที่มีการรวมตัวกันจากผู้คนที่หลากหลายที่อาจมีจุดร่วมเดียวกันแต่ไม่ใช่ทั้งหมด
เพียงแต่ระยะเวลายังสั้นเกินกว่าที่จะวิเคราะห์ได้ว่าแต่ละคนในกลุ่มแอบแฝงจุดหมายอื่นใดด้วย
#5
ตอบ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 13:08
**โดยส่วนตัว อาจารย์เห็นด้วยกับนิติราษฎร์ที่จะให้มีการแก้ไขมาตรา 112ไหม
จริงๆ ผมไม่เห็นด้วยกับนิติราษฎร์นะ แต่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยไม่สำคัญเพราะผมเป็นอธิการบดี ไม่ใช่นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ คนที่เป็นอธิการบดีต้องยืนอยู่บนหลักกฎหมาย หลักนิติรัฐ และในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งมีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว มหาวิทยาลัยที่สืบทอดเจตนาของท่านปรีดี พนมยงค์ ที่ว่าเราเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ดังนั้นธรรมศาสตร์ต้องเกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่มีทางที่จะไม่เกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นในช่วงที่มีผมอนุญาตให้นิติราษฎร์ใช้สถานที่ของธรรมศาสตร์ ผมถูกทั้งศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ ทั้งคนนอก ทั้งคนรักสถาบัน คนรักในหลวง ทั้งกลุ่มต่างๆในธรรมศาสตร์และนอกธรรมศาสตร์วิพากษ์วิจารณ์ผม หลายคนบอกว่าผมให้ท้าย หลายคนบอกว่าผมเห็นด้วย ซึ่งไม่ได้เป็นอย่างนั้น ผมก็ต้องแสดงเจตนาของผมให้ชัดเจนว่าผมไม่ได้เห็นด้วยกับนิติราษฎร์ที่จะแก้มาตรา 112 แต่ผมจะไม่อนุญาตให้เขาใช้สถานที่ก็ไม่ได้ เพราะเนื้อหาและวิธีการที่เขาใช้ในช่วงแรกอยู่ในขอบเขตของการใช้เสรีภาพในเชิงวิชาการ อยู่ในขอบเขตของการแสดงความคิดเห็นตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
แต่เมื่อสถานการณ์มันพัฒนาไป เกิดความแตกแยกในสังคม ซึ่งผมไม่ได้คิดเอง ท่านนายกฯยิ่งลักษณ์ก็พูดเรื่องนี้ รองนายกฯเฉลิมก็พูด ส.ส.และ ส.ว.หลายคนก็พูดเรื่องนี้ อาจารย์บวรศักดิ์ (อุวรรณโณ) ซึ่งนิ่งมานานก็ลงมาร่วมด้วย อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ก็ลงมา อาจารย์เสกสรร(ประเสริฐกุล) ก็เริ่มถอย ผมไม่ได้พูดเพราะผมไม่ชอบนิติราษฎร์เป็นการส่วนตัว เรียนว่านิติราษฎร์กับผมก็สนิทชิดชอบกัน เป็นอาจารย์ในภาควิชาเดียวกัน บางคนเป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิผม บางคนเป็นผู้ช่วยผม ไม่ได้มีปัญหาอะไรกันเป็นการส่วนตัวเลย คือตอนผมอนุญาตให้นิติราษฎร์ใช้สถานที่ คนก็หาว่าผมเป็นแดง พอผมไม่อนุญาตให้ใช้สถานีคนก็หาว่าผมเป็นเหลือง จะให้ผมทำยังไง ผมก็ต้องรักษากติกามารยาท เป็นเหลืองแดงธรรมศาสตร์ (หัวเราะ)
**ทำไมอาจารย์ถึงไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข มาตรา 112
ผมไม่คิดว่า 112 มีปัญหาที่มาตราหรือตัวบท แต่อาจมีปัญหาบ้างว่าโทษอาจจะแรงไปนิดหนึ่ง แต่ผมว่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะแม้จะกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี แต่ศาลก็สามารถตัดสินโทษต่ำกว่า 3 ปีได้ อัตราโทษมากน้อยขึ้นกับดุลพินิจของศาล แต่ที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาใหญ่ของมาตรา 112 คือการบังคับใช้ ผมอธิบายอย่างนี้ว่าโทษฐานหมิ่นประมาทเนี่ยเรามีกฎหมายอยู่หลายมาตราหลายกรณี หมิ่นบุคคลธรรมดา หมิ่นเจ้าพนักงาน หมิ่นพระมหากษัตริย์และองค์รัชทายาท หมิ่นผู้นำหรือประมุขของต่างประเทศ มีอยู่หลายมาตรา ไม่ใช่มาตราเดียวนะ มันเป็นกลุ่มเดียวกัน ในส่วนของการหมิ่นประมาทประชาชนทั่วไปและหมิ่นเจ้าพนักงาน ตำรวจ ศาล และอัยการ ใช้หลักว่าต้องมีเจตนา คุณจะทำผิดกฎหมายอาญาก็ต่อเมื่อคุณมีเจตนา เมื่อไรคุณพูดโดยไม่มีเจตนาคุณก็ไม่ผิด
ขณะเดียวกันหากพูดวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์แต่ไม่มีเจตนาที่จะดูหมิ่นเหยียดหยาม แต่วิจารณ์บนพื้นฐานที่ต้องการให้สถาบันดีขึ้น ตามกฎหมายก็ถือว่าทำได้นะ แต่กระบวนการยุติธรรมไม่ได้มองอย่างนั้น คดีของคุณวีระ มุกพงศ์ และคดีของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล จึงเกิดขึ้น อย่างกรณีคุณวีระ (ต้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในการปราศรัยหาเสียงที่ จ.บุรีรัมย์ เมื่อปี 2531 และได้รับพระราชทานอภัยโทษหลังจากถูกจำคุกได้ 1 เดือน) ผมคิดว่าคุณวีระไม่ควรจะผิดนะเพราะคุณวีระพูดโดยไม่มีเจตนาที่จะหมิ่นพระมหากษัตริย์ นี่ด้วยความเคารพศาลนะครับ หรืออย่างกรณีของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งเอาคำของคนที่หมิ่นพระมหากษัตริย์มาพูดต่อเพื่อปกป้องพระมหากษัตริย์ คุณสนธิไม่ควรผิดนะ ไม่ใช่ใครก็แล้วแต่พูดแล้วผิดเสมอ ไม่อย่างนั้นมีคนมาด่าพระมหากษัตริย์ให้ผมฟัง ผมเขาคำที่ด่าพระมหากษัตริย์ไปแจ้งความ ผมก็ผิดสิ
ผมจึงเรียนว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวบทกฎหมายเลย แต่ปัญหาอยู่ที่การใช้ การตีความ ของกระบวนการในกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ ตำรวจ อัยการ จนถึงศาล เวลาที่มีการร้องว่า นาย ก., นาย ข. , นาย ค. หมิ่น ไม่ใช่ว่าตำรวจต้องรับทุกเรื่อง ตำรวจต้องมีดุลพินิจว่าเคสนี้หมิ่นจริง เคสนี้ไม่หมิ่นก็ปล่อยไป ตำรวจ อัยการ และศาลของไทย ต้องทำหน้าที่อย่างนี้ แต่องค์กรในกระบวนการยุติธรรมของไทยไม่ได้ทำหน้าที่แบบนี้ ใครร้องมาเรื่องสถาบันต้องถือว่าผิดไว้ก่อน เพราะคิดว่าถ้าไม่รับเรื่องจะมีความผิดข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มันจึงเกิดกรณีที่มีการกลั่นแกล้งกันขึ้น โดยใช้มาตรา 112
**สิ่งที่น่ากลัวในขณะนี้คือ มีการนำประเด็นของคนที่ถูกดำเนินคดีเพราะจงใจให้ร้ายและจาบจ้วงสถาบันจริงๆมาเป็นเกมการเมือง เพื่อทำลายภาพลักษณ์ของสถาบัน และยุยงให้คนเข้าใจว่าสถาบันรังแกประชาชน
ที่มันเกิดกรณีอย่างนี้ขึ้นได้เพราะที่ผ่านมาเราทำให้เรื่องคดีหมิ่นสถาบันเป็นเรื่องลึกลับซับซ้อน ผมยกตัวอย่างเช่น คดีอากง คนทั่วไปเขาอยากรู้ว่าอากงพูดอะไรถึงเข้าข่ายหมิ่นสถาบัน ถ้าไม่มีการเปิดเผยคำพิพากษาของศาลว่าอากงพูดอะไรจึงผิด คนเขาก็ไม่รู้ว่าพูดอย่างนี้ผิดหรือไม่ผิด และประเมินไม่ได้ว่าอากงมีเจตนาหรือเปล่า ถ้ามีการเผยแพร่คำพิพากษาของศาลให้สังคมรับรู้ปัญหาจะเกิดน้อยลง แต่ทุกวันนี้ถ้าเป็นคดีเกี่ยวกับสถาบันทุกอย่างกลายเป็นเรื่องลึกลับซับซ้อนหมด คนก็เลยไม่รู้ว่าตกลงอากงพูอะไร ถ้าเขารู้ว่าอากงพูดอะไรเขาอาจจะบอกว่า เฮ้ย..อากงสมควรแล้วที่มีความผิด เพราะถ้าอากงใช้ประโยคแบบนี้พูดกับพ่อแม่พี่น้องผม อากงก็ต้องผิด ไม่ใช่แค่พูดกับสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น
**อาจารย์คิดว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้ กลุ่มนิติราษฎร์ต้องการอะไร
เขาคงต้องการแก้มาตรา 112 เพราะเขาต้องการให้การรับรองสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยเทียบเท่ากับต่างประเทศ เพราะเขาคิดว่าประชาธิปไตยมีรูปแบบเดียว ผมบอกไม่ใช่.. ประชาธิปไตยไม่ได้มีรูปแบบเดียว ทำไมบางประเทศมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข บางประเทศเป็นประธานาธิบดี เราจะพูดได้หรือเปล่าว่าทุกประเทศต้องเป็นระบบกษัตริย์หมด หรือเป็นประธานาธิบดี ก็ไม่ได้ กฎหมายมหาชนไม่ได้มีสูตรตายตัวแค่สูตรเดียว ระบบการเลือกตั้งก็เหมือนกัน อเมริกาใช้ระบบเสียงข้างมาก แต่เราใช้ระบบสัดส่วนหรือปาร์ตี้ลิสต์ ถามว่าเราต้องตามก้นอเมริกันไหมล่ะ วุฒิสภาของอังกฤษมาจากการแต่งตั้ง 100% วุฒิสภาของอเมริกามาจากการเลือกตั้ง 100% แต่ทำไมวุฒิสภาไทย มาจากการเลือกตั้ง 76 คน จากการสรรหา 74 คนล่ะ ทำไมไม่เอาเหมือนอังกฤษหรือเมริกา ผมเป็นนักเรียนนอก นิติราษฎร์จำนวนมากก็เป็นนักเรียนนอก คือเราดูต่างประเทศได้ แต่ต่างประเทศไม่ใช่แบบแผนอย่างเดียวที่ประเทศไทยควรทำตาม
คือในเชิงวิชาการ การเคลื่อนไหวของนิติราษฎร์ก็ทำให้คนได้ทบทวน ทบทวนแล้วอาจบอกว่าไม่ควรแก้มาตรา 112 เลย หรือบอกว่าควรแก้ แต่ไม่ควรแก้เหมือนที่นิติราษฎร์เสนอ ก็โอเค จริงๆแล้ว มาตรา 112 แก้ได้ ถ้าแก้แล้วดีต่อสังคมไทย แต่คำถามคือแค่ไหนจึงดีต่อประเทศไทย นี่คือปัญหาใหญ่ สมมุติว่าเราสามารถแก้ประเด็นเรื่องโทษได้ ให้มันลดน้อยลง ถ้าแก้แล้วสังคมไทยดีขึ้น มีความปรองดอง มันอาจจะควรแก้ แต่ไม่ควรแก้โดยย้ายกฎหมายไปอยู่อีกหมวดหนึ่ง ไม่ควรแก้ให้พระมหากษัตริย์สาบานตน
**อาจารย์คิดว่านิติราษฎร์มีความสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงไหม
ไม่รู้ใครใช้ใคร ? คือถ้าไม่มีคนเสื้อแดงเข้ามาฟัง การเสวนาของนิติราษฎร์ก็อาจมีคนน้อย คนเสื้อแดงถ้าไม่มีนิติราษฎร์เป็นหัวหอกจะเคลื่อนไหวทางความคิดของตัวเองให้เป็นระบบก็คงจะยาก แต่ผมไม่คิดว่าเป็นคนกลุ่มเดียวกัน ผมว่าถ้าอาจารย์วรเจตน์ไม่ออกมาปกป้องคุณทักษิณ ตอนที่ศาลตัดสินยึดทรัพย์คุณทักษิณ นิติราษฎร์คงดูดีกว่านี้ ผมว่าเขาพลาดตรงนี้แหล่ะ
http://astv.mobi/AowENPo
#6
ตอบ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 13:15
ความจริงมีคนค้านนิริราษฏร์ในเชิงวิชการและแบบสุภาพมีเยอครับ แต่เขาจงใจไม่พูดถึง เพราะจะเล่นเป็นเกมส์การเมืองโดยอิงกระแสว่าถูกรังแก
ความผิดฐาน“หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” : เอกลักษณ์ประชาธิปไตยไทยในกระแสประชาธิปไตยโลก
โดย ศาสตราจารย์ ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ
ราชบัณฑิตและเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
ในช่วงที่ผ่านมา มีข้อเสนอให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยนักวิชาการไทยบางคน และมีการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยตามมา จากทั้งชาวต่างประเทศและชาวไทย หากสรุปข้อวิพากษ์วิจารณ์ทั้งปวงก็จะเห็นได้ว่า อยู่บนสองฐานคิดหลัก คือ
๑. ความผิดฐานนี้ขัดต่อหลักการประชาธิปไตยเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกและวิพากษ์วิจารณ์ (freedom of expression)
๒. มีการใช้ข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานนี้เพื่อประโยชน์ในทางการเมืองของผู้กล่าวหา
บทความนี้ต้องการวิเคราะห์หลักวิชาการเพื่อดูว่าการคงความผิดฐานนี้ไว้ถูกต้องหรือไม่ ถ้าถูกต้อง มีฐานคิดใดรองรับ ถ้าไม่ถูกต้อง เพราะอะไร? และการใช้กฎหมายนี้ มีปัญหาหรือไม่ ถ้ามีต้องแก้อย่างไร ?
ถ้าเราวิเคราะห์โดยอาศัยหลักวิชา ไม่ใช่อาศัยความเห็น (opinion) ที่มาจากความรู้สึกชอบหรือชังอันเป็นอคติ (bias) ก็เห็นจะต้องแยกการวิเคราะห์เรื่องนี้เป็นสองประเด็นหลัก คือ
๑. หลักการประชาธิปไตยและการกำหนดให้การกระทำบางอย่างเป็นความผิด (criminalization) ในส่วนที่เกี่ยวกับประมุขของรัฐ
๒. วัฒนธรรมไทยกับความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทย : เอกลักษณ์ประชาธิปไตยไทยในกระแสประชาธิปไตยโลก
๑. หลักการประชาธิปไตยและการกำหนดให้การกระทำบางอย่างเป็นความผิดในส่วนที่เกี่ยวกับประมุขของรัฐ
๑.๑ หลักนิติธรรม (The Rule of Law)
นักปรัชญาอาชญาวิทยาชั้นแนวหน้าต่างยอมรับว่า การที่จะกำหนดให้การกระทำบางอย่างเป็นความผิดอาญา (criminalization) ก็ต่อเมื่อ “มีความเป็นธรรม” (fair) ที่จะกระทำเช่นนั้น (Dennis Baker, 2007; Joel Feinberg, 1984) โดยต้องมีเหตุผลที่เป็นภาวะวิสัย (objective) ที่อธิบายได้ เหตุผลนั้นก็คือ การกระทำดังกล่าวมีฉันทามติทางสังคม (societal consensus) ของผู้คนว่าการกระทำนั้น “เป็นผลร้ายต่อสังคม” (harmful to the society)
“ผลร้าย” (harm) นี้ อาจเป็นผลร้ายต่อความสงบเรียบร้อย เช่น การฆ่าคน การลักทรัพย์ นอกจากกระทบต่อเหยื่อ (victim) ของการกระทำแล้ว ยังกระทบต่อสังคมโดยรวม เพราะทำให้เกิดความกลัวและความไม่สงบ หรืออาจเป็นผลร้ายต่อความมั่นคง เศรษฐกิจของสังคมก็ได้ นอกจากนั้น ยังอาจเป็นผลร้ายต่อศีลธรรมอันดี (good moral) ก็ได้ ดังเช่นที่หลายสังคมยังกำหนดให้เพศสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเป็นความผิด ทั้งๆ ที่ผู้นั้นยินยอม (statutory rape)
ว่ากันอันที่จริง การกระทำนี้อาจไม่ก่อความเสียหายเป็นส่วนตัวให้ผู้มีเพศสัมพันธ์ที่ยินยอมเลยแม้แต่น้อย (เพราะเขาสมัครใจ) แต่สังคมก็เห็นว่าเป็นผลร้ายต่อศีลธรรม จึงกำหนดให้เป็นความผิดอาญา ความผิดอื่นๆ ลักษณะนี้ยังมีอีกมาก เช่น การเปลือยกายต่อหน้าธารกำนัล อาจไม่เป็นผลร้ายต่อส่วนตัวใคร เพราะผู้เปลือยก็อยากอวด ผู้เห็นก็อยากดู แต่สังคมเห็นว่าผิดศีลธรรม จึงกำหนดเป็นความผิดอาญา
โดยสรุป ความเสียหายหรือผลร้ายต่อตัวเหยื่อ (victim) ที่ถูกกระทบสิทธิ อันเป็นฐานของการกำหนดว่าการกระทำใดเป็นความผิดอาญานั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่ความเสียหายต่อสังคมต่างหากที่เป็นตัวชี้ขาดว่าการกำหนดความผิดอาญานั้นมีความเป็นธรรมหรือไม่ บางเรื่องอาจไม่มี “เหยื่อ” เป็นตัวคน เพราะคนไม่เสียหายดังตัวอย่างข้างต้น แต่ “เหยื่อ” คือ สังคมทั้งสังคม ที่รับการกระทำนั้นไม่ได้ !
