แฉนโยบายประกันราคาข้าวสุดห่วย รัฐทำเจ๊งกว่าแสนล้าน - คุณภาพตกต่ำ
โรงสี-ผู้ส่งออกข้าวโวย นโยบายประกันราคาข้าว 2 ปี ทำรัฐเจ๊งกว่าแสนล้าน แถมฉุดราคาข้าวโลกร่วง และรัฐไทยยังเป็นผู้แบกรับค่าใช้จ่ายให้คนทั้งโลก ขณะที่คุณภาพข้าวตกต่ำ เพราะขายได้เท่าไรรัฐก็จ่ายชดเชย ด้านพ่อค้าส่งออกถือโอกาสกดราคาโรงสี สะท้อนภาพคนไม่ได้ปลูกข้าว กับพวกเจ้าของที่ดินรับเละ ส่วนชาวนาตัวจริง ถูกกดราคา ซ้ำไม่ได้เงินประกัน แนะตั้งราคาขั้นต่ำ -ยุ้งฉางให้กับชาวนาในพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรได้ราคาผลผลิตดีที่สุด
จากปริมาณการส่งออกข้าวตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงเดือน ก.พ.54 ไทยมียอดส่งออกข้าวคิดเป็นปริมาณเพิ่มขึ้น 25.6% แต่มูลค่าเพิ่มเพียง 9.4% ทั้งๆที่ตลาดโลกต้องการข้าวสูง คู่แข่งงดส่งออก โดยแหล่งข่าวผู้ส่งออกข้าวกล่าวว่า ขณะนี้ชาวนาที่ปลูกข้าวแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ชาวนาที่ไม่ได้ปลูกข้าวแต่มีที่ดินขึ้นทะเบียนเพื่อขอชดเชยราคาข้าว แต่ใช้ที่ดินไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ได้กำไรมากกว่าหรือให้เช่าที่นา 2.ชาวนาที่ปลูกข้าวไว้เพื่อกินเองโดยไม่ได้เน้นการขาย และ3.ชาวนาที่ปลูกข้าวเพื่อขายอย่างแท้จริงแต่ส่วนใหญ่ต้องเช่าที่นา ซึ่งใน 3 กลุ่มนี้ ชาวนาที่ปลูกข้าวเพื่อขายมีจำนวนมากที่สุดคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50-60% โดยชาวนากลุ่มนี้แทบจะไม่ได้ประโยชน์จากโครงการประกันราคาของรัฐบาล เพราะส่วนใหญ่ต้องเช่าที่นา ขณะที่เจ้าของที่ดินกลับไปขึ้นทะเบียนได้ส่วนต่างตรงนี้ไป และยังได้ค่าเช่าจากผู้ปลูกตัวจริงอีกทอด
ระบุชาวนาตัวจริงชวดเงินประกัน
ทั้งนี้ พวกที่ไม่ได้ปลูกข้าว แค่อยู่เฉยๆก็ได้เงินจากรัฐอย่างสบาย เช่น ถ้ามีที่ดิน 100 ไร่ แบ่งออกเป็นผู้ถือครองขึ้นทะเบียน 2 ชื่อ ก็ได้รับเงินชดเชยจากรัฐ 60 ตัน มีมูลค่ากว่า 1 แสนบาทต่อฤดูการเพาะปลูก ส่วนพวกที่ปลุกไว้กินมีที่ดินจำนวนน้อยประมาณ 10 ไร่ ก็จะได้เงินชดเชยกว่า 1 หมื่นบาท โดยกลุ่มที่ 3 น่าส่งสารที่สุดไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆเลย ซึ่งรัฐบาลคิดว่าการชดเชยแบบนี้เงินถึงมือเกษตรกรอย่างแท้จริง น่าจะได้คะแนนนิยมมาก แต่ในความเป็นจริงชาวนากลุ่มใหญ่กลับไม่ได้ประโยชน์อะไร โดยเฉพาะในภาคอีสาน ที่จะส่งผลต่อคะแนนเลือกตั้งในครั้งหน้าอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ราคาที่รัฐบาลชดเชยก็มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะถูกผู้ส่งออกกดราคามายังโรงสี