เพิ่มเติม คนจนจ่ายภาษีมากกว่าคนรวย มันเอามาจากไหนนนนน
คนจ่ายภาษี 2.3 ล้านคน แต่คน 6 หมื่นคน จ่ายรวมกันเท่ากับ 2.24 ล้านคน
.
.
ไทยเสียภาษีแค่ 2.3 ล้านคน รายได้คนจนสุดต่ำกว่าคนรวยสุดถึง 12.81
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ชี้ รายได้คนจนสุดต่ำกว่าคนรวยสุดถึง 12.81 เท่า มีคนแค่ 2.3 ล้านคนจ่ายภาษีเลี้ยงคนทั้งประเทศ
นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยในงานประชุมสัมมนาประจำปีของ สสค.ว่า ความยากจนโดยรวมของประเทศไทยได้ลดลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2543-2550 แต่การกระจายรายได้ในภาพรวมไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยโครงสร้างรายได้ปัจจุบัน กลุ่มคนที่มีรายได้สูงสุดของประเทศ หรือกลุ่มประชากร 20% มีส่วนแบ่งรายได้สูงสุดถึง 55.1% ของรายได้รวม
ขณะที่กลุ่มประชากรที่มีรายได้ต่ำสุด 20% มีส่วนแบ่งรายได้เพียง 4.3% ของรายได้รวม ทำให้รายได้ของคนจนสุดต่างจากคนรวดสุดถึง 12.81 เท่า ซึ่งไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับ 25 ปีก่อน จึงไม่แปลกที่ผลการจัดอันดับการกระจายรายได้ของประเทศไทยรั้งท้ายอยู่ในอันดับที่ 50 ของโลก
ความแตกต่างระหว่างจำนวนคนรวยกับคนจนยังสะท้อนได้จากจำนวนผู้เสียภาษีของประเทศ โดยเฉพาะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากที่ประเทศไทยมีประชากร 64 ล้านคน แต่มีผู้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเพียง 9-10 ล้านคน และในจำนวนนี้มีผู้ที่ต้องจ่ายเงินภาษีจริงเพียง 2.3 ล้านคนเท่านั้น เพราะเมื่อหักค่าลดหย่อนต่างๆ แล้ว ทำให้คนส่วนหนึ่งมีรายได้ไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี จึงไม่ต้องมีภาระเสียภาษี ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ามีคนเพียง 2.3 ล้านคนเท่านั้นที่จ่ายเงินภาษีเลี้ยงคนทั้งประเทศ
นอกจากนี้ หากพิจารณาลงไปในรายละเอียดของจำนวนผู้เสียภาษี จะพบว่า มีผู้เสียภาษีในอัตราสูงสุดที่ 37% เพียง 6 หมื่นคน และคิดเป็นเม็ดเงินจ่ายภาษีถึง 50%ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และในจำนวนคน 6 หมื่นคนที่เสียภาษีในอัตราสูงสุดนี้ พบว่า มีผู้ที่มีเงินได้สูงกว่า 10 ล้านบาท เพียง 2,400 คน เท่านั้น และคนกลุ่มนี้มีสัดส่วนการเสียภาษีสูงถึง 34% ซึ่งสะท้อนว่าประเทศไทยมีการกระจุกตัวของรายได้ในกลุ่มคนรวยเพียงไม่กี่คน
ทั้งนี้ในปัจจุบัน สศค.อยู่ระหว่างการดำเนินการผลักดันนโยบายสำคัญที่จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำในสังคมที่สำคัญ 4 ด้าน ได้แก่
1. การปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ ซึ่งมีการผลักดันให้มีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีธนาคารที่ดินเพื่อกระจายให้กับคนที่ไม่มีที่ดินทำกิน
2. ผลักดันการขยายขอบเขตระบบสวัสดิการ หรือการมุ่งสู่การเป็นรัฐสวัสดิการมากขึ้นโดยมีการผลักดันให้มีการการจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ
3. ส่งเสริมการพัฒนาระบบการเงินฐานราก โดยจะเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรทางการเงินระดับฐานราก และสนับสนุนให้สถาบันการเงินทุกประเภทให้บริการทางการเงินที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน
4. สนับสนุนการพัฒนาการประกันภัยพืชผลสำหรับเกษตรกร เพราะจากผลการวิจัยของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2549 พบว่า รายได้สุทธิของครัวเรือนเฉลี่ยต่อคนในภาคเกษตรต่ำกว่านอกภาคเกษตรประมาณ 2 เท่า เมื่อเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ระดับหนึ่ง
ชี้ BOI สร้างความไม่เท่าเทียมเสนอ VAT 10% หนุนรัฐสวัสดิการ
ด้าน รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และกรรมการคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) เปิดเผยว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมไทยมีอยู่จริงใน 4 มิติคือ
1. ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ที่เกิดจากการกระจุกตัวด้านรายได้ การออมและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ผู้มีรายได้สูงจะมีโอกาสมากกว่า
2. ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส โดยเฉพาะด้านการเข้าถึงการศึกษา และคุณภาพการศึกษาระหว่างคนในเมืองและชนบทแตกต่างกัน
3. ความเหลื่อมล้ำด้านการคลังและบริการภาครัฐ ที่เกิดจากการขาดการเข้าถึงสวัสดิการของแรงงานส่วนใหญ่ และภาษีอากรที่ขาดความเสมอภาคทั้งแนวตั้งและแนวนอน เช่น นโยบายส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) และโครงสร้างภาษีสรรพสามิตที่สนับสนุนกลุ่มทุนขนาดใหญ่มากกว่าบริษัทขนาดเล็ก โดยในเรื่องการให้สิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมการลงทุนก็ต้องมีการปรับเปลี่ยน เพราะว่ายังมีความไม่เท่าเทียมกันระหว่างบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอกับบริษัทที่ไม่ได้รับการส่งเสริม ทั้งที่ 90% ของบริษัทที่ได้รับการส่งเสริม ตั้งใจเข้ามาลงทุนในเมืองไทยอยู่แล้ว
ทั้งนี้ แนวคิดในการให้สิทธิทางภาษีในการส่งเสริมการลงทุนไม่ควรจะให้เป็นการทั่วไป แต่จะต้องมีการระบุเงื่อนไขสำคัญ เช่น ให้สิทธิพิเศษเฉพาะการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา (R&D) เป็นต้น และเมื่อได้รับสิทธิประโยชน์ไปแล้วต้องถูกประเมินด้วยว่า ได้ดำเนินการตามเงื่อนไขที่ขอรับส่งเสริมหรือไม่ ขณะที่บริษัททั่วไปซึ่งปัจจุบันถูกจัดเก็บในอัตรา 30% อาจจะเสนอให้ปรับลดอัตราภาษีลงแบบขั้นบันได โดยมีเป้าหมายให้เหลือที่อัตรา 20% แทน
4. ความเหลื่อมล้ำด้านอำนาจ ที่สะท้อนจากช่องว่างทางกฎหมาย โดยความเหลื่อมล้ำดังกล่าวจะส่งผลในเชิงเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงความมั่นคงทางด้านการเมืองด้วย จากความเหลื่อมล้ำทั้ง 4 ด้าน ภาครัฐจำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวผ่านการกระจายรายได้บนพื้นฐานของระบบสวัสดิการสังคม ที่ต้องมีการปรับโครงสร้างภาคการคลังอย่างค่อยเป็นค่อยไป
จาก
http://archive.voice...h/content/21650
“A fool's brain digests philosophy into folly, science into superstition, and art into pedantry. Hence University education. ”George Bernard Shaw