หลักการของอาชญาวิทยานี้เป็นส่วนหนึ่งของ “หลักนิติธรรม” ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของหลักการประชาธิปไตยที่ใช้กฎหมายที่เป็นธรรมอยู่เหนืออำเภอใจของมนุษย์ ไม่ให้มนุษย์กำหนดสิ่งใดๆ ให้เป็นความผิดอาญาได้ตามใจ
๑.๒ หลักการประชาธิปไตยกับการคุ้มครองประมุขของรัฐ
นอกจากหลักนิติธรรมแล้ว ก็เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ประชาธิปไตย มีหลักการสำคัญสองส่วนหลัก คือ
ส่วนแรก อำนาจสูงสุดในการปกครองอยู่ที่ประชาชน รัฐบาลผู้ปกครองต้องมาจากความยินยอมของประชาชน โดยประชาชนใช้อำนาจเอง (ประชาธิปไตยทางตรง) หรือประชาชนเลือกตั้งผู้แทนให้เข้ามาใช้อำนาจแทน (ประชาธิปไตยทางอ้อม) และประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารบ้านเมือง
ส่วนที่สอง คือ คนทุกคนในสังคมมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (human dignity) เสมอภาคเท่าเทียมกัน (equality) และมีสิทธิเสรีภาพ (freedom) ที่จะจำกัดได้ก็โดยกฎหมายที่ประชาชนออกเอง หรือออกโดยผ่านผู้แทน และมีกลไกคุ้มครองการละเมิด สิ่งเหล่านี้ให้ยุติลงโดยศาลที่เป็นกลางและอิสระ
ประเทศใดๆ ที่เป็นประชาธิปไตยก็ยึดหลักการทั้งสองนี้ รวมทั้งประเทศไทยด้วย แต่ละประเทศต่างนำหลักการนี้ไปใช้รูปแบบต่างๆ กัน เช่น บางประเทศเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อาทิ อังกฤษ เบลเยี่ยม สเปน ญี่ปุ่น ไทย ฯลฯ บางประเทศก็เป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข อาทิ สหรัฐอเมริกา อินเดีย เกาหลี ฯลฯ แต่ไม่ว่าระบบบการปกครองจะต่างกันอย่างไร ทุกประเทศก็ยึดถือหลักการทั้งสองนี้เหมือนๆ กัน โดยเฉพาะหลักการที่สอง
ความจริงระบอบประชาธิปไตยยังมีระบบรัฐบาลที่แตกต่างหลากหลายกันออกไปหลายรูปแบบอีก เช่น ประเทศที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุขก็อาจเป็นระบบประธานาธิบดี (presidential system) คือ ประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขของรัฐ และประมุขรัฐบาล ลงมือบริหารประเทศเอง มีความรับผิดชอบทางการเมือง เช่น สหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ หรือเกาหลี แต่บางประเทศก็มีประธานาธิบดีเป็นประมุขและไม่ได้บริหาร ทั้งไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมือง แต่มีนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลบริหารและรับผิดชอบทางการเมืองแทน เช่น อินเดีย หรือเยอรมนี อันเป็นระบบรัฐสภา (parliamentary system)
ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็แตกต่างกัน หลายประเทศเป็นระบบรัฐสภา คือ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ได้ทรงบริหารราชการแผ่นดิน แต่ทรงทำตามคำแนะนำของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จึงไม่ต้องทรงรับผิดชอบทางการเมือง จึงมีคำพูดที่ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงปกเกล้าฯ (the King reigns) แต่ไม่ได้ทรงปกครอง (but not rules)” ประเทศเหล่านี้ก็มีอังกฤษ เบลเยี่ยม สเปน นอร์เวย์ ญี่ปุ่น และไทย เป็นต้น แต่พระมหากษัตริย์บางประเทศก็ทรงปกเกล้าและปกครองบริหารประเทศไปด้วย โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มมุสลิม อาทิ ซาอุดิอาระเบีย บรูไน ฯลฯ
แต่ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยรูปแบบใดๆ ก็ตาม ต่างก็ยอมรับว่า “ประมุขของรัฐ” (head of state) มีฐานะต่างจากคนทั่วไปทุกคนในประเทศนั้น เพราะไม่ได้มีฐานะบุคคลแต่มีฐานะเป็น “สถาบัน” (institution) และเป็น “ผู้แทนรัฐหรือประเทศ”
หลักการนี้เป็นหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นกฎหมายจารีตประเพณี และเป็นหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศประชาธิปไตยทั้งหลาย
ดังนั้น ในกฎหมายระหว่างประเทศ ประธานาธิบดี หรือพระมหากษัตริย์ก็ทรงมีเอกสิทธิ์และความคุ้มกัน (privileges and immunities) หลายประการ อาทิ ไม่อาจฟ้องร้องหรือดำเนินคดีใดๆ ต่อประมุขของรัฐได้ในขณะที่ดำรงตำแหน่ง ด้วยเหตุนี้ ความพยายามฟ้องประธานาธิบดีฟิเดล คาสโตร ในสเปนก็ดี ความพยายามฟ้องประธานาธิบดีเจียง เจ๋อ หมิน ในสหรัฐอเมริกาก็ดี หรือความพยายามฟ้องประธานาธิบดีโรเบิร์ต มูกาบี ในอังกฤษก็ดี ศาลต้องยกฟ้องหมด มีข้อยกเว้นกรณีประธานาธิบดีปิโนเชของชิลีที่ฟ้องได้ในศาลอังกฤษ เพราะชิลีและอังกฤษต่างเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานที่สละเอกสิทธิ์ของประมุขของรัฐ!
ในรัฐธรรมนูญของประเทศประชาธิปไตยก็ยกประมุขของรัฐไว้แตกต่างจากบุคคลธรรมดาโดยเฉพาะประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อาทิ
รัฐธรรมนูญนอร์เวย์ ปี ๑๘๑๔ มาตรา ๕ บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะ (sacred) และจะถูกกล่าวหาหรือตรวจสอบมิได้”
รัฐธรรมนูญเดนมาร์ก ปี ๑๙๕๓ มาตรา ๑๓ บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ไม่ต้องทรงรับผิดทางการเมือง องค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะ (sacrosanct) …”
รัฐธรรมนูญเบลเยี่ยม ปี ๑๙๗๐ มาตรา ๘๘ บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันละเมิดมิได้ (inviolable) รัฐมนตรีต้องรับผิดชอบแทนพระมหากษัตริย์”
รัฐธรรมนูญสเปน มาตรา ๕๖ (๓) บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันละเมิดมิได้ (inviolable) และไม่ต้องทรงรับผิดชอบใดๆ ทางการเมือง”
รัฐธรรมนูญลักเซมเบิร์ก มาตรา ๔ บัญญัติว่า “องค์แกรนด์ดยุกทรงดำรงอยู่ในฐานะอันละเมิดมิได้ (inviolable)”
จะเห็นได้ว่าประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ต่างก็บัญญัติรัฐธรรมนูญรองรับพระราชสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ (sacred)เป็นที่เคารพสักการะหรือละเมิดมิได้ (inviolable) ทั้งสิ้น ข้อสำคัญ คือ ความคุ้มครองนี้มิได้คุ้มครองเฉพาะตำแหน่งพระมหากษัตริย์ แต่คุ้มครองไปถึงส่วนตัวหรือส่วนพระองค์ด้วย ดังจะเห็นได้ว่าการใช้ถ้อยคำว่า “the person of the King” หรือ “องค์พระมหากษัตริย์” อันเป็นการคุ้มครองที่รัฐธรรมนูญถวายไว้มากกว่าประมุขของรัฐที่เป็นประธานาธิบดี
นอกจากรัฐธรรมนูญแล้ว ในประเทศประชาธิปไตยของโลกก็ยังมีบทบัญญัติของกฎหมายธรรมดาคุ้มครองประมุขของรัฐ และองค์กรอื่นๆ ของรัฐในฐานะสถาบันอีก เช่น คุ้มครองรัฐสภา คุ้มครองศาล
ในอังกฤษ ต้นแบบประชาธิปไตยระบบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีหลักคอมมอน ลอว์ และกฎหมายลายลักษณ์อักษรคุ้มครองทั้งพระมหากษัตริย์ รัฐสภา และศาล
พระมหากษัตริย์นั้น มีพระราชบัญญัติว่าด้วยกบฏ ปี ๑๘๔๘ (The Treason and Felony Act, 1848) มาตรา ๓ ซึ่งกำหนดองค์ประกอบความผิดฐานกบฏไว้หลายอย่างรวมทั้งการละเมิดต่อพระเกียรติยศของสมเด็จพระราชินีนาถ เช่น การนำเสนอการมีประธานาธิบดีแทนสมเด็จพระราชินีนาถก็อาจมีความผิดฐานนี้ อย่างไรก็ตาม การดำเนินคดีตามพระราชบัญญัตินี้ครั้งสุดท้ายเกิดในปี ๑๘๘๓ ตั้งแต่นั้นมากฎหมายฉบับนี้ก็ “หลับ” ไป คือไม่มีการใช้บังคับอีกเลย
นอกจากนั้น ตามคอมมอน ลอว์ ทั้งสภาสามัญ และสภาขุนนาง ต่างมีอำนาจลงโทษอาญาฐาน “ละเมิดรัฐสภา (contempt) หรือละเมิดเอกสิทธิ (breach of privilege)” ได้ โดยสามารถพิจารณาและมีมติให้ตำรวจรัฐสภาไปจับมาขังได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของศาลยุติธรรม และหากมาอุทธรณ์ต่อศาล ศาลก็ไม่มีอำนาจพิจารณา ต้องยกฟ้อง (ดู Brass Crosby’s Case 19 St. Tr. 1147) อำนาจนี้รวมถึงการลงโทษคำพูดหรือข้อเขียนที่ใส่ความหรือหมิ่นประมาทสภาใดสภาหนึ่ง หรือสมาชิก (Erskine May, 1983, p.124, 152)
นอกจากนั้น ยังมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล (contempt of court) ซึ่งเป็นความผิดตามคอมมอน ลอว์ และพระราชบัญญัติ Contempt of Court Act 1981 ซึ่งอาจทำให้ผู้ละเมิดอำนาจศาลมีทั้งความผิดอาญาและทางแพ่ง ฐานความผิดก็คือการไม่เคารพศาล เช่น ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ไม่เคารพผู้พิพากษา ขัดขวางกระบวนพิจารณา หรือหมิ่นประมาทศาลด้วยการโฆษณา ถ้ากระทำต่อหน้า (direct contempt) ศาลสั่งขังได้ทันที ถ้ากระทำนอกศาล (indirect contempt) ก็เป็นหน้าที่ของอัยการที่ฟ้องคดี
นอกจากอังกฤษแล้ว ประเทศประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอื่นๆ ก็มีกฎหมายทำนองนี้หลายประเทศ อาทิ นอร์เวย์ กำหนดความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระมหากษัตริย์ (defamation) หรือผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี (มาตรา ๑๐๑ ประมวลกฎหมายอาญา) และถ้ากระทำผิดต่อพระบรมวงศานุวงศ์ทางเพศ (มาตรา ๑๙) ละเมิดเสรีภาพส่วนตัว (มาตรา ๒๑) หรือใส่ความดูหมิ่น (มาตรา ๒๓) อาจได้รับโทษเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของโทษที่กระทำต่อบุคคลธรรมดา (มาตรา ๑๐๒) แต่ที่น่าสนใจ คือ การกล่าวหาเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของนอร์เวย์จะกระทำได้เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงเห็นชอบเท่านั้น
ในเบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ สเปนต่างก็มีความผิดฐานนี้ทั้งสิ้น กล่าวคือในเบลเยี่ยม ความผิดฐานนี้ถ้าเป็นการดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระมหากษัตริย์ จำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี และปรับ ๓๐๐-๓,๐๐๐ ฟรังค์ กรณีหมิ่นพระบรมวงศานุวงศ์ จำคุกตั้งแต่สองเดือนถึงสองปี และปรับ ๑๐๐-๒,๐๐๐ ฟรังค์ ในเนเธอร์แลนด์ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระมหากษัตริย์ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หากหมิ่นพระราชินีหรือพระสวามีจำคุกสี่ปี ในสเปนต้องระวางโทษจำคุกหกเดือนถึงสองปี นอกจากนั้น ในหลายประเทศที่ไม่มีพระมหากษัตริย์ ก็มีความผิดอาญาฐานดูหมิ่นประมุขของรัฐต่างประเทศ เช่น เยอรมนี สวิสเซอร์แลนด์ โปแลนด์ (wikipedia, lèse majesté)
๑.๓ หลักความเสมอภาค เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการคุ้มครองสังคม
จริงอยู่แม้ว่าหลักการประชาธิปไตยจะเชิดชูความเสมอภาคและเสรีภาพ โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการโฆษณาความคิดเห็นก็จริง แต่ความเสมอภาคก็ไม่ใช่ความเสมอภาคแบบเถรตรงซื่อๆ ซึ่งทำให้การเลือกปฏิบัติ (discrimination) ทุกประเภทกลายเป็นขัดหลักความเสมอภาคหมด ทั้งๆ ที่การเลือกปฏิบัติบางอย่างมีเหตุผลและความจำเป็น เช่นการสอบเข้ารับราชการหรือมหาวิทยาลัยเพราะมีที่จำกัด
ว่ากันอันที่จริง การสอบเข้าก็เป็นการเลือกปฏิบัติ แต่เป็นการเลือกปฏิบัติที่เป็นธรรม (fair discrimination) ที่ยอมรับกันทั่วไปว่าไม่ขัดหลักความเสมอภาค การคุ้มครองประมุขของรัฐแตกต่างจากคนทั่วไปก็ดี การคุ้มครององค์กรของรัฐแตกต่างจากคนทั่วไปก็ดี ก็เป็นการเลือกปฏิบัติที่เป็นธรรมที่ทำกันทั่วไปทุกประเทศ ไม่เห็นใครบอกว่าขัดหลักความเสมอภาค นี่คือหลักเสมอภาคที่อริสโตเติล บอกว่า การปฏิบัติต่อสิ่งที่ที่แตกต่างกันโดยปฏิบัติเหมือนๆ กันต่างหากที่ไม่ยุติธรรม การเลือกปฏิบัติในทางบวก (positive discrimination) เพื่อช่วยคนพิการ คนด้อยโอกาสในสังคมมากกว่าช่วยเหลือคนทั่วไปจึงทำได้ และควรทำโดยไม่ขัดหลักเสมอภาคแต่อย่างใด
เสรีภาพก็เช่นกัน ปราชญ์ทั่วโลกก็ยอมรับว่าเสรีภาพที่เสรีเต็มร้อยโดยไม่มีข้อจำกัดเลยจะทำให้เกิดอนาธิปไตยและความวุ่นวาย เหตุนี้ คำประกาศสิทธิมนุษย์และพลเมืองฝรั่งเศส ปี ๑๗๘๙ ข้อ๔ จึงกำหนดว่า “เสรีภาพ ก็คือ ความสามารถที่จะกระทำการใดก็ได้ที่ไม่เป็นการรบกวนผู้อื่น ดังนั้นการใช้สิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์แต่ละคนจะมีก็แต่เพียงข้อจำกัดเฉพาะที่ต้องยอมให้สมาชิกอื่นของสังคม สามารถใช้สิทธิเหล่านี้ได้เช่นเดียวกัน ข้อจำกัดเช่นว่านี้ จะกำหนดขึ้นได้ก็แต่โดยบทกฎหมายเท่านั้น”
หลักการนี้ ก็ปรากฏในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ปี ๑๙๔๘ ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะข้อ ๑๙ ที่ว่าด้วยเสรีภาพแห่งความคิดเห็นและ การแสดงออก (freedom of expression) แต่ก็อยู่ภายใต้ข้อ ๒๙ โดยเฉพาะ (๒) ที่ว่า “ในการใช้สิทธิและเสรีภาพของตน บุคคลทุกคนย่อมอยู่ภายใต้ข้อจำกัดที่กำหนดโดยกฎหมาย เพื่อประโยชน์ที่จะได้มาซึ่งการยอมรับและเคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นตามควร และที่จะสอดคล้องกับศีลธรรม ความสงบเรียบร้อยของประชาชน และสวัสดิการทั่วไปในสังคมประชาธิปไตย”
อันที่จริง ทุกประเทศประชาธิปไตยก็ยอมรับว่าเสรีภาพมีข้อจำกัด และการจำกัดเสรีภาพนั้นต้องทำโดยกฎหมายที่ปวงชนเป็นผู้ออก หรือผู้แทนประชาชนเป็นผู้ออก จึงไม่เคยมีประเทศใดหรือใครเคยบอกว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือการแสดงออกนั้นก่อให้เกิดความสามารถที่จะด่าใคร ดูหมิ่นใคร หรือหมิ่นประมาทใครๆก็ได้ ทุกประเทศยอมรับว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือแสดงออกหยุดลง เมื่อต้องคุ้มครองผู้อื่น ในชื่อเสียง เกียรติยศของผู้อื่น(จึงกำหนดเป็นความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท) คุ้มครองผู้เยาว์ (ในหลายประเทศ การแพร่ภาพเปลือยหรือลามกของผู้ใหญ่ทำได้ แต่การแพร่ภาพดังกล่าวของเด็กเป็นความผิด) คุ้มครองศีลธรรม (เมืองไทยห้ามขาย ห้ามฉายหนังโป๊ เมืองไทยห้ามเปิดบ่อน เมืองมุสลิมถือว่าการมีเพศสัมพันธ์ชายกับชายเป็นความผิดอาญาร้ายแรงฯลฯ) คุ้มครองความสงบเรียบร้อยละความมั่นคง (ห้ามโฆษณาเชิญชวนคนมาร่วมก่อการร้าย ฯลฯ)
ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ข้อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกที่ยอมรับหลักการร่วมกันของทุกประเทศว่า เป็นไปเพื่อคุ้มครองผู้อื่น คุ้มครองศีลธรรม เพื่อคุ้มครองความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย เมื่อนำมาใช้ในแต่ละประเทศ การให้ความหมายของคำว่า “ศีลธรรม” ว่าอะไรคือศีลธรรมที่ต้องคุ้มครอง? และต้องคุ้มครองเพียงใด? อันเป็นเรื่องขอบเขต (extent) และระดับ (degree) ของข้อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกก็แตกต่างกันไป การให้ความหมายของคำว่า “ความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อย” ก็มีปัญหาเรื่องขอบเขตและระดับที่ไม่เหมือนกันในแต่ละประเทศ
ตรงนี้คือหัวใจสำคัญของปัญหา เพราะทุกคนยอมรับข้อจำกัดเสรีถาพในการแสดงออกร่วมกัน แต่ถกเถียงกันในเรื่องที่เป็นข้อจำกัดว่าคืออะไร มีระดับใด
ปัญหามีต่อไปว่า ใครจะเป็นผู้ตัดสินว่าการที่ประเทศหนึ่งถือว่าเรื่องนั้นไปจำกัดไม่ได้ แต่อีกประเทศหนึ่งถือว่าเรื่องนั้นต้องจำกัด ประเทศใดทำถูก
ในสหรัฐอเมริกา ในอังกฤษ เสรีภาพในการแสดงออกมีมากถึงขั้นวิพากษ์วิจารณ์พระคริสต์ได้ ฉายหนังลามกได้ ชายรักร่วมเพศกอดจูบกันในที่สาธารณะได้ แต่ในประเทศมุสลิม อย่าว่าแต่ทำโดยแสดงออกเปิดเผยเลย แม้กระทำในที่ลับตัวต่อตัวด้วยความยินยอม ก็เป็นความผิดอาญาร้ายแรง เพราะขัดต่อหลักศาสนาและกฎหมายอิสลามอย่างรุนแรง!
ใครเป็นประชาธิปไตย ใครไม่เป็นประชาธิปไตย ใครถูก ใครผิด?
