ไม่มีความรวดเร็วเด็ดขาดไม่กล้าเดิมพัน เชื่องช้า นี่ละจุดอ่อนหลัก ปชป และจิตใจคับแคบไม่รับฟังความเห็นไม่ฟังเสียงค้านทวงติงของคนอื่น เป็นฝ่ายค้านพูดเก่งแต่มีอํานาจไม่จัดการอะไรตามที่ตัวเองได้ค้าน
ปรับโครงสร้างพรรคไม่พอมันต้องแก้นิสัยในคนในพรรคให้ประชาธิปไตยในพรรคมันดีกว่านี้ ให้สมาชิกพรรคธรรมดากล้าชนกับ กรรมการหรือหัวหน้าพรรคได้ง่ายขึ้นในกรณีที่พรรคบริหารประเทศหรือสร้างเรื่องผิดพลาดขึ้นมา
แนวทางปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ (ตอน 2)
สาเหตุความพ่ายแพ้และความล้มเหลวของพรรค 1. ความผิดพลาดจากปัญหาผู้นำพรรค ความล้มเหลวหรือความสำเร็จของพรรคการเมือง ปัจจัยสำคัญที่สุดประการหนึ่ง คือ ผู้นำพรรค กล่าวถึงที่สุดก็คือ ตัวหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคนั่นเอง ในยุคสมัยที่นายชวน หลีกภัย เป็นหัวหน้าพรรค และเป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะมีภาพลักษณ์แห่งความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นคนดี พรรคยังพ่ายแพ้ต่อพรรคไทยรักไทย ภายใต้การนำของ ทักษิณ ชินวัตร ที่เสนอนโยบาย และวิธีการทำงานในเชิงรุก ตรงใจประชาชนในขณะนั้นมากกว่าพรรคเรา แม้จะเปลี่ยนหัวหน้าพรรคมาแล้วถึงสองท่าน คือ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน และจนมาถึงยุคสมัยของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เราก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ หรือชัยชนะในการเลือกตั้งได้เลย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคสมัยของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคยังประสบความพ่ายแพ้ ล้มเหลว หนักยิ่งกว่ายุคใดๆ กล่าวคือ การได้รับเลือกตั้งในจำนวน ส.ส.ครั้งนี้ ลดน้อยลงมาก, เป็นรัฐบาลที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในการบริหารประเทศอย่างหนัก, ถูกประชาชนประท้วงขับไล่, ผลักไสมิตรไปเป็นศัตรู, ทำลายแนวร่วม และผู้สนับสนุนพรรคอย่างมาก คนที่เคยเลือกพรรคต่างหันหลังให้ หรือเปลี่ยนใจไปเลือกพรรคอื่น หรือไม่เลือกใครเลย เพื่อเป็นการประท้วงพรรค เป็นต้น
ดังนั้น ผู้เป็นหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และคณะผู้บริหารพรรค จึงจำเป็นต้องได้บุคคลที่มีบุคลิกภาพที่มีความเป็นผู้นำ มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล มีประสิทธิภาพ และศักยภาพในความเป็นผู้นำสูงยิ่ง ทั้งต้องมีแนวทางการเมืองในการสร้างพรรคที่ถูกต้อง จึงจะสามารถเอาชนะพรรคคู่แข่งได้ เราต้องไม่ลืมว่า เรากำลังแข่งขัน และต่อสู้กับ “ทักษิณและระบอบทักษิณ” มิใช่แข่งกับ สมัคร-สมชาย หรือยิ่งลักษณ์ ผู้นำพรรค หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จึงต้องเป็นบุคคลที่สามารถต่อสู้ และนำพรรคไปสู่ชัยชนะเหนือทักษิณและพวกให้ได้ ใครที่ไม่มีศักยภาพดังกล่าว ย่อมไม่อาจนำพรรคประชาธิปัตย์ ให้เป็นความหวังของประชาชน และประเทศชาติได้
