เถกิง สมทรัพย์
'ประชาธิปไตย'ล้มเหลวเพราะ เลือกตั้งโดยไม่ถ่วงดุลอำนาจ: เรื่องขึ้นปกของ The Economist นิตยสารรายสัปดาห์ชื่อดังของอังกฤษเล่มล่าสุด สร้างความฮือฮาไม่น้อย ในหมู่นักวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศ... และในมวลหมู่นักประชาธิปไตยของไทย โดยเฉพาะผู้เรียกร้องให้มีการ “ปฏิรูปประเทศไทย” อย่างจริงจัง
ประเด็นที่เขาขึ้นพาดหัว คือ “ประชาธิปไตย” ของโลกมีปัญหาอะไรหรือ จึงเกิดความขัดแย้งกันมากมายในหลายประเทศ และจะมีวิธีการใดที่จะทำให้ระบอบการปกครองที่อดีต นายกฯ อังกฤษวินสตัน เชอร์ชิล เคยนิยามว่าเป็น “ระบอบการปกครองที่เลวน้อยที่สุด” กลับฟื้นขึ้นมาตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
บทวิเคราะห์ยาว 6 หน้า ย้อนไปพูดถึงที่มาของระบอบการปกครองที่เรียกว่า democracy ซึ่งเพิ่งจะได้รับความนิยมในหลายๆ ประเทศ หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ถึงวันนี้ประมาณกันว่าประเทศที่เลือกใช้ระบอบนี้มีประชากรรวมกันประมาณ 40% ของโลก
แต่ในระยะหลัง เหตุการณ์ในหลายประเทศที่กำลังพัฒนา สะท้อนถึงปัญหาของประชาธิปไตย
อีกทั้งมีการชี้ให้เห็นว่า จีน ไม่ใช้วิธีการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยตะวันตก พรรคคอมมิวนิสต์จีนควบคุมทุกกลไกของประเทศ เปลี่ยนผู้นำระดับสูงทุก 10 ปี คัดเลือกคนเก่งตามผลงาน ทำให้เศรษฐกิจก้าวหน้าพัฒนาอย่างรวดเร็ว
ขณะที่ความล้มเหลวในระบอบการเลือกตั้ง ปรากฏให้เห็นในหลายประเทศ เช่น ที่รัสเซีย โดยที่ บอริส เยลต์ซิน เป็นผู้นำคนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง ต่อมา วลาดิเมียร์ ปูติน ได้ตำแหน่งทั้ง นายกฯ และ ประธานาธิบดี แม้ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง ปูติน ก็ใช้วิธีการควบคุมกลไกการเมืองอย่างเข้มข้น แทรกแซงสื่อ จับคู่แข่งทางการเมืองคุมขังและกำกับดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด ใครคัดค้านหรือต่อต้านต้องเจอกับการคุกคามกลั่นแกล้งทุกวิถีทาง
ตัวอย่างความล้มเหลวของระบอบ “ประชาธิปไตย” ต่อมาก็เกิดที่ อิรัก อียิปต์ ซีเรีย ลิเบีย แอฟริกาใต้ ตุรกี ตอกย้ำว่าระบอบที่อ้างการเลือกตั้งเป็นหลักนั้น ก็ยังหลุดเข้าไปสู่ระบบเผด็จการและคอร์รัปชัน และปกครองผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มผู้มีอำนาจอย่างน่ากลัว
บทวิเคราะห์นี้อ้างถึงเหตุการณ์ในไทย บังกลาเทศ และ กัมพูชา ที่ฝ่ายค้านและประชาชนจำนวนไม่น้อยออกมาประท้วงกลางถนน คัดค้านการเลือกตั้งภายใต้กติกาเก่าที่ผู้กุมอำนาจได้เปรียบตลอดกาล หรือเลือกตั้งแล้วก็ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง เพราะความฉ้อฉลของผู้มีอำนาจ
เขาวิเคราะห์ว่าปัญหาที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยล้มเหลวในหลายๆ ประเทศ ก็เพราะ...
พรรคการเมืองต้องการจะชนะเลือกตั้งอย่างเดียว จึงเสนอนโยบายเฉพาะหน้า เอาใจผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่คำนึงถึงภาระปัญหาการเงินการคลังที่ตามมาจากนโยบาย “ประชานิยมสุดขั้ว”
อีกทั้งประชาชนวันนี้ ก็เน้นแต่ประโยชน์เฉพาะรุ่นของตนเอง มากกว่าที่จะสนใจว่าจะสร้างอะไรให้กับคนรุ่นต่อไป
เขาเสนอว่า การจะรักษาประชาธิปไตยในความหมายที่ให้ประชาชนส่วนใหญ่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เสมอภาค และ สันติ นั้น จะต้องตระหนักว่า
1. ต้องไม่ยึดติดว่าประชาธิปไตย หมายถึง การเลือกตั้งอย่างเดียว อีกทั้งต้องไม่อาศัยเสียงข้างมากในสภาเพื่อแก้ไขกฎกติกาต่างๆ ให้ผู้มีอำนาจได้เปรียบคนอื่น อย่างไม่เป็นธรรม
คำว่า “majoritarianism” มีความหมายว่ากลุ่มการเมืองที่มีเสียงส่วนใหญ่ผ่านการเลือกตั้ง มักจะอ้าง “อาณัติจากประชาชน” กระทำการต่างๆ เพื่อผ่านกฎหมายหรือเปลี่ยนกติกาให้ตนได้ประโยชน์โดยไม่สนใจเสียงคัดค้านและความเห็นต่างจากคนที่อยู่เสียงข้างน้อย นำไปสู่การกล่าวหาว่ามีการใช้ “เผด็จการรัฐสภา” มาปกครองประเทศจนผิดเพี้ยนไปจากหลักคิดประชาธิปไตยที่แท้จริง
2. ต้องมีกลไกถ่วงดุลอำนาจของรัฐบาลที่เข้มแข็งและยั่งยืน หรือที่เรียกว่า checks and balances ที่ไม่ให้ผู้มีอำนาจกุมชะตากรรมคนทั้งประเทศ โดยไม่มีใครสามารถมาถ่วงดุลได้
3. คุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลในการแสดงความคิดเห็น การรวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมต่างๆ
4. มีกติกาป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชันของภาครัฐ อย่างเข้มข้นและคึกคัก
5. ตีกรอบไม่ให้พรรคการเมืองเสนอผลประโยชน์ระยะสั้น ที่เกินความสามารถและขอบเขตของประเทศ และไม่ให้รัฐบาลเข้าแทรกแซงกิจกรรมเศรษฐกิจมากเกินไป
คนไทย อ่านบทวิเคราะห์นี้แล้ว เห็นภาพชัดเจนแจ่มแจ๋วเลยว่า เราจะต้องทำอะไรอย่างจริงจัง เพื่อให้ประเทศนี้ปกครองโดย “ระบอบประชาธิปไตย” ในความหมายที่แท้จริง เหมือนทีมงานวิเคราะห์ความล้มเหลวระบอบประชาธิปไตย ของ The Economist มานั่งอยู่แถวๆ กรุงเทพฯ ...ทีเดียว
โดย กาแฟดำ
Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ภาพ blogs.thenews.com.pk
เครดิต เพจ Bank of Thailand Scholarship Students