3. ผลกระทบที่สำคัญจากการปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลก
ผลกระทบที่สำคัญจากการปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลก สรุปได้ดังนี้
3.1 ในการปฏิบัติตามคำสั่งศาลข้อ (1) ไทยต้องถอนกำลังทหารทั้งหมดออกจากพื้นที่ที่อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของไทยซึ่งไม่ได้เป็นพื้นที่พิพาทแต่อย่างใด คำสั่งศาลดังกล่าวเป็นการล่วงล้ำอำนาจอธิปไตยของไทย
เขตปลอดทหารชั่วคราว (PDZ) ที่ศาลกำหนดมีพื้นที่ประมาณ 17.8 ตร.กม. แต่พื้นที่พิพาทที่ทั้งสองฝ่ายอ้างสิทธิทับซ้อนกันมีพื้นที่เพียงประมาณ 4.6 ตร.กม. และพื้นที่ที่อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของไทยซึ่งไม่ได้เป็นพื้นที่พิพาทแต่อย่างใดภายใน PDZ มีพื้นที่ประมาณ 20% ของพื้นที่ PDZ ทั้งหมด หรือประมาณ 3.5 ตร.กม.
สำหรับคำสั่งศาลในข้อนี้ มีผู้พิพากษาถึง 5 คนซึ่งมีประธานศาลโลกรวมอยู่ด้วยที่มีความเห็นแย้ง โดยเหตุผลหลักที่ผู้พิพากษาทั้งห้าไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลในข้อนี้พอสรุปได้ดังนี้ ประการที่หนึ่ง ศาลไม่มีอำนาจไปกำหนดเขตปลอดทหารดังกล่าวให้ล้ำเข้าไปในพื้นที่ที่อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของแต่ละรัฐซึ่งไม่ได้เป็นพื้นที่พิพาทแต่อย่างใด อันเป็นการล่วงล้ำอำนาจอธิปไตยของรัฐนั้นๆ โดยปราศจากความยินยอมของรัฐดังกล่าว หากจะมีการกำหนดเขตปลอดทหารก็ควรจำกัดอยู่เฉพาะพื้นที่ที่มีข้อพิพาทกันเท่านั้น
ประการที่สอง ศาลกำหนดเขตปลอดทหารดังกล่าวเป็นรูปสี่เหลี่ยมที่ตำแหน่งของมุมทั้งสี่มีการกำหนดพิกัดที่แน่นอน โดยปราศจากการอธิบายให้เหตุผลว่าทำไมจึงต้องเป็นพิกัดดังกล่าว อีกทั้งยังเป็นการกำหนดในลักษณะที่ประดิษฐ์ขึ้น (artificial manner) โดยไม่ได้คำนึงถึงภูมิประเทศจริง รวมถึงความเป็นไปได้และความยากลำบากในการดำเนินการหรือการบังคับให้เป็นไปตามมาตรการดังกล่าวของแต่ละฝ่าย
สำหรับการถอนกำลังทหารของไทยออกจาก PDZ นั้น รัฐบาลทั้งชุดปัจจุบันและชุดที่แล้วได้อ้างว่าไม่ได้ทำให้ประเทศไทยสูญเสียอธิปไตยหรือเปลี่ยนแปลงอาณาเขตแต่อย่างใดเนื่องจากเป็นเพียงมาตรการคุ้มครองชั่วคราว แต่เป็นที่ชัดเจนว่าคำสั่งศาลดังกล่าวเป็นการล่วงล้ำอำนาจอธิปไตยของไทย และมีประชาชนจำนวนมากรวมทั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไม่เห็นด้วยกับการถอนกำลังทหารดังกล่าว
ดังนั้นหากมีการดำเนินการถอนทหารดังกล่าวคงจะมีประชาชนจำนวนมากในหลายจังหวัดออกมาประท้วงในเรื่องนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางสังคมอย่างกว้างขวาง อีกทั้งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยจะต้องทำข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรกับกัมพูชาว่าการถอนกำลังทหารของทั้งสองฝ่ายออกจาก PDZ มีขั้นตอนและรายละเอียดการถอนกำลังทหารรวมทั้งการตรวจสอบระหว่างกันอย่างไรเพื่อให้เกิดความชัดเจนและรอบคอบ