2. ความผิดพลาดจากปัญหา แนวทางการเมืองของพรรค ภายใต้การนำพรรคของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค ที่ตัดสินใจนำพรรคไปซุกปีก “กลุ่มทหาร” เพียงเพื่อให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาล ที่เคยร่วมกับรัฐบาลทักษิณมาก่อน โดยการยินยอมให้พรรคร่วมรัฐบาลเหล่านั้นเสนอข้อต่อรองที่เหนือกว่าต่อพรรค และโดยมิได้คำนึงถึงเกียรติภูมิของพรรค ขอเพียงแค่ให้ได้เป็นรัฐบาล และปล่อยให้เกิดการบริหารโดยทุจริต คอร์รัปชัน รักษาผลประโยชน์ของพรรคเหล่านั้น โดยยินยอมต่อพรรคร่วมรัฐบาลชนิดที่เคยได้อย่างไรในรัฐบาลทักษิณ เราให้เหมือนเคยหรือมากกว่า และมีพฤติกรรมเอาอกเอาใจ “กลุ่มทหาร” ที่ช่วยในการจัดตั้งรัฐบาล โดยละทิ้งอุดมการณ์พรรค ทอดทิ้งมิตร-แนวร่วม-มวลชน โดยหาคำอธิบาย แก้ตัวต่อสมาชิกให้ยอมรับ ฝืนต่อจุดยืนของพรรค
ที่สำคัญคือการแสดงจุดยืนเป็นศัตรูต่อภาคประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เคยมีบทบาทอย่างสำคัญ ในการต่อสู้กับทักษิณ และระบอบทักษิณ เพียงแค่ต้องการเปิดโอกาสให้พรรคได้จัดตั้งรัฐบาล ยิ่งทำให้ประชาชนทั้งหลายสงสัยในอุดมการณ์และจุดยืนของพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่พรรคไม่ได้แสดงจุดยืน และบทบาทอย่างกล้าหาญในการปกป้องอธิปไตยของชาติ คุ้มครองสิทธิพลเมืองไทย กรณีนายวีระ สมความคิด และพวกถูกรัฐบาลกัมพูชา จับกุมในดินแดนไทยไปขึ้นศาลกัมพูชา นับเป็นความผิดพลาดที่สำคัญยิ่งที่ทำให้พรรคถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ความศรัทธาต่อพรรคตกต่ำอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
ขณะที่ภายในพรรค หัวหน้า และเลขาธิการพรรค ต่างละเลยบทบาทในการสามัคคีคนภายในพรรค ไม่ส่งเสริมบทบาทบุคคลสำคัญ และผู้มีอาวุโส หรือประสบการณ์ของพรรคให้ได้มีบทบาทในการทำงาน การตัดสินใจและการจัดการปัญหาต่างๆ ถูกครอบงำและผูกขาด หรือจำกัดอยู่ในวงแคบๆ ของผู้ใกล้ชิด หัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคเท่านั้น
นี่คือความผิดพลาดในการดำเนินงานทางการเมือง ที่สำคัญอันนำมาซึ่งความล้มเหลว และพ่ายแพ้ของพรรค ที่เราจำเป็นต้องเก็บรับเป็นบทเรียน และต้องละทิ้งแนวทางการเมืองเก่าที่ล้มเหลวนี้เสีย แสวงหาแนวทางการเมืองใหม่ ที่สอดคล้องต่อสถานการณ์ และเป็นที่ยอมรับของสมาชิก มวลชน แนวร่วมผู้สนับสนุนให้กว้างขวางที่สุดเท่านั้น เราจึงจะชนะ
3. ปัญหาความผิดพลาดในเชิงนโยบาย และการบริหาร การได้รับโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาล และทำให้หัวหน้าพรรค นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะเป็นไปโดยเสียงคัดค้าน วิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม และความไม่สง่างามในทางการเมือง แต่สังคม และประชาชน สื่อมวลชนก็ให้โอกาสแก่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เหตุเพราะผู้คนต่างผิดหวังจากรัฐบาลทักษิณ และระบอบทักษิณ แต่นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลับบริหารประเทศโดยขาดประสิทธิภาพ ไม่มีคณะทำงานที่มีความรู้ความสามารถจากบุคคลที่หลากหลาย จำกัดวงอยู่เพียงกลุ่มบุคคล ที่สังคมมองว่ายังอ่อนเยาว์ขาดประสบการณ์ ความรู้ความสามารถ และที่สุดไม่มีผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ ไม่แสดงให้เห็นถึงการมีฝีมือในการบริหาร และทำงานเป็น ประกอบกับรัฐบาลไม่มี
“ชุดนโยบายในการแก้ปัญหาชาติ” ที่โดดเด่นแตกต่างจากคู่แข่งอย่างชัดเจน และได้ผลในการแก้ปัญหาชาติ
ตรงข้ามกลับกลายเป็นเพียงรัฐบาลที่ลอกเลียนแบบนโยบายประชานิยมของทักษิณมาใช้ แม้จะเปลี่ยนชื่อ ก็มิได้แตกต่างในทางเนื้อหา มิหนำซ้ำยังปล่อยให้เกิดปัญหาการทุจริต คอร์รัปชันอย่างกว้างขวางเช่นเดิม มิได้แตกต่างอะไรกับรัฐบาลทักษิณ โดยเฉพาะผลงานด้านเศรษฐกิจ ที่ปล่อยให้สินค้าอุปโภคบริโภคราคาแพง และขาดแคลนซ้ำเติมปัญหาประชาชน จึงเป็นการเปิดแผลให้พรรคคู่แข่งกล่าวหาโจมตี ประชาชนไม่สามารถมองเห็นความแตกต่างระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคคู่แข่งเลยในทางนโยบาย ยิ่งในทางการบริหาร ผู้คนกลับเปรียบเทียบมองว่า รัฐบาลอื่นบริหารได้ดีเก่งกว่า จนสังคมเกิดทัศนคติว่า
“โกงก็ได้ ขอให้ทำงาน” นี่จึงเป็นความล้มเหลวที่จำต้องแก้ไขโดยเร่งด่วนเรื่องหนึ่ง เราต้องมีผู้นำพรรคที่ดี มีความรู้ความสามารถ มีแนวทางการเมืองที่ถูกต้อง และมีนโยบายที่ดี มีการบริหารที่แตกต่างจากพรรคคู่แข่งที่สามารถปฏิบัติให้เห็นผลได้ เราจึงจะเป็นพรรคทางเลือกและเป็นความหวังของประชาชนได้
(อ่านต่อวันศุกร์หน้า) 4. ปัญหาความผิดพลาดจากการทำลายมิตร, แนวร่วม และผู้สนับสนุนพรรค พรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นโดยประชาชนกลุ่มสาขาอาชีพต่างๆ จากทุกชนชั้นในสังคม เป็นพรรคการเมืองที่มีลักษณะของความเป็นสถาบันการเมืองมากที่สุด เป็นที่บ่มเพาะนักการเมือง รับใช้ประเทศชาติหลายรุ่นจำนวนมากมาย ต่างยุคสมัย เป็นพรรคการเมืองที่เปิดโอกาสให้สามัญชน ลูกชาวบ้าน หรือลูกขุนนางข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนทุกชนชั้นในสังคม สามารถสามัคคี และร่วมกันทำงาน โดยมีอนาคตและความก้าวหน้าตามความรู้ความสามารถของแต่ละคน โดยเปิดโอกาสให้อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมือง และเป็นเจ้าของพรรคได้ ในยามที่บ้านเมืองมีวิกฤต ประชาชนจึงเรียกหาพรรคให้เข้ามามีบทบาทแก้ปัญหา ประชาชนจึงสนับสนุนพรรคด้วยดีตลอดมา
แต่พรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การทำงานของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และเลขาธิการพรรคนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ทำลายวัฒนธรรมที่ดีงามของพรรคลง จนแทบไม่มีหลงเหลือ มิหนำซ้ำยังทำลายความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพรรคกับประชาชน และมวลสมาชิกลงโดยสิ้นเชิงอย่างไม่น่าเชื่อ