และโรงสีก็กดราคารับซื้อจากเกษตรกรอีกทอด ส่วนชาวนาก็เต็มใจขายข้าวแม้ไม่ได้ราคาเพราะมั่นใจว่ารัฐบาลก็จะต้องชดเชยส่วนต่างให้ แต่ในความจริงแล้วชาวนาก็แทบจะไม่ได้กำไร เพราะขณะนี้ต้นทุนการทำนาประมาณ 6-7 พันบาท/ตัน แต่พ่อค้ารับซื้อในราคาเกือบเท่าทุนที่ 6-7 พันบาท/ตัน จากนั้นชาวนาก็ได้เงินชดเชยจากรัฐประมาณ 2 พันบาท รวมแล้วประมาณ 8-9 พันบาท/ตัน สรุปว่าชาวนาได้กำไร10% กว่าๆ เมื่อเทียบกับบางพื้นที่ทำนาได้เพียงปีละ 1 ครั้งส่วนต่างที่ได้จึงแทบจะไม่พอค่าใช้จ่ายทั้งปี
โรงสีบ่นอุบ
ส่งออกรวยโรงสีจน
ส่วนโรงสีก็แทบจะไม่ได้กำไร เพราะราคาข้าวผันผวน ถ้าราคาข้าวลงผู้ส่งออกก็หาข้ออ้างไม่ซื้อข้าว ทำให้โรงสีต้องยอมขายข้าวขาดทุน สุดท้ายผู้ที่ได้กำไรมากสุดก็คือผู้ส่งออกบางราย ซ้ำในช่วงปลายปีที่ผ่านมารัฐบาลก็เทขายข้าวมาอีก 4 ล้านตัน ทำให้ภาพรวมประเทศชาติเสียหายมาก รัฐบาลต้องนำเงินภาษีนับแสนล้านบาท มาอุดหนุนให้เกษตรกร ฉุดราคาข้าวในตลาดโลกร่วงลงมาก ก็เท่ากับรัฐบาลไทยทำหน้าที่ควักกระเป๋าจ่ายเงินให้ชาวโลกได้กินข้าวราคาถูก
ชาวนาผีขึ้นทะเบียนรับเงินเพียบ
นอกจากนี้รัฐบาลยังจ่ายเงินชดเชยเกินจริงไปมาก โดยในช่วงนาปรังที่ผ่านมา มีตัวเลขที่รัฐต้องชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาประกันกับราคาอ้างอิงจำนวน 11.2 ล้านตันที่คิดจากตัวเลขพื้นที่ปลูกข้าวที่เข้าร่วมโครงการ แต่จริงๆแล้วในช่วงที่ก่อนมีโครงการประกันราคาจะมีปริมาณข้าวไม่เกิน 8 ล้านตัน ทำให้รัฐต้องชดเชยอย่างสูญเปล่าไป 3-4 ล้านตัน ส่วนนาปีก็มีตัวเลขมากกว่านี้ คาดว่ามีผลผลิตที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 30 ล้านตัน ขณะที่ตัวเลขจริงน่าจะมีประมาณ 24-25 ล้านตัน รัฐต้องจ่ายเกินไปถึง 5 ล้านตัน มูลค่าการชดเชยโครงการนาปีมีสูงถึง 3.5 หมื่นล้านบาท หรือชดเชยมากกว่า 2 พันบาทต่อตัน ทำให้เห็นได้ชัดว่ามีเกษตรกรจำนวนมากมาขึ้นทะเบียนโดยไม่ได้ปลูกข้าวจริง
โดยตัวเลขเป็นทางการของรัฐระบุว่า โครงการประกันรายได้ชาวนาปี 2553-54 รอบที่ 2 มีวงเงินทั้งสิ้น 19,000 ล้านบาท เพื่อชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาประกันกับราคาอ้างอิง ซึ่งประมาณการผลผลิตที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 10 ล้านตัน หรือเฉลี่ยตันละ 1,900 บาท แต่ตัวเลขจริงในขณะนี้ตั้งแต่ 28 มี.ค.- 3 เม.ย. 54 ราคาอ้างอิง 8,310 บาท ทำให้รัฐต้องชดเชยสูงถึง 2,690 บาท/ตัน ในขณะยอกการชดเชยนาปีที่ผ่านมา 35,121 ล้านบาท
ยอด 2 ปี รัฐกระเป๋าฉีก 1.14 แสนล.
