อ่านกันอ้วกเลยนะครับ
จารึกพ่อขุนรามฯ-ไม่ได้ทำในสมัยพ่อขุนรามฯ ?นิตยสารสารคดี พฤศจิกายน 2546
เพราะ การได้ขึ้นทะเบียนเป็น "มรดกความทรงจำของโลก" นั่นทีเดียว ทำให้เราได้รู้ว่า ในแวดวงนักประวัติศาสตร์มีการขุดคุ้ยค้นหาคำตอบกันอย่างเข้มข้นมานานกว่า ๑๐ ปีแล้วว่า จารึกพ่อขุนรามคำแหง ใครเป็นคนทำกันแน่
ไล่เรียงมา ตั้งแต่ ม.จ. จันทร์จิรายุ รัชนี และ ไมเคิล วิกเคอรี ที่ได้เปิดประเด็นไว้ตั้งแต่ ๑๐ กว่าปีที่แล้วว่า จารึกพ่อขุนรามคำแหงอาจไม่ได้ทำในสมัยพ่อขุนรามฯ รศ. ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์ ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ศึกษาค้นคว้าวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ศิลปะ และเสนอว่าจารึกหลักที่ ๑ ไม่ได้ทำขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหง แต่เพิ่งทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ นี่เอง นอกจากนี้นักวิชาการอีกหลายคน เช่น ไมเคิล ไรท์ สุจิตต์ วงษ์เทศ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ก็ให้ความเห็นไปในทิศทางที่ไม่เชื่อว่าจารึกหลักนี้ทำขึ้นในสมัยพ่อขุนราม คำแหงเช่นกัน
อีกฟากหนึ่ง จิราภรณ์ อรัณยะนาค ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์การอนุรักษ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้ตรวจพิสูจน์หลักศิลาจารึกหลักที่ ๑ ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒ โดยดูการเกิดปฏิกิริยาทางเคมีของร่องรอยการขูดขีด พบว่าเป็นร่องรอยที่มีอายุอยู่ในสมัยกรุงสุโขทัยแน่นอน แต่จะเป็นรัชสมัยของกษัตริย์พระองค์ใดไม่สามารถระบุได้แน่ชัด
ก่อง แก้ว วีระประจักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ กรมศิลปากร ก็เป็นอีกคนที่ยืนยันว่า จารึกหลักนี้ทำขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงแน่นอน ส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกอย่าง ศ. ดร. ประเสริฐ ณ นคร ก็ออกมาชี้แจงโต้แย้งประเด็นที่เป็นพิรุธในทุกกรณีตลอด ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมา
กระนั้นก็ยังไม่อาจหาข้อสรุปใด ๆ ได้
ดู เหมือนว่าการถกเถียงในหมู่นักประวัติศาสตร์ โบราณคดี ที่ยืดเยื้อยาวนานนี้ ไม่ได้อยู่ในความรับรู้ของสาธารณชนมากนัก เรายังแขวนภาพสุโขทัยไว้กับชุดความคิดที่ว่า จารึกพ่อขุนฯ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย พ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรไทย และเป็นยุคที่ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ใครใคร่ค้าม้าค้า ใครใคร่ค้าวัวค้า ประชาชนเดือดร้อนก็มาสั่นกระดิ่ง ฯลฯ
กล่าวให้ถึงที่สุด ประชาชนทั่วไปไม่เคยตั้งคำถามใด ๆ กับสิ่งที่ได้ร่ำเรียนมา และไม่เคยรับรู้เรื่องการตั้งข้อสังเกตของนักวิชาการ จนกระทั่งองค์การยูเนสโกประกาศให้จารึกหลักที่ ๑ เป็นมรดกความทรงจำของโลกMemory of the World Project เป็นโครงการเพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่มรดกความทรงจำที่เป็นเอกสาร วัสดุ หรือข้อมูลข่าวสารอื่น ๆ เช่น กระดาษ สื่อทัศนูปกรณ์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีความสำคัญระดับนานาชาติ และจะต้องมีการเก็บรักษาในความทรงจำระดับชาติและระดับภูมิภาคอยู่แล้ว ประเทศใดก็ตามที่คณะกรรมการยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ชนิดไหนให้เป็นมรดกความทรงจำของโลกแล้ว ย่อมมีภาระผูกพันให้ต้องดูแล รักษา อนุรักษ์ให้อยู่ในสภาพดี และเผยแพร่ให้ความรู้แก่มหาชนรุ่นหลังทั่วโลกให้กว้างขวาง เพื่อให้มรดกดังกล่าวอยู่ในความทรงจำของโลกต่อไป
