ทำไม ส.ส.ประชาธิปัตย์ควรลาออกมาสู้กับประชาชน?
ผมเห็นว่าเวลาจะคุยกับใครเพื่อการปฏิรูปประเทศต้องคุยกับคนที่พร้อมเสียสละ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายที่มีอำนาจรัฐหรือฝ่ายที่จะมีอำนาจรัฐต่อไปยิ่งต้องเสียสละให้เห็นก่อนเพื่อส่งสัญญาณว่าการปฏิรูปประเทศต่อไปนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไมีใช่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน แต่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ทั้งในมิติของอำนาจและผลประโยชน์ และอาจหมายรวมถึงความพร้อมเสียสละที่จะให้มีผลกระทบในทางลบต่ออำนาจและผลประโยชน์ของนักการเมืองในยุคปัจจุบันด้วย
ฝ่ายรัฐบาลไม่ยอมเสียสละที่จะถอนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมออกจากสภาการพูดคุยของฝ่ายที่ขัดแย้ง การพูดคุยกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลก็ต้องจบลง เพราะถือว่าขนาดเรื่อง พรบ.นิรโทษกรรมยังเสียสละไม่ได้แล้วจะเสียสละอำนาจหรือผลประโยชน์ส่วนตนที่จะปฏิรูปประเทศเพื่อประโยชน์ประชาชนได้อย่างไร เมื่อเป็นเช่นนั้นพันธมิตรฯจึงไม่สามารถเข้าร่วมวงตามคำเชิญของพรรคเพืี่อไทยได้
เพราะ "การเสียสละ" ของผู้มีอำนาจและกอดผลประโยชน์ของฝ่ายผู้ชนะซึ่งก็คือฝ่ายรัฐบาลเกิดขึ้นได้ยากยิ่ง
ข้อเสนอของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล จึงยื่นไปยัง "ผู้แพ้ในระบบปัจจุบัน" คือพรรคประชาธิปัตย์ เพราะพรรคประชาธิปัตย์มีศักยภาพและความพร้อมมากที่สุดในการนำมวลชนออกมาเพื่อการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะในยามที่แกนนำพันธมิตรฯ ผู้ปราศรัย และ ศิลปิน มีข้อจำกัดด้วยคำสั่งศาลในเรื่องเงื่อนไขในการประกันตัว การนำโดยพรรคประชาธิปัตย์เพื่อการปฏิรูปประเทศไทยจึงเป็นไปได้มากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ
พรรคประชาธิปัตย์มีจำนวนผู้หย่อนบัตรลงคะแนนถึง 12 ล้านคะแนน มีศรัทธาจากประชาชนอยู่มาก มีทีวีที่สนับสนุนตัวเอง 2 ช่อง มีนักปราศรัยฝีปากกล้าชั้นยอดที่ไม่มีเงื่อนไขจากคำสั่งศาลมากที่สุด มีงบประมาณและนายทุนหนุนหลัง มีนักการเมืองท้องถิ่นที่จะสามารถเชื่อมโยงจัดตั้งมวลชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีนักกฎหมายที่พร้อมจะเป็นทนายสํูคดีความอีกมากมาย
ขาดเพียงปัจจัยอีก 2 ประการเท่านั้นคือ "ใจ" กับ "ประสบการณ์"
"ใจ" ที่ว่าคือจิตใจที่พร้อม "เสียสละ"หมดหน้าตักเพื่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
"ใจ" ที่ว่านี้คือจิตใจที่มีความศรัทธาและเชื่อมั่นการเปลี่ยนแปลงประเทศด้วยพลังของมวลมหาประชาชน
"ใจ" ที่ว่านี้หมายถึงความมุ่งมั่นและเชื่อมั่นว่าพรรคประชาธิปัตย์จะดึงมวลมหาประชาชนอแกมาเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ได้
"ใจ" ที่ว่านี้คือความ "กล้าหาญ" ที่จะก้าวออกมาจากระบบการเมืองที่ล้มเหลว พร้อมจะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง
