http://www.komchadlu...ml#.US3-VTCq0rV
'รถคันแรก'ทำหนี้ท่วม!
"สภาพัฒน์" ชี้คนไทยอ่วม หนี้ครัวเรือนพุ่ง 2.9 ล้านล้านบาท เผยยอดหนี้รถยนต์พุ่งอันดับ 1 หวั่นปี 56 ยอดหนี้ทะลุ สั่งจับตามองหลังบริษัทรถยนต์ทยอยส่งรถให้ลูกค้า
นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า จากการติดตามความเคลื่อนไหวของสังคมไทย ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมในช่วงไตรมาสสี่และภาพรวมตลอดปี 2555 พบว่า ขณะนี้สังคมไทยยังน่าเป็นห่วงอยู่ในหลายประเด็น โดยเฉพาะครัวเรือนไทยเสี่ยงต่อการเป็นหนี้ซ้ำซ้อน เหตุจากการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้มียอดค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคและบริโภค รวมมูลค่าถึง 2.9 ล้านล้านบาท ซึ่งกว่าร้อยละ 21 เป็นการเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินเชื่อซื้อรถยนต์ สินเชื่อซื้อรถจักรยานยนต์ ร้อยละ 33 และสินเชื่อเพื่อบริโภคส่วนบุคคล ร้อยละ 29
ขณะที่ตัวเลขการผิดนัดชำระหนี้ ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมายังคงอยู่ในระดับสูง โดยอ้างอิงจากรายงานการผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนของสินเชื่อภายใต้การกำกับนั้น เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 28 ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิต ร้อยละ 3 นอกจากนี้ตัวเลขหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือหนี้เสีย(เอ็นพีแอล) จากสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.5 ซึ่งขัดแย้งกับอัตราการออมภาคครัวเรือนที่ลดลงต่ำ เพียงร้อยละ 5 ของจีดีพี ซึ่งข้อมูลในปี 2554 ระบุว่า ร้อยละ 54 ของครัวเรือนไทยนั้น ไม่มีความสามารถในการออมเงิน
"ในช่วงไตรมาสที่สี่และภาพรวมตลอดทั้งปี 2555 ที่ผ่านมา เราพบว่าอัตราการก่อหนี้ของครัวเรือนไทยพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการกู้สินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์ ซึ่งตรงกันข้ามกับความสามารถในการชำระหนี้จึงต้องคอยจับตามอง หลังจากผ่านช่วงไตรมาสแรกของปี 2556 ที่ทางบริษัทรถได้ทยอยส่งมอบให้ลูกค้า ว่าการผิดนัดชำระหนี้จะเพิ่มขึ้นสูงตามแนวโน้มปี 2555 หรือไม่" นางสุวรรณี กล่าว
นางสุวรรณี กล่าวต่อว่า ส่วนสถานการณ์ด้านสังคมนั้น พบว่า ปัญหาอาชญากรรมยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องวางมาตรการและเฝ้าระวังปัญหาอย่างต่อเนื่อง จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง เนื่องจากจำนวนคดีอาญารวมในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นทุกประเภท ซึ่งคดีที่มีสัดส่วนมากที่สุดคือคดียาเสพติด ร้อยละ 83 มีการรับแจ้งคดีมากถึง 100,401 คดี เพิ่มขึ้นจากไตรมาสสี่ปี 2554 ร้อยละ 17 และไตรมาสสามปี 2555 ร้อยละ 12 โดยตลอดทั้งปี 2555 คดีความเกี่ยวกับยาเสพติดเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 5
"กลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือเด็กและเยาวชน เพราะพบว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของนักค้ายาเสพติด โดยใช้วิธีการกระจายยาเสพติดลงไปในชุมชน ซึ่งจากข้อมูลระบบติดตามและการเฝ้าระวัง ระบุว่าในปี 2555 เยาวชนช่วงอายุที่เข้ารับการบำบัดมากที่สุดคือ 18-24 ปี ขณะเดียวกันกลุ่มอายุ 12-17 ปี ก็มีแนวโน้มเข้าบำบัดเพิ่มขึ้น จากปี 2554 กว่า ร้อยละ 68" นางสุวรรณี กล่าว
นางสุวรรณี กล่าวต่อว่า ในไตรมาสนี้ประเด็นเฝ้าระวังที่สำคัญคือ การกระทำความรุนแรงในเด็กและสตรี โดยสัดส่วนของเด็กที่ถูกทำร้ายนั้น จะเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชายถึง 8 เท่า ซึ่งส่วนใหญ่เด็กเหล่านี้จะถูกกระทำความรุนแรงในช่วงวัยรุ่น คือ อายุ 10-15 ปี และส่วนใหญ่เป็นการกระทำความรุนแรงทางเพศมากเป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 74 ซึ่งสอดรับกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ที่ผู้ถูกกระทำส่วนมากเป็นฝ่ายหญิง อายุระหว่าง 25-45 ปี โดยเป็นการทำร้ายร่างกายจากคู่สมรส ร้อยละ 74 และแฟน ร้อยละ 65
ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหา การกระทำความรุนแรงในเด็กและสตรี นางสุวรรณี กล่าวว่า ขณะนี้ทางรัฐบาลวางแผนไว้ 2 ระยะ คือ ในระยะสั้นจะเร่งดำเนินการ ปรับปรุงระบบให้บริการประชาชน สามารถเข้าถึงการให้ความรู้และคำปรึกษาในการดูแลเด็กและบุตรหลาน ทั้งด้านพัฒนาการทางอารมณ์และพัฒนาการด้านร่างกาย ส่วนในระยะยาวรัฐบาลตั้งเป้าหมายการดำเนินการเพื่อลดอัตราการเกิดปัญหาด้านสังคม 4 ด้าน คือ 1.ปัญหาท้องในวัยเรียน 2.ปัญหาการค้าแรงงานเด็ก 3.ปัญหาการค้ามนุษย์ และ 4.ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว โดยทางหน่วยงานส่วนกลางจะทำการประสานไปยังหน่วยงานส่วนท้องถิ่น เพื่อให้มีการจัดทำระบบฐานข้อมูลปัญหาทั้งหมด ตั้งแต่ในระดับตำบล เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลของผู้กระทำความผิดได้อย่างรวดเร็ว
นางสุวรรณี กล่าวต่อว่า ส่วนด้านการเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวม พบเพิ่มขึ้นร้อยละ 57 โดยมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสูงกว่าไตรมาสที่สี่ ปี 2554 เกือบ 3 เท่าตัว ในขณะที่ภาพรวมในปี 2555 พบผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น จากปี 2554 ร้อยละ 16 ซึ่งโรคที่พบมากและมีอาการรุนแรงขึ้น ได้แก่ โรคปอดอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก และโรคมือ เท้า ปาก ส่วนการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังนั้น ก็ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากปี 2554 ด้วยเช่นกัน โดยโรคที่พบมากที่สุดคือโรคความดันโลหิต