Jump to content


evomans136

เป็นสมาชิกตั้งแต่ 4 เมษายน 2555
ออฟไลน์ เข้าใช้งานครั้งล่าสุด: 7 เมษายน 2555 02:40
-----

#203523 ทำไมน้ำมันตลาดโลกยุคอภิสิทธิ์แพงกว่า แต่ขายน้ำมันในประเทศได้ถูกกว่ารัฐบาลยิ่ง...

โดย evomans136 on 4 เมษายน พ.ศ. 2555 - 22:51

เอามาให้อ่านเล่นๆแก้เครียดครับ


อื้อฉาว !! รัฐบาลเด็ก "มาร์ค" ... 4 เดือน ถลุงเงินกองทุนน้ำมัน 2.8 หมื่นล้านเกลี้ยง

อื้อฉาวและมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางกับการใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของรัฐบาลของ "นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน เนื่องจากเงินที่สะสมไว้ 28,000 ล้านบาทตั้งแต่สมัยนายปิยสัวส์ดิ์ อัมระนันท์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในยุครัฐบาลคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ( คมช.) เพื่อใช้ในการดูแลกลไกราคาพลังงานถูกใช้เกลี้ยงในพริบตาเพียงระยะเวลา 4 เดือนเท่านั้น

ผลงานรัฐบาลชุดนี้โดดเด่นที่การจ่ายเงิน แต่ไม่ชำนาญด้านการหาเงิน ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ ในวันนี้เหลือเงินสดอยู่เพียง 4,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่ได้หักรวมหนี้ต่าง ๆ ที่เจ้าหนี้รอแบมือทวงเงินอยู่กว่า 4,000 ล้านบาทต่อเดือน และต้องใช้พยุงราคาน้ำมันดีเซล 1,671 ล้านบาทต่อเดือน เท่ากับวันนี้ความเป็นจริงของกองทุนน้ำมันฯมีสภาพติดลบไปแล้วกว่า 1,600 ล้านบาทต่อเดือน แต่ที่รัฐบาลพยายามประกาศว่ายังมีเงินเหลืออยู่เพื่อพยุงราคาดีเซลจนถึงรัฐบาลชุดหน้านั้น ก็เกิดจากการเบี้ยวจ่ายเงินเจ้าหนี้นั่นเอง

และเจ้าหนี้รายใหญ่คือ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)นั่นเอง ที่ตามทวงหนี้ 2 ก้อนใหญ่ๆ จากกองทุนน้ำมันฯ คือ หนี้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) 2,900 ล้านบาทต่อเดือน และก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์(เอ็นจีวี) 300- 400 ล้านบาทต่อเดือน ยังไม่นับรวมที่กองทุนน้ำมันฯต้องตามชดเชยราคาพลังงานทดแทนอื่นๆ อีก

เนื่องด้วยกระทรวงพลังงานเห็นว่า ปตท. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายรัฐ ดังนั้นรัฐบาลจึงเห็นว่าสามารถถ่วงเวลาจ่ายหนี้ไปก่อนได้ และภาระหนักก็ตกกับ ปตท.ที่ขณะนี้แบกรับภาระการชดเชยแอลพีจีไปแล้วเกือบ 10,000 ล้านบาท และเอ็นจีวีอีกเกือบ 20,000 ล้านบาท สำหรับเงินกองทุนน้ำมันฯที่หมดไปกับมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรต่อลิตรของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์นั้น เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2553 จนถึงวันนี้ใช้เงินพยุงราคาดีเซลไปแล้วทั้งสิ้น 23,301 ล้านบาท

ทั้งนี้ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตั้งขึ้นช่วงปี 2523 - 2524 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือชั่วคราวในการทยอยปรับเปลี่ยนราคาน้ำมันให้เป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจในขณะนั้น โดยใช้วิธีดังนี้คือ เมื่อราคาน้ำมันแพง ก็เอาเงินกองทุนฯไปพยุงราคาไว้ไม่ให้ขึ้นราคาอย่างรวดเร็ว แต่จะค่อยๆ ทยอยขึ้นราคาน้ำมันทีละนิดเพื่อให้ประชาชนได้ปรับตัว แต่เมื่อราคาน้ำมันถูกลง ประชาชนยังคงต้องใช้น้ำมันราคาสูงไปสักระยะเพื่อเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯก่อน

ต่อมาเกิดวิกฤติราคาน้ำมันโลกครั้งที่ 1 ระหว่างปี 2522 - 2529 ราคาน้ำมันพุ่งจาก 7 บาทต่อลิตร เป็น 13.45 บาทต่อลิตร ต่อมาประเทศไทยพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยปี 2524 และไทยเริ่มผลิตแอลพีจีได้เป็นครั้งแรก มีการส่งเสริมใช้แอลพีจีในรถยนต์ โดยรัฐบาลอนุมัติให้ขึ้นราคาน้ำมันเบนซินสูงสุดตามตลาดโลกสมัยนั้น 13.45 บาทต่อลิตร แต่ตรึงราคาแอลพีจี 6 บาทต่อลิตร เมื่อมีทางเลือกในการใช้พลังงานแล้วรัฐบาลต่อมาจึงประกาศลอยตัวราคาน้ำมันในปี 2532

