มงคล คือเหตุแห่งความสุข ความก้าวหน้าในการดำเนินชีวิต นำมาจากบทมงคลสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสตอบปัญหาที่ท้าวสักกเทวราชได้นำหมู่เทวดาเข้าเฝ้า
และทูลถามพระองค์ว่า อะไรคือมงคลของชีวิต หลังจากทีได้มีข้อถกเถียงกันอย่างยืดเยื้อมานานถึงสิบสองปี องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแสดงหลักมงคล
ซึ่งมีทั้งหมด ๓๘ ประการ มงคลของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ยึดถือวัตถุ แต่ยึดถือการปฏิบัติฝึกฝนตนเอง
มงคลที่ ๙. มีวินัยที่ดี
อันวินัยนำระเบียบสู่เรียบร้อย คนใหญ่น้อยเปรมปรีดิ์ดีนักหนา
วินัยสร้างกระจ่างข้อก่อศรัทธา เพราะรักษากติกาพาร่วมมือ
ไม่พูดเท็จพูดสอดเสียดและพูดมาก ละความยากสร้างวิบากฝากยึดถือ
คนหมู่มากมักถางถากปากข่าวลือ ต้องสัตย์ซื่อถือวินัยใช้ร่วมกัน
วินัย หมายถึง ระเบียบ กฎเกณฑ์ข้อบังคับสำหรับควบคุมความประพฤติทางกายของคนในสังคมให้เรียบร้อยดีงาม เป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวกัน จะได้อยู่ร่วมกัน ด้วยความสุขสบาย
ไม่กระทบกระทั่งซึ่งกันและกัน ให้ห่างไกลจากความชั่วทั้งหลาย การอยู่รวมกันเป็นหมู่เหล่า ถ้าขาดระเบียบวินัย ต่างคนต่างทำตามอำเภอใจ ความขัดแย้งและลักลั่นก็จะเกิดขึ้น
ยิ่งมากคนก็ยิ่งมากเรื่อง ไม่มีความสงบสุข การงานที่ทำก็จะเสียผล วินัยจึงเป็นสิ่งที่ใช้ควบคมคน ให้คนเราใช้ความรู้ ความสามารถไปในทางที่ถูกที่ควร คือทำให้เป็นคน "ฉลาดใช้" นั่นเอง
วินัยทางโลก หมายถึง ระเบียบสำหรับควบคุมคนในสังคมแต่ละแห่ง เป็นข้อตกลงของคนในสังคมนั้นที่จะให้ทำ หรือ ไม่ให้ทำ บางสิ่งบางอย่าง ซึ่งบางครั้งเราก็เรียกชื่อแยกแยะออกไป
หลายอย่าง เช่น กฎหมาย พระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา กฎข้อบังคับ ระเบียบ ธรรมเนียมประเพณี คำสั่ง ประกาศ กติกา ฯลฯ สิ่งเหล่านี้รวมเรียกว่า วินัยทางโลกทั้งสิ้น
วินัยทางธรรม
เนื่องจากเราชาวพุทธ มีทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ดังนั้นวินัยทางศาสนาจึงมี ๒ ประเภท คือ
๑. อนาคาริยวินัย วินัยสำหรับผู้ออกบวช ได้แก่ วินัยของพระภิกษุ
๒. อาคาริยวินัย วินัยสำหรับผู้ครองเรือน หรือประชาชนชายหญิงทั่ว ๆ ไป
จุดมุ่งหมายสูงสุดของนักบวช คือความหมดกิเลส ผู้จะหมดกิเลสได้ต้องมีปัญญาอย่างยิ่ง ผู้จะมีปัญญาอย่างยิ่งได้จะต้องมีสมาธิอย่างยิ่ง ผู้จะมีสมาธิอย่างยิ่งได้ จะต้องตั้งอยู่บนฐานของศีลอย่างยิ่ง
อนาคาริยวินัยของพระมีดังนี้
๑. ปาฏิโมกขสังวร คือการสำรวมอยู่ในศีลทั้งหมด ๒๒๗ ข้อ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติ เว้นข้อที่พระองค์ทรงห้าม ทำตามข้อที่พระองค์ทรงให้ปฏิบัติ
๒. อินทรียสังวร คือการสำรวมอายตนะทั้ง ๕ และกาย วาจา ใจ ไม่ให้เพลิดเพลินติดกับสิ่งที่มาสัมผัส อันเกิดจากการเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัส และการรับรู้อารมณ์ทางใจ
อะไรที่ไม่ควรดูก็อย่าไปดู อะไรไม่ควรฟังก็อย่าไปฟัง อะไรไม่ควรดมก็อย่าไปดม อะไรไม่ควรลิ้มชิมรสก็อย่าไปชิมอะไรไม่ควรถูกต้องสัมผัสก็อย่าไปสัมผัส และอะไรที่ไม่ควรคิดก็อย่าไปคิด
๓.อาชีวปาริสุทธิสังวร คือการหาเลี้ยงชีพในทางที่ชอบ นั่นก็คือการออกบิณฑบาตร สำหรับการเลี้ยงชีวิตในทางที่ผิด เช่นการหาลาภสักการะด้วยการใบ้หวย การเป็นหมอดู ไม่เรียกร้อง
เรี่ยไรหรือเที่ยวขอเงินชาวบ้านมาเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของตัวเอง จัดเป็นการกระทำที่ผิดพระวินัย