ด้วยเห็นว่า ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงหลักที่ ๑ เป็นหลักฐานที่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ การปกครอง การค้า และวัฒนธรรมของอาณาจักรสุโขทัย ที่มีความสำคัญกับนานาชาติ เป็นหลักฐานข้อมูลข่าวสารที่สะท้อนวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม ระบบการปกครอง แนวคิดทางด้านกฎหมาย สิทธิเสรีภาพของประชาชน การค้าเสรี และประเด็นอื่น ๆ นายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้ส่งแบบฟอร์มใบสมัครของประเทศไทยไปยังผู้อำนวยการใหญ่ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ขอให้พิจารณาจดทะเบียนระดับโลก (World Register) ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ภายใต้โครงการมรดกความทรงจำของโลก
คณะกรรมการที่ปรึกษาของยูเนสโก ได้ประชุมเมื่อวันที่ ๒๘-๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๖ ที่เมืองกแดนสก์ (Gdansk) ประเทศโปแลนด์ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยูเนสโกจดทะเบียนระดับโลกศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหง พร้อมกับ ๒๒ รายการจาก ๒๐ ประเทศ แม้จะมีบางเสียงไม่เห็นด้วยกับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกด้วยเหตุผลข้างต้น แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ขัดข้องที่จะประกาศเป็นมรดกความทรงจำของโลก สิ่งที่ยังเป็นข้อกังขาและทำให้เกิดการถกเถียงอีกครั้งก็ไม่พ้นประเด็นที่ ว่า ใครเป็นคนทำจารึกหลักนี้ และขณะที่ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงแน่ชัดการได้รับยกย่องด้วยเหตุผลดังกล่าว อาจสร้างความเสียหายภายหลังได้
ตัวละครชุดเดิมออกมาแสดงบทบาทอีก ครั้ง ทว่าคราวนี้มีตัวละครจากกระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงศึกษาธิการ เช่น นางอุไรวรรณ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ออกมาร่วมวงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
"อยากให้หยุดการวิพากษ์วิจารณ์ เรื่องนี้ เพราะไม่ใช่สิ่งที่ดีต่อประเทศเราเลย ยูเนสโกตัดสินแล้ว ก็ควรภูมิใจ ส่วนจะหาข้อเท็จจริงอะไรก็ทำกันภายใน คนไทยน่าจะภูมิใจที่ทั่วโลกยอมรับ ไม่ใช่มาพูดถกเถียงและสวนกันแบบนี้ มันไม่ถูกต้อง" (ข่าวสด, ๔ กันยายน ๒๕๔๖)
รศ. ศรีศักร วัลลิโภดม เคยพูดไว้น่าคิดว่า สังคมไทยที่ผ่านมาขาดกระแสสำนึกในเรื่องอดีต ในการเรียนจึงไม่มีมิติของอดีต ทำให้คนไทยขาดรากเหง้า มองแต่ปัจจุบันและอนาคตอย่างเดียว เป็นผลให้เราเดินไปสู่ความผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่า ประเด็นสำคัญที่นักประวัติศาสตร์หลาย ๆ คนบอกกล่าวเราอยู่เสมอคือ เรื่องของประวัติศาสตร์ไม่มีคำตอบใดตายตัว อย่าหยุดยั้งที่จะตั้งคำถามและหาคำตอบ