ส่วนประสบการณ์ในการนำมวลชนยังมีไม่มาก แต่ถ้า "ธงทางการเมืองถูกต้อง" ก็จะเกิดแนวร่วมเกิดขึ้นอีกมากมาย ก่อให้เกิดความร่วมมือในการบริหารจัดการ แม้กระทั่งไม่มีใครจะกล้าลุกขึ้นมาต่อต้านให้เสียเลือดเนื้อได้
และข้อสำคัญที่สุดคือ "ใจ" และ "ธงทางการเมืองที่เกิดขึ้น" จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ต้องมึศรัทธาก่อนว่า "มวลชนนอกสภาอันมหาศาล"สามารถเปลี่ยนประเทศไทยได้
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2555 ถ้าคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ในเวลาที่พันธมิตรฯไม่ได้มีพันธนาการจากคำสั่งศาล ก็ได้พิสูจน์ตัวเองมาแล้วในช่วงเดือนพฤษภาคม 2555 ที่พันธมิตรประชาขนเพื่อประชาธิปไตยขัดขวาง พรบ.ปรองดองแห่งชาติ (ฉบับ พลเอกสนธิ) ได้อย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ก่อนลงมติวาระที่ 1 ซึ่งเวลานั้นพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถยับยั้งในสภาผู้แทนราษฎรได้ ที่ทบทวนตรงนี้ก่อนเพราะมักจะมีคนกล่าวหาใส่ร้ายว่าพันธมิตรฯไม่ออกมาชุมนุมเพราะได้ประโยชน์จาก พรบ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ ซึ่งตรงนี้ย่อมแสดงว่าคนเหล่านี้ "ความจำสั้น" หรือเลวร้ายกว่านั้นคือ "ตั้งใจใส่ร้ายตาม***เดิม"เท่านั้น
ผมเข้าใจคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ว่า สถานภาพที่โดนคำสั่งศาลที่เป็นข้อจำกัดในการชุมนุมนั้น การที่จะเคลื่อนไหวในเรื่องใดๆในการชุมนุมอีกครั้งหนึ่งจึงย่อมมีความเสี่ยงในการถูกถอนประกันจากคำสั่งศาล
ดังนั้นการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯอีกครั้งหนึ่งจึงเปรียบเมือน "ลูกธนูดอกสุดท้าย" ที่ตัองยิงออกไปแล้วต้องไม่ใช่แค่ได้รับชัยชนะเท่านั้น แต่ชัยชนะนั้นจำเป็นต้องคุ้มค่ากับเดิมพันด้วย "การเสียสละ"ที่จะเกิดขึ้นต่อไป
และคุณสนธิ ลิ้มทองกุลได้เลือกแล้วว่าจะใช้ลูกธนูดอกสุดท้ายเดิมพัน กับ "การปฏิรูปประเทศเพื่อเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองครั้งใหญ่" เท่านั้น จึงจะคุ้มค่าในการเสียสละครั้งนี้ !!!
เพราะคุณสนธิ คงได้ตระหนักดีแล้วว่า "ลูกธนูดอกสุดท้าย" ไม่ได้มีไว้สำแดงกำลังเป็นกิจกรรมส่งเสริมการขายให้พรรคประชาธิปัตย์ไปแพ้ในสภาเฉพาะร่าง พรบ.นิรโทษกรรม อย่างที่เกิดขึ้นในวาระ 1 และกำลังจะเกิดขึ้นต่อไปในวาระที่ 2 และ 3 เพียงเพื่อบอกประชาชนว่า "เราทำเต็มที่แล้ว" เพื่อให้ประชาธิปัตย์จะดูดีขึ้นในการเลือกตั้งครั้งหน้าโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ
ถ้าคุณสนธิ ลิ้มทองกุล จะยิง"ลูกธนูดอกสุดท้าย"ด้วยเป้าหมายเพียงแค่นี้ก็ถือว่า "เสียของ"
เพราะต่อให้ลูกธนูดอกสุดท้ายยิงไปเพื่อขัดขวาง พรบ.นิรโทษกรรม ให้กับผู้ปราศรัย(อาจรวมถึงแกนนำหลายคน)และมวลชนคนเสื้อแดงได้สำเร็จ ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกถอนประกัน สนธิ ลิ้มทองกุล ก็ไม่สามารถที่จะไปขัดขวางเรื่องสำคัญกว่านี้ (ถ้ามี)ไม่ว่าจะเป็น ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมให้ทักษิณ, การฉีกรัฐธรรมนูญเพื่อรวบอำนาจทำลายกระบวนการถ่วงดุลตรวจสอบ, กฎหมายกู้เงินที่ทำลายชาติบ้านเมือง กฎหมายเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ฯลฯ
