........................ เสรีภาพในพื้นที่ไซเบอร์ ................................
ไม่นานมานี้ รัฐมนตรีกระทรวงไอซีที เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการลูกเสือไซเบอร์ รับสมัครนักเรียน นักศึกษาที่สนใจจะเข้าไปในโลกไซเบอร์ เพื่อสอดส่องตรวจตราว่า
ใครเขียน, ส่ง, หรือส่งต่อ ข้อความอันอาจเป็นการละเมิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
ในรัฐบาลที่แล้ว นายกรัฐมนตรีตั้งชมรมผู้ปกป้องสถาบันขึ้น ทำหน้าที่ทำนองเดียวกัน โดยมีตัวนายกฯเองลงนามเป็นสมาชิกคนแรก
รัฐบาลที่แล้วตั้งลูกเสือชาวบ้านในพื้นที่ไซเบอร์ รัฐบาลนี้ใช้ลูกเสือจากโรงเรียน
ดูเผินๆ ก็เหมือนกับการตั้งชมรมพลเมืองดี คอยสอดส่องดูแลป้องกันมิให้เกิดโจรกรรม หรือล่วงละเมิดทางเพศ
อันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายทั้งคู่ แต่อาชญากรรมเช่นนั้น
ไม่เหมือนกับการกระทำที่ถูกถือว่าล่วงละเมิดสถาบัน เพราะการล่วงละเมิดสถาบัน ต้องอาศัยการตีความมากกว่าโจรกรรม หรือล่วงละเมิดทางเพศอย่างมากทีเดียว
ทั้งต้องตีความโดยไม่ให้กระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อันเป็นเสรีภาพขั้น
พื้นฐานที่สังคมประชาธิปไตยต้องมีด้วย
นอกจากอาสาสมัครที่รัฐบาลระดมมาแล้ว รัฐบาลก็ยังมีตำรวจไซเบอร์อีกจำนวนมาก ในสังกัดหน่วยงานต่างๆ ดังนั้น พื้นที่ไซเบอร์ภายใต้รัฐบาลไทย
จึงเป็นพื้นที่ซึ่งถูกควบคุมอย่างถี่ยิบแทบจะทุกตารางนิ้ว
ยังไม่ถึงปี รัฐบาลนี้ปิดเว็บไซต์ไปมากกว่ารัฐบาลที่แล้วปิดทั้งปี
ในโลกปัจจุบัน พื้นที่ไซเบอร์เป็นพื้นที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะเข้ามาทำงานแทนพื้นที่อันจำเป็นซึ่งขาดหายไปในสังคมสมัยใหม่หลายอย่าง
นั่นคือพื้นที่ซึ่งเปิดให้ผู้คนเข้ามาพบปะกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ร่วมในการลงทัณฑ์ทางสังคมแก่บุคคลหรือการกระทำที่ต่างเห็นว่าให้ผลร้ายแก่ส่วนรวม
พื้นที่ประเภทนี้เปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถจัดองค์กร เพื่อบรรลุเป้าประสงค์ร่วมกันบางอย่าง ดังนั้น พื้นที่ประเภทนี้จึงเป็นอำนาจของสังคม เป็นพื้นที่ซึ่งไม่อยู่ภายใต้อาญาสิทธิ์
(ของรัฐ, ของผู้ใหญ่บ้าน, ของสมภาร, ของเจ้าพ่อ ฯลฯ) ในสังคมสมัยก่อน พื้นที่เหล่านี้คือบ่อน้ำ, ตลาด, ศาลาริมทาง, หรือแม้แต่ในวัดเอง
แต่สังคมสมัยปัจจุบัน พื้นที่ดังกล่าวนี้หายไปหมด หรือไม่สามารถทำงานอย่างเดิมได้อีกแล้ว เพราะวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไป พื้นที่ไซเบอร์จึงเข้ามาทำงานแทน
และกลายเป็นพื้นที่ซึ่งขาดไม่ได้ในสังคมปัจจุบัน มิฉะนั้น ทุกคนก็จะกลายเป็นฝูงสัตว์ภายใต้การควบคุมของรัฐเท่านั้น
พ้นจากพื้นที่ของคอกนี้ ก็เข้าไปอยู่ในพื้นที่ของอีกคอกหนึ่ง
