วันนี้ (1 ก.ค. 56) นางสาวตรีดาว อภัยวงศ์ โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 8/2556 ว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการระบายน้ำดำเนินการโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสัน
กทม.โว ผลสำรวจความพึงพอใจต่อการบริหารงานตามนโยบาย กทม.ใน 50 เขต พบส่วนใหญ่พอใจการทำงานของ กทม.ระดับพึงพอใจมาก โดยนโยบายเร่งด่วนเรื่องการสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย ปชช.พึงพอใจมากที่สุด ขณะที่นโยบายติดกล้องซีซีทีวี เพิ่มอีก 2 พันจุด เห็นผลเป็นรูปธรรม
วันนี้ (1 ก.ค.) ที่ศาลาว่าการ กทม.นางสาวตรีดาว อภัยวงศ์ โฆษกกรุงเทพมหานคร แถลงผลการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครครั้งที่ 8/2556 ซึ่งมี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม โดยในวันนี้สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กทม.ได้รายงานผลการสำรวจความพึงพอใจของประชาชนชาวกรุงเทพมหานครที่มีต่อการบริหารงานตามนโยบายของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 2556 ซึ่ง กทม.ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นที่ปรึกษาโครงการ ดำเนินการสำรวจความพึงพอใจของประชาชนชาวกรุงเทพฯรวมถึงการรับรู้ของประชาชนต่อการบริหารงานตามนโยบายของกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 22-30 เม.ย.56 จำนวน 10,036 คน ในพื้นที่ 50 เขตของกรุงเทพมหานคร โดยเป็นผู้มีชื่อตามทะเบียนบ้านร้อยละ 99.83 และเป็นผู้ที่มีชื่อในทะเบียนบ้านต่างจังหวัดร้อยละ 0.17 โดยผลสำรวจภาพรวมการบริหารงานพบว่า อยู่ในระดับพึงพอใจมาก คิดเป็นร้อยละ 82.25
5 อันดับนโยบายสร้างความพึงพอใจแก่ประชาชน
โฆษก กทม.เปิดเผยผลการสำรวจพบว่า ประชาชนชาวกรุงเทพฯ พอใจนโยบายการบริหารงานเร่งด่วนของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครตามที่ได้หาเสียงไว้ โดย 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.การสร้างโรงบำบัดน้ำเสียเพิ่มอีก 5 แห่ง เพื่อบำบัดน้ำเสียให้สะอาด ก่อนปล่อยลงสู่คูคลองและแม่น้ำเจ้าพระยา 2.การจัดตั้งสภามหานครอาเซียน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกรุงเทพมหานคร และองค์กรในอาเซียน 3.การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ ประชาชน คนขับแท็กซี่ และคนขับรถสาธารณะให้สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ 4.การเพิ่มประสิทธิภาพการดับเพลิงอาคารสูง พร้อมชุดปฏิบัติการดับเพลิงขนาดเล็กสำหรับชุมชน 5.นักเรียนโรงเรียน กทม.มีภาษาอังกฤษแข็งแรงเพื่อพร้อมรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
5 อันดับผลงานเป็นรูปธรรมมากที่สุด
ในส่วนโครงการที่ชาวกรุงเทพฯ รับรู้และเคยเห็นผลงานที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.การเพิ่มความปลอดภัยโดยเร่งติตั้งกล้อง CCTV ทุกถนน ทุกซอย อีก 20,000 ตัว 2.การขยายเครือข่ายกล้อง CCTV 50,000 ตัว โดยเชื่อมโยงกับเครือข่ายเอกชน 200,000 ตัว 3.นักเรียนโรงเรียน กทม.เรียนฟรี อิ่มท้อง สมองดี มีวินัย โตไปไม่โกง 4.การติดตั้งไฟส่องสว่างในพื้นที่เสี่ยงอีก 20,000 ดวง เพื่อลดปัญหาอาชญากรรม และ 5.การป้องกันน้ำท่วมด้วยการสร้าง อุโมงค์ระบายน้ำยักษ์เพิ่ม 6 แห่ง พร้อมทั้งมีระบบตรวจสอบสภาพเตือนภัยน้ำท่วม
5 ปัญหาต้องแก้เพื่อคนกรุง