และต่อให้การขัดขวางเรื่องดังกล่าวข้างต้นได้ ประเทศชาติก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง ไม่ได้มีอะไรดีขึ้น มีแต่เลวลงมากหรือเลวลงน้อย เพราะไม่ว่านักการเมืองฝ่ายไหนก็จะยังคงผลัดเปลี่ยนกันทุจริตโกงบ้านกินเมืองกันต่อไป ต่อไป และต่อไป การยิงลูกธนูดอกสุดท้ายออกไปก็จะเสียของอีกเช่นกัน
เพราะสิ่งที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ประกาศมาตั้งแต่ปี 2551 ว่าปัญหาประเทศชาติในขณะนี้ไม่ใช่แค่ระบอบทักษิณ แต่การเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมันเป็นระบบการเมืองที่ล้มเหลว ต่อให้ฝ่ายค้านมีเหตุผลดีอย่างไรในการอภิปราย ตั้งกระทู้ คำตอบก็จะกลับมาอยู่ที่จุดเดิม คือฝ่ายเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรซึ่งก็คือฝ่ายรัฐบาลก็จะชนะอยู้ร่ำไป ฝ่ายค้านก็จะแพ้อยู่ร่ำไป ตามจำนวนคณิตศาสตร์ที่นักการเมืองในสภาไม่ได้ฟังการอภิปรายเพราะรอเล่นไอแพดเปิดรูปโป๊ เล่นเกม เพื่อรอการแสดงตนในยามที่มีการนับองค์ประชุม หรือลงมติตามที่พรรคสั่งมา ที่เป็นหลักคณิตศาสตร์ที่ว่าฝ่ายรัฐบาลจะชนะอยู่วันยังค่ำ ฝ่ายค้านก็จะแพ้ไปเรืี่อย โดยไม่มีใครใช้หลักการเหตุผลถึงความถูกต้อง ดีงาม ศีลธรรม แบะคุณธรรม
และการได้รับชัยชนะอยู่ร่ำไปของฝ่ายรัฐบาลในทุกยุค ไม่เคยก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน สุดท้ายภายใต้ระบบนี้คือทุนสามานย์ที่เข้าสู่อำนาจจะเป็นผู้ชนะตลอดกาล และคนที่พ่ายแพ้ตลอดกาลคือประชาขน
ไม่เคยมีรัฐบาลและรัฐสภาชุดใดเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเรื่องทรัพยากรปิโตรเลียม ที่จะทำให้ประชาชนและประเทศชาติมีฐานะความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ให้ประชาชนได้ลืมตาอ้าปากสามารถใช้ราคาพลังงานเหมาะสมกับฐานะเศรษฐกิจของประชาชน ในฐานะที่ประเทศไทยมีทรัพยากรปิโตรเลียมจำนวนมหาศาลที่เปิดสัมปทานไปมากแล้วและจะสัมปทานต่อไปในราคาภาคหลวงที่รัฐได้แสนต่ำมาหลายสิบปีแล้ว
ไม่เคยมีรัฐบาลที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากตรากฎหมายให้คดีทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงไม่มีอายุความ เพราะนักการเมืองส่วนใหญ่ที่มีอิทธิพลเป็นนายทุนให้พรรคการเมืองมาทำงานเพื่อถอนทุนและทำกำไรจากงานทางการเมืองทุกขั้ว
ไม่เคยมีนักการเมืองในรัฐบาลเสียงข้างมาก มีความคิดจะทำให้เกิด ส.ส.ที่เป็นตัวแทนตามสาขาอาชีพหรือสังคมที่ไร้สังกัดพรรคการเมือง เพื่อปกป้องผลแระโยชน์ในอาชีพและสังคมของตัวเองโดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของนายทุนพรรคการเมืองเพราะทุกขั้วอำนาจก็ยังหวังที่จะเป็นเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้ง รวบอำนาจให้มากที่สุด ทุกพรรคการเมืองจึงมุ่งแต่เพิ่มอำนาจรัฐ ลดอำนาจประชาชนกันทั้งสิ้น