หากเราเห็นพ้องกันว่า ศิลาจารึกหลักนี้คือกุญแจอีกดอกหนึ่งที่จะพาเราไปรู้จักและมองเห็นตัวเราใน อดีต และคุณค่าของการรู้ประวัติศาสตร์ก็คือการนำมารับใช้อนาคต อย่างที่เรามักจะได้ยินเสมอว่า ถ้าไม่รู้ที่มา ก็ไม่รู้ว่าจะเดินไปทางไหนต่อ การถกเถียงเพื่อหาคำตอบว่าใครเป็นคนทำจารึก ทำขึ้นเมื่อไร เพื่ออะไร จึงไม่ใช่เรื่องไร้สาระอย่างแน่นอน
ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงศิลา จารึกพ่อขุนรามคำแหงทำขึ้นจากหินทรายแป้ง สูง ๑๑๑ เซนติเมตร กว้าง ๓๕ เซนติเมตร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพบเมื่อครั้งเป็นภิกษุขณะจาริกไปยัง เมืองเก่าสุโขทัย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งลงมายังกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๖ และทรงพยายามอ่านและแปลศิลาจารึกนั้นด้วยพระองค์เอง
ด้าน ที่ ๑ เล่าเรื่องตั้งแต่วงศ์ตระกูลของพ่อขุนรามคำแหง ความสามารถทางการรบ การได้ครองราชสมบัติ กล่าวถึงความอุดมสมบูรณ์ของสุโขทัย ในน้ำมีปลาในนามีข้าว มีการค้าขายแบบเสรี ไม่เก็บภาษีอากร พูดถึงความเป็นธรรมและยุติธรรมของพ่อขุน มีกระดิ่งแขวนอยู่หน้าประตูให้ไพร่ฟ้ามาร้องทุกข์
ด้านที่ ๒ กล่าวถึงความอุดมสมบูรณ์ของสุโขทัย มีปราการที่มั่นคงแข็งแรง เป็นเมืองพระพุทธศาสนา มีประเพณีเผาเทียนเล่นไฟ มีวัดวาอาราม
ด้านที่ ๓ กล่าวถึงสภาพแวดล้อมทั่วไปของเมืองสุโขทัย
ด้านที่ ๔ กล่าวเฉลิมพระเกียรติพ่อขุนราม ว่าเป็นผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่ สุโขทัยมีอาณาเขตกว้างใหญ่ในทิศต่าง ๆ พร้อมรายละเอียด
ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร
พิริยะ ไกรฤกษ์
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์"เหตุที่รัชกาลที่ ๔ ต้องทำศิลาจารึกหลักที่ ๑ เพราะเป็นกลอุบายให้รอดพ้นจากการล่าอาณานิคมของตะวันตก
"จารึก หลักที่ ๑ เอาสระและพยัญชนะมาไว้ในบรรทัดเดียวกัน ขณะที่จารึกหลักอื่น ๆ วางสระและวรรณยุกต์บนล่าง เป็นลักษณะของการเรียงพิมพ์ ซึ่งเป็นอิทธิพลของฝรั่ง แสดงว่าการเขียนจารึกนี้ทำขึ้นมาหลังจากคบกับฝรั่งแล้ว ในประวัติศาสตร์ไทย มีกษัตริย์เพียงสองพระองค์เท่านั้นที่ประดิษฐ์อักษรแบบสระพยัญชนะอยู่บน บรรทัดเดียวกัน คือ พ่อขุนรามคำแหงและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ที่ทรงประดิษฐ์อักษรอริยกะ เพื่อใช้เขียนภาษาบาลีที่วัดบวรฯ แต่ก็เลิกใช้ไปแล้ว
"จารึกหลักที่ ๑ มีขนาดเล็กผิดปรกติ แตกต่างจากศิลาจารึกที่อายุใกล้เคียงกัน คือ จารึกปราสาทพระขรรค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ซึ่งมีขนาดใหญ่มากเกือบ ๒ เมตร นอกจากนี้ศิลาจารึกรุ่นหลัง ๆ เช่น หลักที่ ๒ และหลักที่ ๔ ก็มีขนาดใหญ่เช่นกัน
"คำว่า รามคำแหง ไม่ปรากฏในจารึกสุโขทัยหลักอื่น ๆ เลย มีแต่ในหลักที่ ๑ เท่านั้น ขณะที่หลักอื่นๆ เรียกว่า พระญารามราช พระร่วง แต่ในหลักอื่น ๆ กล่าวถึงราชวงศ์พระร่วง โปรดสังเกตว่า รามคำแหง ใกล้กันมากกับชื่อ พระรามคำแหง ซึ่งเป็นตำแหน่งพระอัยการนาทหารหัวเมือง ปรากฏในกฎหมายตราสามดวง สมัยรัชกาลที่ ๑