นอกจากนี้สำหรับ PDZ ที่ศาลกำหนดนั้น ศาลระบุอย่างชัดเจนในย่อหน้าที่ 61 ของคำสั่งศาลว่า ย่อมไม่กระทบต่อการดำเนินการทางปกครองตามปกติ ซึ่งรวมถึงการให้เจ้าหน้าที่ที่มิใช่ทหารเข้าไปประจำการในส่วนที่จำเป็นต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนและทรัพย์สิน ดังนั้นฝ่ายไทยควรต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่เข้าไปประจำการในเขตดังกล่าวเพื่อดำเนินการต่างๆ ทางปกครอง และคอยสอดส่องดูความเคลื่อนไหวของฝ่ายกัมพูชาด้วย ทั้งนี้มีความจำเป็นที่จะต้องจัดทำข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้เกิดความชัดเจนและยืนยันตรวจสอบกันได้ในประเด็นนี้ด้วยว่า เจ้าหน้าที่ที่มิใช่ทหารนั้นหมายรวมถึงเจ้าหน้าที่ในลักษณะใดบ้าง มีพื้นที่ประจำการที่ใดได้ และอนุญาตให้มีอาวุธแบบใดได้บ้างในการใช้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในเขตดังกล่าว
3.2 ในการปฏิบัติตามคำสั่งศาลข้อ (1) ไทยต้องยอมให้ตลาด วัด และชุมชนของกัมพูชาที่อยู่ในพื้นที่พิพาทบริเวณเขาพระวิหารอยู่ต่อไป
เนื่องจากคำสั่งศาลดังกล่าวไม่ได้ให้ชุมชนที่อาศัยอยู่ใน PDZ ต้องออกไปด้วย ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีเฉพาะชุมชนกัมพูชาเพียงฝ่ายเดียว ยิ่งไปกว่านั้นเกือบทั้งหมดเป็นครอบครัวของทหารกัมพูชา อีกทั้งเป็นการยากที่จะแยกแยะว่าบุคคลใดเป็นทหารหรือไม่หากอยู่ในชุดพลเรือน และยากที่ไทยจะป้องกันไม่ให้มีชาวกัมพูชาเข้ามาอาศัยเพิ่มขึ้นอีก หรือมีการก่อสร้างอะไรเพิ่มเติม อันเป็นการรุกล้ำอธิปไตยของไทยในพื้นที่พิพาทดังกล่าว เพื่อให้มีหลักประกันที่จะป้องกันปัญหาดังกล่าว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดทำข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้เกิดความชัดเจนและยืนยันตรวจสอบกันได้ในเรื่องดังกล่าวด้วย
นอกจากนี้การที่ต้องยอมให้ตลาด วัด และชุมชนของกัมพูชาที่อยู่ในพื้นที่พิพาทบริเวณเขาพระวิหารอยู่ต่อไป รวมทั้งการให้เจ้าหน้าที่ของกัมพูชาที่มิใช่ทหารเข้าไปประจำการในส่วนที่จำเป็นต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนและทรัพย์สินของกัมพูชาในพื้นที่พิพาทดังกล่าวนั้น เป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ที่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาตามมาในปี พ.ศ. 2541 กำหนดให้ป่าเขาพระวิหารเป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งพื้นที่ PDZ อยู่ภายในบริเวณอุทยานแห่งชาติดังกล่าว
ทั้งนี้ตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ห้ามมิให้ผู้ใดยึดถือหรือครอบครองที่ดิน ก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า เก็บหา นำออกไป ทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตรายหรือทำให้เสื่อมสภาพซึ่งไม้ แร่หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่น ปิดหรือทำให้กีดขวางแก่ทางน้ำหรือทางบก เป็นต้น ดังนั้นการปล่อยให้ชุมชนและเจ้าหน้าที่กัมพูชากระทำการดังกล่าวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รัฐบาลจึงต้องพิจารณาดำเนินการแก้ไขประเด็นข้อกฎหมายในเรื่องนี้ดังกล่าวนี้ด้วย