ผลจากการลอยตัวทำให้ไม่ต้องใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ จนเมื่อราคาน้ำมันกลับมาสูงอีกครั้งสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2533-2534 ประชาชนแห่มาใช้แอลพีจีอย่างหนัก และรัฐบาลต้องแบกรับภาระชดเชยแอลพีจีเป็นครั้งแรก ดังนั้นเมื่อประกาศลอยตัวราคาน้ำมันไปแล้วทำให้ไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันเข้ากองทุนฯได้ ขณะที่ต้องมีภาระชดเชยแอลพีจี ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯติดลบเป็นครั้งแรก 10,000 ล้านบาท และต้องกู้เงินจากธนาคารมาชำระหนี้แอลพีจี

ต่อมายุค พล.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีปี 2540 ได้จัดการเคลียร์ปัญหากองทุนน้ำมันฯจนกลับมาเป็นบวก ด้วยการขึ้นราคาแอลพีจี 3 บาทต่อกิโลกรัม และไม่แทรกแซงราคาน้ำมัน แต่แล้วก็เกิดวิกฤติราคาน้ำมันโลกอีกครั้งสมัยรัฐบาลทักษิณ2 ในปี 2548 - 2549 มีการนำเงินไปพยุงราคาดีเซลจนกองทุนติดลบเป็นครั้งที่ 2 ถึง 90,000 ล้านาท จนสมัยนายปิยสวัสดิ์ มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในยุครัฐบาล คมช. แก้ไขปัญหาจนกองทุนน้ำมันเป็นบวกกว่า 30,000 ล้านบาท

และแล้วก็มาสู่ยุคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีคนล่าสุด ที่ทำให้ตัวเลขทางบัญชีกองทุนน้ำมันฯกลับกลายเป็นลบ นับเป็นครั้งที่ 3 ตั้งแต่จัดตั้งกองทุนน้ำมันฯขึ้นมา ปัญหาที่ถมทับกองทุนน้ำมันฯในขณะนี้คือ การพยุงราคาแอลพีจีมานานและรัฐบาลไม่กล้าขยับขึ้นราคาแอลพีจีในประเทศ โดยยังตรึงไว้ 330 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ราคาตลาดโลกพุ่งไป 930 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ที่ผ่านมามีการพยายามจะปรับขึ้นราคาแอลพีจีเป็นระบบขั้นบันได หรือทยอยปรับขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้เริ่มรับรู้ราคาพลังงานจริงที่เกิดขึ้น แต่หลายรัฐบาลไม่กล้า เนื่องจากหวั่นปัญหาคะแนนเสียงทางการเมือง

จนปัญหาด้านราคาเอ็นจีวีมาซ้ำเติม เพราะรัฐบาลตรึงราคาอีกเช่นกันที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาจริงขึ้นไป 13 - 14 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ภาระเพิ่มพูน และบวกภาระการชดเชยราคาดีเซลเข้าไปอีก ท้ายที่สุดกองทุนน้ำมันฯหนีไม่พ้นกลับมาเป็นหนี้ต้องกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินมาใช้หนี้ค้างชำระต่างๆ อีกครั้ง

รัฐบาลยุคนายอภิสิทธิ์ โชคร้ายตรงที่ราคาพลังงานมาปรับสูงขึ้นเกือบทุกอย่าง แต่แล้วก็ไม่มีวิธีการแก้ปัญหาใดๆ ออกมา มีเพียงแต่พยุงราคาเพียงอย่างเดียว จนประชาชนผู้ใช้น้ำมันดีเซลยังไม่ตระหนักรับรู้ว่า ราคาน้ำมันโลกสูงต้องร่วมมือกันประหยัดแล้ว แต่ผู้ใช้น้ำมันเบนซินคงทราบดี เนื่องจากเงินทุกบาทที่จ่ายไปกับการซื้อน้ำมันเบนซินต้องจ่ายเพิ่มไปยังกองทุนน้ำมันฯด้วย และกองทุนน้ำมันฯก็นำไปพยุงราคาให้กับผู้ใช้ดีเซล เอ็นจีวี แอลพีจี เท่ากับวันนี้ผู้ใช้น้ำมันเบนซิน เป็นผู้เสียสละอย่างจำใจ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้ดีเซล เอ็นจีวี และแอลพีจี ได้มีพลังงานใช้ราคาถูกกันต่อไป ในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ที่มี น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังคงยืนยันว่ารัฐบาลชุดนี้มีเงินสดพอที่จะพยุงราคาน้ำมันดีเซลต่อไปจนยุบสภาและรอรัฐบาลชุดหน้ามาบริหารจัดการภาระหนี้กองทุนน้ำมันฯ แทน

เป็นอันว่า รัฐบาลชุดนี้ใช้เงินหมดแล้ว ใครมาเป็นรัฐบาลชุดหน้าก็แก้ปัญหาไปก็แล้วกัน..... ก็ได้แต่หวังว่ารัฐบาลชุดหน้าจะมีกึ๋นในการบริหารจัดการพลังงานของประเทศได้ดีกว่าทุกวันนี้


http://www.matubhum.or.th/main/content.php?page=sub&category=11&id=2467