โฆษก กทม.กล่าวอีกว่า สำหรับปัญหาที่ชาวกรุงเทพฯ ต้องการให้เร่งแก้ไขมากที่สุด ได้แก่ ปัญหาการจราจรติดขัด ปัญหาขยะ อาทิ ส่งกลิ่นเหม็น เก็บล่าช้า และจำนวนถังขยะไม่เพียงพอ ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เช่น อาชญากรรม ขโมย ปัญหาน้ำเน่าเสีย น้ำท่วม น้ำขัง ซึ่ง กทม.ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลแก้ไขเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนแล้ว รวมถึงจะเพิ่มประสิทธิภาพประชาสัมพันธ์นโยบายกรุงเทพมหานครเชิงรุก เพื่อให้ประชาชนรับรู้และเข้าถึงข่าวสารและนโยบายของกรุงเทพมหานครได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ในส่วนของปัญหาการจราจรนั้น กทม.จะประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการแก้ไขปัญหาเนื่องจากภารกิจดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ด้านการป้องกันน้ำท่วม กทม.มีแผนเตรียมพร้อมรับสถานการณ์แล้ว รวมถึงแผนการระบายน้ำของอุโมงค์ยักษ์ ซึ่งหากประชาชนสนใจเยี่ยมชมการทำงานของอุโมงค์ยักษ์บึงมักกะสัน สามารถติดต่อสำนักการระบายน้ำ โทร.0 2249 4761-2 กด 0
ขณะเดียวกันด้านปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหายาเสพติด ซึ่ง กทม.ถือเป็นปัญหาสำคัญยิ่ง ได้เร่งรัดดำเนินการในทุกด้านทั้งด้านการบำบัดรักษา ดูแลและเยียวยาผู้ป่วย โดยวันพรุ่งนี้ (2 ก.ค.) ผู้ว่าฯ กทม. จะมอบนโยบายให้แก่ 50 สำนักงานเขต และ 88 สถานีตำรวจนครบาล เพื่อติดตามปัญหาและขอความร่วมมือในการประสานการทำงานต่อไป
แจ้งชุมชนกำหนดจุดตั้งวางขยะ เพื่อง่ายต่อการจัดเก็บ ไม่มีตกค้าง
นายบรรจง สุขดี รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการจัดการและแก้ไขปัญหาขยะของกรุงเทพมหานคร ว่า ปัจจุบัน กทม.ยังไม่สามารถจัดเก็บขยะในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ครบ 100% โดยเฉพาะในชุมชนต่างๆ เนื่องจากรถเก็บขนมีขนาดใหญ่ ชุมชนเป็นซอยแคบ อีกทั้งประชาชนส่วนใหญ่จอดรถหน้าบ้าน ทำให้การเข้าไปจัดเก็บในชุมชนทำได้ลำบาก อย่างไรก็ตามสำนักสิ่งแวดล้อมได้ประสานสำนักงานเขตหารือกับชุมชนในการกำหนดจุดตั้งวางขยะหรือจุดพักขยะ 1-2 จุด เพื่อให้รถเก็บขนเข้าไปจัดเก็บได้ทั้งหมด ไม่มีตกค้าง
ซอยสุขุมวิท 50 บทเรียนแก้ปัญหาจุดอ่อนน้ำท่วมริมเจ้าพระยา
นายสัญญา ชีนิมิตร รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กทม.มีแผนเตรียมความพร้อมการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและจุดอ่อนต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ แต่ทั้งนี้ กรณีน้ำท่วมบริเวณซอยสุขุมวิท 50 นั้น เกิดจากมีการซ่อมแซมแนวกระสอบทรายซึ่งเป็นแนวป้องกันน้ำท่วมชั่วคราวริมแม่น้ำเจ้าพระยากระทันหัน เนื่องจากกระสอบทรายชุดเดิมผุกร่อนจึงมีการเปลี่ยนกระสอบทรายใหม่แต่วางเรียงไม่ครบเท่าเดิม ประจวบกับในวันดังกล่าวเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลหนุนสูงผิดปกติเกินกว่า 90 เซนติเมตร อีกทั้งมีพายุฝน ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงกว่าแนวกระสอบทราย และมีน้ำทะลักเข้ามาในพื้นที่เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม กทม.ได้เร่งแก้ไขโดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงจึงแล้วเสร็จ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นบทเรียนแก่กทม.ในการดำเนินงานบริเวณจุดอ่อนน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงการตรวจสอบผลกระทบโดยรวมก่อนดำเนินการในจุดอื่นๆ ต่อไป เช่น บริเวณถนนทรงวาด ชุมชนสันติชนสงเคราะห์ และในพื้นที่เขตบางพลัด เป็นต้น
ที่มา : https://www.facebook.com/Bangkok.Eyes