3.3 ในการปฏิบัติตามคำสั่งศาลข้อ (2) ไทยต้องยอมไม่ขัดขวางการเข้าถึงอย่างอิสระของกัมพูชาไปยังปราสาทพระวิหาร หรือการจัดส่งเสบียงของกัมพูชาให้เจ้าหน้าที่ที่ไม่ใช่ทหารของตนในปราสาทพระวิหาร ซึ่งกัมพูชาอาจใช้เส้นทางเข้าถึงไปยังปราสาทพระวิหารที่เป็นการรุกล้ำอธิปไตยของไทยในพื้นที่พิพาทได้
เนื่องจากปัจจุบันมีทางเข้าถึงปราสาทพระวิหารได้ถึง 3 ทาง คือ ทางบันไดทางขึ้นใหญ่ทางทิศเหนือ ทางบันไดทางขึ้นทางทิศตะวันออกตรงช่องบันไดหัก และทางถนนทางทิศตะวันตกจากบ้านโกมุยในฝั่งกัมพูชาที่กัมพูชาได้สร้างรุกล้ำผ่านพื้นที่พิพาท 4.6 กม. ขึ้นไปยังปราสาทพระวิหาร
สำหรับบันไดทางขึ้นทางทิศตะวันออกซึ่งมีความสูงชันมากนั้น เดิมเป็นบันไดหินขนาดเล็กและมีหลายส่วนที่ชำรุดเสียหาย แต่ปัจจุบันกัมพูชาได้สร้างบันไดไม้คร่อมบนบันไดหินดังกล่าว เพื่อให้นักท่องเที่ยวใช้เป็นเส้นทางเดินขึ้นไปเยี่ยมชมปราสาทพระวิหาร สำหรับบันไดทางขึ้นใหญ่ทางทิศเหนือและถนนทางทิศตะวันตกจากบ้านโกมุย หากกัมพูชาจะใช้ผ่านขึ้นไปยังปราสาทพระวิหารจะต้องผ่านพื้นที่พิพาท 4.6 กม. ดังนั้นไทยจึงไม่ควรให้กัมพูชาผ่านไปยังปราสาทพระวิหารโดยใช้สองเส้นทางนี้
ไทยควรต้องเจรจาตกลงกับกัมพูชาให้กัมพูชาใช้เฉพาะบันไดทางขึ้นทางทิศตะวันออกดังกล่าวเพื่อขึ้นไปถึงยังปราสาทพระวิหารเท่านั้น ส่วนทางขึ้นอื่นควรใช้ได้เฉพาะเมื่อมีเหตุผลจำเป็นอันไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ทั้งนี้ตามเงื่อนไขที่ทั้งไทยและกัมพูชาจะได้ตกลงกัน แต่ทางที่ดีที่สุดควรให้กัมพูชาใช้ทางขึ้นเฉพาะทางบันไดทางทิศตะวันออกดังกล่าวเท่านั้น ทั้งนี้ข้อสรุปจากการเจรจาดังกล่าวจำเป็นต้องทำเป็นข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้เกิดความชัดเจนและยืนยันตรวจสอบกันได้
3.4 ในการปฏิบัติตามคำสั่งศาลข้อ (3) ไทยต้องอนุญาตให้คณะผู้สังเกตการณ์ที่แต่งตั้งโดยอาเซียนเข้าไปยังเขตปลอดทหารชั่วคราวดังกล่าวได้
ทั้งนี้คำสั่งนี้ศาลไม่ได้กำหนดว่า คณะผู้สังเกตการณ์จะต้องเข้าไปในเขตปลอดทหารชั่วคราวในทันทีหรือก่อนที่จะมีการถอนกำลังทหารออกจาก PDZ แต่ปรากฏว่า นายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กลับออกมาแถลงยืนยันว่า ทหารกัมพูชาจะถอนออกจากเขตดังกล่าวก็ต่อเมื่อคณะผู้สังเกตการณ์ได้เข้าไปในเขตดังกล่าวก่อน การกระทำดังกล่าวของนายฮุน เซน จึงเป็นการไม่เหมาะสมและไม่สอดคล้องกับคำสั่งศาล เพราะศาลสั่งตามข้อ (1) ให้ถอนกำลังทหารทั้งสองฝ่ายออกจากเขตปลอดทหารชั่วคราวในทันที แต่ไม่ได้สั่งตามข้อ (3) ว่าคณะผู้สังเกตการณ์ต้องเข้าไปยังเขตดังกล่าวในทันทีหรือก่อนที่จะมีการถอนกำลังทหารของทั้งสองฝ่าย
