กำกับ ปตท.อย่างไร ให้ประโยชน์สูงสุด (ภาค 1) อานิก อัมระนันทน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2553
ปตท.เป็นองค์กรที่เร้นลับซับซ้อน ถึงแม้จะเป็นรัฐวิสาหกิจชั้นนำ และเป็นบริษัทมหาชนใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ มีรายงานประจำปีที่จัดทำอย่างดิบดี และเคยได้รับรางวัลมากมาย แต่ก็มีความไม่ไว้วางใจ ปตท.ในหมู่ NGO และประชาชน เพราะเป็นองค์กรที่ใหญ่ยักษ์ และมีความไม่โปร่งใสบางประการ อีกทั้งมีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนในระดับของการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจแห่งนี้
ปกติคณะกรรมการหรือบอร์ดรัฐวิสาหกิจ จะต้องดูแลให้เกิดความสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของคน 3 กลุ่ม คือ 3 วงกลมในแผนภูมิ ได้แก่ ผู้บริโภค ผู้ถือหุ้น และผู้บริหาร/พนักงาน อาการหนึ่งของความไม่สมดุลของ ปตท.ก็คือ การที่ประชาชนทั่วไปรู้สึกว่าต้องจ่ายค่าน้ำมันค่าก๊าซและค่าไฟฟ้าในราคาแพง (เชื้อเพลิงหลักของไฟฟ้า คือ ก๊าซธรรมชาติ) ในขณะที่ ปตท.ดูเหมือนจะมีกำไรสูงลิบ ทั้งที่ความจริง ปตท.มีกำไรน้อยมาก จากการขายน้ำมันและก๊าซ LPG สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจในหมู่ NGO ซึ่งเป็นผู้นำทางความคิด ก็คือ การที่ข้าราชการซึ่งมานั่งเป็นคณะกรรมการหรือบอร์ดได้รับค่าตอบแทนที่สูงมาก ทั้งเบี้ยประชุมและโบนัส ซึ่งอิงกับกำไร ในปี 2551 ได้รับกันคนละ 2 ล้านกว่าบาท เกือบ 3 ล้านบาท สำหรับประธานบอร์ด ทำให้ถูกมองว่ากรรมการใส่ใจปกป้อง ปตท.มากกว่าสนใจดูแลผู้บริโภค ซึ่งอาจจะไม่เป็นความจริงเลยก็ได้
ยิ่งไปกว่านั้น ในกรณีศึกษาของ ปตท.ในรายงานวิจัยของ สกว.เกี่ยวกับธรรมาภิบาลในรัฐวิสาหกิจ (มี.ค. 2552) โดยอาจารย์ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ มีความเห็นว่าการที่มีข้าราชการ ซึ่งขาดความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจหรือพลังงานอยู่ในบอร์ดเป็นส่วนใหญ่ และได้ค่าตอบแทนที่สูงมากๆ ทำให้เกิดความเสี่ยงว่าอาจถูกครอบงำโดยฝ่ายบริหารและ/หรือนักการเมืองผู้มีอำนาจในการแต่งตั้ง ในขณะที่ข้าราชการจากกระทรวงพลังงานที่มีความรู้ด้านพลังงาน ก็มีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะมีบทบาทที่ขัดแย้งในคนเดียวกัน คือ เป็นทั้งผู้กำหนดนโยบายและกรรมการกำกับผู้แข่งขัน นอกจากนี้ ในเรื่องของการกำหนดค่าตอบแทนงานวิจัยพบว่ากระบวนการขัดกับหลักธรรมาภิบาล เพราะคนในบอร์ดเสนอให้ผลประโยชน์ตนเอง และยังมีการวิเคราะห์เปรียบเทียบการตอบแทนบอร์ดของ ปตท. กับบริษัท Statoil รัฐวิสาหกิจของประเทศนอร์เวย์อย่างละเอียด ได้ข้อสรุปว่าของ ปตท.สูงกว่าที่ควรจะเป็นมาก เนื่องจากผลประโยชน์ที่ผู้ถือหุ้น คือ เจ้ากระทรวงอนุมัติให้นั้นสูงและไม่โปร่งใส จึงมีความเสี่ยงเสมือนการให้ต่างตอบแทน เพราะอาจมีการเอื้อประโยชน์กันก็ได้ ซึ่งงานวิจัยยังชี้ความเสี่ยงอีกหลายประเด็น ถ้าดูตามแผนภูมิ เหล่านี้ก็คือประโยชน์ตนและประโยชน์คนอื่นที่ไม่ควรอยู่ในสมการ เพราะเป็นการรั่วไหลของผลประโยชน์ที่ชอบธรรม