"ประเด็นตรีบูร (กำแพงสามชั้น) สามพันสี่ร้อยวา หรือประมาณ ๖,๘๐๐ เมตร ที่ระบุในจารึกซึ่งหยิบมาโต้แย้งกันว่ากรุงสุโขทัยไม่มีกำแพงลักษณะที่ว่า นี้ แต่จากที่กรมศิลปากรขุดค้นกำแพงเมืองสุโขทัยแล้ว วัดกำแพงได้ความยาวกำแพงชั้นใน ๖,๑๐๐ เมตร ชั้นกลาง ๖,๕๐๐ เมตร และชั้นนอก ๖,๘๐๐ เมตร และเสนอว่ากำแพงชั้นในเท่านั้นที่สร้างในสมัยสุโขทัย ส่วนชั้นกลางและชั้นนอกน่าจะสร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวร ดังนั้นที่กล่าวในจารึกว่า ตรีบูรสามพันสี่ร้อยวา ซึ่งเท่ากับกำแพงเมืองชั้นนอก (๖,๘๐๐ เมตร) จึงเป็นไปไม่ได้
"พระ พุทธรูปหลายองค์ที่กล่าวถึงในจารึกหลักที่ ๑ ดูตามรูปแบบศิลปะแล้วไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับสมัยสุโขทัยหรือร่วมสมัยกับพ่อ ขุนรามคำแหงเลย เป็นพระพุทธรูปฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนกลางทั้งสิ้น
"ชื่อ ช้างของขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด ชื่อ มาสเมือง คล้ายกับช้างของรัชกาลที่ ๒ ที่ชื่อ มิ่งเมือง และช้างของพ่อขุนรามคำแหงที่ชื่อ รูจาครี ก็คล้ายกับชื่อ คีรีเมฆ เทพคีรี จันคีรี ในพระราชนิพนธ์ช้างเผือกของรัชกาลที่ ๔ แต่ในหลักที่ ๒ ช้างของมหาเถรศรีศรัทธาชื่อ อีแดงเพลิง ซึ่งฟังดูเป็นสุโขทัยมากกว่า
"คำที่ใช้ในจารึกหลักที่ ๑ เป็นคำที่นิยมในสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น ตระพังโพยสี (การขุดสระให้เป็นสีมา มีอุโบสถอยู่กลางน้ำ อันเป็นเอกลักษณ์ของพุทธศาสนานิกายสิงหลภิกขุที่เข้ามาใน พ.ศ. ๑๙๖๙ ) ไม่ปรากฏที่อื่นเลย ยกเว้นในพระราชพงศาวดารฉบับกรุงสยาม ซึ่งมั่นใจว่าเขียนในสมัยรัชกาลที่ ๔ แต่ลงเวลาย้อนหลังรัชกาลที่ ๑
"การ เขียน มะม่วง ให้เป็น หมากม่วง เป็นความจงใจเพื่อให้ดูเก่า ความจริงแล้วในสมัยสุโขทัยเขียนว่า ไม้ม่วง แต่คำว่า หมากม่วง นี้ กลับปรากฏในเรื่องนางนพมาศ ซึ่งเขียนขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๓ ก็น่าสงสัยว่าจะเป็นการเขียนจารึกขึ้นมาภายหลัง
"พนมดอกไม้ คือการจัดดอกไม้เป็นพุ่ม เป็นลักษณะการจัดดอกไม้เป็นแบบวัดบวรนิเวศ คำนี้เป็นคำเฉพาะไม่มีในจารึกหลักอื่น ๆ ในสมัยอยุธยาก็ไม่มี มีแต่ใน "นางนพมาศ" และใน "มหาชาติ" พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๔ การจัดดอกไม้แบบนี้ไม่มีใครทำมาก่อน นอกจากนางนพมาศที่รู้กันว่าเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓
"เหตุที่ รัชกาลที่ ๔ ต้องทำศิลาจารึกหลักที่ ๑ เพราะเป็นกลอุบายให้รอดพ้นจากการล่าอาณานิคมของตะวันตก สมัยนั้นอิทธิพลตะวันตกเริ่มเข้ามาระลอกใหญ่ การจะปรับเปลี่ยนขนบประเพณีดั้งเดิมให้ทันสมัยไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ ง่าย ๆ เพราะถือกันมาแต่โบราณว่าพระมหากษัตริย์ต้องรักษาโบราณราชประเพณี รัชกาลที่ ๔ จึงทรงทำจารึกหลักที่ ๑ เพื่อเป็นราโชบายที่ทรงใช้ในการเปลี่ยนแปลงขนบประเพณีให้สอดรับกับอารยธรรม ตะวันตก โดยมีพระพุทธศาสนาเป็นพื้นฐานของสังคมไทย เช่น การปรับเปลี่ยนภาษีตามสนธิสัญญาเบาริงที่จะให้สยามลดภาษี ก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอีกต่อไป ในเมื่อพ่อขุนรามฯ ยังไม่เก็บภาษีเลย หรือรัชกาลที่ ๔ ทรงเห็นความสำคัญของการรับฟังเรื่องราวทุกข์ร้อนของประชาชน โดยการเอากระดิ่งไปแขวนไว้ ซึ่งไม่มีในประวัติศาสตร์ไทย แต่มีในสมัยพ่อขุนฯ และสมัยรัชกาลที่ ๔"