ดังนั้น ในฤดูการเพาะปลูก 2552/53 รัฐบาลจ่ายไปแล้ว 5 หมื่นล้านบาท และฤดูผลิต 2553/54 คาดว่าจะใช้เงินชดเชยไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นล้านบาท เท่ากับการใช้นโยบายประกันราคารัฐบาลเสียหายไปแล้ว 1.1 แสนล้านบาท ส่วนความเสียหายอันเนื่องมาจากการขายข้าวได้ราคาต่ำ ในปีที่ผ่านมาส่งออกไป 9 ล้านตัน เสียหายไปประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท ด้านความเสียหายจากสต็อกข้าวในโกดังรัฐที่ระบายออกมา 5 ล้านตัน ในราคา 1.2 หมื่นบาท/ตัน จากราคาก่อนหน้านั้นที่พุ่งไปถึง 1.7 หมื่นบาท/ตัน แต่ก็ไม่ขาย เท่ากับมีความเสียหาย 2.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่สต็อกข้าวที่อยู่ในมือผู้ค้าข้าว และชาวนาอีกประมาณ 5 ล้านตัน เงินหายไปประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท รวมปี 52-53 มียอดความเสียหายรวมทั้งสิ้น 1.14 แสนล้านบาท ส่วนมาตรการของรัฐที่บอกว่าจะตั้งโต๊ะรับซื้อหากราคาข้าวตกต่ำ แต่ในความเป็นจริง รัฐกลับไม่มีงบประมาณในส่วนนี้ ทำให้ราคาข้าวยังคงร่วงลงเรื่อยๆ
แนะตั้งราคาขั้นต่ำ
ดึงข้าวเข้าสต็อก
ทั้งนี้ หากรัฐบาลมีการจัดการที่ดีในระบบการค้าข้าว ก็จะช่วยดึงราคาตลาดโลกได้มากเพราะไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลกมีส่วนแบ่งการตลาด 40% ถึงแม้ว่าเวียดนามส่งออกเก่งที่สุดก็ไม่เกิน 8 ล้านตัน ไทยก็มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 8-9 ล้านตันอยู่แล้ว ถ้าไทยควบคุมปริมาณส่งออกข้าวให้ลดไปจากตลาดประมาณ 2 ล้านตัน ก็จะดึงข้าวโลกให้พุ่งขึ้นได้ ดังนั้นรับจะต้องกำหนดราคาขั้นต่ำ และดึงข้าวเข้าสต็อกรัฐ เพื่อควบคุมราคา และปริมาณข้าวที่ออกไปสู่ตลาดโลก
ประกันราคา
ฉุดคุณภาพข้าวหล่นวูบ
ด้านโรงสีรายหนึ่งในจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า การที่รัฐมุ่งเน้นโครงการประกันราคา ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้คุณภาพข้าวลดลง เพราะเกษตรกรไม่จำเป็นต้องพิถีพิถันในการปลูก มีการนำข้างพันธุ์เบาที่แตกหักง่าย แต่เป็นข้าวที่ปลูกง่ายโตไวออกมาขายโรงสีโดยไม่มองเรื่องราคา เพราะรัฐบาลต้องชดเชยส่วนต่างให้อยู่แล้ว ประกอบกับในช่วงนี้เพลี้ยระบาดรุนแรงในพื้นที่ภาคกลางไล่จากพิจิตร ชัยนาทไปจนถึงจังหวัดนครปฐมแล้ว รวมทั้งฤดูการที่ผันผวน ทำให้คุณภาพข้าวลดลง ซึ่งปัจจัยต่างๆเหล่านี้ล้วนทำให้คุณภาพข้าวไทยแย่ลง ทั้งๆที่สถานการณืในปัจจุบันนี้ไทยจะต้องยกระดับคุณภาพของข้าว เพื่อหนีคู่แข่งที่ต้นทุนถูกกว่าอย่างเวียดนาม แต่รัฐกลับไม่มีนโยบายเพิ่มคุณภาพข้าวเลย มีแต่เพียงการอัดเงินลงไปซื้อเสียงจากชาวนาโดยที่ประเทศชาติต้องเสียหายอย่างมหาศาล