ทำนองเดียวกัน การที่ผู้บริหารของ ปตท.ไปนั่งเป็นกรรมการในบริษัทลูกคนละหลายๆ แห่ง และได้รับค่าตอบแทนที่สูงมากๆ อาทิเช่น ในปี 2551 ผู้บริหารสูงสุดของ ปตท.ได้รับโบนัสและเบี้ยประชุมต่างๆ รวม 22.7 ล้านบาท (ข้อมูลจากรายงานคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา) ไม่นับรวมเงินเดือนและผลประโยชน์ที่ได้รับในฐานะลูกจ้างเต็มเวลาของบริษัทของ ปตท.คาดกันว่าประมาณ 16.5 ล้านบาท (ข้อมูลจากรายงาน 56-1 ที่ ปตท.ส่งตลาดหลักทรัพย์โดยใช้สมมุติฐานว่าผู้บริหารสูงสุดได้มากกว่าผู้บริหารอื่น 60% ตามที่คนทั่วไปเข้าใจ) รวมเป็นรายได้ในปีนั้น 39.5 ล้านบาท แม้มีการอ้างถึงความเสี่ยงต่อการรับผิดตามกฎหมายของกรรมการ ก็สามารถซื้อประกันคุ้มครองความเสี่ยงนั้นได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ทำอยู่แล้ว ยกเว้นกรณีทุจริตหรือเกิดความละเลยอย่างมาก การที่บอร์ดอนุมัติให้ฝ่ายบริหารรับประโยชน์ที่ดูเหมือนจะสูงเกินควรเช่นนี้ ทำให้เกิดความเสี่ยงเรื่องการให้ต่างตอบแทนระหว่างผู้บริหารกับบอร์ด และซ้อนไปอีกชั้นหนึ่ง คือ ความเสี่ยงของการให้ต่างตอบแทนระหว่างเจ้ากระทรวงกับผู้บริหารโดยผ่านข้าราชการที่ถูกเลือกมานั่งในบอร์ด โดยเฉพาะกรณีที่การทำงานของข้าราชการใกล้ชิดสนิทสนมกับเจ้ากระทรวง ดังที่พูดกันแม้ในหมู่นักธุรกิจต่างชาติ ว่ากระทรวงที่กำกับรัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่มักมีประชุมผู้บริหารที่บ้านของรัฐมนตรีในสมัยหนึ่ง เหล่านี้ไม่ได้เป็นการกล่าวหาว่าจะต้องมีการเอื้อประโยชน์พวกพ้องจริงหรือไม่มี แต่มันเป็นความเสี่ยงที่เกิดจากความเร้นลับซับซ้อน
ในประเทศฝรั่งเศสซึ่งคงจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วในโลกเสรีที่มีรัฐวิสาหกิจมากที่สุด ได้มีการรื้อโครงสร้างการกำกับดูแลใหม่ประมาณ 6 ปีมาแล้ว ให้ตัวแทนของรัฐในบอร์ดรัฐวิสาหกิจมีบทบาทเดียว คือ ในฐานะผู้ถือหุ้น และให้งานนี้บริหารโดยหน่วยงานเฉพาะ คือ French Government Shareholding Agency หรือ A.P.E. เขาแยกการกำกับดูแลอุตสาหกรรมนั้นๆ ออกมาจากรัฐวิสาหกิจอย่างเด็ดขาด ไม่มีข้าราชการจาก Regulator หรือหน่วยงานที่กำหนดนโยบายมานั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ทำให้เกิดโครงสร้างที่ความโปร่งใส และเป็นธรรมกับคู่แข่งในภาคเอกชนในอุตสาหกรรมนั้นๆ นอกจากนี้ ข้าราชการจาก A.P.E. ที่ไปนั่งเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทต่างๆ ที่รัฐถือหุ้น จะไม่รับเงินจากบริษัทนั้นๆ เลย เพราะถือว่าทำงานในหน้าที่ซึ่งมีค่าตอบแทนอยู่แล้ว แนวปฏิบัติเช่นนี้ก็ใช้ในหมู่บริษัทข้ามชาติที่ทำธุรกิจในเมืองไทย อาทิเช่น เชลล์ เอสโซ่ หรือบริษัทจัดการกองทุน ระบบนี้ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จมาก เพราะปัจจุบันรัฐวิสาหกิจทุกแห่งของฝรั่งเศสมีประสิทธิภาพและผลประกอบการที่ดี แม้แต่การรถไฟที่เคยเป็นปัญหามากก็สามารถจ่ายปันผลเข้ารัฐได้
