
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(12 มี.ค.) เวลา 10.00 น. คณะนักธุรกิจสภาธุรกิจอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีทั้งนักธุรกิจและนักลงทุนรายใหญ่ของสหรัฐฯประมาณ 90 คน อาทิ โคคา-โคลา, ไมโครซอฟท์, จีอี, ฟอร์ด, เอทีแอนด์ที, ซิตี้แบงก์, ฮิวเลตต์ แพคการ์ด, ดาว เคมิคอล, เชฟรอน, เดลล์ จะเข้าพบนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือการค้าการลงทุน ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล
นอกจากนี้ในเวลา 11.30 น.นายLiqun Jin ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลบรรษัทเพื่อการลงทุน แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (China Investment Corporation) กองทุนความมั่งคั่งทีี่จีนได้นำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศกว่า 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐไปลงทุนในที่ต่างๆจะเข้าพบนายกฯ เพื่อหารือเรื่องความร่วมมือด้านการลงทุน
นายนิรุตติ์ คุณวัฒน์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังคณะนักธุรกิจสภาธุรกิจอาเซียน-สหรัฐอเมริกาเข้า พบว่า เป็นการเข้าพบเพื่อหารือกับนโยบายต่างๆของภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องกับด้านการค้าการลงทุน โดยการหารือครั้งนี้มีนักธุรกิจเข้าร่วมประมาณ 90 คนจาก 30 บริษัท ซึ่งนายกฯได้ใช้โอกาสนี้ชี้แจงให้นักธุรกิจสหรัฐรับทราบถึงนโยบายการแก้ไข ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล รวมทั้งเรื่องการประกันภัย พร้อมกับมอบหมายให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องจัดการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อรับฟัง และแก้ไขอุปสรรคด้านการค้าการลงทุนในแต่ละด้าน
สำหรับนักธุรกิจสหรัฐที่เข้าพบวันนี้ อาทิ โคคา-โคลา, ไมโครซอฟท์, จีอี, ฟอร์ด, เอทีแอนด์ที, ซิตี้แบงก์, ฮิวเลตต์ แพคการ์ด, ดาว เคมิคอล, เชฟรอน, เดลล์
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กลุ่มธุรกิจไอที แสดงความสนใจในนโยบายการส่งเสริมการใช้แทบเล็ตแก่เด็กนักเรียนและพร้อมที่จะ ช่วยเหลือในด้านซอฟแวร์เพราะสหรัฐฯมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็มีความสนใจ เพราะส่วนที่เป็นซอฟแวร์ที่สามารถมารวมกับส่วนฮาร์ดแวร์ได้ โดยเฉพาะการแปลงตัวหนังสือในระบบดิจิตอล
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น การผลิตยาเวชภัณฑ์ต่างๆ และบริการสาธารณสุข ได้เสนอให้มีการตั้งคณะทำงานเข้ามาทำงานร่วมกับทางกระทรวงอย่างใกล้ชิด เพื่อทราบทิศทางของการผลิต โดยต้องมีการหารือในรายละเอียดกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้ง
นอกจากนี้ ได้เสนอให้รัฐบาลทบทวนโครงสร้างภาษีรถยนต์ ซึ่งกรมสรรพสามิตรเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว และมีแนวทางที่มีลักษณะส่งเสริมให้เกิดการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ โดยทางสหรัฐฯ ขอให้มีคณะทำงานเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เนื่องจาก เกรงว่าโครงสร้างภาษีดังกล่าวจะไปส่งเสริมรถยนต์บางประเภทในขณะเดียวกัน รถยนต์บางประเภทจะได้รับการส่งเสริมน้อยลง
ขณะที่รัฐบาลไทย ได้ชี้แจงว่าต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะหากดำเนินการในทันทีจะทำให้บริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ได้รับผลกระทบเพราะไม่สามารถผลิตชิ้นส่วนได้เพียงพอ ดังนั้นหากมีการเปลี่ยนแปลงจึงต้องมีความพร้อมในทุกฝ่าย
ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์