
เมื่อเวลา 10.30 น. วันนี้ ( 1 มิ.ย.) นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ตลอด 2วันที่ผ่านมาที่เกิดความวุ่นวายว่า ยืนยันว่านายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ความเคารพเสียงข้างน้อยเป็นอย่างมาก โดยเมื่อฝ่ายค้านสงสัยว่าร่างพ.ร.บ.ปรองดองเป็นกฎหมายการเงินตามรัฐธรรมนูญมาตรา 143 หรือไม่ ก็ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการ(กมธ.) สามัญประจำสภาฯทั้ง 35 คน เมื่อมติออกเห็นว่าไม่เป็นกฎหมายการเงินทำให้ต้องทำตามขั้นตอนโดยการแจ้งต่อที่ประชุมสภาฯและตัองเลื่อนระเบียบวาระขึ้นมา จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องส่งเสียงโห่ ล้อมกรอบ และขว้างของใส่นายสมศักดิ์
“เชื่อว่าทุกอย่างมีเตรียมการมาก่อนเพราะทราบมาว่าระหว่างที่ประธานสภาฯประชุมกับประธานกมธธ.35คณะเมื่อวันที่ 31 พ.ค.ก็ทราบมาว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้เรียกส.ส.ประชุมเพื่อเตรียมการรับมือ จึงไม่แปลกที่ฝ่ายค้านจะมีพฤติกรรมที่ทำอะไรพร้อมๆ กัน ขอให้ประชาชนทั้งประเทศช่วยคิดว่าพฤติกรรมที่ผ่านมาถือเป็นเผด็จการเสียงข้างน้อยในสภาฯ ไปแล้ว อะไรที่ไม่ได้ตามที่ตัวเองต้องการก็มีการต่อต้านทันที ผมอยากทราบว่าตำแหน่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติถือเป็น 1 ใน 3 ของโครงสร้างประชาธิปไตย ซึ่งประธานสภาฯได้รับแต่งตั้งภายใต้พระปรมาภิไธย”นายวัฒนา กล่าว
นายวัฒนา กล่าวว่า ดังนั้น การขว้างของใส่ประธานสภาฯขณะนั่งทำหน้าที่อยู่บนบัลลังก์ถือเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือไม่ และการแย่งเก้าอี้บนบัลลังก์ พฤติกรรมแบบนี้เหมาะสมหรือไม่ ที่สำคัญในห้องประชุมสภาฯมีพระบรมฉายาลักษณ์การแสดงออกเช่นนี้ ถือเป็นการจงใจกระทำเพื่อให้การประชุมสภาฯของฝ่ายนิติบัญญัติเดินต่อไปได้ เข้าข่ายเป็นข้อหากบฎ
“นอกจากนี้ ในวันที่ 1 มิ.ย.จะพบว่ามีแกนนนำบางกลุ่มนำประชาชนมายืนบนท้องถนนยกมือไหว้ไม่ให้รถของ ส.ส.และเจ้าหน้าที่ข้าราชการเข้ามาในสภาฯ ตรงนี้แกนนำที่พาผู้ชุมนุมมาต้องรับผิดชอบเพราะถือเป็นการขัดขวางการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเข้าข่ายกบฎเช่นเดียวกัน ที่สำคัญสมาชิกพรรคการเมืองบางพรรคที่ให้การสนับสนุน รวมถึงการที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยอมรับถึงพฤติกรรมของลูกพรรค พร้อมกับประกาศต่อต้านกฎหมายปรองดองทุกวิถีทาง เท่ากับรู้เห็นเป็นใจกับการกระทำดังกล่าว ตรงนี้จะต้องนำไปสู่การยุบพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ เพราะเข้าข่ายขัดขวางการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ เสมือนหนึ่งเป็นการปลุกระดมคนทั้งประเทศให้ออกมาเคลื่อนไหวทุกรูปแบบ ซึ่งร่างพ.ร.บ.ปรองดองต้องเป็นกฎหมายที่ต้องมาพิจารณาในสภาฯ ไม่ใช่นอกสภาฯ การคิดเช่นนี้ถือเป็นภัยต่อประเทศหรือไม่ เรียกร้องให้พนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้ามาเก็บหลักฐานว่าผิดข้อหากบฎหรือไม่ต่อไป” นายวัฒนา กล่าว
http://www.dailynews.co.th/politics/117511?utm_source=dlvr.it&utm_medium=twitter