เรื่องนี้เป็นความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งระหว่างกฎหมายกับจริยศาสตร์ (Law and Ethics) กล่าวคือ อะไรคือสิ่งที่ดีหรือถูก เป็นสิ่งที่ควรทำเพราะถูกจริยธรรม (ethical) อะไรคือสิ่งที่เลวหรือผิด เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ (unethical) เพราะเป็นผลร้ายต่อสังคม (harmful to the society)
ถ้าเราถือว่าทั้งโลก ความถูก-ผิดมีเพียงหนึ่งเดียว และความถูกผิดเพียงหนึ่งเดียวนั้นก็คือที่ “เรา” เท่านั้นเชื่อว่าถูกหรือผิด เราก็คือผู้เผด็จการทางจริยธรรม ที่ต้องการเอาสิ่งที่เราเชื่อขึ้นเป็นมาตรฐานของคนทั้งโลก (Ethical dictatorship) หรือที่เรียกให้ไพเราะตามศัพท์จริยศาสตร์ว่า จริยธรรมสมบูรณัติ (ethical absolutism)
แต่ถ้าเราถือว่าในปัญหาข้างต้นไม่มีใครถูก ไม่มีใครผิด ต่างก็เป็นประชาธิปไตยในวิถีของตน ตามวิถีแห่งจริยธรรมสัมพัทธ์ (ethical relativism) คือถือว่าประเทศแต่ละประเทศ สังคมแต่ละสังคมมีวัฒนธรรมและจริยธรรมที่หลากหลาย แตกต่างกันได้และไม่มีใครผิด เป็นความหลากหลายที่โลกต้องการ เราต้องการ เราก็จะเข้าใจผู้อื่นได้มากขึ้น ง่ายขึ้น และไม่ทำตัวเป็นพระเจ้าตัดสินถูกผิดของมนุษย์ผู้อื่นทั้งโลกด้วยมาตรฐานของตัวเราเอง !
คนที่เปิดใจกว้างเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนอื่น เคารพวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของสังคมอื่น ยอมรับความหลากหลายเห็นความแตกต่าง ฟังเหตุ ฟังผล ก็จะเริ่มเข้าใจว่าความเป็นประชาธิปไตยก็ดี ความเสมอภาคก็ดี เสรีภาพในความคิดและการแสดงออกก็ดี ก็ย่อมแตกต่างกันไปตามประเทศ ตามสังคม ตามวัฒนธรรม และจริยธรรมของคนส่วนใหญ่ในแต่ละประเทศและแต่ละสังคม ข้อสำคัญก็คือ จะแตกต่างกันอย่างไรหลักการประชาธิปไตย ความเสมอภาคและเสรีภาพต้องไม่ถูกทำลาย
หัวใจของเรื่องก็คือ “สังคม” (society) ต้องเป็นตัวตั้ง การเมืองการปกครองหรืออะไรๆก็แล้วแต่เกิดหลังสังคมและถูกคิดขึ้นเพื่อประโยชน์ทางสังคมทั้งสิ้น แม้รากเหง้าของระบอบประชาธิปไตยในเวลานี้ก็มีทฤษฎีสัญญาสังคม (Social Contract) รองรับอยู่มิใช่หรือ?
ดังนั้น ในขณะที่สังคมหนึ่งยอมรับว่าประชาธิปไตย คือ ระบอบการปกครองสังคมที่ดีที่สุดในเวลานี้ และประชาธิปไตยก็มีหลักการสำคัญดังกล่าวข้างต้น โดยเฉพาะหลักความเสมอภาคและเสรีภาพพร้อมข้อจำกัด สังคมแต่ละสังคมก็ย่อมมีสิทธิอิสระ (self determination) ที่จะกำหนดในรายละเอียดโดยไม่ทำให้เสียหลักการว่าอะไรคือข้อจำกัดที่ว่านั้น
การที่สังคมอังกฤษให้การดูหมิ่นศาลการดูหมิ่นสภาเป็นความผิด และศาลหรือสภาลงโทษได้ทันทีโดยไม่ต้องดำเนินคดีเหมือนคดีทั่วไป ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องในสังคมอังกฤษ แต่คนอังกฤษไม่มีสิทธิไปตัดสินว่าสังคมที่ไม่ลงโทษการดูหมิ่นสภาหรือศาลเป็นสังคมไม่เป็นประชาธิปไตย! และคงไม่มีใครที่เป็นคนใจกว้างไปกล่าวหาอังกฤษว่าไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่มีหลักนิติธรรม เพราะสภาและศาลลงโทษคนละเมิดได้เองโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการปกติอันเป็นการเลือกปฏิบัติ !
การที่สังคมเบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สเปน ไทย และอีกหลายประเทศตัดสินว่าการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์เป็นความผิดมากกว่าดูหมิ่นคนธรรมดา ก็เป็นสิทธิอิสระของสังคมแต่ละสังคมที่ว่านี้ เพราะวัฒนธรรมและศีลธรรมทางสังคมและคนส่วนใหญ่ในประเทศเหล่านี้ถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็น “ผลร้าย”ต่อสังคม
ความจริง ข้อจำกัดเสรีภาพที่แตกต่างกันไปตามสังคมนี้ยังมีตัวอย่างอีกมาก เช่น เสรีภาพในการแสดงออกในประเทศส่วนใหญ่ในตะวันออกถูกจำกัดด้วยการห้ามเผยแพร่สิ่งลามก เสรีภาพในการประกอบอาชีพถูกจำกัดด้วยการห้ามเล่นการพนัน หรือการห้ามบ่อนคาสิโน เสรีภาพในร่างกายถูกจำกัดด้วยความผิดฐานรักร่วมเพศในบางประเทศ แต่คงไม่มีใครที่มีจิตใจประชาธิปไตยไปตัดสินว่าประเทศหรือสังคมเหล่านี้ไม่เป็นประชาธิปไตยเพียงเพราะสังคมนั้นๆมีวัฒนธรรมและจริยธรรมอันแสดงให้เห็นข้อจำกัดทางสังคมแตกต่างจากสังคมของตน
๒. วัฒนธรรมไทยกับความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ: เอกลักษณ์ของประชาธิปไตยไทยในกระแสประชาธิปไตยโลก
๒.๑ กฎหมายไทยสะท้อนวัฒนธรรมและจริยธรรมไทย
ถ้าศึกษาโครงสร้างความผิดฐานดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทในประมวลกฎหมายอาญาเราจะพบว่ามีความผิดอยู่สามกลุ่ม หกระดับ คือ
กลุ่มที่หนึ่ง ดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทคนธรรมดา ถ้าดูหมิ่นซึ่งหน้า (insult) ตามมาตรา๓๙๓ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ เดือนหรือปรับไม่เกิน๑๐๐๐บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าหมิ่นประมาท (defamation) ตามมาตรา ๓๒๖ ถึง ๓๓๓ ก็ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาก็ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๒ ปี หรือปรับไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท
กลุ่มที่สอง ดูหมิ่นเจ้าพนักงานหรือศาลซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถ้าดูหมิ่นเจ้าพนักงาน (มาตรา ๑๓๖) ก็ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๒๐,๐๐๐บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษา (มาตรา๑๙๘) ในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี ต้องระวางโทษจำคุก๔-๗ปี หรือปรับ ๒,๐๐๐ ถึง ๑๔,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กลุ่มที่สาม ดูหมิ่นประมุขของรัฐต่างประเทศ หรือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถ้าดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาตร้ายราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาท หรือประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ (มาตรา๑๓๓) (อันเป็นความผิดต่อสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ) ต้องระวางโทษจำคุก ๑ ถึง ๗ ปี หรือปรับ ๒,๐๐๐ ถึง ๑๔๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้ากระทำการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาตร้ายพระมหากษัตริย์ไทย พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (มาตรา๑๑๒) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๓ ถึง๑๕ ปี ถ้าดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาทผู้แทนรัฐต่างประเทศ ซึ่งได้รับแต่งตั้งมาสู่ราชสำนัก ต้องระวางโทษจำคุก ๖เดือน ถึง๕ปี ปรับ๑๐๐๐-๑๐,๐๐๐บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จะเห็นได้ว่า ประมวลกฎหมายอาญาไทยจำแนกการกระทำความผิดฐานดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทเอาไว้ตามสถานะ (status) และความสัมพันธ์ของบุคคล อันเป็นการสอดคล้องกับจริยธรรมในสังคมไทย
ความจริง ถ้าดูเรื่องอื่นก็จะพบความจริงที่ว่า กฎหมายไทยในเรื่องนี้ต่างจากหลายประเทศในหลายเรื่องเพราะเรามีจริยธรรมที่ยึดสถานะและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เช่นความผิดฐานฆ่าคน ถ้าฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา (มาตรา๒๘๘) ก็ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ ๑๕ ถึง ๒๐ ปี ถ้าฆ่าบุพการี (บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย) ฆ่าเจ้าพนักงานฯลฯ (มาตรา๒๘๙) ต้องระวางโทษประหารชีวิตสถานเดียว ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเราถือว่าการฆ่าบิดามารดา ตามหลักศาสนาเป็น “อนันตริยกรรม” ตามจริยธรรมถือว่าเป็นการเนรคุณอย่างรุนแรงที่สุด
ความผิดฐานลักทรัพย์ (มาตรา๓๓๔) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน๓ปี ปรับไม่เกิน ๖,๐๐๐ บาท แต่ถ้าลักพระพุทธรูปหรือวัตถุในทางศาสนา (ทุกศาสนา) ที่เป็นที่สักการะบูชาของประชาชนหรือเก็บไว้เป็นสมบัติของชาติ (มาตรา๓๓๕ทวิ) ต้องระวางโทษจำคุก ๓ ปีถึง ๑๐ ปี ปรับ ๖,๐๐๐ ถึง ๒๐,๐๐๐บาท ความผิดฐานลักวัตถุทางศาสนาที่เคารพของประชาชน คงไม่มีในกฎหมายตะวันตก เพราะเขาไม่ได้นับถือเหมือนคนไทย!
ความผิดฐานลักทรัพย์มาตรา ๗๑ กำหนดว่า ถ้าภรรยาหรือสามีกระทำต่อกันไม่ต้องรับโทษ ถ้าผู้สืบสันดานกระทำต่อบุพการี หรือบุพการีกระทำต่อผู้สืบสันดาน หรือพี่น้องร่วมบิดามารดากระทำต่อกัน ให้เป็นความผิดอันยอมความได้ และศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า พ่อ แม่ ลูก พี่ น้อง ลักทรัพย์กันสังคมยอมให้คนเหล่านั้น “อโหสิกรรม” กันได้ กฎหมายประเทศตะวันตกก็คงไม่มี
ยังมีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างจริยธรรมและวัฒนธรรมของคนไทยส่วนใหญ่ในสังคมไทยที่ปรากฎเป็นกฎหมาย กับจริยธรรมและกฎหมายของตะวันตกอีกมากมาย เช่น กฎหมายไทยห้ามผู้สืบสันดานฟ้องบุพการี ภาษากฎหมายโบราณเรียกว่า “อุทลุม” เพราะถือว่าเป็นการเนรคุณ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๖๒) การให้นั้นเมื่อให้แล้วปกติเรียกคืนไม่ได้ เว้นแต่ผู้รับประพฤติเหตุเนรคุณ (มาตรา๕๓๑)
๒.๒ พระมหากษัตริย์ในวัฒนธรรมและจริยธรรมไทย
ถ้าเราจำแนกประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ ๒๖ ประเทศที่มีอยู่ในโลก เราจะพบว่ามีพระมหากษัตริย์อยู่สองกลุ่มหลักๆ คือ
กลุ่มที่๑ ซึ่งอาจเรียกว่า “พระมหากษัติย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” (Constitutional Monarchy) อาทิ อังกฤษ เบลเยี่ยม นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ สเปน ญี่ปุ่น ไทย ในกลุ่มนี้ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ ทรงปกเกล้าฯ แต่ไม่ทรงปกครอง แต่มีรัฐบาลที่มาจากประชาชนเลือกตั้ง เป็นผู้ถวายคำแนะนำและปกครอง
กลุ่มที่ ๒ คือกลุ่ม “พระมหากษัตริย์ผู้ทรงปกครอง” กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นประเทศมุสลิม เช่น ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี หรือบรูไน
สำหรับกลุ่มที่ ๒ คงไม่ต้องวิเคราะห์ เพราะแตกต่างจากของเรามาก แต่แม้ในกลุ่มที่๑ ที่ต่างก็เป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ก็ยังมีสถานะต่างกันเป็นสามกลุ่ม คือ
กลุ่มแรก เป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีประวัติศาสตร์ยืนยาวมาตั้งแต่ครั้งราชาธิปไตยในสมัยโบราณ และเมื่อเปลี่ยนมาเป็นประชาธิปไตย ก็ยังคงลักษณะเด่นอยู่คือคงความลึกลับและสูงส่ง มีนิติราชประเพณีเคร่งครัด อาทิ อังกฤษ ญี่ปุ่น ซึ่งพระมหากษัตริย์ไม่สู้จะมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับประชาชนมากนัก
กลุ่มที่สอง เป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานเช่นกัน แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็นประชาธิปไตยก็มีความเปลี่ยนแปลงคือ ทรงปฏิบัติพระองค์เยี่ยงคนธรรมดา เสด็จไปห้างสรรพสินค้าโดยทรงขับรถพระที่นั่งเอง หรือทรงจักรยานไป ความเคร่งครัดของนิติราชประเพณีก็ไม่เท่ากลุ่มแรก สถาบันพระมหากษัตริย์ที่อยู่ในกลุ่มนี้ คือกษัตริย์สแกนดิเนเวีย เช่นสมเด็จพระราชินีนาถแห่งเดนมาร์ค เนเธอร์แลนด์ พระมหากษัตริย์สวีเดนและนอร์เวย์ แต่ความสัมพันธ์กับประชาชนก็ไม่เด่นชัด
กลุ่มที่สาม อยู่กึ่งกลางระหว่างกลุ่มที่๑ และกลุ่มที่ ๒ เป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานมาตั้งแต่ครั้งราชาธิปไตย มีสถานะสูงส่งทั้งทางศาสนา และสังคม มีนิติราชประเพณีที่มีมายาวนาน แต่ก็มีความใกล้ชิดกับประชาชน และเป็นที่เคารพรักของประชาชนอย่างยิ่ง เพราะพระราชกรณียกิจนานัปการที่ทรงประกอบเพื่อประชาชน กลุ่มที่สามนี้มีตัวอย่างเห็นชัดคือ พระมหากษัตริย์ไทย
คนต่างชาติอาจเห็นภาพพระพุทธเจ้าหลวง หรือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ หรือทรงบรมราชขัตติยภูษาภรณ์ในพิธีบรมราชาภิเษกอันแสดงความอลังการ และศักดิ์สิทธิ์
แต่คนไทยนั้นได้เห็นทั้งภาพอลังการ ศักดิ์สิทธิ์อันแสดงความยืนยงและความต่อเนื่องของประวัติศาสตร์ของชาติ ประเพณีโบราณที่เก็บรักษาไว้ และยังได้เห็นภาพที่พระมหากษัตริย์ของเรา พระบรมราชินีนาถ และพระราชโอรส ธิดา ประทับนั่งบนดิน มีรับสั่งด้วยภาษาสามัญกับประชาชนของพระองค์ในถิ่นทุรกันดาร ที่คนธรรมดาไม่อยากไป โครงการต่างๆ ที่ทรงริเริ่มและทำทั่วประเทศกว่า ๓,๐๐๐ โครงการที่ไม่เคยมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในประเทศอื่นทรงทำก็เกิดขึ้นเพราะความใกล้ชิดกับประชาชนนี้เอง
สายสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์ไทยกับประชาชนคนไทยมีลักษณะพิเศษที่ไม่ใช่ความสัมพันธ์ธรรมดาระหว่างประมุขของรัฐที่เป็นสถาบันการเมือง กับประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย แต่เป็นสายสัมพันธ์พิเศษที่มีลักษณะยากแก่ความเข้าใจของคนต่างชาติ ต่างภาษา ดังนี้
๒.๒.๑ เทวราชาหรือธรรมราชา
ผู้เขียนต่างชาติบางคนไปอธิบายว่า คนไทยถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นเทพตามคติเทวราชาของพราหมณ์ ซึ่งก็ไม่ผิดไปทั้งหมดเพราะเค้ามูลของพระราชพิธีบางอย่างทำให้เข้าใจเป็นนั้นได้ แต่ความจริงแล้ว คติพระพุทธศาสนาต่างหากที่สำคัญกว่า เพราะในอัคคัญญสูตรที่พระพุทธองค์ทรงอธิบายกำเนิดโลกและการปกครองนั้น ทรงแสดงไว้ชัดเจนว่า พระมหากษัตริย์เป็น “มหาสมมติ” (ผู้ที่มหาชนพร้อมใจกันให้เป็นหัวหน้า) เป็น “ราชา” (ผู้ทำความอิ่มใจ สุขใจให้แก่ผู้อื่น) ที่เป็นพระมหากษัตริย์ได้ก็โดย “ธรรม” มิใช่เกิดขึ้นโดย “อธรรม” และทรงย้ำว่า “กษัตริย์เป็นผู้ประเสริฐสุดในหมู่ชนผู้ถือโคตร แต่ผู้ใดมีวิชาและจรณะ (ธรรมะ) ผู้นั้นเป็นผู้ประเสริฐสุดในหมู่เทวดาและมนุษย์”
ด้วยเหตุดังนี้ คติ “ธรรมราชา” ซึ่งหมายถึงพระราชาผู้ทรงปกครองด้วยธรรมะ (อาทิ ทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร ราชสังคหวัตถุ ฯลฯ) จึงมีความสำคัญมากกว่าเทวราชา ดังที่พระเจ้าอโศกมหาราชของอินเดียได้ทรงวางแบบอย่างแนวทางไว้ และพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต คือ พระมหาธรรมราชาลิไท และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ได้ทรงดำเนินตาม ดังพระปฐมบรมราชโองการของรัชกาลปัจจุบันซึ่งทรงเปล่งท่ามกลางมหาสมาคมเมื่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษกว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม” (โปรดดูข้อเขียนของผู้เขียนเรื่อง “ทศพิธราชธรรมกับพระมหากษัตริย์ไทย”)
๒.๒.๒ จาก “สถาบันการเมือง” มาสู่ “สถาบันหลักทางสังคม”
โดยปกติ พระมหากษัตริย์นั้นทรงเป็นประมุขของรัฐอันจัดเป็นสถาบันการเมืองประเภทหนึ่ง แม้ว่าจะไม่ทรงมีพระราชดำริทางการเมือง แต่ทรงกระทำตามคำแนะนำของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ยังถือว่าเป็น “สถาบันการเมือง””แต่เป็น “ส่วนอันทรงเกียรติยศ” (dignified part of the constitution) ส่วนคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเป็น “ส่วนปฏิบัติการ” (efficient parts of the constitution) ตามที่นาย Walter Bagehot นักรัฐศาสตร์ชาวอังกฤษได้กล่าวไว้
แต่จากพระราชกรณียกิจตลอดกว่า ๖๐ ปีในรัชกาลด้วยการทุ่มเทพระวรกายและพระสติปัญญาแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนเพื่อ “ลดช่องว่าง” ที่รัฐบาลยังไม่ได้ทำ หรือทำไปไม่ถึง กว่า ๓,๐๐๐ โครงการก็ดี การที่ทรงระงับวิกฤติการณ์ทางการเมืองมิให้ลุกลามร้ายแรงระหว่างรัฐบาลกับประชาชนในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ หรือเหตุการณ์ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ก็ดี ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยได้แปรสภาพจาก “สถาบันทางการเมืองอันเป็นส่วนอันทรงเกียรติยศ” ไปสู่ “สถาบันหลักทางสังคมที่เป็นส่วนปฏิบัติการทางสังคม” ในลักษณะเดียวกับสถาบันครอบครัว หรือศาสนา พระมหากษัตริย์จึงไม่ใช่ “เทวะ” ที่อยู่ห่างไกลบนสวรรค์อันลึกลับ แต่เป็น “พ่อ” ที่คนไทยเรียก “พ่อหลวง” และคนไทยมีความรัก ความผูกพัน ความเทิดทูน ความสัมพันธ์นี้มีมากกว่าในสังคมตะวันตกระหว่างประมุขของรัฐกับราษฎร
ดังจะเห็นได้จากจำนวนคนไทยที่มาร่วมพระราชพิธีฉลองศิริราชสมบัติ ครบ๖๐ปี ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหลายแสนคนเต็มถนนราชดำเนินและเป็นข่าวไปทั่วโลก ที่พร้อมใจกันเดินทางมาถวายพระพรโดยไม่ได้มีการกะเกณฑ์ใด ๆ และเมื่อทรงพระประชวรเสด็จเข้าโรงพยาบาลศิริราช ประชาชนจำนวนมากก็ไปเข้าเฝ้าทั้งวันทั้งคืน เหมือนลูกเฝ้าไข้พ่อที่ป่วยไข้ นี่คือที่มาของรัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับที่บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆมิได้” (มาตรา๘ รัฐธรรมนูญปัจจุบัน) บทบัญญัตินี้เป็น “ผล” ของวัฒนธรรมและจริยธรรมไทยที่เป็นเอกลักษณ์นี้เอง ไม่ใช่ “เหตุ” ที่บังคับให้คนไทยเคารพพระมหากษัตริย์อย่างที่อ้างๆ กัน
วัฒนธรรมการปกครองแบบ “พ่อปกครองลูก” (paternalistic governance) นี้เองที่อธิบายปรากฏการณ์ที่อาจไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศอื่น ๆ คือ เมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์โดยไม่เป็นธรรม คนไทยส่วนใหญ่ก็รู้สึกเหมือนพ่อตนเองกำลังถูกทำร้ายและยอมรับไม่ได้ เหมือน ๆ กับที่คนไทยยอมรับไม่ได้ที่จะให้ใครมาจาบจ้วงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือแม้พระพุทธรูปที่แทนพระพุทธเจ้า
ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจึงไม่ใช่การทำร้ายพระมหากษัตริย์เท่านั้น แต่เป็นการทำร้าย “พ่อ” ของคนไทยส่วนใหญ่ เป็นความผิดทางสังคมที่ร้ายแรง เหมือนการเนรคุณและด่าพ่อของตนเอง จึงไม่น่าแปลกใจว่า แม้ “พ่อ” จะไม่อยากเอาความผิด (ดังปรากฏในพระราชดำรัสเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๘) และทรงเห็นว่าการวิพากษ์วิจารณ์พระองค์ท่านทำได้ แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังต้องการให้คงความผิดนี้ไว้ เพื่อคุ้มครองสิ่งที่เขาเห็นว่าทำร้ายสถาบันที่เคารพของเขา
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือสังคมไทยถือว่าการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่ใช่ผลร้ายต่อองค์ผู้ถูกหมิ่น แต่เป็นผลร้ายต่อสังคม จริยธรรม และวัฒนธรรมไทย อันเป็นไปตามหลักอาชญาวิทยาที่ว่าการกระทำบางอย่างอาจถูกกำหนดเป็นความผิดอาญา เมื่อมีฉันทามติทางสังคมว่า การกระทำนั้นเป็นผลร้ายต่อสังคม และเป็นข้อจำกัดของเสรีภาพในการแสดงออกในสังคมนี้ เหมือนๆ กับการวิพากษ์วิจารณ์พระผู้เป็นเจ้าในศาสนาอิสลาม ก็เป็นข้อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของประเทศมุสลิม และคนตะวันตกบางคนไม่เข้าใจ แต่ได้นำพระผู้เป็นเจ้าที่ชาวมุสลิมทั้งโลกเคารพและศรัทธาไปล้อเลียนจนหวิดจะเกิดความรุนแรงไปทั่วโลกมาแล้วเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง!