อย่างไรก็ตามก่อนที่ศาลโลกจะมีคำสั่งดังกล่าว ในการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2554 ไทยและกัมพูชาได้ให้คำมั่นต่อกันและต่ออาเซียนที่จะไม่ให้เกิดการปะทะกันอีก และเพื่อให้ความมั่นใจต่อกัน ต่ออาเซียน และต่อประชาคมโลก ทั้งสองประเทศได้เชิญรัฐบาลอินโดนีเซียให้ส่งคณะผู้สังเกตการณ์ไปในพื้นที่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ฝั่งละ 15 คน โดยอินโดนีเซียจะได้มีหนังสือถึงไทยและกัมพูชาเกี่ยวกับขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซีย (TOR)
แต่หลังจากนั้นไทยและกัมพูชาก็ยังไม่สามารถตกลงเงื่อนไขการส่งคณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียไปในพื้นที่ดังกล่าวได้ เนื่องจากไทยยืนยันว่าคณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียจะเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ได้ก็ต่อเมื่อกองกำลังกัมพูชาต้องถอนออกจากปราสาทพระวิหาร วัดแก้วสิกขาคีรีสะวารา ชุมชน และตลาดก่อน ทั้งนี้หากคณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียเข้าไปโดยที่ยังมีกองกำลังกัมพูชาอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวเท่ากับเป็นการยอมรับการกระทำดังกล่าวของกัมพูชา อีกทั้งยังเป็นการยอมรับการสูญเสียอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดนไทย แต่กัมพูชาปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามที่ไทยยืนยัน ดังนั้นคณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียจึงยังไม่สามารถเขาปฏิบัติหน้าที่ได้
แต่เมื่อศาลโลกมีคำสั่งตามข้อ (1) ให้ทั้งสองฝ่ายถอนฝ่ายถอนกำลังทหารออกจาก PDZ การส่งคณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียเข้าไปปฏิบัติหน้าที่จึงไม่น่าจะมีปัญหาอีกต่อไป ยกเว้นในกรณีที่นายฮุน เซน ยังคงยืนยันว่า ทหารกัมพูชาจะถอนออกจากเขตดังกล่าวก็ต่อเมื่อคณะผู้สังเกตการณ์ได้เข้าไปในเขตดังกล่าวก่อน อย่างไรก็ตามคงต้องรอให้มีการตกลงในรายละเอียดและการลงนามรับรอง TOR ดังกล่าวเสร็จสิ้นสมบูรณ์ก่อน
3.5 ในการปฏิบัติตามคำสั่งศาลข้อ (4) กัมพูชาอาจอ้างว่าการคัดค้านแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารที่กัมพูชาเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกโดยฝ่ายไทยนั้น เป็นการกระทำให้ข้อพิพาทเลวร้ายลงหรือเกิดมากขึ้น
เนื่องจากคำสั่งศาลข้อนี้ให้ไทยต้องงดเว้นจากการกระทำใดๆ ที่อาจทำให้ข้อพิพาทที่ปรากฏต่อศาลเลวร้ายลงหรือเกิดมากขึ้น หรือทำให้มันยากยิ่งขึ้นที่จะแก้ไข ดังนั้นหากไทยยังคงดำเนินการคัดค้านแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารของกัมพูชาต่อไป ไทยจำเป็นต้องทำความเข้าใจกับประเทศต่างๆ ว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ที่จะปกป้องอธิปไตยของไทยเนื่องจากแผนบริหารจัดการดังกล่าวกัมพูชามีการกำหนดเขตกันชน (Buffer zone) ที่ไม่ชัดเจนซึ่งอาจรุกล้ำเข้ามาในเขตไทย รวมทั้งต้องเรียกร้องอย่างเป็นทางการให้คณะกรรมการมรดกโลกชะลอการพิจารณาอนุมัติแผนบริหารจัดการดังกล่าวไว้ก่อนจนกว่าศาลโลกจะมีคำตัดสินเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารที่ศาลโลกได้ตัดสินเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2505 ตามที่กัมพูชาร้องขอ