บางคนอาจคิดว่า ผู้คนยังมีพื้นที่ซึ่งเป็นอิสระจากรัฐในสื่อต่างๆ อยู่ แต่มีกลไกหลายอย่างของรัฐสมัยใหม่
ที่ทำให้สื่ออาจกลายเป็นคอกอีกชนิดหนึ่ง ภายใต้การกำกับของรัฐได้
เช่น วิธีวางโฆษณาของรัฐและทุน, การเปิดให้สื่อชนิดหนึ่งขยายเข้าไปหากำไรในสื่ออีกชนิดหนึ่ง,
การบอกรับสมาชิกของสื่อเพื่อกระจายสู่โรงเรียนหรือหมู่บ้านตำบล ฯลฯ แม้แต่ในกรณีที่สื่อยังเป็นอิสระจากรัฐ
ผู้คนก็ใช่ว่าจะสามารถเดินเข้าสู่พื้นที่นี้ได้สะดวกเหมือนเดินไปบ่อน้ำสาธารณะ และร่วมนินทาสมภารกับเพื่อนบ้าน
พื้นที่ไซเบอร์มีความคล้ายคลึงกับพื้นที่สาธารณะทางสังคมของสมัยโบราณมากกว่า เพราะเปิดกว้างให้ทุกคนเดินเข้าสู่พื้นที่นี้ได้ตามใจชอบ
เลือกที่จะร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับกลุ่มคนที่ตัวต้องการ เหมือนบ่อน้ำในหมู่บ้านโบราณ กล่าวคือเป็นพื้นที่สาธารณะที่แฝงความเป็นส่วนตัวอยู่ด้วย ไซเบอร์จึงเป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะและกึ่งส่วนตัว
แต่ความพยายามของรัฐต่อเนื่องกันมาหลายรัฐบาล (นับตั้งแต่ออกกฎหมายคอมพิวเตอร์) คือการเข้าไปคอยสอดส่องตรวจตรา
มิให้พื้นที่ไซเบอร์เป็นพื้นที่เสรี ระแวดระวังมิให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ที่ตนไม่อนุมัติ ในกรณีนี้นำเอากฎหมายอาญา ม.112 เป็นเครื่องมือ ในการตรวจจับผู้ที่มีท่าทีจะละเมิดล้ำเส้นที่อนุมัติไว้
แม้แต่กำลังมหาศาลของรัฐอย่างเดียวยังไม่พอ ต้องสร้างอาสาสมัครเข้ามาช่วยกันตรวจสอบควบคุม มองไปรอบตัวในพื้นที่ไซเบอร์ของไทย นอกจากมีตำรวจไซเบอร์ของรัฐคอยเป่านกหวีดแล้ว
ยังมีผู้คนอีกมากที่อาจทำ
ตัวเป็นเพื่อน, หรือแสดงไมตรีจิต, หรือเคยทักทายกัน อาจร่วมเป่านกหวีดด้วย( ขอบคุณมิตรภาพดีๆ ที่คุณมอบให้ ....หนูอ้อย)
อย่าได้ไว้วางใจใครในพื้นที่นี้เป็นอันขาด
ยังไม่พักต้องพูดถึงพื้นที่ทางสังคมเลย แต่ความไว้วางใจเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดของสังคม เพราะเราเชื่อแน่ว่า คนอื่นจะไม่ลอบยิงหรือแทงเราข้างหลัง เราจึงสามารถประกอบอาชีพ,
แสวงหาความบันเทิงแบบรวมกลุ่ม, สร้างสรรค์ผลงาน, สืบทอดวัฒนธรรม ฯลฯ ได้ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ?สังคม? ขึ้นได้
แน่นอนว่า พื้นที่ไซเบอร์ก็เหมือนเป็นพื้นที่สาธารณะอื่นๆ อาจถูกคนร้ายใช้เป็นพื้นที่สำหรับประกอบโสณทุจริตต่างๆ ได้
เรามีกฎหมายคอมพิวเตอร์ก็เพื่อป้องกันมิให้มิจฉาชีพใช้เป็นช่องทางในการทุจริต แต่ส่วนนั้นของกฎหมายกลับไม่ค่อยได้รับความใส่ใจจากรัฐบาลทุกชุด
ส่วนที่กำกับควบคุมเสรีภาพต่างหาก ที่รัฐบาลต่างๆ ทุ่มเทสรรพกำลังลงมาบังคับควบคุมอย่างเต็มที่