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า ในสังคมไทยความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไม่ได้มีฐานมาจากหลักกฎหมายระหว่างประเทศหรือหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งสากลทั่วไปยอมรับเท่านั้น แต่มีฐานจากหลักจริยธรรมไทย วัฒนธรรมไทย และพระพุทธศาสนา อันเป็นลักษณะเฉพาะของสังคมไทย เหมือน ๆ กับที่คนตะวันตกคุ้มครองสภาของเขาด้วยความผิดฐานละเมิดรัฐสภา (แต่ไทยเราไม่คุ้มครอง!) คุ้มครองศาลของเขาด้วยความผิดฐานดูหมิ่นศาลและละเมิดอำนาจศาล หรือคนมุสลิมคุ้มครองพระผู้ เป็นเจ้า และศาสนาที่เขาเคารพศรัทธา เสรีภาพส่วนบุคคลในการแสดงออกจึงหยุดลงเมื่อไปกระทบกับสิ่งที่สังคมนั้น ๆ ต้องการคุ้มครอง
นี่คือความงดงามของความหลากหลาย คงไม่มีนักประชาธิปไตยที่แท้จริงผู้ใดในโลกที่ต้องการให้ทุกสังคมเปลี่ยนมาใช้มาตรฐานเดียวโดยให้เสรีภาพของบุคคล (คนเดียว) ในการแสดงออกสามารถอยู่เหนือความต้องการและฉันทามติของคนส่วนใหญ่ในสังคม! ถ้าคน ๆ นั้นมีอยู่ เขาก็ไม่ควรได้ชื่อว่าเป็นนักประชาธิปไตย แต่ควรได้ชื่อว่าเป็นนักเผด็จการทางจริยธรรมผู้ยิ่งใหญ่ ตรงกันข้าม การยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางจริยธรรมและวัฒนธรรมตามคติจริยธรรมพหุนิยม (ethical pluralism) ต่างหากที่เป็นประชาธิปไตยและความใจกว้าง เพราะเข้าใจหลักสิทธิอิสระที่จะเลือกตัดสินใจของแต่ละสังคม (self determination)
๒.๓. ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับการใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง
จริงอยู่ แม้สังคมไทยและผู้เขียนจะยอมรับว่า ความผิดฐานนี้ยังจำเป็นเพราะเป็นเอกลักษณ์ทางจริยธรรมและวัฒนธรรมไทย แต่ก็ต้องยอมรับเช่นเดียวกันว่า ในหลายกรณี มีการใช้ความผิดฐานนี้กล่าวหากันเพื่อประโยชน์ทางการเมือง ในความขัดแย้งทางการเมือง ดังที่ปรากฏข่าวเสมอว่า คู่กรณีขัดแย้งทางการเมืองมีการกล่าวหาฝ่ายตรงกันข้ามว่ากระทำความผิดดังกล่าว หากพิเคราะห์ให้ถ่องแท้แล้ว การกล่าวหาดังกล่าวมีสองมิติ ผู้กล่าวหาต้องการให้สังคมประณามหรือใช้สภาพบังคับทางสังคมที่คนส่วนใหญ่เคารพพระมหากษัตริย์เป็นผู้บีบบังคับผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งอาจหมายถึงการทำให้เสื่อมความนิยมลงในกรณีนักการเมือง แต่อีกมิติหนึ่งคือ มิติทางกฎหมายที่อาจทำให้ผู้ถูกกล่าวหารับโทษอาญา
Edited by ดราม่า, 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 13:17.
#7
ตอบ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 13:17
แต่ก็เห็นเขาเสนอกันมาเลยอยากให้ช่วยกันวิเคราะห์ว่าเอาโดยหลักการและเหตุผลมันควรแก้หรือไม่ ? อย่างไร?
#8
ตอบ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 13:18
ผู้เขียนไม่มีตัวเลขแน่นอนถึงสถิติการดำเนินคดีฐานนี้ แต่เท่าที่ปรากฏจากคำสัมภาษณ์ทางผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางว่าเวลานี้มีคดีคางดำเนินการอยู่ที่ตำรวจ ๓๒ คดี ๔ คดีสั่งฟ้อง ๒๘ คดีอยู่ระหว่างดำเนินการ (http://www.suthichaiyoon.com/) ถ้าดูเทียบกับสถิติในนอร์เวย์ภายใต้หัวข้อ Crime against the Constitution and the Head of State (statistics Norway http://www.ssb.no)%20_______/ปี ๑๙๙๓-๒๐๐๗ โดยในปี๒๐๐๗ มีคดีสองประเภทนี้เพียง๗คดี (รวมคดีที่ไม่ใช่ความผิดต่อประมุขด้วย) ก็จะพบว่า คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของประเทศไทยมีจำนวนสูงกว่ามาก
การที่จำนวนสูงกว่ามากนี้อาจตีความได้หลายอย่าง คือ อย่างแรก คนไทยรักและหวงแหนสถาบันนี้มาก จึงไม่ยอมให้ใครมาวิพากษ์โดยไม่เป็นธรรม หรืออาจตีความได้ว่าเป็นการกล่าวหากันเพื่อประโยชน์ของผู้กล่าวหา (ไม่ชอบผู้ถูกกล่าวหาเป็นการส่วนตัว, หวังประโยชน์ทางการเมือง)
แต่ถ้ามาดูสถิติคดีที่ขึ้นศาลฎีกาแล้ว จะพบว่ามีคดีเหล่านี้น้อยมาก กล่าวคือตั้งแต่มีกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. ๒๔๕๑ มาจนถึงการใช้ประมวลกฎหมายอาญาฉบับปัจจุบัน ตลอดเวลากว่า๑๐๐ปี มีคำพิพากษาศาลฎีกาเพียง ๔ เรื่อง คือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่๑๐๘๑/ ๒๔๘๒, ๘๖๑/๒๕๒๑, ๑๒๙๔/๒๕๒๑, ๒๓๕๔/๒๕๓๑ และคดีสุดท้ายไม่ใช่คดีอาญา แต่เป็นคดีให้เลิกมูลนิธิ เพราะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คือคำพิพากษาศาลฎีกาที่๓๓๐๔/๒๕๓๒
คำพิพากษาศาลฎีกา ๔ เรื่องที่ตัดสินความผิดฐานนี้ มี ๑ เรื่องที่ศาลฎีกาพิพากษาว่าไม่มีความผิดคือฎีกาที่ ๑๐๘๑/๒๔๘๒ ซึ่งศาลฎีกาพิพากษาว่าจำเลยพูดอวดอ้างตนในขณะทำการเป็นหมอรักษาโรคว่าตนเป็นผู้วิเศษ มีพระขันธ์แก้ว (มีด) ซึ่งสามารถชี้ให้คนเป็นบ้าหรือตายหรือเป็นอะไรก็ได้ พระเจ้าแผ่นดินกับรัฐธรรมนูญ จำเลยจะเรียกให้มากราบไหว้ก็ได้ จำเลยไม่กลัวใครในโลกนี้ กลัวแต่พ่อแม่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เท่านั้น
ศาลฎีกาเห็นด้วยกับศาลอุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นแค่อวดอ้างให้คนเชื่อว่า ตนเป็นหมอวิเศษรักษาโรคให้หายได้ ไม่มีเจตนามุ่งร้ายต่อผู้ใด คำกล่าวของจำเลยไม่ทำให้คนทั้งหลายดูหมิ่นหรือเกลียดชังผู้ใดเลย (ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำกล่าวของจำเลยเป็นแค่คำอวดอ้าง มิได้แสดงเจตนาหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายหรือหมิ่นประมาทต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นคำกล่าวอันโง่เขลา) ซึ่งเห็นได้ว่าศาลใช้หลัก “เจตนา” เป็นหลักในการวินิจฉัย
ส่วนในอีก ๓ คดีที่เหลือ แม้ศาลจะฟังว่าเป็นความผิดแต่โทษที่ลงนั้นไม่ได้หนักอย่างที่กฎหมายเปิดโอกาสให้จำคุกได้ ๑๕ ปี เช่น ในฎีกาที่ ๘๖๑/๒๕๒๑ศาลลงโทษจำคุก ๑ ปี ในฎีกาที่ ๑๒๙๔/๒๕๒๑ ศาลพิพากษาจำคุก๒ปี คดีที่ศาลพิพากษาจำคุกสูงกว่าคดีอื่นๆก็คือ ฎีกาที่ ๒๓๕๔/ ๒๕๔๑ ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าเจตนาหมิ่นโดยกระทำ ๒ครั้ง๒กระทง จำคุก ๔ ปี
อย่างไรก็ตาม ความน่ากลัวของความผิดฐานนี้ลดลงมากเนื่องจากน้ำพระทัยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งส่วนใหญ่แล้วหากความทราบพระเนตรพระกรรณ หรือมีการทูลเกล้าถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษในความผิดฐานนี้ก็จะทรงมิให้ดำเนินคดี หรือพระราชทานอภัยโทษ รายสุดท้ายคือ นายแฮรี่ นิโคเลด นักเขียนชาวออสเตรเลียที่ศาลอาญาตัดสินจำคุก ๓ ปี แต่ถูกจำคุกจริงเดือนเศษ และขอพระราชทานอภัยโทษก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษด้วยความรวดเร็ว นายนิโคเลดให้สัมภาษณ์ว่า
“ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบ ๘๑ พรรษา ผมได้เห็นพลุที่จุดขึ้นจากระยะไกล นักโทษบางคนมีน้ำตาคลอเบ้า ยกย่องสรรเสริญผู้ที่พวกเขาเห็นว่าไม่ได้เป็นเพียงกษัตริย์แต่เป็นเสมือนบิดาของพวกเขา แม้ว่าผมไม่ใช่คนไทยแต่ผมเป็นลูกชายที่รู้ความหมายของความรักที่มีต่อพ่อ ผมยื่นขอพระราชทานอภัยโทษและภาวนาให้พระองค์ทรงทราบถึงชะตากรรมของผมและหวังว่าผมจะได้รับความกรุณาจากพระองค์” (มติชนรายวัน, ๒๒ก.พ.๕๒)
น่าเสียดายว่า นายนิโคเลดไม่ได้ยื่นขอพระราชทานอภัยก่อนถูกจำคุก หาไม่ พระมหากรุณาธิคุณที่ทรงทราบพระเนตรพระกรรณก่อนศาลพิพากษาอาจ “หลั่งมาเหมือนฝนอันชื่นใจ” ให้มีการถอนฟ้องดังเช่นที่ปรากฏข้อเท็จจริงในหลายกรณี และผู้ที่รู้เรื่องนี้ดี คือ อัยการสูงสุด และอัยการที่รับผิดชอบคดี
พระเมตตาและพระกรุณานี้ทรงประพฤติปฏิบัติมาโดยตลอด โดยเราและผู้วิพากษ์วิจารณ์ทั้งหลายอาจไม่รู้ เพราะไม่เคยมีข่าว คนที่ได้รับพระเมตตากรุณาเท่านั้นที่จะรู้และเป็นพยานได้ เรื่องนี้ ถ้าไปถามนักวิชาการอิสระที่ใครๆ นับถือและเรียกอาจารย์ทั้งประเทศ ที่ถูกดำเนินคดีหลายครั้งหลายครา แต่ได้รับพระมหากรุณาไม่เอาความ ก็จะได้รับคำยืนยันได้ !
ในพระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆที่เข้าเฝ้าถวายชัยมงคลใน วันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า
“ในระบอบรัฐธรรมนูญที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พระเจ้าอยู่หัวผิดไม่ได้….The king can do no wrong….ความจริง The king can do no wrong คือการดูถูกเดอะคิงอย่างมาก เพราะว่าเดอะคิงทำไม can do no wrong….แสดงให้เห็นว่าเดอะคิงไม่ใช่คน แต่เดอะคิงทำ wrong ได้……”
และทรงรับสั่งสรุปว่า วิจารณ์พระมหากษัตริย์ได้ และรับสั่งว่า
“แต่เมื่อบอกว่า ไม่ให้วิจารณ์ ไม่ให้ละเมิด ไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญว่าอย่างนั้น ก็ลงท้าย ก็เลยพระมหากษัตริย์ก็เลยลำบากแย่ อยู่ในฐานะลำบาก ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่ให้วิจารณ์ก็หมายความว่า พระเจ้าอยู่หัวนี่ ก็ต้องวิจารณ์ ต้องละเมิดแล้วไม่ให้ละเมิด พระเจ้าอยู่หัวเสีย พระเจ้าอยู่หัวเป็นคนไม่ดี ซึ่งถ้าคนไทยด้วยกันก็ยังไม่กล้า สองเอ็นดูพระเจ้าอยู่หัว ไม่อยากละเมิด แต่มีฝ่ายชาวต่างประเทศ มีบ่อยๆละเมิดพระเจ้าอยู่หัว ละเมิดเดอะคิง แล้วก็หัวเราะเยาะว่าเดอะคิงของไทยแลนด์ไม่ได้ก็เป็นคนเสีย เป็นคนที่เสีย” และ
“….ที่จริงควรเข้าคุก แต่เพราะฝรั่งบอกอย่างนั้น ก็ไม่ให้เข้า ไม่มีใครกล้าเอาคนที่ด่าพระมหากษัตริย์เข้าคุก เพราะพระมหากษัตริย์เดือดร้อน เขาหาว่าพระมหากษัตริย์เป็นคนที่ไม่ดี อย่างน้อยที่สุดก็เป็นคนที่จั๊กจี้ ใครว่าไรซักนิด ก็บอกให้เข้าคุก ที่จริงพระมหากษัตริย์ไม่เคยบอกให้เข้าคุก ตั้งแต่สมัยสมัยรัชกาลก่อนๆ เป็นกบฏ ก็ยังไม่จับใส่คุก ไม่ลงโทษ รัชกาลที่ ๖ท่านไม่ลงโทษ ไม่ได้ลงโทษผู้ที่เป็นกบฏ มาจนถึงต่อมา รัชกาลที่๙ใครเป็นกบฏ ก็ไม่เคยมีแท้ๆ ที่จริงก็ทำแบบเดียวกันไม่ให้เข้าคุก ให้ปล่อย หรือถ้าเข้าคุกแล้วก็ให้ปล่อย ถ้าไม่เข้าก็ไม่ฟ้อง เพราะเดือดร้อนผู้ที่ถูกด่า เป็นคนเดือดร้อน
อย่างที่คนที่ละเมิดพระมหากษัตริย์ และถูกทำโทษไม่ใช่คนนั้นเดือดร้อน พระมหากษัตริย์เดือดร้อน นี่ก็แปลก คราวนี้นักกฎหมายก็ชอบให้ฟ้อง ให้จับเข้าคุก อันนี้นักกฎหมายก็สอนนายกฯ ว่าต้องฟ้อง ต้องลงโทษ ก็สอนนายกฯ ว่าใครบอกให้ลงโทษ อย่าลงโทษเขา ลงโทษไม่ดี ลงท้ายไม่ใช่นายกฯเดือดร้อน แต่พระมหากษัตริย์เดือดร้อน อาจจะอยากให้พระมหากษัตริย์เดือดร้อน ไม่รู้นะ เขาทำผิด เขาด่าพระมหากษัตริย์ เพื่อให้พระมหากษัตริย์เดือดร้อน และเดือดร้อนจริงๆ เพราะใครมาด่า เราชอบไหม ไม่ชอบ แต่ถ้านายกเกิดให้ลงโทษ แย่เลย…”
พระราชดำรัสองค์นี้ชัดเจนแจ่มแจ้ง ไม่ต้องตีความใดๆ และแสดงให้เห็นทั้งน้ำพระทัยประชาธิปไตย และพระมหากรุณาตรงไปตรงมาที่สุด
ดังนั้น ที่ฝรั่งบางคนซึ่งยกย่องตัวเองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และศึกษากฎหมายหมิ่นประมาทเป็นวิทยานิพนธ์เขียนว่า “กฎหมายนี้เป็นตัวก่อให้เกิดปัญหาการบังคับใช้จนเกินขอบเขตในตัวเอง เพราะไม่มีข้อจำกัดในกฎหมาย” (There are no limits on the law) จึงเป็นข้อเขียนที่อคติและผิดอย่างชัดเจน เพราะข้อจำกัดนั้นอย่างน้อยมี ๒ ประการ คือ ต้องดูเจตนา และศาลย่อมใช้ดุลพินิจกำหนดโทษไม่ร้ายแรงเกินควรได้ประการหนึ่งหากคดีไปถึงศาล และอีกประการหนึ่งก็คือพระมหากรุณา ที่ทรงแสดงให้เห็นว่า ไม่มีพระราชประสงค์ให้ใช้ความผิดนั้นพร่ำเพรื่อ และให้วิจารณ์อย่างเป็นธรรมได้ ทั้งไม่มีพระราชประสงค์ให้จำคุกใครด้วย แต่สิ่งที่ฝรั่งคนนี้วิจารณ์ได้ถูกต้องก็คือ ความน่ากลัวของกฎหมายนี้อยู่ที่ “ตำรวจหรือใครๆก็สามารถใช้กฎหมายนี้กล่าวหาใครก็ได้”
ประเด็นหลังนี้เองที่ทำให้ต้องมาคิดทบทวนกันด้วยความจริงจังว่า จะยังปล่อยให้ใครต่อใครไปกล่าวหาผู้อื่นด้วยข้อหานี้จนเป็นที่มาของความรู้สึกว่ามีการกล่าวหากันพร่ำเพรื่อ เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของผู้กล่าวหาและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสว่า “ทรงเดือดร้อน” หรือจะมีการปรับปรุงเรื่องนี้อย่างไร
ข้อสรุปและเสนอแนะ
ผู้เขียนในฐานะคนไทยและนักกฎหมาย เห็นว่า กฎหมายที่เกี่ยวกับการดูหมิ่น หมิ่นประมาทคนไทยทั้ง ๓ กลุ่ม โดยเฉพาะความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นสอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ หลักรัฐธรรมนูญนานาอารยประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สอดคล้องกับหลักอาชญาวิทยาว่าด้วยการกำหนดความผิดไม่ขัดหลักประชาธิปไตย และเป็นข้อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกที่มีเอกลักษณ์ของตนเองตามหลักจริยธรรมและวัฒนธรรมไทยที่คนไทยส่วนใหญ่ยึดถือ ไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาติแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ก็สมควรมีการปรับปรุงการใช้บังคับกฎหมายดังกล่าว ไม่ให้ใช้พร่ำเพรื่อเกินขอบเขต โดยน่าจะนำแนวทางกฎหมายนอร์เวย์มาปรับใช้ กล่าวคือ คดีความผิดในกลุ่มที่๓ ซึ่งรวมการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทประมุขของ รัฐต่างประเทศนั้น ผู้กล่าวหา สอบสวน และฟ้องร้อง คือ อัยการสูงสุดแต่ผู้เดียว เพื่อมิให้มีการกล่าวหากันได้ง่ายๆ ดังที่เป็นอยู่ และต้องยอมรับร่วมกันว่า การใช้ดุลพินิจของอัยการสูงสุดนั้นเด็ดขาด จะนำไปฟ้องร้องในทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครองมิได้ เพื่อมิให้มีใครนำอัยการสูงสุดไปฟ้องศาลว่า กระทำผิดอาญาฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๑๕๗ และศาลฎีกาเคยตัดสินลงโทษจำคุกอัยการที่สั่งไม่ฟ้องมาแล้วในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๕๐๙/๒๕๔๙ ทั้งนี้ เพื่อให้สถาบันหลักทางกฎหมายของประเทศไทยได้กลั่นกรองด้วยความรอบคอบเสียก่อน
///////////////////////////////////////
หมายเหตุ : - บทวิเคราะห์นี้ ตีพิมพ์เป็นหนังสือ เมื่อปี 2552 จัดพิมพ์โดย สถาบันพระปกเกล้า
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี
Edited by ดราม่า, 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 13:20.