กล่าวคือ ในช่วงเวลาที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค พรรคได้ห่างเหินจากประชาชนไปมาก บุคคลที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนพรรคเพื่อสมัคร ส.ส.หรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองล้วนแต่เป็นบรรดาลูกหลาน ขุนนาง บุคคลชั้นสูง เหล่าบรรดาผู้มีชาติตระกูล นามสกุลดังๆ ทั้งหลาย ที่จบการศึกษาจากต่างประเทศ เป็นเด็กหนุ่มคนรุ่นใหม่ที่ขาดประสบการณ์ และความเข้าใจต่อปัญหาการเมือง หรือสภาพของสังคมไทยไม่เพียงปรากฏอยู่โดยทั่วไปภายในพรรค แม้แต่เมื่อเป็นรัฐบาล นายกรัฐมนตรีต่างแวดล้อมด้วยผู้คน และคณะทำงานประเภทดังกล่าวทั้งสิ้น ทำให้พรรคมีภาพลักษณ์ที่ห่างเหินจากประชาชน ไม่ติดดิน ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับประชาชนทุกชั้นชนในสังคม ฐานความนิยมของพรรคนับวันแต่จะคับแคบลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่อาจเข้าถึงประชาชนในภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคอื่นๆ นอกกรุงเทพมหานครได้เลย
นอกจากนี้พรรคยังปิดประตูตัวเอง ไม่ยอมเปิดรับบุคคลภายนอกที่มีความรู้ความสามารถ และมีความนิยมศรัทธาในแนวทาง และอุดมการณ์ของพรรคมาร่วมงาน ไม่เสริมสร้างบรรยากาศที่จะเปิดทางให้บุคคลต่างๆ มาร่วมงานกับพรรค จึงเป็นการปิดกั้นทำลายฐานกำลังของพรรค บุคคลสำคัญที่มีศักยภาพถูกพรรคคู่แข่งช่วงชิงตัวไปร่วมงาน โดยโดดเดี่ยวพรรคของเรา ให้กลายเป็นพรรคที่ไม่น่าเชื่อถือ ไม่น่าไว้วางใจ ไม่มีความจริงใจที่จะร่วมงานด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่พรรคไม่แยกแยะมวลชน กลุ่มการเมืองภาคประชาชน และรู้จักสามัคคีกับกลุ่มพลังต่างๆ ที่เป็นคุณต่อพรรค จึงเป็นความผิดพลาดที่สำคัญ การผลักมิตรไปเป็นศัตรู ในกรณีปัญหาระหว่างพรรคกับพันธมิตรฯ จึงเป็นความผิดพลาดในการทำลายแนวร่วม ผู้สนับสนุน
ยิ่งการปล่อยให้สมาชิกพรรคไปทะเลาะ ขัดแย้ง กล่าวหา หรือเป็นศัตรูกับประชาชน โดยผู้นำพรรคมิได้ห้ามปราม หรือให้แนวคิด แนวทางที่ถูกต้องต่อสมาชิก ผู้ปฏิบัติงานพรรค นับว่าเป็นความผิดพลาดล้มเหลวที่ร้ายแรงยิ่งที่นำพรรคไปสู่ความพ่ายแพ้ ท่าทีของหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรคในเรื่องนี้ เป็นปัญหาและอุปสรรคโดยตรงต่อการสามัคคีกับพลังของประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ ให้ร่วมกันทำงานกับพรรค
5. ปัญหาความผิดพลาดที่ไม่ยึดหลักนิติรัฐ ไม่จัดการกับระบอบทักษิณ และขบวนการล้มเจ้า นำประเทศออกจากการเมืองที่ล้มเหลว ปัญหาการไม่ยึดหลักนิติรัฐ ไม่จัดการกับระบอบทักษิณ และขบวนการล้มเจ้า ทำให้การเมืองของประเทศยิ่งจมปลักอยู่กับความล้มเหลว ปัญหานี้คือความคาดหวังของประชาชน และเป็นคำมั่นสัญญาที่นายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ประกาศต่อประชาชน แต่เมื่อได้อำนาจกลับละเลยและมิได้ปฏิบัติให้เป็นจริง