วันนี้ (19 ก.พ.) ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่เป็นประธาน โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุมนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา หารือผ่านไปยังนายกรัฐมนตรีว่า จากกรณีคดีปราสาทพระวิหารตามที่รัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศมีท่าทียอมรับว่า ศาลโลกมีอำนาจที่จะตีความคดีนี้ตามมาตรา 60 ของธรรมนูญศาลโลก โดยไม่คิดจะต่อสู้ประเด็นนี้อย่างจริงจัง เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เพราะการตีความเป็นเจตจำนงที่จะให้มีผลบังคับคดีต้องมีเวลาสิ้นสุดที่เหมาะสม หรือตามหลักสากลจะมีผลบังคับคดีภายในไม่เกิน 10 ปี ทั้งนี้รัฐบาลจะต้องต่อสู้ในประเด็นนี้โดยทำหนังสือร้องเรียนไปยังเลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อขอให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของศาลโลก โดยอ้างอิงหนังสือเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2505 ที่รัฐบาลได้มีหนังสือไปยังเลขาธิการสหประชาชาติในสมัยนั้น โดยแจ้งว่า ไทยได้ปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีอยู่ตามคำพิพากษาดังกล่าว และได้ตั้งข้อประท้วงต่อคำพิพากษาที่ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของประเทศกัมพูชา และขอให้แจ้งแก่สมาชิกสหประชาชาติทราบโดยทั่วกัน ซึ่งประเทศกัมพูชาก็ได้รับเช่นกัน แต่ก็ไม่เคยทักท้วงแต่อย่างใด มีแต่ขอให้ทูตวอชิงตันขอให้ทูตไทยเจรจาถอนคำสงวนสิทธิที่จะเอาปราสาทพระวิหารคืนเท่านั้น
“ดังนั้นเมื่อประเทศกัมพูชาร้องคดีมายังยังศาลโลกอีกครั้งให้ตีความ ก็เป็นการขยายผลบังคับคดี ฝ่ายไทยจึงต้องทำหนังสือไปยังเลขาธิการสหประชาชาติทราบ เพื่อให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของศาลโลกว่าทำหน้าที่เป็นธรรมกับประเทศไทยหรือไม่ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นคดีมานานกว่า 50 ปี ถ้าศาลโลกตัดสินมาอีกครั้งหนึ่งว่า ประเทศไทยไม่ขยายผลของการบังคับคดี จะกลายเป็นว่าไทยไม่ได้ปฏิบัติตามครบถ้วน แต่ถ้าเราร้องเรียนไปยังสหประชาชาติไว้ก่อน เป็นการขอความเป็นธรรม และให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของศาลโลก จะถือเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และขอให้ประธานวุฒิสภาและประชาชนตรวจสอบการทำหน้าที่ของรัฐบาลว่าได้ละเว้นไม่ดำเนินการอย่างเต็มที่หรือไม่ ถือเป็นเรื่องใหญ่ ศักดิ์ศรีเกียรติภูมิของชาติ”นายไพบูลย์ กล่าว
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า หากประเทศไทยยอมรับเขตอำนาจศาลและยอมปฏิบัติตามคำพิพากษาตนก็ขอแสดงความยินดีกับรัฐบาลไทย เพราะจะสร้างสถิติโลกใหม่ 2 ประการ คือ จะเป็นคดีใช้ธรรมนูญศาลมาตรา 60 วรรคสอง คือ ตีความในระยะเวลาหลังมีคำพิพากษาที่ยาวนานที่สุดในโลก ก่อนหน้านี้มีประเทศคู่ความเคยใช้สิทธิ์ตามมาตรานี้ยื่นขอตีความเพียง 4 ประเทศ กรณีที่สั้นที่สุดคือมีคำพิพากษาเช้าก็ยื่นบ่าย กรณีที่ยาวที่สุดคือยื่นหลังมีคำพิพากษา 4 ปี เฉลี่ยแล้วประมาณ 2 ปี แต่คดีไทย-กัมพูชามีการยื่นตีความหลังผ่านไปแล้วกว่า 50 ปี และ สถิติโลกที่ 2 เป็นคดีที่องค์คณะของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งมี 17 คน แต่เป็นผู้พิพากษาประจำเป็นชาวฝรั่งเศส 1 ท่าน ผู้พิพากษาสมทบที่กัมพูชาตั้งเป็นชาวฝรั่งเศสอีก 1 ส่วนฝ่ายไทยตนก็ขอแสดงความยินดีกับจิตใจสากลนิยมของรัฐบาลไทยก็ได้ตั้งชาวฝรั่งเศสอีก 1 คน ดังนั้นในองค์คณะจึงมีผู้พิพากษาชาวฝรั่งเศสรวม 3 คน ถือเป็นสถิติโลกที่คงต้องบันทึกไว้ในหนังสือกินเนสบุ๊คส์ เวิร์ลเรคอร์ด