#9
ตอบ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 13:22
แนวคิดของดร.สมคิดนี่ตรงกับที่ดิฉันเองคิดเหมือนกันที่ว่ากม.มันไม่ได้ผิดแต่เป็นที่การใช้มากกว่า
แต่ก็เห็นเขาเสนอกันมาเลยอยากให้ช่วยกันวิเคราะห์ว่าเอาโดยหลักการและเหตุผลมันควรแก้หรือไม่ ? อย่างไร?
อ่านบทความของ ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ท่านตอบได้ครอบคลุม ทั้งที่มาและข้อเสนอที่ไม่ขัดกับหลักกฎหมายไทย
ในความเห็นเรื่องที่นิติราดโวยวายว่ามีแต่คนหยาบคายใส่ ผมว่านั่นเขาเล่นเกมส์การเมืองครับ โดยไปสร้างกระแสว่าฝ่ายต่อต้านเขามีแต่คนรู้ไม่จริงและหยาบคาย
ตัวของน.ส.กฤตยา อาชวนิจกุล อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม(ไม่เกี่ยวกับกฎหมายเล๊ย) ถึงกับพูดออกรายการเนชั่น"คมชัดลึก" โวว่าไม่เคยเห็นใครโต้แย้งเขาเป็นข้อๆแบบวิชาการได้เลย....พวกนี้กบในกะลาครับ แค่ที่ผมยกมาก็ตีนิริราดตกเขาไปแล้ว
ขอยกคำพูดท่าน ส.ว.ไพบูรณ์ นิติตะวัน พูดนาทีที่52 ในรายการคมชัดลึก วันที่ 1 กุมภาพันธุ์ 2555
พิธีกรถาม ทำไมบางท่านพูดเรื่องเดียวกันกับนิติราษฎร์แต่ไม่โดนอย่างนี้
ส.ว.ไพบุรณ์ตอบ ถ้ามีความจงรักภักดีหรือเทิดทูนอยู่ในใจ คำพูดจะสื่อออกมาอยู่แล้วไม่ว่าจะพูดเรื่องอะไรก็ตาม แต่ถ้ามีอะไรอยู่ในใจอยู่แล้ว แม้พูดเหมือนดี พูดแบบเหมือนจะเป็นวิชาการ คนอื่นเขาก็ฟังออก ไม่ว่าปากเขาจะพูดว่านี่เป็นวิชาการนะ นี่เป็นสิทธิเสรีภาพนะ บุคคลที่เขารักสถาบันเขาก็ฟังออก ก็เกิดการต่อต้าน
Edited by ดราม่า, 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 13:27.
#10
ตอบ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 13:42
อย่างไรก็ตาม ก็สมควรมีการปรับปรุงการใช้บังคับกฎหมายดังกล่าว ไม่ให้ใช้พร่ำเพรื่อเกินขอบเขต โดยน่าจะนำแนวทางกฎหมายนอร์เวย์มาปรับใช้ กล่าวคือ คดีความผิดในกลุ่มที่๓ ซึ่งรวมการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทประมุขของ รัฐต่างประเทศนั้น ผู้กล่าวหา สอบสวน และฟ้องร้อง คือ อัยการสูงสุดแต่ผู้เดียว เพื่อมิให้มีการกล่าวหากันได้ง่ายๆ ดังที่เป็นอยู่ และต้องยอมรับร่วมกันว่า การใช้ดุลพินิจของอัยการสูงสุดนั้นเด็ดขาด จะนำไปฟ้องร้องในทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครองมิได้ เพื่อมิให้มีใครนำอัยการสูงสุดไปฟ้องศาลว่า กระทำผิดอาญาฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๑๕๗ และศาลฎีกาเคยตัดสินลงโทษจำคุกอัยการที่สั่งไม่ฟ้องมาแล้วในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๕๐๙/๒๕๔๙ ทั้งนี้ เพื่อให้สถาบันหลักทางกฎหมายของประเทศไทยได้กลั่นกรองด้วยความรอบคอบเสียก่อน "
นั่นสิ!!! แล้วในบ้านเรายอมรับกันได้มั้ยกับการใช้ดุลยพินิจของอัยการสูงสุด แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับในกรณีให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้ฟ้องร้องเพราะเป็นเสมือนผู้แทนพระองค์ที่ใกล้ชิดเกินไป เพราะอาจเกิดข้อครหาได้ น่าจะต้องตั้งคณะกรรมการโดยตำแหน่งที่จากหลายแหล่งที่มา รวมถึงสำนักราชเลขาฯด้วยเพื่อให้มีความคิดหลากหลายมุมมองก่อนจะส่งฟ้องตามกระบวนการปกติ
#11
ตอบ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 13:52
บังเอิญมี ม. 112 ที่พอจะสกัดมันได้ ก็มีไอ้พวก.... จะยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลง
สงสัยบรรพบุรุษไอ้พวกอยากยกเลิก มันหมิ่นทั้งตระกูล
#12
ตอบ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 13:54
อ้างมา
พิธีกรถาม ทำไมบางท่านพูดเรื่องเดียวกันกับนิติราษฎร์แต่ไม่โดนอย่างนี้
ส.ว.ไพบุรณ์ตอบ ถ้ามีความจงรักภักดีหรือเทิดทูนอยู่ในใจ คำพูดจะสื่อออกมาอยู่แล้วไม่ว่าจะพูดเรื่องอะไรก็ตาม แต่ถ้ามีอะไรอยู่ในใจอยู่แล้ว แม้พูดเหมือนดี พูดแบบเหมือนจะเป็นวิชาการ คนอื่นเขาก็ฟังออก ไม่ว่าปากเขาจะพูดว่านี่เป็นวิชาการนะ นี่เป็นสิทธิเสรีภาพนะ บุคคลที่เขารักสถาบันเขาก็ฟังออก ก็เกิดการต่อต้าน
ตอนที่ได้อ่านบทสัมภาษณ์ยังคิดอยู่ว่าท่านพูดได้เคลียร์ดีจริงทะลุปรุโปร่งไปถึงไหนๆ ก็ยังเชื่อว่ามีบางท่านไม่ได้เป็นแบบนั้นก็เห็นว่ามีถอยออกมากันมาหลายคนแล้ว
และอาจจะมีอีก เพราะข้อเสนอกับกิจกรรมของนิติราษฎร์มันคนละระดับกันเลย
#13
ตอบ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 14:00
นั่นสิ!!! แล้วในบ้านเรายอมรับกันได้มั้ยกับการใช้ดุลยพินิจของอัยการสูงสุด แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับในกรณีให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้ฟ้องร้องเพราะเป็นเสมือนผู้แทนพระองค์ที่ใกล้ชิดเกินไป เพราะอาจเกิดข้อครหาได้ น่าจะต้องตั้งคณะกรรมการโดยตำแหน่งที่จากหลายแหล่งที่มา รวมถึงสำนักราชเลขาฯด้วยเพื่อให้มีความคิดหลากหลายมุมมองก่อนจะส่งฟ้องตามกระบวนการปกติ
กฎหมายบ้านเราคือ ไปแจ้งความ - ตำรวจสอบสวนรวบรวมหลักฐาน เขียนสำนวน - ส่งอัยการเป็นโจทย์ฟ้อง - ศาลตัดสินตามกฎหมาย
แล้วกรรมการที่ว่าจะให้ไปอยู่ตรงไหนครับ? ถ้าบอกว่าให้กรรมการเป็นผู้แจ้งความหมายความว่าจะให้กรรมการเป็นโจทย์ร่วมอัยการหรือ?
แต่ผมเห็นด้วยในมุมมองของ อ.สมคิด ที่ปัญหาอยู่ที่กระบวนการ ก็ปรับปรุงกระบวนการครับ
ถ้ามีการใช้มาตรา112กลั่นแกล้งกันจริง คนถูกแกล้งก็ฟ้องกลับข้อหาแจ้งความเท็จและหมิ่นประมาทได้ ถ้าไม่ผิดจริงตำรวจก็ไม่มีหลักฐานอัยการก็สั่งไม่ฟ้องได้ หรือถึงศาลถ้าหลักฐานอ่อนก็หลุดได้ ระบบของเขาดีอยู่แล้ว ที่โดนคดีกันเยอะเพราะเขาหมิ่นประมาทด่าสถาบันครับ
#14
ตอบ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 14:00
ผมว่าไอ้พวกชั่วๆ ที่มันหยามหมิ่นอยู่ทุกวัน มันไม่ได้สนใจว่าจะมี ม.112 อยู่หรือเปล่า
บังเอิญมี ม. 112 ที่พอจะสกัดมันได้ ก็มีไอ้พวก.... จะยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลง
สงสัยบรรพบุรุษไอ้พวกอยากยกเลิก มันหมิ่นทั้งตระกูล
คุณหมู่เชื่อไหมว่าคนไทยชอบเรื่องนินทาเจ้าๆนายๆกันพอกับเรื่องหวยใต้ดิน โดยเฉพาะคนที่พูดเรื่องเหล่านี้เนี่ยเป็นคนมีความรู้มีการศึกษา
#15
ตอบ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 14:21
นั่นสิ!!! แล้วในบ้านเรายอมรับกันได้มั้ยกับการใช้ดุลยพินิจของอัยการสูงสุด แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับในกรณีให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้ฟ้องร้องเพราะเป็นเสมือนผู้แทนพระองค์ที่ใกล้ชิดเกินไป เพราะอาจเกิดข้อครหาได้ น่าจะต้องตั้งคณะกรรมการโดยตำแหน่งที่จากหลายแหล่งที่มา รวมถึงสำนักราชเลขาฯด้วยเพื่อให้มีความคิดหลากหลายมุมมองก่อนจะส่งฟ้องตามกระบวนการปกติ
กฎหมายบ้านเราคือ ไปแจ้งความ - ตำรวจสอบสวนรวบรวมหลักฐาน เขียนสำนวน - ส่งอัยการเป็นโจทย์ฟ้อง - ศาลตัดสินตามกฎหมาย
แล้วกรรมการที่ว่าจะให้ไปอยู่ตรงไหนครับ? ถ้าบอกว่าให้กรรมการเป็นผู้แจ้งความหมายความว่าจะให้กรรมการเป็นโจทย์ร่วมอัยการหรือ?
แต่ผมเห็นด้วยในมุมมองของ อ.สมคิด ที่ปัญหาอยู่ที่กระบวนการ ก็ปรับปรุงกระบวนการครับ
ถ้ามีการใช้มาตรา112กลั่นแกล้งกันจริง คนถูกแกล้งก็ฟ้องกลับข้อหาแจ้งความเท็จและหมิ่นประมาทได้ ถ้าไม่ผิดจริงตำรวจก็ไม่มีหลักฐานอัยการก็สั่งไม่ฟ้องได้ หรือถึงศาลถ้าหลักฐานอ่อนก็หลุดได้ ระบบของเขาดีอยู่แล้ว ที่โดนคดีกันเยอะเพราะเขาหมิ่นประมาทด่าสถาบันครับ
งั้นต้องมาตั้งคณะแข่งกับนิติราษฎร์กันซะมั้งคะ โดยรณรงค์ให้มีการปรับปรุงกระบวนการบังคับใช้ม.112
ให้มีอีกกลุ่มที่เสนอแนวคิดที่อยู่ระหว่างกลางของสองกลุ่ม เพราะหากข้อเสนอทั้ง7ข้อเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคมจริงๆวิธีการนี้ก็น่าจะยอมรับได้ไม่ยาก
(สงสัยว่าคุณดราม่าคงจะตอบว่ายากสสส์ เพราะไม่ใช่จุดประสงค์ที่แท้จริงของนิติราษฎร์แหงๆเลย)
#16
ตอบ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 14:26
กลุ่มนักวิชาการในนามคณะนิติราษฎร์ ได้จัดเวทีเปิดตัวคณะรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 (ครก.112) เพื่อผลักดันร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดย น.ส.กฤตยา อาชวนิจกุล อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อ่านแถลงการณ์ตอนหนึ่งว่า คณะนิติราษฎร์ขอเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยมีสาระสำคัญคือ
1.ให้ยกเลิกมาตรา 112 ออกจากลักษณะว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร
2.เพิ่มหมวดลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
3.แบ่งแยกการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระมหาษัตริย์ ออกจากการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
4.เปลี่ยนบทลงโทษให้กำหนดโทษสูงสุดอยู่ที่การจำคุกไม่เกิน 3 ปีสำหรับการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือการแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และไม่เกิน 2 ปีในกรณีที่กระทำต่อพระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
5.เพิ่มเหตุยกเว้นความผิดกรณีแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต
6.เพิ่มเหตุยกเว้นโทษ ในกรณีที่ข้อความที่กล่าวหานั้นได้รับการพิสูจน์ว่า เป็นความจริงและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และ
7.ให้สำนักราชเลขาธิการเท่านั้นมีอำนาจเป็นผู้กล่าวโทษผู้ที่ทำความผิดแทนพระองค์
คณะนิติราษฎร์ จะร่วมกับกลุ่มนักกิจกรรมทางสังคม นักเขียน และนักวิชาการ ได้มีมติผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ด้วยการทำในนามของ ครก.112 และรวบรวมรายชื่อประชาชนอย่างน้อย 10,000 คน ภายในเวลา 112 วัน เพื่อนำเสนอร่างกฎหมายนี้ต่อไป
นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “ทำไมจึงต้องแก้ไขมาตรา 112”
อ่านแล้วไม่เห็นด้วยสักข้อเลย ....
.. เห็นได้ชัด ประชาธิปไตย เสียงส่วนใหญ่ ไม่ได้ทำให้ได้มา ซึ่งผู้นำที่เก่ง และ ฉลาด ..
ที่นำความอยู่ดี กินดี มาให้ประชาชนได้ แล้วคุณยังจะอ้างประชาธิปไตยเสียงส่วนใหญ่ทำไม
#17
ตอบ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 14:35
มันเป็นการแก้ปัญหาถูกจุดหรือไม่ ผมว่าใครฟ้องก็ได้ไม่ใช่ตัวปัญหา ถ้ากระบวนการ
ยุติธรรมตั้งแต่ตำรวจทำงานมีประสิทธิภาพจะแก้ปัญหานี้ได้ และสามารถทำได้
โดยไม่ต้องไปแก้กฎหมายอะไร ทำไมไม่คิดทำ
นิติราษฎร์ อ้างไปเรื่อย เป็นวิชาการบ้างเป็นสากลบ้าง จนผมเองคิดว่าคนพวกนี้เป็นอาจารย์
สอนกฎหมายจริงหรือ เพราะ ม 112 เป็นกฎหมายที่ชัดเจนอยู่ในตัวว่าผู้ละเมิดนั้น ต้องทำ
ความผิดอย่างไร จึงละเมิด ม 112 แต่นักกฎหมายอย่างนิติราษฎร์ดูเหมือนทำเป็นไม่เข้าใจ
กลับพยายามแก้ไข ม 112 ให้ปกป้องตนเองเพื่อจะวิพากวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ทั้ง ๆ ที่
ม 112 ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์
ผมมองข้อเสนอของเขาว่ามีอคติต่อสถาบันกษัตริย์ เพราะ
เสนอให้ยกเลิก ม 112 แต่ทะลึ่งเสนอกฎหมายปกป้องตนเอง ตามข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7
เอา ม 112 ออกจากเรื่องความมั่นคง เพราะอ้างว่าอยู่ในความมั่นคงแล้วโทษหนักจึงสงสัยว่า
ถ้าโทษเบาแล้วเขาจะละเมิดหรือไร
เสนอให้แยกสถาบันกษัตริย์ออกเป็นส่วน ไม่รู้แยกทำไม แต่มันส่อเจตนาว่าเขาต้องการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลใน
สถาบันกษัตริย์ เฉพาะบุคคล โดยไม่คำนึงว่า ม 112 นั้นเขาปกป้องสถาบันกษัตริย์ไม่ได้ปกป้องตัวบุคคลเพราะ
เขามองว่าสถาบันกษัตริย์เป็นความมั่นคงของรัฐ
#18
ตอบ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 15:01
งั้นต้องมาตั้งคณะแข่งกับนิติราษฎร์กันซะมั้งคะ โดยรณรงค์ให้มีการปรับปรุงกระบวนการบังคับใช้ม.112
ให้มีอีกกลุ่มที่เสนอแนวคิดที่อยู่ระหว่างกลางของสองกลุ่ม เพราะหากข้อเสนอทั้ง7ข้อเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคมจริงๆวิธีการนี้ก็น่าจะยอมรับได้ไม่ยาก
(สงสัยว่าคุณดราม่าคงจะตอบว่ายากสสส์ เพราะไม่ใช่จุดประสงค์ที่แท้จริงของนิติราษฎร์แหงๆเลย)
งานหลักตอนนี้คือต้าน ครก.112และนิติราษฎร์ครับ ถ้าไปตั้งกรรมการปรับปรุงมันจะกลายเป็นแนวร่วมเขาทันทีเพราะฝ่ายนั้นก็จะบอกว่า"เห็นมั๊ยคุณยังบอกกฎหมายมีปัญหาเลย" โดยเขาจะพูดแบบเหมารวมไม่ฟังรายละเอียดหรอกครับ(มันเป็นการเมือง)
และในวงเล็บนั่นจริงครับ
ถ้าไปอ่านข้อเสนอ 7 ข้อ คุณจะเห็นความขี้โกงของนักกฏหมายกลุ่มนี้ เขาเขียนแบบนี้หมายความว่าถึงแม้สิ่งที่วิจารณ์จะเป็นเท็จ แต่ถ้าใช้คำสุภาพและเขียนในเชิงวิชาการก็ไม่ติดคุก
ผมว่าฝ่ายสาธารณรัฐมองว่าแก้มาตรา112 เป็นด่านแรกของการเปลี่ยนแปลงครับ เขาเลยมารวมตัวกันเจาะทะลวงเต็มที่ สังเกตุว่าครก.112และนิติราษฎร์ก็เป็นคนหน้าเดิมๆ พฤติกรรมก็เดิมๆ
Edited by ดราม่า, 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 15:02.
