เนื่องจากกรรมจะสะสมสืบต่ออยู่ในจิต ทุกขณะที่จิตเกิด-ดับ สืบต่อกันไป เพราะจิตมีสภาพเป็นอนันตรปัจจัย คือ เมื่อจิตดวงหนึ่ง เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็วนั้น จิตดวงเก่าที่ดับไปนั้นเอง เป็นปัจจัยให้เกิดจิตดวงใหม่ขึ้นต่อไปเรื่อยเรื่อย ไม่รู้จบ นั้นคือการ เวียน ว่าย ตาย เกิด แล้วแล้ว เล่าเล่า ใน สังสารวัฎ
ต่อเมื่อ อบรมเจริญปัญญา จนละอกุศลธรรมทั้งหมดได้แล้ว บรรลุคุณธรรมเป็นอริยะบุคคลขั้นอรหันต์ เมื่อนั้น กุศลธรรมก็จะหมดไปด้วย เมื่อจุติจิตของพระอรหันต์ซึ่งเป็นจิตดวงสุดท้ายของสังสารวัฏฏเกิดขึ้น ก็จะไม่มีจิตดวงต่อไปเกิดขึ้นอีกเลย เพราะจุติจิตของพระอรหันต์ไม่เป็น อนันตรปัจจัย เป็นการแสดงถึงความสิ้นสุดของสังสารวัฎฎ ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป
พิจารณาอยู่นานว่าจะตอบดีมั้ยหนอ... ลองสดับดูแล้วกันนะขอรับ...
ที่ตั้งอยู่ของวิญญาณ (นัยที่ ๒)
ภิกษุทั้งหลาย! สิ่งที่ใช้เป็นพืชมี ๕ อย่าง เหล่านี้... ๕ อย่าง เหล่าไหนเล่า? ๕ อย่าง คือ:-
(๑) พืชจากเหง้าหรือราก (มูลพีช)
(๒) พืชจากต้น (ขนฺธพีช)
(๓) พืชจากตาหรือผล (ผลุพีช)
(๔) พืชจากยอด (อคฺคพีช)
(๕) พืชจากเมล็ด (พีชพีช)
ภิกษุทั้งหลาย! ถ้าสิ่งที่ใช้เป็นพืช ๕ อย่างเหล่านี้ ที่ไม่ถูกทำลาย ยังไม่เน่าเปื่อย ยังไม่แห้งเพราะลมและแดด ยังมีเชื้องอกบริบูรณ์อยู่ และอันเจ้าของเก็บไว้ด้วยดีแต่ดิน น้ำ ไม่มี... ภิกษุทั้งหลาย! สิ่งที่ใช้เป็นพืช ๕ อย่าง เหล่านั้น จะพึงเจริญงอกงามไพบูลย์ ได้แลหรือ?... หาเป็นเช่นนั้นไม่ พระเจ้าข้า!
ภิกษุทั้งหลาย! ถ้าสิ่งที่ใช้เป็นพืช ๕ อย่างเหล่านี้แหละ ที่ไม่ถูกทำลายยังไม่เน่าเปื่อย ยังไม่แห้งเพราะลมและแดด ยังมีเชื้องอกบริบูรณ์อยู่ และอันเจ้าของเก็บไว้ด้วยดี ทั้งดิน น้ำ ก็มีด้วย... ภิกษุทั้งหลาย! สิ่งที่ใช้เป็นพืช ๕ อย่าง เหล่านั้น จะพึงเจริญ งอกงามไพบูลย์ ได้มิใช่หรือ?... อย่างนั้น พระเจ้าข้า!
ภิกษุทั้งหลาย ! วิญญาณฐิติ ๔ อย่าง (รูป เวทนา สัญญา สังขาร) พึงเห็นว่า เหมือนกับ ดิน
ภิกษุทั้งหลาย ! นันทิราคะ พึงเห็นว่าเหมือนกับ นํ้า
ภิกษุทั้งหลาย ! วิญญาณ ซึ่งประกอบด้วยปัจจัย พึงเห็นว่าเหมือนกับ พืชสดทั้ง ๕ นั้น
ภิกษุทั้งหลาย ! วิญญาณ ซึ่งเข้าถือเอารูป ตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้ เป็นวิญญาณที่มีรูปเป็นอารมณ์ มีรูปเป็นที่ตั้งอาศัย มีนันทิเป็นที่เข้าไปส้องเสพ ก็ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ได้
ภิกษุทั้งหลาย ! วิญญาณ ซึ่งเข้าถือเอาเวทนาตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้ เป็นวิญญาณที่มีเวทนาเป็นอารมณ์มีเวทนาเป็นที่ตั้งอาศัย มีนันทิเป็นที่เข้าไปส้องเสพ ก็ถึงความเจริญ งอกงามไพบูลย์ได้
ภิกษุทั้งหลาย ! วิญญาณ ซึ่งเข้าถือเอาสัญญาตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้ เป็นวิญญาณที่มีสัญญาเป็นอารมณ์มีสัญญาเป็นที่ตั้งอาศัย มีนันทิเป็นที่เข้าไปส้องเสพ ก็ถึงความเจริญ งอกงามไพบูลย์ได้
ภิกษุทั้งหลาย ! วิญญาณ ซึ่งเข้าถือเอาสังขารตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้ เป็นวิญญาณที่มีสังขารเป็นอารมณ์มีสังขารเป็นที่ตั้งอาศัย มีนันทิเป็นที่เข้าไปส้องเสพ ก็ถึงความเจริญ งอกงามไพบูลย์ได้
ภิกษุทั้งหลาย! ผู้ใดจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า :- เราจักบัญญัติซึ่งการมา การไป การจุติ การอุบัติ ความเจริญ ความงอกงามและความไพบูลย์ ของวิญญาณ โดยเว้นจากรูป เว้นจากเวทนา เว้นจากสัญญา และเว้นจากสังขารดังนี้นั้น... "นี่ไม่ใช่ฐานะที่จักมีได้เลย"...
ภิกษุทั้งหลาย! ถ้าราคะในรูปธาตุ ในเวทนาธาตุ ในสัญญาธาตุ ในสังขารธาตุ ในวิญญาณธาตุ เป็นสิ่งที่ภิกษุละได้แล้ว เพราะละราคะได้ อารมณ์สำหรับวิญญาณก็ขาดลง ที่ตั้งของวิญญาณก็ไม่มี วิญญาณอันไม่มีที่ตั้งนั้น ก็ไม่งอกงาม หลุดพ้นไปเพราะไม่ถูกปรุงแต่ง เพราะหลุดพ้นไป ก็ตั้งมั่น เพราะตั้งมั่น ก็ยินดีในตนเอง เพราะยินดีในตนเอง ก็ไม่หวั่นไหว เมื่อไม่หวั่นไหว ก็ปรินิพพานเฉพาะตน
... ย่อมรู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้สำเร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก ดังนี้...
Edited by wat, 12 June 2013 - 09:59.