๔.ปัจจัยปัจจเวกขณะ คือ การพิจารณาก่อนที่จะบริโภคหรือใช้ปัจจัย ๔ ว่าสิ่งนั้นเป็นเพียงเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตให้อยู่ได้ เหมือนน้ำมันหยอดเพลารถให้รถแล่นไปได้เท่านั้น พิจารณาดังนี้แล้ว
ย่อมบรรเทาความหลง ความมัวเมาในอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่ ยารักษาโรคได้ ทำให้กินเพื่ออยู่ ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน
วัตถุประสงค์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติวินัย
๑. เพื่อรองรับความตั้งอยู่ดีของหมู่สงฆ์
๒. เพื่อข่มบุคคลผู้แก้ยาก หน้าด้าน
๓. เพื่อความสุขสำราญแห่งหมู่สงฆ์
๔. เพื่อความสุขสำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก
๕. เพื่อป้องกันอาสวกิเลสอันจะบังเกิดในปัจจุบัน
๖. เพื่อป้องกันอาสวกิเลสอันจะบังเกิดในอนาคต
๗. เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส
๘. เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว
๙. เพื่อความดำรงมั่นแห่งพระสัทธรรม
๑๐. เพื่ออนุเคราะห์พระวินัย
อาคาริยวินัย วินัยสำหรับคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน อกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการที่สำคัญ คือ ศีล ๕
ศีล แปลว่า ปกติ เป็นวินัยทางธรรมเบื้องต้นของคนเป็นเครื่องจำแนกคนออกจากสัตว์ ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องมีลักษณะ
ปกติของมันเอง
๑. ไม่ฆ่าชีวิตคน หรือสัตว์ไม่ว่าน้อย ใหญ่
๒. ไม่ลักทรัพย์ ยักยอกเงิน สิ่งของมาเป็นของตัว
๓. ไม่ประพฤติผิดในกาม ผิดลูกผิดเมีย ข่มขืนกระทำชำเรา
๔. ไม่พูดโกหก หลอกลวงให้หลงเชื่อ หรือชวนเชื่อ
๕. ไม่พูดส่อเสียด นินทาว่าร้าย ยุยงให้คนแตกแยกกัน
๖. ไม่พูดจาหยาบคาย ให้เป็นที่แสลงหูคนอื่น
๗. ไม่พูดจาไร้สาระ หรือที่เรียกว่าพูดจาเพ้อเจ้อไม่มีสาระ เหตุผล หรือประโยชน์อันใด
๘. ไม่โลภอยากได้ของเขา คือมีความคิดอยากเอาของคนอื่นมาเป็นของเรา
๙. ไม่คิดร้าย ผูกใจเจ็บ แค้น ปองร้ายคนอื่น
๑๐.ไม่เห็นผิดเป็นชอบ เช่น เห็นว่าพ่อแม่ไม่มีความสำคัญ บุญหรือกรรมไม่มีจริงเป็นต้น
อานิสงส์การมีวินัย
วินัยทางโลกและทางธรรมรวมกันแล้วทำให้เกิดประโยชน์คือ
๑.วินัยนำไปดี หมายความว่า ทำให้ผู้รักษาวินัยดีขึ้น ยกฐานะผู้มีวินัย ให้สูงขึ้น เช่นเด็กกลางถนน เข้าโรงเรียนมีวินัย กลายเป็น นักเรียน เด็กชาวบ้าน บวชแล้วถือศีล ๑๐
กลายเป็น สามเณร สามเณร บวชแล้วถือศีล ๒๒๗ กลายเป็น พระภิกษุ วินัยเป็นข้อบังคับใจเราก็จริง แต่เป็นข้อบังคับเพื่อให้เราไปถึงที่หมายของชีวิตตามความประสงค์ของเราเอง
๒.วินัยนำไปแจ้ง คำว่า แปลว่า สว่าง หรือเปิดเผยไม่คลุม ๆ เครือ ๆ วินัยนำไปแจ้งคือเปิดเผยธาตุแท้ของคนได้ ว่าไว้ใจได้แค่ไหน โดยดูว่าเป็นคนมีวินัยหรือไม่
๓.วินัยนำไปต่าง เราดูความแตกต่างของคนด้วยวินัย เช่น คนที่ซ่องสุมสมัครพรรคพวกและอาวุธไว้สู้รบกับคนอื่น ถ้ามีวินัยเราเรียกว่า กองทหารเป็นมิ่งขวัญของบ้านเมือง ถ้าไม่มีวินัยเรา
เรียกว่า กองโจร เป็นเสี้ยนหนามของแผ่นดิน คนที่พกอาวุธเดินปนอยู่ในที่ชุมชนอย่างองอาจ ถ้ามีวินัยเราเรียกว่า ตำรวจ เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ถ้าไม่มีวินัยเราเรียกว่า
นักเลงอันธพาลเป็นผู้พิฆาตสันติสุข คนที่เที่ยวภิกขาจารพึ่งคนอื่นเลี้ยงชีวิตถ้ามีวินัยรักษาศีล ๒๒๗ เราเรียกว่าพระภิกษุ เป็นบุญของผู้ให้ทาน ถ้าไม่มีวินัย เราเรียกว่า ขอทาน
เป็นกรรมของผู้ถูกขอ เราต้องการก้าวไปสู่ความดีความก้าวหน้า เราต้องการความบริสุทธิ์กระจ่างแจ้ง เราต้องการยกฐานะให้สูงขึ้น เพราะฉะนั้นเราจึงจำเป็นต้องรักษาวินัย
"ผู้มีวินัยดี หมายถึง ผู้ที่รักษาวินัยทั้งทางโลกและทางธรรมอย่างถูกต้องและเคร่งครัด"