กำกับ ปตท.อย่างไร ให้ประโยชน์สูงสุด (ภาค 2)อานิก อัมระนันทน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2553
ปตท.เป็นองค์กรที่เร้นลับซับซ้อน ถึงแม้จะเป็นรัฐวิสาหกิจชั้นนำและเป็นบริษัทมหาชนใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ มีรายงานประจำปีที่จัดทำอย่างดิบดี และเคยได้รับรางวัลมากมาย แต่ก็มีความไม่ไว้วางใจ ปตท.ในหมู่ NGO และประชาชน เพราะเป็นองค์กรที่ใหญ่ยักษ์ และมีความไม่โปร่งใสบางประการ อีกทั้งมีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนในระดับของการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจแห่งนี้
ผู้เขียนได้ยื่นกระทู้ถามหลายประเด็นข้างต้นในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นการถามแบบสั้นๆ และได้คำตอบที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง คือ รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง คุณกรณ์ จาติกวณิช ตอบว่าเห็นด้วยว่าไม่ควรให้ข้าราชการรับโบนัสจากรัฐวิสาหกิจ แต่ควรให้ได้รับเบี้ยประชุมตามเดิม และยังยืนยันว่าต้องการให้ข้าราชการมานั่งเป็นบอร์ด เพื่อดำเนินนโยบายและดูแลทรัพย์สิน ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับท่านใน 2 ประเด็นหลัง 1. เรื่องการดูแลบริหารทรัพย์สิน หากรัฐวิสาหกิจนั้นมีระบบธรรมาภิบาลภายในที่ดีซึ่งน่าจะใช่กรณีของ ปตท. ก็ไม่น่าจำเป็นต้องมีเจ้ากระทรวงมานั่งคุม งานวิจัย สกว.ยังบ่งชี้ถึงความเสี่ยงว่า การดูแลทรัพย์สินอาจถูกใช้เป็นข้ออ้างที่เจ้ากระทรวงจะหาประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้องได้ 2. ไม่เห็นด้วยที่จะให้ข้าราชการเข้ามากำกับให้รัฐวิสาหกิจอย่าง ปตท.เป็นตัวดำเนินนโยบาย นอกจากเหตุผลทางธรรมาภิบาลข้างต้นแล้ว ก็มีเหตุผลทางกฎหมาย และเศรษฐศาสตร์ที่ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน
หากรัฐไม่แยกการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจออกมา เพื่อให้จากการบริหารกิจการเป็นไปอย่างโปร่งใส หรือหากยังไม่มีระเบียบห้ามข้าราชการที่ให้ทุนให้โทษกับบริษัทอื่นๆ ที่เป็นคู่แข่งของรัฐวิสาหกิจมานั่งในบอร์ดได้ ก็จะเสี่ยงต่อการขัดกับกฎหมายในหลายระดับ อาทิเช่น พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 3 และ 16 เพราะอาจมีสถานการณ์ที่บุคคลหนึ่งมี 2 สถานะในขณะเดียวกัน คือ เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทที่ยื่นข้อเสนอให้กระทรวงพิจารณา และเป็นผู้พิจารณาผลของการยื่นข้อเสนอนั้นเอง ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 84 (1) และ (4) เพราะทำให้รัฐวิสาหกิจได้เปรียบคู่แข่งในภาคเอกชน ก่อให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เสรีและไม่เป็นธรรม