(เรียบเรียงจาก ภูวดล สุวรรณดี "พิริยะ ไกรฤกษ์ จับพิรุธศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง" ศิลปวัฒนธรรม ฉบับที่ ๓ ปีที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๔๒)พิเศษ เจียจันทร์พงษ์
ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ กรมศิลปากร"ไม่ได้ทำในสมัยพ่อขุนรามคำแหงแน่นอน และไม่ได้ทำในสมัยรัชกาลที่ ๔ ด้วย"
"เรื่อง ภาษาและอักษรเป็นเรื่องของการวิวัฒนาการ ไม่มีต้นไม่มีปลาย การบอกว่าใครคนใดคนหนึ่งคิดขึ้นมานั้นไม่ถูกต้อง แต่อาจจะเป็นลักษณะตำนานเพื่อจะอธิบายเรื่องต่าง ๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้รู้ในสมัยนั้นว่าจะอธิบายและแต่งตำนานอย่างไร จารึกหลักนี้มีพิรุธในตัวเอง คือ ๑๗ บรรทัดแรกจารึกไว้ว่า ก*ชื่อนั้น พ่อกูชื่อนี้ จึงทำให้สันนิษฐานว่า พ่อขุนรามคำแหงเป็นคนจารึก แต่พอบรรทัดที่ ๑๘ จารึกว่า "เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัยนี้ดี" คำว่า "เมื่อชั่ว" หมายถึง พ่อตายแล้ว แสดงว่าเขียนหลังสมัยพ่อขุนรามคำแหงแน่นอน ก็ชัดเจนว่าบรรทัดที่ ๑๘ เป็นต้นไปไม่ได้ทำในสมัยพ่อขุนรามคำแหง อย่างไรก็ตามผมก็ยังไม่เชื่อว่า ๑๗ บรรทัดแรกเป็นของสมัยพ่อขุนรามคำแหง แม้จะจารึกว่ากูอย่างนั้น ก*อย่างนี้ การใช้สรรพนามอื่นเพื่อเล่าเรื่องเป็นวิธีการนำเสนอข้อมูลรูปแบบหนึ่ง หมายความว่า "กู" อาจไม่ได้เป็นพ่อขุนรามที่จารึกก็ได้
"ประการที่ ๒ เป็นไปไม่ได้ว่าในสมัยสุโขทัยมีการใช้สระผสมแล้ว สระ เ-ือ เป็นสระผสม ประกอบด้วย เ- -ื -อ คำว่า เดือน เรือน เมือง ทองเหลือง ที่ปรากฏในจารึกหลักที่ ๑ จึงไม่น่าจะเป็นฝีมือของคนในสมัยนั้น เพราะในสมัยสุโขทัย (ประมาณ พ.ศ. ๒๐๕๐) คนไทยยังไม่รู้จักเอาสระ -ื มาใช้เป็นสระผสม แต่ใช้สระ เ- สระ -ิ สระ -อ มาผสมแทน เช่น เมือง ก็จะเขียน เ-ม -ี -ง หรือบางทีก็ใช้ เ-ม -ี -อ-ง แม้ว่าจารึกบางหลัก มีการใช้รูปสระ -ื แล้วก็ตาม เช่น คำว่าชื่อ แต่ส่วนใหญ่จะใช้ ชิ หรือ ชี เมื่อไล่ดูจารึกทั้งหมด จะพบว่าแม้แต่รูปสระ -ื ก็โผล่มาให้เห็นช่วงหลัง ๆ ไม่กี่ตัว เท่าที่ผมค้นดูมีอยู่ตัวเดียวเท่านั้นที่เอารูปสระ -ื มาเป็นสระผสม อยู่ในประมาณ พ.ศ. ๑๙๕๐ จน พ.ศ. ๒๐๐๐ กว่าแล้วยังไม่ปรากฏว่าเอามาใช้เลย (ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะปริวรรตตัวอักษรโบราณถูกหรือไม่) แสดงว่ากว่าจะวิวัฒนาการเอาสระ -ื มาใช้เป็นสระผสมก็หลังจากนั้นอีกมาก
"หาก คนไทยรู้จักใช้สระ เ-ือ ที่มีสระ -ื ผสมตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง ทำไมจารึกหลักอื่นๆ จนถึงปลายอยุธยาจึงไม่เอารูปสระ เ-ือ มาใช้ ต้นฉบับพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ที่เขียนขึ้นในสมัยพระนารายณ์จน ปลายสมัยอยุธยาก็ยังไม่ใช้ ก็แสดงว่ายังคิดไม่ออก วิวัฒนาการทางภาษายังไปไม่ถึงก็เลยใช้สระอื่นๆ แทนไปก่อน จนจวนจะถึงสมัยรัตนโกสินทร์แล้วยังไม่มีการใช้สระ เ-ือ อย่างเป็นมาตรฐาน จนใกล้สมัยรัชกาลที่ ๔ เข้าไปทุกที จึงปรากฏการใช้สระ เ-ือ อย่างมีแบบแผนเป็นมาตรฐาน แต่สระ เ-ือ กลับปรากฏอยู่ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง จึงเป็นไปไม่ได้ที่จารึกหลักที่ ๑ จะทำขึ้นมาในสมัยรามคำแหง