#19
ตอบ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 15:12
ปัญหาทุกอย่างมันเกิดจากมาตราร้อยสิบสองแน่หรือ หรือว่าเกิดจากการเบี่ยงเบนของใครบางคน
เพียงเพื่อต้องการเรียกร้องศักดิ์ศรีแห่งตัวเองคืน แต่ลักษณะการเคลื่อนไหวกลับไปเข้าทางกับกลุ่มคนอีกกลุ่ม
ซึ่งมีความคิด แนวคิด ในประเด็นของสถาบันอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถกระทำการใดๆออกมาได้ในก่อนหน้านั้น แนวคิดของพวกล้มเจ้า
เกิดขึ้นมาก่อนกลุ่มนิติราดที่คิดปรุงแต่งมาตราร้อยสิบสองด้วยซ้ำไป แต่ผมสัมผัสกับเรื่องพวกนี้ได้อย่างไกล้ชิด
ก็ตอนหลังจากทักษิณถูกปฏิวัติ คำถามต่างๆจึงเลยเกิดขึ้น แก้มาตราร้อยสิบสองแล้วอะไรๆจะดีขึ้นเหรอครับ
ผมไม่ค้านใคร หากสถาบันไม่ดำรงอยู่ในสถานะที่เป็นเช่นเพราะพระบริบาลมาตลอดหกสิบปีนี้
อะไรที่สำคัญมากกว่าการแก้ไขมาตราร้อยสิบสอง ทำไมพวกเขาไม่คำนึง
#20
ตอบ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 16:01
อยากรู้ว่าข้อเสนอของนิติราษฎร์แก้ไขอะไรบ้างในม.112
เห็นจากเพจมั่นใจว่าคนไทยเกิน1ล้านสนับสนุนข้อเสนอนิติราษฎร์
ที่อ่านมาก็มีไม่กี่ข้อ อ่านคร่าวๆก็พอรับฟังได้ ยังไม่เห็นด้วยทั้งหมด
แต่การแสดงออกของคนในนิติราษฎร์แต่ละคนมันเหมือนจะเยอะกว่านั้น
แล้วข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ?
คนในเพจเหมือนจะกล่าวหาว่าคนที่โวยวายต่อต้านนิติราษฎร์ไม่ยอมหาข้อมูลข้อเท็จจริงก่อนมากล่าวหาเขาผิดๆ
เพื่อนๆมีข้อมูลกันมั้ยคะ ขอความรู้หน่อย
ผมคิดว่าคนที่ไม่เห็นด้วยจะเยอะกว่า 15 ล้านคนนะสิ
ผมเอาตัวเลขมาจากไหน ก็จากจำนวน สส. ที่ไม่เห็นด้วย คูณกับจำนวนประชากรที่เลือกตั้ง สส.คนนั้นมา
แค่นี้ก็มองไม่ทางที่นิติราษฎร์ จะแก้กฏหมายนี้ให้ผ่านแล้ว
#21
ตอบ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 16:22
พอได้อ่านความคิดเห็นหลังๆ ก็เริ่มเปิดเผยตัวตนออกมา
ผมว่าเจ้าของกระทู้สนับสนุนนิติราษฎร์
คุณหมู่เชื่อไหมว่าคนไทยชอบเรื่องนินทาเจ้าๆนายๆกันพอกับเรื่องหวยใต้ดิน
โดยเฉพาะคนที่พูดเรื่องเหล่านี้เนี่ยเป็นคนมีความรู้มีการศึกษา
ไม่เชื่อครับ
มีหลักฐานอะไรมาเถียงผมครับ
พวกเสื้อสีมักชอบจินตนาการเอาเองคิดเอาเอง
แล้วก็บอกว่ามันเป็นเรื่องจริง
#22
ตอบ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 16:23
ไอ้คนขวาสุดผมเข้าใจว่าชื่อ วาด รวีเป็นก๊วนเดียวกับไอ้ปราบดา ผมเคยโต้กับมันที่กระดานของกลุ่มนักเขียน มันยืนกระต่ายขาเดียวว่าขอวิจารณ์โดยเสรี ผมก็โต้มันกลับว่าเขาห้ามแค่หมิ่นประมาท มันก็แย้งว่ามีแกล้งกัน ผมก็บอกว่าถ้าแกล้งก็ฟ้องหมิ่นกลับสิ เถียงวนไปวนมาแค่นี่แหละ
คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) ประกอบด้วย นายเกษม เพ็ญภินันท์ กลุ่มสันติประชาธรรม นางจีรนุช เปรมชัยพร ตัวแทนกลุ่มอาร์ติเคิล นายพรชัย ยวนยี เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และนายยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงข่าวว่าจะดำเนินการจัดกิจกรรมในต่างจังหวัดรณรงค์สัญจรเพื่อล่ารายชื่อ
http://astv.mobi/AgWxKIv
Edited by ดราม่า, 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 16:38.
#23
ตอบ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 17:07
นายสมคิด กล่าวว่า ธรรมศาสตร์ยังมีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว ไม่ได้ปิดหูปิดตา ไม่ได้ห้ามคณาจารย์ของมหาวิทยาลัย หรือ นักศึกษา พูดเรื่องมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา รวมถึงไม่ได้ห้ามล่ารายชื่อคัดค้านหรือสนับสนุนมาตราดังกล่าว แต่ขอให้จำกัดเป็นกิจกรรมทางวิชาการเท่านั้น ไม่ใช่กิจกรรมทางการเมือง ที่มีการขายของ ล่ารายชื่อ ระดมคน เพราะจะกระทบต่อความแปลกแยก แตกต่างทางความคิดในสังคม
“ไม่ได้ห้ามกลุ่มนิติราษฎร์ แต่จะไม่อนุญาตทุกกลุ่มมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเรื่องมาตรา 112 ในมหาวิทยาลัย สามารถจัดกิจกรรมทางวิชาการเรื่องมาตรา 112 ได้ แต่หากเคลื่อนเข้าสู่กิจกรรมทางการเมือง ก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม ผมก็ต้องรับผิดชอบต่อสังคม และต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง” นายสมคิด กล่าว
นายสมคิด กล่าวว่า ความขัดแย้งภายในมหาวิทยาลัยครั้งนี้ ไม่ใช่ปัญหา เพราะทุกฝ่ายมีวัตถุประสงค์ตรงกัน คือต้องการให้มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งความรู้ ซึ่งวิธีแก้ปัญหาความขัดแย้งทางความคิด ควรแลกเปลี่ยนความเห็นทางหนังสือไปก่อน โดยขอให้ไปอ่านประกาศมติของกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยให้เข้าใจจุดยืนของมหาวิทยาลัยชัดเจน ซึ่งเชื่อว่าเมื่ออ่านและทำความเข้าใจแล้ว จะทำให้เกิดความเข้าใจและทำให้สถานการณ์คลี่คลาย พร้อมกันนี้ยังยอมรับว่ามีแนวคิดที่จะใช้การพูดคุยเพื่อให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้จะไม่ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยอาจารย์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เคลื่อนไหวในนามนิติราษฎร์ ตามที่คณะวารสารฯ ต้านนิติราษฎร์เรียกร้อง เพราะไม่ใช่วิธีการของตน และเกรงว่าจะเกิดความร้าวฉาน แปลกแยกในมหาวิทยาลัยมากขึ้น แต่จะดูแลเรื่องนี้ให้ดีที่สุด ด้วยการรับฟังความเห็นรอบด้าน พร้อมกันนี้ยังขอความเห็นใจให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะไม่ต้องการให้ประณามมหาวิทยาลัย ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งในสังคมไทย
ด้าน นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ออกมาเคลื่อนไหวในนามคณะนิติราษฎร์ กล่าวว่า ไม่เข้าใจและแปลกใจกับมติประกาศห้ามของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย เพราะที่ผ่านมามีการจัดกิจกรรมที่ไม่ได้เป็นการชี้นำมวลชน เป็นกิจกรรมความรู้ทางวิชาการ ไม่ได้เคลื่อนไหวสนับสนุนพรรคการเมืองแต่อย่างใด และเห็นว่า มหาวิทยาลัยควรเป็นแหล่งที่มาพูดคุยกันได้
“ผมเห็นว่า เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ การเข้าชื่อเสนอแก้ไขกฎหมาย เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ที่เปิดช่องให้ทำได้ ผมไม่เรียกร้องให้ทบทวนมติดังกล่าว เพราะเป็นเรื่องของมหาวิทยาลัย แต่เมื่อมีเสียงโต้แย้ง ก็ควรทบทวนผมเห็นว่า มหาวิทยาลัยไม่ควรเร่งออกประกาศ เพราะสามารถกำหนดเงื่อนไขได้ เช่น ห้ามไม่ให้ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อ กลับออกประกาศใช้เป็นการทั่วไป ซึ่งผมเห็นว่าไม่ถูกต้อง ผมได้อ่านมติแล้ว แต่ไม่เข้าใจ เพราะไม่ได้อธิบายความชัดเจน” นายวรเจตน์ กล่าว
http://bit.ly/A4K0V0
วรเจตมันเป็นคนอีโก้จัดและเหลี่ยมจัด ผมว่ามันอิงกระแสและมวลชน ดูมันพูดว่าไม่เรียกร้องให้ทบทวน แต่อีกบรรทัดบอกควรทบทวน?
และสังเกตุว่า ถ้าความเชื่ออื่นๆที่เข้ามาและไม่ตรงกับของเขา วรเจตจะปัดทิ้งทันทีแสดงถึงอีโก้ที่สูงจัด ดูได้จากมันบอกอ่านมติแล้วไม่เข้าใจ?
ผมว่ากลุ่มที่ไม่ฟังคนอื่นเลยคือ นิติราษฎร์และ ครก.112 ครับ เพราะคนอื่นเขาฟังคุณจากทุกสื่อทุกช่องทางจนเอียนแล้ว แต่พวกคุณกลับไม่สนใจความรู้สึก และความเห็นคัดค้านจากกลุ่มอื่นเลย!!! วรเจตนั่นแหละเผด็จการ
Edited by ดราม่า, 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 17:08.
#24
ตอบ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 17:07
เอามาฝากครับ
กลุ่มนักวิชาการในนามคณะนิติราษฎร์ ได้จัดเวทีเปิดตัวคณะรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 (ครก.112) เพื่อผลักดันร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดย น.ส.กฤตยา อาชวนิจกุล อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อ่านแถลงการณ์ตอนหนึ่งว่า คณะนิติราษฎร์ขอเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยมีสาระสำคัญคือ
1.ให้ยกเลิกมาตรา 112 ออกจากลักษณะว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร
2.เพิ่มหมวดลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
3.แบ่งแยกการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระมหาษัตริย์ ออกจากการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
4.เปลี่ยนบทลงโทษให้กำหนดโทษสูงสุดอยู่ที่การจำคุกไม่เกิน 3 ปีสำหรับการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือการแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และไม่เกิน 2 ปีในกรณีที่กระทำต่อพระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
5.เพิ่มเหตุยกเว้นความผิดกรณีแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต
6.เพิ่มเหตุยกเว้นโทษ ในกรณีที่ข้อความที่กล่าวหานั้นได้รับการพิสูจน์ว่า เป็นความจริงและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และ
7.ให้สำนักราชเลขาธิการเท่านั้นมีอำนาจเป็นผู้กล่าวโทษผู้ที่ทำความผิดแทนพระองค์
คณะนิติราษฎร์ จะร่วมกับกลุ่มนักกิจกรรมทางสังคม นักเขียน และนักวิชาการ ได้มีมติผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ด้วยการทำในนามของ ครก.112 และรวบรวมรายชื่อประชาชนอย่างน้อย 10,000 คน ภายในเวลา 112 วัน เพื่อนำเสนอร่างกฎหมายนี้ต่อไป
นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “ทำไมจึงต้องแก้ไขมาตรา 112”
ในข้อ4 อาฆาตคนธรรมดายังโทษหนักกว่าอาฆารราชินีและรัชทายาท!
ชัดเจนว่ามันไม่ใช้การเสวนาทางวิชากร เพราะมีการรณรงค์รวมรายชื่อมันกลายเป็นการเมืองไปแล้ว
จากข้อเสนอนิติราษฎร์ ถ้าทำได้จริงมันเท่ากับว่าเราไม่มีกฎหมายคุ้มครองพระมหากษัตริย์ ต่อไปนี้ใครจะโกหกยังไงก็ได้ในนามงานวิชาการ ส่วนหมิ่นประมาทคงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้สำนักราชเลขาธิการไปไล่ฟ้องรายคนเพราะเท่ากับดึงสถาบันไปเป็นคู่ขัดแย้ง
และนายนิธิ เคยพูดในรายการตอบโจทย์ ว่าไม่เคยศึกษากฎหมายมาตรา112 ...ไม่เคยศึกษาแต่พูดได้นี่แหละสังคมไทย
อันนี้ไม่ใช่ข้อเสนอของนิติราษฎร์ทั้งหมดครับ เป็นเพียงส่วนหนึ่่งของข้อเสนอเท่านั้น
ถ้าจะพูดให้ง่ายคือ
นิติราษฎร์เสนอประมาณ 3 - 4 ประเด็น
แต่กลุ่ม ครก. 112 จับ 1 ประเด็นของข้อเสนอนิติราษฎร์ครับ
หรือ
ครก 112 เป็นซับเซตของ นิติราษฎร์ครับ
ส่วนข้อเสนอของ ครก. ผมอ่านแล้วมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยครับ แต่ในส่วนที่ผมเห็นด้วย ผมก็ยังรู้สึกว่า เค้าก็แถพอสมควร
อย่างเรื่องข้อเสนอการลดโทษ... ซึ่งจะทำให้กฎหมายมาตราการหมิ่นประมุขต่างประเทศมีโทษสูงกว่า
เค้าก็แถว่า เรากำหนดไว้แล้วว่าให้มาตราที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์เป็นแบบนี้ ฉะนั้นเมื่อเข้าสภาไปมาตราอื่นๆ ก็ต้องไปปรับลดให้สอดคล้องกัน ผมเห็นว่าเหตุผลตรงนี้มันแปลก เพราะแทนที่จะเสนอทั้งหมดให้มาเป็นแพ็คเกจเดียวกัน (ในเมื่อกำหนดหรือระบุมาแล้ว) แทนที่เค้าจะเป็นการเสนอแบบเปิดกว้าง ให้มีการลดโทษลงในระดับที่เหมาะสมกับหลักการอะไรก็ว่าไป
แล้วเค้าก็แถต่อว่า ถ้าจะให้เสนอเป็นแพ็คเกจเดียวกัน มันก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่... ทั้งๆ ที่เค้ากำลังทำเรื่องใหญ่อยู่ และมันเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมกับสังคม ผมว่าเค้าก็ควรจะมีส่วนรับผิดชอบด้วย ไม่ใช่อ้างแต่ว่าเราเสนอแนวคิดทางวิชาการส่วนการปรับใช้ก็เรื่องคนอื่นไม่ได้เกี่ยวกับเขา
Edited by BoonBoon Tongbuasirilai, 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 17:08.