การมีพฤติกรรมที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่พูด และการไม่รักษาคำพูด ในหลายครั้งหลายโอกาส รวมทั้งท่าทีในการร่วมมือประนีประนอม หรือออมชอมกับระบอบทักษิณ จึงทำให้ทักษิณฟื้นอำนาจ กลุ่มคนเสื้อแดงฟื้นชีพ การเมืองพลิกขั้วกลับไปสู่ความล้มเหลวหนักหน่วงยิ่งกว่าเดิม สังคมโทษพรรคเราเป็นต้นเหตุ ที่ทำให้ระบอบเก่าฟื้นชีพ และต่างชี้นิ้วมาที่พรรคประชาธิปัตย์ และหัวหน้าพรรคที่ไม่กล้าหาญจัดการกับปัญหาดังกล่าว
วันนี้พวกเขาเข้มแข็งกว่าเดิม เราต้องมองปัญหานี้อย่างเข้าใจ และมียุทธศาสตร์ ยุทธิวิธีที่จะรับมือกับปัญหานี้ และจัดการกับปัญหานี้อย่างมีแนวทางที่ถูกต้อง พรรคจึงยิ่งต้องสามัคคีกับประชาชนทุกหมู่เหล่าให้กว้างใหญ่ไพศาล หากการนำของพรรคยังปิดประตูคับแคบ เป็นไปในแนวทางเดิมๆ และประมาทมึนชาต่อเรื่องนี้ ย่อมยากที่พรรคจะได้รับชัยชนะ
6. ปัญหาความผิดพลาดในการยึดมั่นกับ MOU 2543 และไม่ปกป้องอธิปไตยของชาติ เรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญอันเป็นความผิดพลาดทางการเมืองที่ร้ายแรงมาก ที่พรรคไม่กล้ายอมรับความจริง และแก้ไขจนนำมาซึ่งปัญหาบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่างพรรคกับประชาชนผู้รักชาติ รักความเป็นธรรม รักเกียรติภูมิ และศักดิ์ศรีของความเป็นไทย หวงแหนแผ่นดิน และอธิปไตยของประเทศ
การที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ยังคงกอด MOU 2543 ไว้แน่น โดยไม่อาจหาเหตุผลอธิบายให้สังคมเข้าใจถึงความจำเป็นที่รับฟังได้ ประกอบกับการดำเนินนโยบายต่างประเทศ และจัดการปัญหาข้อพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชา ที่ส่อไปในทางที่เสียเปรียบ ไร้ศักดิ์ศรี ปล่อยให้กัมพูชาก่อสงครามยิงถล่มประชาชนชาวไทย จนอพยพหนีตาย หลบภัยอยู่ในอุโมงค์อย่างน่าอับอาย ทั้งที่แสนยานุภาพทางทหารของไทยเหนือกว่ากัมพูชาหลายเท่า
การปล่อยให้กัมพูชารุกเข้ายึดดินแดนไทย บริเวณโดยรอบปราสาทพระวิหาร รวมถึงจับกุมคนไทยในดินแดนไทยไปขึ้นศาลกัมพูชา นำปัญหาข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลโลก โดยรัฐบาลไทยต้องตามแก้เกมเป็นลูกไล่ หรือฝ่ายถูกกระทำแต่ฝ่ายเดียว จนศาลโลกมีมาตรการคุ้มครองชั่วคราว สั่งให้ไทยต้องถอนทหารออกไปจากบริเวณที่พิพาทอย่างไร้ศักดิ์ศรี ล้วนแต่ทำให้พรรคเสื่อมความนิยมอย่างยิ่ง
เมื่อพิจารณาประกอบกับการแสดงจุดยืนต่อปัญหานี้ของหัวหน้าพรรค ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่โลเลไม่ชัดเจน หรือพูดจาต่อประชาชนโดยไม่ยึดมั่นในหลักการ จนถูกกล่าวหาว่า “โกหก” ยิ่งทำให้เสื่อมเสียต่อความน่าเชื่อถือของพรรค และทำลายความเชื่อมั่นต่อผู้นำพรรคอย่างยากที่จะกอบกู้กลับคืนมาได้ หากยังยึดมั่นในแนวทางที่ผิดพลาดนี้ต่อไป (อ่านต่อวันศุกร์หน้า)http://www.manager.c...D=9540000100409http://www.manager.c...D=9540000103687
Edited by phat21, 27 February 2012 - 15:34.