"ผมยัง ไม่แน่ใจว่าทำในสมัยไหน แต่ไม่ใช่สมัยพ่อขุนรามคำแหงแน่นอน และไม่เชื่อว่าจะเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ ด้วย เพราะท่านได้จารึกถึงสิ่งที่คนในสมัยนั้นยังไม่ทราบ (เรามารู้จักหรือเห็นภาพสุโขทัยจากหลักฐานและข้อค้นพบภายหลัง) จนสามารถสร้างภาพให้แก่เมืองสุโขทัยได้อย่างถูกต้อง ท่านรู้ได้อย่างไร เช่น ในจารึกบอกว่ามีลานเหมือนสนามหลวง อาจจะใช้สำหรับประกอบพิธีหรือกิจอื่น ๆ อยู่ระหว่างประตูเมืองกับศูนย์กลางของเมือง แต่ลานนี้เลิกใช้ไปหลังจากนั้น ๑๐๐ ปีและสร้างวัดคร่อมแทน กว่าท่านจะเสด็จไปที่กรุงสุโขทัยก็ไม่หลงเหลือร่องรอยอะไรที่บ่งบอกว่าตรง นั้นเคยเป็นลานที่ว่ามาก่อน และยังมีอีกหลายเรื่องที่เราเพิ่งมาค้นพบภายหลังด้วยหลักฐานและข้อมูลใหม่ ๆ หากรัชกาลที่ ๔ ทรงทำหลักศิลาจารึกหลักนี้ขึ้นมาจริง ก็น่าสงสัยว่าท่านทราบเรื่องเหล่านี้มาก่อนได้อย่างไร อย่างไรก็ตามอาจมีผู้ทักท้วงว่าท่านศึกษามาก รู้มาก อาจจะรู้มาก่อนแล้วก็เป็นได้
"อย่าลืมว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่เป็นลายลักษณ์อักษรทุกชนิด "คน" เป็นคนประดิษฐ์ขึ้นมา คนที่ไม่เคยสมบูรณ์แบบ เมื่อเขียนสิ่งใดออกมาเป็นตัวหนังสือ ไม่ว่าจะเขียนบนหิน แผ่นทอง บนกระดาษ หรือผนังส้วม เขาย่อมมีความต้องการ มีวัตถุประสงค์อะไรสักอย่าง เมื่อจะเอามาใช้ต้องพิจารณา มีการวิพากษ์ก่อนที่จะดึงมาใช้ และสำนึกอยู่เสมอว่าใช้ในบริบทอะไร หากยังไม่แน่ใจก็ไม่ควรฟันธงว่าเป็นของสมัยไหน หากไม่ใช่อันหนึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นอีกอันหนึ่ง ในกรณีนี้ไม่ได้ทำในสมัยพ่อขุนรามคำแหง และผมก็ไม่คิดว่าทำในสมัยรัชกาลที่ ๔ ด้วย"
ศ. ดร. ประเสริฐ ณ นคร
ราชบัณฑิต สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ราชบัณฑิตยสถาน"ทางวิทยาศาสตร์เขาได้พิสูจน์แล้ว เอาหินไปดูรอยขูด พบว่าทำในสมัยสุโขทัย ไม่ใช่เพิ่งทำขึ้นเมื่อสมัย ๑๕๐ ปีมานี้แน่ ๆ"
"การ เอาสระพยัญชนะมาไว้บรรทัดเดียวกัน ไม่ได้เป็นอิทธิพลของฝรั่ง แต่รับอิทธิพลมาจากอินเดีย ไมเคิล วิกเคอรี ซึ่งเป็นคนแรกที่ออกมาบอกว่า เป็นการเขียนโดยได้รับอิทธิพลของฝรั่ง หมายความว่าต้องคบฝรั่งแล้ว ตอนหลังก็ออกมายอมรับว่า ที่อินเดียก็มีการเอาสระพยัญชนะไว้บรรทัดเดียวกันเหมือนกัน นอกจากนั้นยังมีสระลอย อย่างคำว่า อีก สระ -ี ก็อยู่บรรทัดเดียวกับพยัญชนะในจารึกสมัยพระยาลิไท และยังมีในจารึกหลักอื่นอีก เช่น จารึกวัดพระยืน เชียงใหม่ (พ.ศ. ๑๙๑๓) ก็วางสระ -ื ไว้ในบรรทัดเดียวกันกับพยัญชนะ พ่อขุนรามคำแหงสามารถเอาตัวเชิงพยัญชนะขึ้นมาอยู่ในบรรทัดเดียวกับพยัญชนะ ตัวธรรมดาได้โดยไม่ต้องคบฝรั่ง ทำไมจะต้องรอจนคบกับฝรั่งจึงจะนำสระวางไว้บรรทัดเดียวกับพยัญชนะเล่า