อย่างไรก็ตามแม้คุณภาพข้าวไทยจะลด แต่ขณะนี้ยังมีคุณภาพดีกว่าเวียดนาม เพราะไทยมีเทคโนโลยีการสี และการนึ่งสูงกว่า ทำให้ถึงแม้ว่าข้าวเวียดนามจะถูกกว่าไทย 5% แต่ข้าวไทยก็ยังขายได้อยู่ แต่ในอนาคตถ้าไทยยังปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไปจนเวียดนามพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่สู้กับไทยได้ ก็จะทำให้ไทยเสียเปลียบทุกด้านในการแข่งขัน
ประเทศเอเชีย
รุมสวดไทยต้นเหตุทำให้จน
ส่วนราคาข้าวที่ลดลงเรื่อยๆ ก็เนื่องจากรัฐบาลไม่กำหนดราคาขั้นต่ำเข้ามาซื้อข้าวหากราคาต่ำกว่าที่กำหนด แต่การที่รัฐไม่ทำอะไรเลยก็เป็นการชี้นำให้ราคาข้างตกลงเรื่อยๆ ทำให้โรงสี และผู้ส่งออกไม่กล้าซื้อเต็มที่เพราะกลัวราคาที่ผันผวน เมื่อซื้อข้าวได้ก็จะขายทันทีไม่กล้าเก็บไว้ ทำให้ข้าวราคาถูกใหลออกนอกประเทศโดยไม่มีใครเข้ามาควบคุม แต่ถ้ามีราคาขั้นต่ำ ก็ทำให้ราคาข้าวมีเสถียรภาพ
นอกจากนี้เวียดนามก็เห็นนโยบายของไทยที่ทำให้ราคาข้าวต่ำก็เลยขายข้าวตัดหน้าไทยทำให้ราคาข้าวโลกยิ่งร่วงลงไปอีก ไม่เพียงความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นในประเทศเพียงเท่านั้น ประเทศผู้ปลูกข้าวอื่นๆในเอเชีย ต่างก็ไม่พอใจนโยบายของรัฐบาลไทย เพราะทำให้ราคาตลาดโลกลดลงจนทำให้เกษตรกรในประเทศเหล่านี้ยากจน เพราะรัฐบาลของเขาไม่ได้มีเงินมากแบบรัฐบาลไทยที่จะอัดฉีดให้เกษตรกรอย่างฟรีๆได้
ชี้ชาวนาดี
แต่จ้างปลูกไม่ตั้งใจผลิต
คมกฤชช์ ธรรมรัตนกุล เจ้าของโรงสี จังหวัดนครสวรรค์กล่าวว่าในปัจจุบันพฤติกรรมการปลูกข้าว และการเก็บเกี่ยวของชาวนาเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตที่ทำด้วยตนเอง และครอบครัว มาเป็นการทำการเพาะปลูกในเชิงธุรกิจมากขึ้น มีการจ้างแรงงานทำในทุกขั้นตอน เช่น จ้างปลูก จ้างใส่ปุ๋ย จ้างเก็บ ฯลฯ จึงทำให้ขาดความละเอียดในการดูแลคุณภาพของข้าว ทั้งยังส่งผลกระทบใหญ่ที่เป็นปัญหาต่อรายรับของเกษตรกรที่ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย เนื่องจากเมื่อราคาข้าวสูงขึ้น ค่าจ้างในในการเพาะปลูก เก็บเกี่ยวก็จะขึ้นราคาตามไปด้วย
หลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวชาวบ้านนิยมนำข้าวสดขายมากกว่าข้าวแห้งที่ต้องผ่านกระบวนการเอาน้ำออกก่อนขาย เนื่องจากได้เงินเร็วกว่า และไม่เป็นภาระในส่วนนี้ ส่วนข้าวสดนั้นจะต้องนำมาทำให้แห้ง จึงทำให้มีค่าใช้จ่าย และต้องหักน้ำหนักที่เสียออกไป ทำให้ข้าวเบาลง ราคาข้าวที่ขายแบบสดจะคำนึงถึงส่วนนี้เป็นสำคัญอีกด้วย
ในด้านการประกันราคาข้าวของรัฐบาลนั้น ยังไม่แน่ชัดว่าจะทำให้คุณภาพข้าวแย่ลงกว่าเดิมหรือไม่ เพราะต้องใช้เวลาในการปรับตัว และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ส่วนการจำนำข้าวนั้น ที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่ามีส่วนทำให้คุณภาพข้าวลดลง เพราะเกษตรกรเน้นขายปริมาณข้าวมากกว่าจะดูแลเรื่องคุณภาพ และในเชิงจิตวิทยาชาวบ้านจะชอบมากกว่าการประกันข้าว เนื่องจากได้เงินเร็ว ตรงจุดมากกว่า ทั้งนี้ควรนำ 2 มาตรการมาปรับใช้ด้วยกัน เช่น บางอย่างควรจำนำ บางอย่างควรประกันราคาข้าว เป็นต้น