ในทางปฏิบัติ ซึ่งก็คือผลในเชิงเศรษฐศาสตร์นั่นเอง การใช้รัฐวิสาหกิจในตลาดที่มีการแข่งขันเป็นตัวดำเนินนโยบาย อาจเป็นผลเสียในระยะยาวต่อประเทศ อย่างเช่น การทำลายกลไกตลาดด้วยการทำให้น้ำมันราคาถูกเกินความจริง การแทรกแซงราคาหากทำพอประมาณก็เป็นประโยชน์ ทำให้ราคาที่ประชาชนและภาคการผลิตต้องจ่ายไม่ผันผวนมากนัก แต่ถ้าทำมากไปหรือไปฝืนแนวโน้มตลาด ก็จะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง เพราะ ในความเป็นจริงหากผู้บริโภคจะต้องจ่ายในราคาเต็มที่สูง ก็จะลดการใช้ไม่มากก็น้อย การใช้กองทุนน้ำมันพยุงราคามากหรือนานเกินควรทำให้เสียเงินตราต่างประเทศ เพราะน้ำมันส่วนใหญ่ต้องนำเข้าและยิ่งราคาสูงก็ยิ่งเสียมาก ประเทศมีหนี้จากกองทุนสูงมาก (82,988 ล้านบาท ในปี 2548) และในที่สุด ผู้บริโภคก็ต้องจ่ายคืนในภายหลังอยู่ดี เวลาขาลงราคาที่ต้องจ่ายก็ลงช้ากว่าขาขึ้น เพราะต้องจ่ายดอกเบี้ยคืนด้วย
เมื่อรัฐบาลคิดจะประหยัดเงินกองทุนโดยให้ ปตท.เป็นผู้นำตลาดดึงราคา ก็อาจทำได้เพราะ ปตท.มีสถานะพิเศษมากด้วยกำไรจากภาคการผลิตและการผูกขาดก๊าซธรรมชาติ แต่ทำมากไปก็ทำให้ผู้ค้าปลีกขาดทุน และสามารถทำลายโครงสร้างตลาดได้ ที่ผ่านมา นโยบายแบบนี้ทำให้เอกชนคู่แข่งเสียเปรียบ บางรายถึงกับต้องปิดขายกิจการไปเลย อย่างเช่น BP หรือ Jet เป็นต้น ถ้าซ้ำรอยแบบนี้ไปอีกบ่อยๆ วันหลังเอกชนที่เหลืออาจตายตามกันไปหมด แล้วเราจะมั่นใจได้หรือว่าผู้บริโภคจ่ายค่าน้ำมันในราคาที่เป็นธรรมจริง แล้วบริษัทที่มีอำนาจผูกขาดแทบทุกๆ ด้าน จะดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพได้นานสักแค่ไหน การแทรกแซงหาผลประโยชน์จะเกิดขึ้นได้ง่าย จับได้ยิ่งยาก ไม่มีการแข่งขันที่ช่วยกดดันให้ประหยัดต้นทุน หรือเอาใจใส่ให้บริการที่ดีและเป็นธรรมแก่ลูกค้า ยิ่งมีตัวแทนภาครัฐที่แต่งตั้งโดยฝ่ายการเมืองอยู่เต็มบอร์ดด้วย และมีความไม่โปร่งใสอื่นๆ ในการกำกับดูแลอยู่แล้ว จะน่ากลัวแค่ไหน
ทั้งนี้ทั้งนั้น รัฐบาลสามารถดำเนินนโยบายช่วยเหลือคนจนได้ในรูปแบบอื่นอีกหลายอย่างที่ไม่ขัดกฎหมายและไม่ทำลายกลไกตลาด ตัวอย่างเช่น โครงการประกันรายได้เกษตรกรที่เริ่มพิสูจน์แล้วว่าได้ผลดีมีประสิทธิภาพจริงๆ แต่ถ้าต้องการช่วยในภาคพลังงาน ก็น่าจะเน้นทำในค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟน้อยเท่านั้น เพราะจะเข้าเป้าถึงคนจนได้จำนวนมากกว่า และไม่มีส่วนเกินไปให้ผู้มีฐานะดีที่บริโภคไฟฟ้า (หรือน้ำมันหรือก๊าซ LPG) ในปริมาณสูง หาก ปตท.จะมีกำไรมากโดยชอบธรรม และไม่มีการรั่วไหล ก็สามารถจ่ายเงินปันผลได้มากขึ้น เป็นการเพิ่มเงินให้รัฐบาลใช้พัฒนาประเทศ หรือจ่ายสวัสดิการให้คนจน เพราะที่สุดแล้ว ประชาชนก็เป็นทั้งลูกค้าและผู้ถือหุ้นของ ปตท. ตามที่แสดงในแผนภูมิ
ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยจะมีประสิทธิภาพสูงสุด และมีความสามารถแข่งขันในเวทีโลกที่สูงขึ้น ก็ต่อเมื่อมีการปรับโครงสร้างตลาดพลังงานทั้งในระดับประชาชนและอุตสาหกรรม ให้เกิดความเสรีและเป็นธรรมตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ในมาตรา 84 (1) และ (4) ซึ่งผู้เขียนหวังว่าจะได้นำเสนอในโอกาสต่อไป
๐ ตราบใดที่ยังมีการแทรกแซงตลาดผ่าน ปตท. ควรจะต้องมีการประเมินต้นทุน และผลกระทบของนโยบายเหล่านั้นอย่างโปร่งใส เพื่อพิสูจน์ให้ชัดเจนว่าเป็นทางเลือกที่ประหยัดและเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับประเทศจริงหรือไม่
๐ ตราบใดที่ ปตท.ยังมีสิทธิเหนือตลาด ควรจะต้องรายงานผลประกอบการแยกแต่ละธุรกิจต่างๆ ให้เห็นชัดจริงๆ โดยเฉพาะในส่วนที่ผูกขาด เพื่อให้ประชาชนและลูกค้าต่างๆ สามารถประเมินได้ว่าราคาและบริการเป็นธรรมแล้วหรือไม่ ทั้งนี้ ธรรมาภิบาลภายใน ปตท.ต้องแข็งแรง เพื่อให้ผลประโยชน์จากกิจการโดยเฉพาะกำไรที่ได้จากสิทธิพิเศษหรือการผูกขาด ไม่ตกค้างอยู่กับคนภายในองค์กรมากเกินควร และไม่รั่วไหลไปข้างนอก
การปกป้องผลประโยชน์ที่ชอบธรรม และการสร้างความสมดุลแห่งผลประโยชน์ภายในรัฐวิสาหกิจ อีกทั้งการกำกับดูแลเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับประเทศนั้น จะทำได้ก็เมื่อเกิดความโปร่งใสปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อนในการกำกับดูแล ก้าวแรกได้เริ่มขึ้นแล้ว เมื่อท่านรัฐมนตรีคลังตอบรับในส่วนของการไม่ให้ข้าราชการรับโบนัสกรรมการ จะมีก้าวต่อไป ก้าวไกลแค่ไหน ภาคประชาชนและผู้ถือหุ้นรายย่อย คงจะต้องช่วยกันติดตามผลักดันต่อไป
เหอ เหอ เหอ ใครอยากเอา ปตท คืน ต้องลองเข้าไปดูไปศึกษาตามลิงค์ที่
น้า Stargat 1 แป๊ะให้ดูนั่นแหละ ดูแล้วสนใจ ก็เทคแอคชั่นได้ด้วยตนเอง
ไม่งั้นถกกันอยู่ในนี้ผลมันไม่ค่อยออก โดยเฉพาะ เจ้า Phat น่ะ เลิกโวยวาย
แล้วรีบเข้าไปลุยเลย 555555555
ผมดูหลายหนแล้ว ครับ ผมเข้าใจดีแล้ว ครับแล้วเรื่องนายพลที่ไม่รู้ว่าประเทศเรามีทรัพยากรเยอะผมก็รู้แล้ว ผมเนี่ยดู ถ่ายทอด เสวนาทุกวันอาทิตย์ผมก็รู้แล้ว ครับ ผมจึงมองออกแล้วว่าจะหวังพรรคไหนเอา ปตทคืนไม่ได้อีกแล้ว ครับ
ไม่ลองสมัครสมาชิกสภาปฏิรูปดูละครับ ช่วยเผยแพร่ข้อมูลก็ยังดี เบอร์ติดต่อก็อยู่ข้างบน แถวๆสงขลา มีมวลชนมากมาย ทั้งอยู่ใกล้ แอ่งสงขลา ขนาดใหญ่ด้วย โดยเฉพาะ แหล่งบัวบาน น้ำมันที่ไม่ผ่านมิเตอร์มีเยอะแยะ สามารถออกไปเปิดโปงได้ เหมือนที่ชาวเพชรบูรณ์เขาทำกัน