"จารึก หลักที่ ๑ ไม่ได้เล็กว่าหลักอื่น ๆ ในสมัยเดียวกัน หลักที่ ๑ สูง ๑๑๑ เซนติเมตร หลักที่ ๔ สมัยพระยาลิไทสูง ๒๐๐ เซนติเมตร แต่หากมาดูเรื่องความกว้าง จะเห็นว่าจารึกหลักที่ ๑ กว้างกว่า คือ กว้างด้านละ ๓๕ เซนติเมตร หลักที่ ๔ กว้างแค่ ๓๐ เซนติเมตร ดังนั้นจะบอกว่าจารึกหลักที่ ๑ เล็กกว่าหลักอื่นๆ จึงไม่ถูกต้องนัก จารึกในสมัยเดียวกันที่เล็กกว่าจารึกพ่อขุนรามคำแหงก็มี เช่น สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ จารึกไว้ในประเทศลาว เป็นต้น จะไปอ้างเรื่องขนาดจารึกว่าเล็กไปใหญ่ไปคงไม่ได้ เพราะขนาดของจารึกในแต่ละยุค แต่ละแห่ง ก็ทำขึ้นมาให้เหมาะสมกับเรื่องที่จะเขียน
"ชื่อของพ่อขุนรามคำแหง นั้น ก็สงสัยกันมานานแล้วว่าพระองค์ท่านชื่ออะไร ความจริง สุโขทัยใช้ชื่อพญารามกับพญาบาลคู่กันมาหลายคู่ สุโขทัยมีธรรมเนียมเอาชื่อของปู่มาเป็นชื่อของหลาน ธรรมเนียมนี้ไม่ได้มีแต่สุโขทัย พงศาวดารน่านก็มี กรีกโบราณก็มี สมัยพญาลิไทก็มีจารึกว่า น้องชื่อพญาราม แสดงว่าเขาเอาชื่อปู่มาตั้งเป็นชื่อหลาน ก็หมายความว่าท่านชื่อพญาราม เมื่อไปรบชนะก็เลยเรียกว่า รามผู้กล้าแข็ง หรือรามคำแหง ที่กล่าวว่าไม่มีผู้พูดถึงพ่อขุนรามคำแหงเลยก็ไม่เป็นความจริง ในจารึกหลักที่ ๓๘ (พ.ศ. ๑๙๔๐) ทางอยุธยาเขายังบอกเลยว่า ต้องการจะขัดสีมาให้ร่มเย็นเป็นสุขเหมือนพญารามราช และ ชินกาลมาลีปกรณ์ (พ.ศ. ๒๐๗๐) ของล้านนา ยังกล่าวถึงท่านว่า พระยารามราชเป็นผู้ทรงนำศาสนาพุทธ ลัทธิลังกาวงศ์เข้ามาในประเทศไทย และ ยวนพ่าย ของอยุธยาก็สรรเสริญสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถว่า ทรงสามารถเท่ากับรามราชบวกกับฤาไทราช เพราะฉะนั้นคนเขาก็พูดถึงพ่อขุนรามคำแหงกันไปทั่ว ไม่ใช่ว่าไม่มีใครพูดถึง
"ตรีบูร สามพันสี่ร้อยวา จารึกของอยุธยาก็บอกว่า "อยุธยา ไพโรจน์ใต้ตรีบูร" แล้วอยุธยามีกำแพงสามชั้นไหม ก็มีชั้นเดียว ทำไมเขียนได้ ในจารึกเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่ ก็เขียนว่า กำแพงเชียงใหม่เป็นตรีบูร ความจริงก็มีชั้นเดียว เพราะฉะนั้นตรีบูรแต่เดิมก็อาจจะเป็นสามชั้น แต่ต่อมาอาจมีชั้นเดียวก็พอ ไม่จำเป็นต้องสร้างถึงสามชั้น ตรีบูรอาจจะหมายถึงกำแพงที่แข็งแรงก็ได้ ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นกำแพงสามชั้น เหมือนที่เราใช้คำว่าหลังคา ซึ่งมีที่มาจากหลังคามุงด้วยหญ้าคา ต่อมาหลังคามุงด้วยสังกะสี เราก็ยังเรียกว่าหลังคาอยู่ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มุงด้วยหญ้าคาแล้ว ตรีบูรในจารึกสุโขทัยก็ไม่จำเป็นต้องมีสามชั้น
"พระ พุทธรูปที่กล่าวถึงในจารึกหลักที่ ๑ ดูตามรูปแบบศิลปะแล้ว ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับศิลปะสมัยสุโขทัยหรือร่วมสมัยกับพ่อขุนรามคำแหง เลย เพราะว่ามันผ่านมา ๗๐๐ ปี แล้วมีการซ่อมใหม่หมด ทำให้ไม่เห็นว่าเป็นศิลปะแบบสมัยพ่อขุนรามคำแหง พระพุทธรูปสมัยพระเจ้าลิไทเองก็มีตั้งมากมายที่กลายเป็นรูปแบบสมัยอยุธยายุค กลางเพราะมีการซ่อมแซมภายหลัง