#25
ตอบ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 17:12
อันนี้ไม่ใช่ข้อเสนอของนิติราษฎร์ทั้งหมดครับ เป็นเพียงส่วนหนึ่่งของข้อเสนอเท่านั้น
ถ้าจะพูดให้ง่ายคือ
นิติราษฎร์เสนอประมาณ 3 - 4 ประเด็น
แต่กลุ่ม ครก. 112 จับ 1 ประเด็นของข้อเสนอนิติราษฎร์ครับ
หรือ
ครก 112 เป็นซับเซตของ นิติราษฎร์ครับ
ผมเข้าใจคุณ แต่กระทู้นี้ จขกท. เขาถามเฉพาะ 112
#26
ตอบ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 17:18
อันนี้ไม่ใช่ข้อเสนอของนิติราษฎร์ทั้งหมดครับ เป็นเพียงส่วนหนึ่่งของข้อเสนอเท่านั้น
ถ้าจะพูดให้ง่ายคือ
นิติราษฎร์เสนอประมาณ 3 - 4 ประเด็น
แต่กลุ่ม ครก. 112 จับ 1 ประเด็นของข้อเสนอนิติราษฎร์ครับ
หรือ
ครก 112 เป็นซับเซตของ นิติราษฎร์ครับ
ผมเข้าใจคุณ แต่กระทู้นี้ จขกท. เขาถามเฉพาะ 112
ขอโทษทีครับ สงสัยพึ่งตื่น ตาเบลอไปหน่อย ฮ่าา
#27
ตอบ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 18:12
อ่านแล้ว ทำไมรู้สึกว่าสนับสนุนนิติราษฎร์
พอได้อ่านความคิดเห็นหลังๆ ก็เริ่มเปิดเผยตัวตนออกมา
ผมว่าเจ้าของกระทู้สนับสนุนนิติราษฎร์
คุณหมู่เชื่อไหมว่าคนไทยชอบเรื่องนินทาเจ้าๆนายๆกันพอกับเรื่องหวยใต้ดิน
โดยเฉพาะคนที่พูดเรื่องเหล่านี้เนี่ยเป็นคนมีความรู้มีการศึกษา
ไม่เชื่อครับ
มีหลักฐานอะไรมาเถียงผมครับ
พวกเสื้อสีมักชอบจินตนาการเอาเองคิดเอาเอง
แล้วก็บอกว่ามันเป็นเรื่องจริง
อ้าว!!ไหงเป็นงั้นไปล่ะ
ยืนยัน นั่งยันและนอนยันว่าไม่ได้สนับสนุนฯอย่างแน่นอน
เพียงแต่สนใจที่ทำไมคนใกล้ที่รู้จัก และเป็นคนดีมากๆมาบ่นว่าเห็นใจนิติราษฎร์โดนถล่มซะทั่วบ้านทั่วเมือง
ก็เลยสงสัยว่าเขาเห็นอะไรที่เรามองไม่เห็น หรือว่าเขาไม่เห็นอะไรกันหว่า ก็เลยเอามาถามในนี้
โดยส่วนตัวเชื่อว่าถ้านักวิชาการมีความเห็นในเชิงวิชาการโดยสุจริต จะไม่ออกมาล่ารายชื่อแบบนี้
อีกทั้งความเห็นที่ผ่านๆมาในแต่ละเรื่องกลับสร้างประโยชน์เห็นกลุ่มการเมืองอย่างชัดเจน
ส่วนเรื่องนินทาน่ะเราประเมินมาจากประสบการณ์ กลุ่มที่บอกมักจะเป็นครูบาอาจารย์และข้าราชการ(สังคมบ้านนอก) ประมาณว่าชั้นรู้ข่าววงในอะไรเทือกนั้น
#28
ตอบ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 18:25
อันนี้ไม่ใช่ข้อเสนอของนิติราษฎร์ทั้งหมดครับ เป็นเพียงส่วนหนึ่่งของข้อเสนอเท่านั้น
ถ้าจะพูดให้ง่ายคือ
นิติราษฎร์เสนอประมาณ 3 - 4 ประเด็น
แต่กลุ่ม ครก. 112 จับ 1 ประเด็นของข้อเสนอนิติราษฎร์ครับ
หรือ
ครก 112 เป็นซับเซตของ นิติราษฎร์ครับ
ผมเข้าใจคุณ แต่กระทู้นี้ จขกท. เขาถามเฉพาะ 112
ไม่ได้ตามเรื่องนิติราษฎร์จริงจังนักเลยไม่ทราบข้อมูลทั้งหมดค่ะ คงต้องหาข้อมูลเพิ่มอีกแล้ว
ขอความกรุณาผู้มีความรู้ช้วยให้ความกระจ่างด้วย ใครมีข้อมูลอะไรนำมาบอกกันบ้าง
เหตุผลหลักที่ตั้งกระทู้เพื่อหาข้อมูลเอาไปพูดคุยกับกลุ่มที่เค้าเห็นด้วย เพราะอยากคุยแบบใช้เหตุผลมากกว่าการทะเลาะกันค่ะ
เพิ่งจะโดนกล่าวหาว่าสนับสนุนนิติราษฎร์ไปหยกๆก็เมื่อมาตั้งกระทู้นี้ล่ะค่ะ นี่ขนาดเข้าไปดูในลิ้งค์นิติราษฎร์แต่ไม่กล้ากดlikeนะกลัวไปสนับสนุน
แต่ก็เห็นมีบางคนไปกดlikeเพื่อที่จะถกเถียงด้วย
#29
ตอบ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 20:00
สำหรับพวกสนับสนุน
1. อยากเปลี่ยนประเทศเป็นรัฐไทยใหม่
2. เห็นความไม่โปร่งใสของสถาบันกษัตริย์ (แต่ไม่คิดจะตรวจสอบ ฟังๆ เค้ามาก็หาว่าเค้าไม่โปร่งใส)
3. มองเห็นถึงปัญหาของตัวบทในระดับหนึ่ง (แม้จะไม่เห็นด้วยกับเหตุผลก็ตาม)
สำหรับพวกไม่สนับสนุน
1. มองเห็นว่ากฎหมายไม่ได้เป็นปัญหา
2. ราชานิยมอย่างสูงสุด
3. มองเห็นปัญหาของตัวบทในระดับหนึ่ง (แต่ก็ไม่ได้เห็นด้วยกับเหตุผลที่อ้างมา)
#30
ตอบ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 22:45
Edited by Bookmarks, 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 22:53.
#31
ตอบ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 22:50
เสนอให้แยกสถาบันกษัตริย์ออกเป็นส่วน ไม่รู้แยกทำไม แต่มันส่อเจตนาว่าเขาต้องการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลใน
สถาบันกษัตริย์ เฉพาะบุคคล โดยไม่คำนึงว่า ม 112 นั้นเขาปกป้องสถาบันกษัตริย์ไม่ได้ปกป้องตัวบุคคลเพราะ
เขามองว่าสถาบันกษัตริย์เป็นความมั่นคงของรัฐ
อ่านจากตรงนี้ ผมจึงมองว่าพวก post modern นี้มีมองโดยเจตนาว่า ประชาชนใหญ่กว่ารัฐ ความมั่นคงของรัฐจึงต้องอยู่ต่ำกว่าอำนาจของประชาชน
มันจึงเสนอกฎหมายที่ทำให้ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน โดยไม่ได้ดูเลยว่าประชาชนจะอยู่ได้ไหมถ้าไม่มีรัฐ
#32
ตอบ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 22:54
เพิ่งจะโดนกล่าวหาว่าสนับสนุนนิติราษฎร์ไปหยกๆก็เมื่อมาตั้งกระทู้นี้ล่ะค่ะ นี่ขนาดเข้าไปดูในลิ้งค์นิติราษฎร์แต่ไม่กล้ากดlikeนะกลัวไปสนับสนุน
แต่ก็เห็นมีบางคนไปกดlikeเพื่อที่จะถกเถียงด้วย
ตรรกะแปลกๆเน้อ
ผมว่าคนไม่เห็นด้วยกับนิติราษฎร์คงไม่ยอมกด LIKE เป็นแน่ครับ รู้สึกเสนียดมือ
เพราะไลค์ของเรามีค่ามากเกินกว่าจะไปให้กับพวกร้อนวิชา และไร้คุณธรรม
ถ้าจะเถียงก็ add ได้นี่ครับ ไม่เห็นต้องกด like
edit เพิ่ม
ท่าน eAt ครับ คุณ patcha ไม่ใช่แดงเนียนมานะครับ
ลองดูกระทู้ท่านโยฯได้
http://webboard.seri...ยทุก-ๆ-ท่านไม่/
Edited by little bee, 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 02:27.
#33
ตอบ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 00:12
- ผมไม่เชื่อว่าคนที่อยากแก้ทุกคนจะเป็นพวกนิติราษฎร์หรือต้องการล้มสถาบันกษัตริย์
- บางคนที่เห็นด้วยก็เพราะหลงคารมพวกนิติราษฎร์ หลงว่าเค้าคิดในทางดี หลงว่าคดีอากงโดนกลั่นแกล้งจึงไม่อยากให้ใครโดนรังแกอีก หรือแม้แต่หลงว่านิติราษฎร์โดนรังแก
- ผมว่าไม่ต้องมาแบ่งแยกกันหรอก ผู้ที่รู้ก็บอกคนไม่รู้ ผู้ที่ตาสว่างก็บอกคนที่ยังมืดบอด ถ้าแบ่งฝักแบ่งฝ่ายพอรู้ว่าเค้าอยู่อีกฝ่ายก็เลยไม่คุยแล้วพากันทะเลาะ จะเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ยังไง จะรู้ถึงความคิดอันผิดเพี้ยนของเค้าได้ยังไง แล้วจะช่วยให้เค้าเข้าใจถูกต้องได้อย่างไรถ้าไม่รู้จักที่จะฟัง
- การฟัง ไม่ใช่แค่ฟังว่าแก้ ไม่แก้ แต่ให้ฟังว่าแก้เพื่ออะไร ไม่แก้เพื่ออะไร
ถ้าแก้เพื่อพัฒนาจะไม่สนับสนุนเหรอ แต่ถ้าแก้เพื่อทำลายนั่นก็ต้องมาดูว่าทำแบบนั้นเพื่ออะไร.......เป็นต้น
- สังคมจะสงบสุขได้ถ้าเราร่วมมือกันครับ
ปล. แต่สำหรับพวกบัวบางเหล่า ถ้าคิดว่าคุยแล้วไม่เกิดประโยชน์ก็ปล่อยวางครับ เก็บแรงไว้คุยกับคนอื่นดีกว่า
Edited by ไร้สีไร้กลิ่น, 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 01:43.
#34
ตอบ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 00:41
หรือว่ายังต้องการความชัดเจนในประเด็นไหนอีก
(ที่คุณดราม่ายกมาน่าจะทำให้เข้าใจอะไรได้ดีขึ้นนะ)
เดี๋ยวฝากประเด็นให้ไปคิดต่อดีกว่า (เป็นเพียงข้อสังเกตส่วนตัวของผม ไม่ได้ต้องการให้ใครมาเชื่อตาม)
คุณคิดว่าวรเจตน์มีจุดประสงค์อะไร
- โดยส่วนตัวมองว่าเค้าไม่ได้เจตนาดีต่อสถาบัน (แต่กำลังหลอกคนอื่น รวมไปถึงหลอกตัวเองว่าเค้าทำเพื่อสถาบันอยู่)
สิ่งที่ทำให้ผมคิดเช่นนั้นคือ
1. ถ้าเค้ารักสถาบันจริง เค้าจะยินดีที่มีพวกแดงล้มเจ้ามาเชียร์การกระทำของเค้าหรือไม่ ถ้ารักสถาบันจริงจะต้องหันมามองตัวเองแล้วว่าข้อเสนอเรามันไปส่งเสริมพวกล้มเจ้าหรือเปล่า
2. ที่ผ่านมาเท่าที่ทราบ (ส่วนที่ไม่ทราบก็ให้อนุมานเอาว่ามีทั้งดีและไม่ดีพอๆกันละกัน) วรเจตน์ทำอะไรบ้าง
- เขียนบทความในหนังสือรู้ทันทักษิณสอง -- ต่อต้านทักษิณ
- ต่อมา เขียนบทความแย้งกับศาลเรื่องคดีซุกหุ้นทักษิณ -- ช่วยแก้ภาพลักษณ์ทักษิณ
- ต่อมา ตั้งนิติราษฎร์เรียกร้องให้ลบล้างผลพวงจากรัฐประหาร -- ช่วยนิรโทษกรรมทักษิณ
- เข้าร่วมครก.112 พร้อมเสนอแก้ ม.112 -- ช่วยแดงล้มเจ้าให้หมิ่นได้ง่ายขึ้น
เกิดอะไรขึ้นกับคนๆนี้ ถ้าเค้าเป็นพวกรักอุดมการณ์ รักความถูกต้องของสังคม ทำไมจึงกลับกลายมาสนับสนุนคนผิดที่เค้าคิดว่าเป็นสาเหตุของปัญหาสังคมแบบที่เค้าเคยด่ามา
ถ้าเค้าเพียงแค่คิดว่าจะใช้เสื้อแดงและทักษิณเป็นเครื่องมือสร้างกระแส หรือเพื่อให้มีมวลชนสนับสนุนความคิด จะได้ล่ารายชื่อได้ คนแบบนี้คือคนที่มีอุดมการณ์จริงหรือ
คุณอาจคิดว่าการตั้งคำถามแบบนี้เป็นการสร้างอคติรึเปล่า ผมมองว่าเราได้วิเคราะห์การกระทำของเค้าไปแล้ว แต่เจตนาเรายังไม่วิเคราะห์ สำหรับเรื่องบางอย่างแค่ดูการกระทำอาจจะพอ แต่กับบางเรื่องต้องพิจารณาให้ลึกเขาไปถึงเจตนาก็จะทำให้เราเข้าใจคำตอบได้ดีขึ้น อย่างที่บางคนถามว่าวรเจตน์จะหยุดแค่แก้หรือไม่ ถ้าเราทราบเจตนาเราอาจบอกได้ว่าจะจบ เหรอ?
Edited by ไร้สีไร้กลิ่น, 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 01:33.
#35
ตอบ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 01:19
ขอยกมาเพียงบางส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา112ครับ
"ที่เขียนเพราะมีคนถามผม จะเตือนนิติราษฎร์บ้างไหม ก็เลยบอกว่า กู่ไม่กลับ จะไปเตือนเขาได้อย่างไร เขาไปขนาดนั้นแล้ว ไม่ใช่กู่ไม่กลับเพราะเนื้อหาเขาไม่ดี ความจริง มาตรา 112 มีความเห็นทางวิชาการเยอะ คนวิจารณ์นิติราษฎร์ก็ไม่ค่อยวิจารณ์เนื้อหา แต่วิจารณ์ท่าที พูดเรื่องเนรคุณซึ่งผมไม่เห็นด้วย ผมคิดว่าการที่นิติราษฎร์เสนอมาตรา 112 เป็นเสรีภาพที่จะทำได้"
ย้อนกลับไปดูข้อเสนอแก้มาตรา 112 ของนิติราษฎร์ มีเนื้อหาโดยสรุป 7 ข้อ....
....สมคิด วิพากษ์ว่า สิ่งที่นิติราษฎร์เสนอมีหลายเรื่อง เช่น การย้ายหมวดพระมหากษัตริย์ การลดโทษลงมา การให้สามารถวิจารณ์พระมหากษัตริย์ได้ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะ มาตรา 112 ไม่ได้เป็นปัญหาในเชิงบทบัญญัติอย่างที่นิติราษฎร์ระบุ แต่เป็นปัญหาจากการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงโทษที่แรงเกินไป เมื่อเทียบกับมาตรฐานโทษอื่น 3-15 ปี
"สำหรับบทบัญญัติว่าด้วยการหมิ่นประมาทในระบบกฎหมายไทย มีคน 3-4 กลุ่ม ที่กฎหมายวางไว้ หมิ่นประมาทคนธรรมดา หมิ่นประมาทข้าราชการ หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ รัชทายาทไทย และหมิ่นประมาทประมุขของต่างประเทศแต่นิติราษฎร์แก้เรื่องเดียว ซึ่งเป็นข้ออ่อนของนิติราษฎร์ คนถึงวิจารณ์ว่า ทำไมต้องไปแก้ลดโทษหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ไทย แต่ไม่เสนอแก้ลดโทษหมิ่นประมาทประมุขของต่างประเทศ ซึ่งมีโทษสูงเช่นกัน"
สมคิด ตั้งคำถามว่า ในอดีตจนถึงปัจจุบัน คนที่ถูกลงโทษตามมาตรา 112 ได้กระทำความผิดตามมาตรา 112 จริงหรือไม่ หลักการคือ ในทางวิชาการเวลาเราหมิ่นประมาทใคร ต้องมีเจตนา คือ ต้องการให้เสื่อมเสีย แต่ถ้าหมิ่นประมาทเพื่อหวังดี ในทางกฎหมายถือว่า ไม่มีเจตนาหมิ่นประมาท ในระบบกฎหมายไทยศาลก็ใช้ "เจตนา" มาบังคับตลอด แต่ปัญหาใหญ่ของสังคมไทยนั้น เรื่องใดที่เกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มาตรา 112 จึงถูกใช้บังคับโดยไม่คำนึงถึงเจตนา ทำให้มีคนที่ถูกลงโทษตามมาตรา112 จำนวนมาก
"ผมยกตัวอย่าง มี 2 เรื่อง 1.กรณีคุณวีระมุสิกพงศ์ ที่พูดเปรียบเปรยบางอย่าง ซึ่งนักกฎหมายถือว่าคุณวีระไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์แต่มีคนไปแจ้งความ ตำรวจก็ต้องรับ มิฉะนั้นตำรวจก็ถูกกล่าวหาว่าไม่หวังดีต่อพระมหากษัตริย์ อัยการก็ต้องส่งฟ้อง ศาลก็ต้องตัดสิน 2.คดีคุณสนธิลิ้มทองกุล ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินคดี คุณสนธิเอาคำของคนที่หมิ่นประมาทมาเพื่อปกป้องพระมหากษัตริย์ ถามว่า คุณสนธิมีเจตนาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือไม่ ก็ไม่มี ตำรวจต้องไม่รับแจ้งความ อัยการต้องไม่ส่งฟ้องศาล ศาลต้องไม่ตัดสินว่าผิด นี่คือหลักของ มาตรา 112
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ถูกแจ้งความร้องทุกข์ตามมาตรา 112 มีบางคนที่หมิ่นประมาทจริง และไม่ได้หมิ่นประมาทด้วย แต่ทุกวันนี้เนื่องจากการบังคับใช้การตีความทางกฎหมายของคนในกระบวนการยุติธรรมไม่เอาเจตนามาจับ จึงเกิดปัญหาขึ้น
"ข้อเสนอของนิติราษฎร์ที่ให้สำนักพระราชวังเป็นคนฟ้องแทนและลดโทษลงมา ผมไม่แน่ใจว่าถ้าแก้แล้วจะนำไปสู่อะไร แต่ก็คิดว่ามันก็จะมีคนวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งก็จะนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ที่เหมาะสมหรือเกินเลยก็ได้ ผมเลยคิดว่าทำไมไม่แก้ปัญหาที่การบังคับใช้กฎหมายให้ชัดขึ้น"
จุดอ่อนของนิติราษฎร์ที่สมคิดมองอีกเรื่องคือการแก้ไขมาตรา 112 ที่อ้างเหตุผลให้สถาบันกษัตริย์ไทยเทียบเท่ามาตรฐานสากล เขาว่า ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้มีมาตรฐานเดียวกันทั้งหมดในโลก ไม่ว่า ภูฏานอังกฤษ ญี่ปุ่น หรืออีกหลายประเทศก็มีมาตรฐานที่แตกต่างกัน ไม่จำเป็นจะต้องเอามาตรฐานระบอบกษัตริย์ของประเทศหนึ่งมาใช้กับประเทศหนึ่ง
"ผมไม่ได้หมายความว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยไม่ควรเปลี่ยนแปลงสถาบันทุกสถาบันต้องเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางตามสภาพการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพียงแต่เวลาเราอยากจะเอาต่างประเทศมาเพื่อแก้ปัญหาในไทย เราก็ยกตัวอย่างต่างประเทศเวลาเราไม่อยากเอาต่างประเทศ เราบอกว่า นี่เป็นระบบไทยๆ ตกลงเราใช้หลักอะไรกันแน่เราตามทุกประเทศได้จริงหรือ และจริงๆ ในโลกมีมาตรฐานเดียวหรือ นี่คือประเด็นใหญ่ของการแก้มาตรา 112 ซึ่งผมคิดว่ามีปัญหาในเชิงวิธีคิด"
แนวคิดของนิติราษฎร์ที่เสนอห้ามไม่ให้พระมหากษัตริย์มีพระราชดำรัสต่อสาธารณะหรือให้พระมหากษัตริย์สาบานต่อรัฐสภาในฐานะประมุขว่า จะพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ มีความก้าวหน้าแค่ไหน?..."นี่ก็ไม่ใช่มาตรฐานโลก อย่างในอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์และเป็นต้นแบบของหลายประเทศ นายกฯ ต้องเข้าพบกษัตริย์และกษัตริย์มีอำนาจที่จะแนะนำนายกฯ ว่าต้องทำอย่างไร และกษัตริย์ต้องมาเปิดประชุมสภา
ถ้าไม่เสด็จ สภาก็เปิดไม่ได้ มีอีกหลายประเด็นเยอะแยะ ซึ่งมีข้อแตกต่างในสาระที่ไม่เหมือนกัน แต่ละประเทศมีจารีตประเพณีที่แตกต่างกันออกไป
"ผมย้ำอีกทีว่า ไม่ใช่ว่ามาตรา 112 ไม่ควรเปลี่ยนแปลง แต่ถ้ามันถึงเวลามันก็ควรปรับปรุง แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวบทกฎหมาย ถ้าเราจะไปเปลี่ยนแปลงมันก็แก้ไม่ตรงจุด"
สมคิด ยังหยิบยกข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของนิติราษฎร์ที่เห็นว่าเป็นปัญหา นั่นคือการปรับปรุงสถาบันศาล ที่เสนอว่าตุลาการศาลสูงต้องได้รับการเสนอชื่อโดยคณะรัฐมนตรี และได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ........
http://www.posttoday...ญ-แต่ยังมีปัญหา
#36
ตอบ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 01:27
นี่คือการเดินทัพในรัฐสภาของขบวนการระบอบทักษิณ เวลาเดียวกัน ทางนอกสภา พวก ครก.๑๑๒ เขาก็ประกาศเคลื่อนทัพ เดินสายสัญจรทั่วประเทศ รณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ เรียกว่าระบอบทักษิณเคลื่อนทัพพร้อมๆ กันเป็นรูปคีม
บีบ "สถาบันประเทศ"!