รวมทั้งรัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งมาอย่างท่วมท้น ก็ส่งคนอย่าง คุณอนุดิษฐ์ นาครทรรพ มาว่าการกระทรวงไอซีที
ในที่สุดพื้นที่ไซเบอร์ ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะที่จำเป็นสำหรับสังคมปัจจุบัน เพื่อธำรงอำนาจของสังคมในการกำกับควบคุมรัฐ ก็ไร้ความหมายลงในสังคมไทย
เพราะเป็นพื้นที่แห่งความไม่น่าไว้วางใจ พื้นที่ซึ่งรัฐยุยงผู้คนให้ชี้นิ้วกล่าวโทษกัน โดยไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ เพราะเป็นการชี้นิ้วกล่าวโทษที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม
รัฐเป็นผู้ดำเนินการด้านกระบวนการยุติธรรมเอง จากการชี้เบาะแสของลูกเสือไซเบอร์ หรือสมาชิกชมรมปกป้องสถาบัน
ท่าทีอันแข็งขันของรัฐบาลชุดปัจจุบันในการบั่นรอนเสรีภาพในพื้นที่ไซเบอร์ เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยาก เพราะไม่รู้ว่าทำท่าทีอย่างนี้เพื่อประจบใคร และประจบไปทำไม
พรรคการเมืองซึ่งไม่มีทางจัดตั้งรัฐบาลได้ นอกจากให้ทหารอุ้มชู แสดงท่าทีเช่นนี้ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ง่าย เพราะกองทัพอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อแทรกแซงทางการเมืองตลอดมา
แต่พรรคการเมืองซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประชาชนที่ใฝ่ประชาธิปไตย จะแสดงท่าทีเช่นนี้ไปทำไม ถึงอย่างไรกองทัพก็ไม่มีวันอุ้มพรรคการเมืองเช่นนี้ขึ้นสู่อำนาจแน่
แน่นอนว่ารัฐบาลย่อมมีหน้าที่ตามกฎหมาย ในอันจะต้องปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ทุกรัฐบาล แต่ท่าทีบั่นรอนเสรีภาพเป็นวิธีการปกป้องสถาบันที่กลับเป็นอันตรายต่อสถาบันเอง
เพราะเท่ากับทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นปรปักษ์กับเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยโดยตรง รัฐบาลควรแสดงความจริงใจในภารกิจปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์
โดยใช้วิธีที่ทำให้สถาบัน กลมกลืนไปกับระบอบประชาธิปไตย อันจะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีความสถาพรมั่นคงตลอดไป
แม้แต่คิดว่าท่าทีเช่นนี้จะช่วยป้องกันการรัฐประหาร ก็เป็นความคิดที่สั้นเกินไป รัฐบาลที่ไม่สามารถดำเนินนโยบายของตนได้อย่างอิสระ ต้องขึ้นอยู่กับความเห็นชอบของกองทัพ
ถึงจะมีหรือไม่มีรัฐประหารจะต่างกันตรงไหน รัฐประหารกลับดีกว่าเสียอีก เพราะอย่างน้อยกองทัพก็ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง
แต่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่กลับอยู่ใต้กองทัพ จึงเท่ากับว่ารัฐบาลกลับนำเอาอธิปไตยของปวงชนที่ผ่านการเลือกตั้ง มาเป็นม่านปิดบังความ
รับผิดชอบของกองทัพเสียอีก
นิธิ เอียวศรีวงศ์
ที่มา นสพ.มติชน