"ช้างของขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด ชื่อ มาสเมือง เหมือนช้างของรัชกาลที่ ๒ คือมิ่งเมือง และช้างของพ่อขุนรามคำแหง ชื่อ รูจาครี ซึ่งไม่เหมือนเป็นชื่อช้างในสมัยนั้น ถ้าไปดูในจารึกหลักที่ ๒ ช้างของมหาเถรชื่อ อีแดงเพลิง ซึ่งฟังเป็นสุโขทัย ความจริงแล้วเขาอ่านจารึกไม่ถูก อีแดงพุเลิง หรือ อีแดงเพลิง เป็นชื่อของกษัตริย์ที่มาชนช้าง ไม่ใช่ชื่อช้าง ท้าวอีจานในจารึกหลักเดียวกัน มีชื่อท้าวอีจานเป็นกษัตริย์ เช่นเดียวกัน ส่วนที่ว่า รูจาครี คล้ายกับชื่อ คีรีเมฆ ซึ่งเป็นชื่อช้างเผือกสมัยรัชกาลที่ ๔ นั้น ที่จริง รูจาครี เป็นชื่อตระกูลช้างลักษณะดี แต่คนไทยนิยมเอาชื่อตระกูลช้างมาตั้งเป็นชื่อช้าง ตัวอย่างเช่น ตระกูลช้างฉัททันต์ ก็มาตั้งเป็นชื่อพระยาช้าง
"การสรุปว่าไม่มีการ ใช้คำว่า หมากม่วง หมากขาม ในสมัยสุโขทัย เพราะอ่านจารึกไม่ทั่ว อันที่จริงก็ใช้กันมานานแล้ว มีปรากฏอยู่ในจารึกสุโขทัย สมัยพระเจ้าลิไทก็พูดกันว่าหมากม่วงเหมือนกัน
"พนมเบี้ย พนมหมาก คนไทยใช้เบี้ยเป็นเงินตรามาถึงรัชกาลที่ ๕ เวลาไปทำบุญเขาเอาเบี้ยไปกอง ใครมีเท่าไรก็กองไว้ เวลาจะถวายพระก็นับว่าเท่าไร สมัยนี้เวลาทอดผ้าป่าก็ยังเอาแบงก์ใบละ ๕๐๐ ใบละ ๑,๐๐๐ ปักเป็นพุ่มไม้ เวลาเอาไปถวายพระก็ยังเรียกเป็นกอง การเอาเบี้ยหรือเงินในสมัยนั้นไปกอง เป็นพนมเบี้ยพนมหมาก ก็ไม่เห็นว่าจะผิดประหลาดตรงไหน
"การจารึกว่า เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แม้สุโขทัยจะไม่มีแม่น้ำใหญ่ผ่านกลางแต่คูข้างถนนก็มีปลา แม้แต่พวกจ้วงก็พูดเหมือนกัน แต่อาจจะเปลี่ยนเป็นกุ้งหรืออะไรอย่างอื่น ที่ตีความผิด เพราะอ่านจารึกผิด อ่านแล้วไม่เข้าใจ
"เราไม่เคยเห็น หลักฐานเลยว่า มีตัวหนังสือไทยมาก่อนสมัยพ่อขุนรามคำแหง ทั้ง ๆ ที่มีคนไทยอยู่ตั้งแต่ยูนนาน ผ่านลงไปถึงกลันตัน จากอินเดีย คนไทยอาหม มาไทยใหญ่ ไทยลื้อ ลาว กาว พวกญวน มีคนไทยอยู่เต็มไปหมด แต่ก็ไม่มีจารึกและไม่มีหลักฐานว่ามีลายสือไทยก่อนสมัยพ่อขุนรามคำแหงเลย
"ถ้า ทำขึ้นมาเพื่อปกป้องอาณานิคมจากฝรั่ง ทำไมต้องเขียนด้วยตัวอักษรที่ใครก็อ่านไม่ออก ฝรั่งก็อ่านไม่ออก ไทยก็อ่านไม่ออก รัชกาลที่ ๔ เองเวลาทรงพระราชนิพนธ์ไปถึงฝรั่งก็ยังทรงแปลผิดตั้ง ๑๐ กว่าแห่งเป็นอย่างน้อย แล้วก็มีบางตอนที่คนไทยยังอ่านไม่ออกและยังไม่เข้าใจจนบัดนี้ ในเมื่อไม่มีใครอ่านออกแล้วจะเอาไปโฆษณากับฝรั่งได้อย่างไร
"ทาง วิทยาศาสตร์นั้นเขาได้พิสูจน์แล้ว เอาหินไปดูรอยขูด ผิวของหินถูกแดดถูกฝนมานานมาก ก็จะเกิดปฏิกิริยา มีออกไซด์มากกว่าผิวที่เพิ่งถูกแดดถูกฝนมาไม่นานนัก ปรากฏว่าความเปลี่ยนแปลงของผิวหิน รอยขูด พอ ๆ กับจารึกสมัยสุโขทัยหลักอื่น ๆ เช่น หลักที่ ๔ ซึ่งเป็นหินแบบเดียวกัน เราก็สรุปว่า รอยขูดนี้ทำในสมัยสุโขทัย ไม่ใช่เพิ่งทำขึ้นเมื่อสมัย ๑๕๐ ปีมานี้แน่ ๆ เพราะถ้ามาขูดใหม่ ส่วนที่สัมผัสกับบรรยากาศเพียง ๑๕๐ ปีจะมีออกไซด์น้อย พูดง่าย ๆ คือเหล็กถูกฝนใหม่ ๆ สนิมเหล็กก็จะมีน้อย ถ้าอยู่นานก็จะมีมากขึ้น ทางวิทยาศาสตร์เขาสรุปแล้วว่ามันเป็นสมัยสุโขทัยแน่นอน เพียงแต่บอกไม่ได้ว่าอยู่รัชกาลไหน เพราะตามหลักสถิติ ตัวเลขที่คำนวณได้ จะต้องบวกหรือลบด้วยจำนวนปีที่คำนวณได้ตามหลักสถิติ เช่น รายได้ของครอบครัวชาวอีสานเฉลี่ยปีละ ๒,๐๐๐ บาท บวกหรือลบด้วย ๒๕๐ บาท รายได้จริงอาจจะเป็น ๑,๗๕๐ บาทถึง ๒,๒๕๐ บาทเป็นต้น"
Edited by amplepoor, 3 มีนาคม พ.ศ. 2555 - 18:59.