
บีโอไอโชว์ตัวเลขขอลงทุนช่วง 2 เดือน พุ่ง 133% หลังต่างชาติเชื่อมั่น และเห็นศักยภาพของไทยอยู่ในระดับสูง โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการที่มีอยู่เดิมและขยายการลงทุนเพิ่ม
เมื่อวันที่ 15 มี.ค. นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงสถานการณ์การลงทุนในช่วง 2 เดือนแรกที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.พ.) ว่า นักลงทุนให้ความสนใจและยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย 2 เดือน มีนักลงทุนยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน 277 โครงการ เงินลงทุน 154,200 ล้านบาท โครงการมีจำนวนเพิ่มขึ้น 14.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มี 242 โครงการ ขณะที่มูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 133% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีมูลค่า 66,100 ล้านบาท
กิจการที่นักลงทุนสนใจยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด เป็นกิจการเคมี กระดาษ และพลาสติก มี 54 โครงการ เงินลงทุน 64,000 ล้านบาท รองมาเป็นกิจการบริการและสาธารณูปโภค 52 โครงการ เงินลงทุน 32,000 ล้านบาท กิจการอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องไฟฟ้า 57 โครงการ เงินลงทุน 25,600 ล้านบาท กิจการผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง 57 โครงการ เงินลงทุน 15,000 ล้านบาท กิจการเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร 37 โครงการ เงินลงทุน 11,400 ล้านบาท ตามลำดับ
ทั้งนี้ ความสนใจยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในไทยมีทิศทางขยายตัวตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะในเดือน ก.พ.เพียงเดือนเดียว มีการลงทุนกระจายครอบคลุมทุกกลุ่มกิจการ และมีกิจการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาทถึง 16 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 50,000 ล้านบาท เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พลังงานทดแทน ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น ซึ่งความสนใจของนักลงทุนดังกล่าว ย้ำให้เห็นถึงศักยภาพของไทยและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อการลงทุนในประเทศไทยที่ยังอยู่ในระดับสูง
นางอรรชกา กล่าวต่อว่า ทิศทางการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) เติบโตสอดคล้องกับการลงทุนในภาพรวมที่เพิ่มขึ้น โดยมีนักลงทุนต่างชาติยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วง 2 เดือนแรก จำนวน 188 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 82,202 ล้านบาท โครงการเพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีจำนวน 144 โครงการ ขณะที่เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 91% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีมูลค่าอยู่ที่ 42,868 ล้านบาท กิจการที่นักลงทุนต่างชาติสนใจยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนสูงสุด เป็นกิจการอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องไฟฟ้า จำนวน 47 โครงการ เงินลงทุน 25,508 ล้านบาท รองมาเป็นกิจการเคมี กระดาษ และพลาสติก 36 โครงการ เงินลงทุน 18,695 ล้านบาท กิจการผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง 53 โครงการ เงินลงทุน 14,275 ล้านบาท กิจการบริการและสาธารณูปโภค 28 โครงการ เงินลงทุน 13,804 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับการขอรับส่งเสริมการลงทุนช่วง 2 เดือนแรก ของนักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่เป็นโครงการที่ลงทุนในประเทศไทยอยู่แล้ว และได้ขยายการลงทุนเพิ่ม รวมจำนวน 114 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 55,478 ล้านบาท ขณะที่มีโครงการลงทุนของบริษัทใหม่ที่ยังไม่เคยเข้ามาลงทุนในประเทศไทย จำนวน 74 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 26,724 ล้านบาท สำหรับนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด มีจำนวน 101 โครงการ เงินลงทุน 38,253 ล้านบาท รองมาเป็นโครงการลงทุนจากสหรัฐอเมริกา 10 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 8,162 ล้านบาท อันดับสาม โครงการลงทุนจากประเทศเนเธอแลนด์ 5 โครงการ เงินลงทุน 6,653 ล้านบาท อันดับสี่จากประเทศสิงคโปร์ 14 โครงการ เงินลงทุน 3,228 ล้านบาท และอันดับห้าจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 4 โครงการ เงินลงทุน 2,555 ล้านบาท
http://www.thairath....tent/eco/245679