ถ้าสำเร็จตามแผน เมื่อคีมบีบจับหัว "คือสถาบัน" กระชับมือแล้ว ก็ถึงขั้นตอน ดึง-ถอน-กระชาก ให้หัวพ้นจากตัว คือ ชาติและประชาชน เหมือนถอนตะปูออกจากเนื้อไม้ อย่างไร-อย่างนั้น
รัฐบาลประกาศ "นิติราษฎร์ไม่ใช่ชิ้นส่วนพรรคเพื่อไทย" แต่จะเป็นชิ้นส่วนระบอบทักษิณหรือไม่ เขาไม่ได้ปฏิเสธตรงนี้ ครก.๑๑๒ ก็มาในตะเภาเดียวกัน ประกาศพรหมจรรย์ "ครก.๑๑๒ ไม่ใช่ชิ้นส่วนนิติราษฎร์-นิติราษฎร์ก็ไม่ใช่ชิ้นส่วน ครก.๑๑๒"
ส่วนทั้งตัวลูก "ครก.๑๑๒" และตัวพ่อ "นิติราษฎร์" เป็นชิ้นส่วนระบอบทักษิณใช่หรือไม่ ผู้ชำนาญการด้านคัดแยกสายพันธุ์สัตว์ ยังไม่แถลงผลวิจัย!
http://www.thaipost....ws/060212/52154
ส่วนตัวผมไม่เชื่อว่า นิติราษฎร์ ครก112 นปช จะไม่มีการพูดคุยกัน เพราะเขาทำงานสอดประสานกันจนเกินไป
มันเป็นระบบจนแม้กระทั้งการออกสื่อ ที่ทุกสื่อในเครือข่ายเขาพร้อมใจกันประโคมทั้งหมดพร้อมๆกัน
การต่อสู้มันแหลมคมมากครับ แต่ฝ่ายเราก็ได้แต่ตั้งรับแบบมวยวัดไม่มีใครเป็นศูนย์กลาง ไม่เหมือนฝ่ายจ้องจะล้มที่มีศูนย์บัญชาการ!
#37
ตอบ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 01:31
╱/(っ◕ ‿‿◕)っ Hello, I'm a Kyubey /人◕ ‿‿ ◕人\
╱/(っ◕ ‿‿◕)っ Please Make a contract with me and become a Magical girl! /人◕ ‿‿ <人\
ข้าพเจ้าขอสนับสนุนท่านผู้นำที่น่ารักที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ!!! Heil Lertih Adolf!! Heil Lertih Adolf!! Heil Lertih Adolf!!
#38
ตอบ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 01:38
เพราะตอนนี้ทั้งฝ่ายทักษิณ และนปช. ก็ถีบหัวส่งแล้ว
จึงดิ้นรนเป็นครั้งสุดท้ายเพื่อหาบันไดลง
แล้วที่บอกว่ามั่นใจเกินล้านคนนั้น ก็แบบว่าให้กำลังใจตัวเองเต็มที่แล้ว
#39
ตอบ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 04:30
ที่มา: http://politicalbase...infographic.png
ผมไปเจอมาครับ
อย่างที่ผมบอกว่า เค้าจัดทำแพ็คเกจของโทษสำหรับสถาบันกษัตริย์ไทยได้ แต่เค้าเลี่ยงจะไม่จัดทำแพ็คเกจโทษของหมวดอื่นๆ ที่ี่มีความเกี่ยงเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกัน ผมว่ามันแปลกๆ ถ้าปากเค้าบอกว่าเค้าจงรักภักดี
เพราะสิ่งนี้ถือเป็นแรงกระเพื่อมใหญ่ทางสังคมที่พวกเค้าเองก็รู้ แต่เค้าก็จงใจจะเลี่ยงการกระทำหลายๆ อย่าง ซึ่งมันก็ชี้ให้เห็นถึงความไม่สุจริตในการจัดตั้ง ครก 112 ขึ้นมา
#40
ตอบ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 05:01
#41
ตอบ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 06:01
แพ็คเกจ ม.112 มันพ่วง 118 133 134 135 136 138 198 206 326 328 393
ที่มา: http://politicalbase...infographic.png
ผมไปเจอมาครับ
อย่างที่ผมบอกว่า เค้าจัดทำแพ็คเกจของโทษสำหรับสถาบันกษัตริย์ไทยได้ แต่เค้าเลี่ยงจะไม่จัดทำแพ็คเกจโทษของหมวดอื่นๆ ที่ี่มีความเกี่ยงเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกัน ผมว่ามันแปลกๆ ถ้าปากเค้าบอกว่าเค้าจงรักภักดี
เพราะสิ่งนี้ถือเป็นแรงกระเพื่อมใหญ่ทางสังคมที่พวกเค้าเองก็รู้ แต่เค้าก็จงใจจะเลี่ยงการกระทำหลายๆ อย่าง ซึ่งมันก็ชี้ให้เห็นถึงความไม่สุจริตในการจัดตั้ง ครก 112 ขึ้นมา
แต่พวกนี้กลับเสนอให้แก้แค่มาตราเดียว
http://www.library.c...N5-01-005.1.pdf
[color=#ff0000;]สำหรับผมคงเลิกเล่นบอร์ดนี้ไว้เพียงเท่านี้ ถ้าไอดีนี้ยังมีบุคคลอื่นที่ใครบางคนคิดว่าเป็นตัวจริงอยู่จริง เขาก็เข้ามาใช้บอร์ดนี้ต่อเองแต่ไม่ใช่ผมแน่นอน[/color]
ลาก่อน สวัสดีครับ 17 มกราคม 2556
#42
ตอบ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 11:20
เพิ่งจะโดนกล่าวหาว่าสนับสนุนนิติราษฎร์ไปหยกๆก็เมื่อมาตั้งกระทู้นี้ล่ะค่ะ นี่ขนาดเข้าไปดูในลิ้งค์นิติราษฎร์แต่ไม่กล้ากดlikeนะกลัวไปสนับสนุน
แต่ก็เห็นมีบางคนไปกดlikeเพื่อที่จะถกเถียงด้วย
ตรรกะแปลกๆเน้อ
ผมว่าคนไม่เห็นด้วยกับนิติราษฎร์คงไม่ยอมกด LIKE เป็นแน่ครับ รู้สึกเสนียดมือ
เพราะไลค์ของเรามีค่ามากเกินกว่าจะไปให้กับพวกร้อนวิชา และไร้คุณธรรม
ถ้าจะเถียงก็ add ได้นี่ครับ ไม่เห็นต้องกด like
edit เพิ่ม
ท่าน eAt ครับ คุณ patcha ไม่ใช่แดงเนียนมานะครับ
ลองดูกระทู้ท่านโยฯได้
http://webboard.seri...ยทุก-ๆ-ท่านไม่/
ขอบคุณค่ะที่ช่วยคอนเฟริ์ม กลุ่มเพื่อนๆมีหลากหลายสีค่ะ แม้แต่ที่สนิทกันมากๆก็คิดไม่เหมือนกัน แต่เราจะไม่เอาการเมืองมาคุยกัน ถ้าใครคุยขึ้นมาอีกกลุ่มก็จะเฉยปล่อยไปแล้วก็เปลี่ยนไปคุยเรื่องอื่นเลยคบกันได้นาน
Edited by patcha, 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 11:32.
#43
ตอบ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 11:31
ว่าแต่ หาข้อสรุปให้ตัวเองได้หรือยังครับ
หรือว่ายังต้องการความชัดเจนในประเด็นไหนอีก
(ที่คุณดราม่ายกมาน่าจะทำให้เข้าใจอะไรได้ดีขึ้นนะ)
เดี๋ยวฝากประเด็นให้ไปคิดต่อดีกว่า (เป็นเพียงข้อสังเกตส่วนตัวของผม ไม่ได้ต้องการให้ใครมาเชื่อตาม)
คุณคิดว่าวรเจตน์มีจุดประสงค์อะไร
- โดยส่วนตัวมองว่าเค้าไม่ได้เจตนาดีต่อสถาบัน (แต่กำลังหลอกคนอื่น รวมไปถึงหลอกตัวเองว่าเค้าทำเพื่อสถาบันอยู่)
สิ่งที่ทำให้ผมคิดเช่นนั้นคือ
1. ถ้าเค้ารักสถาบันจริง เค้าจะยินดีที่มีพวกแดงล้มเจ้ามาเชียร์การกระทำของเค้าหรือไม่ ถ้ารักสถาบันจริงจะต้องหันมามองตัวเองแล้วว่าข้อเสนอเรามันไปส่งเสริมพวกล้มเจ้าหรือเปล่า
2. ที่ผ่านมาเท่าที่ทราบ (ส่วนที่ไม่ทราบก็ให้อนุมานเอาว่ามีทั้งดีและไม่ดีพอๆกันละกัน) วรเจตน์ทำอะไรบ้าง
- เขียนบทความในหนังสือรู้ทันทักษิณสอง -- ต่อต้านทักษิณ
- ต่อมา เขียนบทความแย้งกับศาลเรื่องคดีซุกหุ้นทักษิณ -- ช่วยแก้ภาพลักษณ์ทักษิณ
- ต่อมา ตั้งนิติราษฎร์เรียกร้องให้ลบล้างผลพวงจากรัฐประหาร -- ช่วยนิรโทษกรรมทักษิณ
- เข้าร่วมครก.112 พร้อมเสนอแก้ ม.112 -- ช่วยแดงล้มเจ้าให้หมิ่นได้ง่ายขึ้น
เกิดอะไรขึ้นกับคนๆนี้ ถ้าเค้าเป็นพวกรักอุดมการณ์ รักความถูกต้องของสังคม ทำไมจึงกลับกลายมาสนับสนุนคนผิดที่เค้าคิดว่าเป็นสาเหตุของปัญหาสังคมแบบที่เค้าเคยด่ามา
ถ้าเค้าเพียงแค่คิดว่าจะใช้เสื้อแดงและทักษิณเป็นเครื่องมือสร้างกระแส หรือเพื่อให้มีมวลชนสนับสนุนความคิด จะได้ล่ารายชื่อได้ คนแบบนี้คือคนที่มีอุดมการณ์จริงหรือ
คุณอาจคิดว่าการตั้งคำถามแบบนี้เป็นการสร้างอคติรึเปล่า ผมมองว่าเราได้วิเคราะห์การกระทำของเค้าไปแล้ว แต่เจตนาเรายังไม่วิเคราะห์ สำหรับเรื่องบางอย่างแค่ดูการกระทำอาจจะพอ แต่กับบางเรื่องต้องพิจารณาให้ลึกเขาไปถึงเจตนาก็จะทำให้เราเข้าใจคำตอบได้ดีขึ้น อย่างที่บางคนถามว่าวรเจตน์จะหยุดแค่แก้หรือไม่ ถ้าเราทราบเจตนาเราอาจบอกได้ว่าจะจบ เหรอ?
สำหรับตัวเองมีข้อสรุปมาตั้งแต่ตอนที่นิติราษฎร์เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยให้ย้อนผลรัฐประหารกลับไปก่อน19กันยายน โน่นแล้วค่ะ เพราะมันชัดว่าเค้าหาทางออกให้ทักษิณและกลุ่มการเมืองไม่ใช่ประเทศชาติ ทีนี้มาสนใจอีกทีก็ตอนที่มีเรื่องม.112นี่แหละ
คงจะเป็นอย่างที่หลายท่านบอกการนำเสนอเฉพาะเรื่อง112อย่างเดียวทำให้ภาพลักษณ์ของนิติราษฎร์ดูมีเหตุผลขึ้นบ้างถ้าไม่เอาบริบทอื่นหรือข้อเสนออื่นมาพ่วงด้วย อย่างอ.กิตติศักดิ์ ปรกติ ยังมองว่านิติราษฎร์เสนอเรื่อง112ในเชิงวิชาการเพียงแต่ไม่ถูกเวลาเท่านั้น แต่เชิงวิชาการก็ไม่ใช่ว่าจะทำได้จริงในเรื่องการปฏิบัตินะ
Edited by patcha, 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 11:33.
#44
ตอบ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 14:30
สำหรับตัวเองมีข้อสรุปมาตั้งแต่ตอนที่นิติราษฎร์เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยให้ย้อนผลรัฐประหารกลับไปก่อน19กันยายน โน่นแล้วค่ะ เพราะมันชัดว่าเค้าหาทางออกให้ทักษิณและกลุ่มการเมืองไม่ใช่ประเทศชาติ ทีนี้มาสนใจอีกทีก็ตอนที่มีเรื่องม.112นี่แหละ
คงจะเป็นอย่างที่หลายท่านบอกการนำเสนอเฉพาะเรื่อง112อย่างเดียวทำให้ภาพลักษณ์ของนิติราษฎร์ดูมีเหตุผลขึ้นบ้างถ้าไม่เอาบริบทอื่นหรือข้อเสนออื่นมาพ่วงด้วย อย่างอ.กิตติศักดิ์ ปรกติ ยังมองว่านิติราษฎร์เสนอเรื่อง112ในเชิงวิชาการเพียงแต่ไม่ถูกเวลาเท่านั้น แต่เชิงวิชาการก็ไม่ใช่ว่าจะทำได้จริงในเรื่องการปฏิบัตินะ
ในระยะแรกมันเป็นเชิงวิชาการครับ
แต่ตอนนี้ไม่ใช้แล้ว ตอนนี้กลายเป็นงานการเมืองไปแล้วเพราะมีการล่าราย จัดเวทีสนับสนุน รวมทั้งโฆษณาชวนเชื่อเพิ่มมวลชนด้วย
#45
ตอบ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 14:52
สำหรับตัวเองมีข้อสรุปมาตั้งแต่ตอนที่นิติราษฎร์เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยให้ย้อนผลรัฐประหารกลับไปก่อน19กันยายน โน่นแล้วค่ะ เพราะมันชัดว่าเค้าหาทางออกให้ทักษิณและกลุ่มการเมืองไม่ใช่ประเทศชาติ ทีนี้มาสนใจอีกทีก็ตอนที่มีเรื่องม.112นี่แหละ
คงจะเป็นอย่างที่หลายท่านบอกการนำเสนอเฉพาะเรื่อง112อย่างเดียวทำให้ภาพลักษณ์ของนิติราษฎร์ดูมีเหตุผลขึ้นบ้างถ้าไม่เอาบริบทอื่นหรือข้อเสนออื่นมาพ่วงด้วย อย่างอ.กิตติศักดิ์ ปรกติ ยังมองว่านิติราษฎร์เสนอเรื่อง112ในเชิงวิชาการเพียงแต่ไม่ถูกเวลาเท่านั้น แต่เชิงวิชาการก็ไม่ใช่ว่าจะทำได้จริงในเรื่องการปฏิบัตินะ
ในระยะแรกมันเป็นเชิงวิชาการครับ
แต่ตอนนี้ไม่ใช้แล้ว ตอนนี้กลายเป็นงานการเมืองไปแล้วเพราะมีการล่าราย จัดเวทีสนับสนุน รวมทั้งโฆษณาชวนเชื่อเพิ่มมวลชนด้วย
วิชาการบ้าอะไร มีการขายสินค้าหน้างาน มีการรณรงค์ มีการเกณฑ์คนเข้ามาฟัง หน้าเดิม ๆ ทั้งนั้น วิชาการจริง เขาพูดทีเดียวก็พอแล้ว จบแล้ว
Edited by Novice, 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 14:52.
#46
ตอบ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 15:01
ผมว่าไอ้พวกชั่วๆ ที่มันหยามหมิ่นอยู่ทุกวัน มันไม่ได้สนใจว่าจะมี ม.112 อยู่หรือเปล่า บังเอิญมี ม. 112 ที่พอจะสกัดมันได้ ก็มีไอ้พวก.... จะยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลง สงสัยบรรพบุรุษไอ้พวกอยากยกเลิก มันหมิ่นทั้งตระกูล
เป็นเห็บเกาะไข่ระบบรัฐประหาร
#47
ตอบ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 15:19
Tifatul Sembiring รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสื่อสารและสารสนเทศอินโดนีเซีย (เทียบได้กับกระทรวงไอซีทีบ้านเรา) ให้สัมภาษณ์ว่ากระทรวงกำลังศึกษาปัญหาการใช้ Twitter แบบนิรนามเพื่อดูถูกหรือโจมตีผู้อื่น และเตรียมเอาผิดผู้ใช้ที่ละเมิดกฎหมาย
เขาบอกว่าอินโดนีเซียสามารถใช้กฎหมายไอทีของตัวเอง (Information and Electronic Transactions) จัดการกับผู้กระทำผิดบน Twitter ได้ ถึงแม้จะเป็นบัญชีแบบนิรนามก็ตาม
ฐานความผิดตามกฎหมายฉบับนี้มี 5 ประการ คือ ภาพโป๊เปลือย การพนัน การคุกคามผู้อื่น การหลอกลวง และประเด็นด้านศาสนา ซึ่งจะมีโทษจำคุกระหว่าง 7-12 ปี
อย่างไรก็ตาม Wicaksono บล็อกเกอร์ชาวอินโดนีเซียรายหนึ่งให้สัมภาษณ์ในประเด็นนี้ว่าบัญชี Twitter ของคนอินโดนีเซียมีเยอะมาก จนการตามรอยทุกบัญชีไม่สามารถทำได้ในทางปฏิบัติ
ที่มา: http://www.blognone....อาจโดนคุก-12-ปี
------------------------------------------------------
ตอนนี้ผมรู้สึกว่าบทลงโทษของมาตรา 112 ไม่ต่างจากต่างประเทศเลยนะ...
╱/(っ◕ ‿‿◕)っ Hello, I'm a Kyubey /人◕ ‿‿ ◕人\
╱/(っ◕ ‿‿◕)っ Please Make a contract with me and become a Magical girl! /人◕ ‿‿ <人\
ข้าพเจ้าขอสนับสนุนท่านผู้นำที่น่ารักที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ!!! Heil Lertih Adolf!! Heil Lertih Adolf!! Heil Lertih Adolf!!
#48
ตอบ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 15:39
ไม่เคยต้องโทษมาก่อน ให้รอลงอาญา
หุหุ
~ ทักษิณตาย เสรีไทยไชโย ~
#49
ตอบ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 17:55
แล้วข้อที่บอกว่า ให้สำนักราชเลขาเป็นผู้ฟ้อง กษัตริย์แทน ฝากถามไอ้คนที่มันเสนอมาหน่อย ใครด่าพ่อแม่มัน ตัวมันยังมีสิทธิป้องกันสิทธิเสรีภาพตัวเองได้ได้
แต่กับท่าน กลับทำอะไรไม่ได้ ต้องให้คนอื่นฟ้องแทน นี่มันยิ่งกว่าละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน อ้างตัวว่าเป็นนักเสรีประชาธิปไตย แต่การกระทำกลับส่อเจตนาว่าไม่ใช่
#50
ตอบ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 18:21
กฏหมายอาญามาตรา 112 มันไม่ชอบด้วยหลักวิชาการตรงไหน?