สิ่งที่พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลกำลังเดินหน้าคือ "ศึกสงครามชิงเมือง" ล้างความผิดให้พวกพ้องในอดีต แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนในปัจจุบัน กระชับอำนาจในอนาคต ด้วยหลักคิดที่เป็น "เผด็จการที่มาจากการเลือกตั้ง" จึงย่อมทำอะไรได้ทุกอย่าง ออกกฎหมายหลายฉบับที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ตรากฎหมายที่ขัดกับหลักนิติรัฐและักนิติธรรมที่องค์กรนานาชาติไม่สามารถยอมรับได้ ออกกฎหมายหรือมีการกระทำใดที่จะขัดต่อรัฐธรรมนูญก็แก้รัฐธรรมนูญนั้นเสีย เพราะพรรคเพื่อไทยกำลังอาศัยรัฐสภา (รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์) เป็นกลไกในการสร้างความชอบธรรมในสิ่งที่เกิดขึ้น
ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ยังจะมีความหวังสลับขั้ว ด้วยวิธีพิเศษ เช่น อำนาจศาลภายใต้พระปรมาภิไธย หรืออำนาจทหารภายใต้จอมทัพไทย ฝ่ายคนเสื้อแดงที่แตกแยกกันอยูในเวลานี้ก็จะรวมตัวมากกว่าเดิมประเทศชาติก็จะไม่สงบต่อไป เป็นสงครามกลางเมืองที่อาจเลวร้ายยิ่งกว่าเดิม เพราะอำนาจรัฐที่ได้มาแบบนี้ฝ่ายรัฐก็จะยังทำหน้าที่อยู่ในกรอบที่จะไม่สามารถต่อสู้ได้ทันกับพลวัตรของคนเสื้อแดงได้
ด้วยวาทะกรรมที่จะตอกย้ำขยายมวลชนไปได้ยิ่งกว่าเดิมว่า ประชาธิปัตย์+อำมาตย์ร่วมกันปล้นประชาธิปไตยจากคนเสื้อแดง ซ้ำร้ายอาจทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกใส่ร้ายและต้องเผชิญหน้ากับคนเสื้อแดงทั้งทางตรงและทางอ้อมเพิ่มขึ้นอีกโดยไม่จำเป็น
ข้อสำคัญเมื่อถึงเวลาเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยก็จะชนะอีกอยู่ดี และอาจชนะมายิ่งกว่าเดิม
ดังนั้นถ้าประชาธิปัตย์ยังคงคิดว่าจะใช้สิทธิ์จำกัดหัวข้อการต่อสู้การคัดค้าน พรบ.นิรโทษกรรม ต่อไปในสภา โดยใช้มวลชนเป็นเพียงแค่กิจกรรมส่งเสริมการขาย พรรคประชาธิปัตย์ย่อมรู้อยู่แล้วว่าจะต้องพ่ายแพ้ทั้งในวาระที่ 2 หรือ 3 ต่อไปอย่างแน่นอน
และความจริงนอกจาก พรบ.นิรโทษกรรม จะเป็นปัญหาแล้ว ต่อไปก็มีกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยึดองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ฯลฯ ซึ่งฝ่ายรัฐบาลก็จะใช้หลักคณิตศาสตร์จำนวน ส.ส.เพื่อยึดอำนาจประเทศไทยแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในที่สุด
บางคนหวังพึ่งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ก็ดูเอาเถิดว่าประเทศชาติประชาชนทั้งประเทศเราจะไปหวังพึ่งคนไม่ถึง 10 คน ได้อย่างไร บางคนก็ถูกข่มขู่คุกคามจนอยู่ไม่ได้ บางคนก็ถูกซื้อ แถมบางคนยังกลัวฝ่ายอำนาจรัฐที่สามารถแก้ไขกฎหมายเพื่อกำจัดองค์กรอิสระได้อีก และถึงแม้หาก องค์กรอิสระมีความกล้าหญก็ใช่ว่าบ้านเมืองจะสงบสุข เพราะฝ่ายที่ถูกตัดสินให้ผิดก็จะใช้โฆษณาชวนเชื่อว่าถูกปล้นอำนาจโดยคำสั่วลวอำมาตย์ ด้วยคนไม่กี่คน พรรคเพื่อไทยก็จะขยายมวลชนให้ตัวเติบโตขึ้นไปอีกชนะการเลือกตั้งอีก และอาจใช้เป็นเงื่อนไขในการตรากฎหมายเพื่อทำลายล้างองค์กรอิสระเหล่านี้ในที่สุด
ดังนั้นภาวะนี้ไม่ใช่ภาวะปกติ แต่เป็นภาวะวิกฤติ ที่เปิดโอกาสให้เผด็จการที่มาจากการเลือกตั้งได้ขนาดนี้
ขอย้ำว่า "ข้อเสนอของคุณสนธิ" ช่วงเวลานี้ไม่ใช่ภาวะปกติ แต่เป็นภาวะวิกฤติในการชิงบ้านชิงเมือง ที่พรรคประชาธิปัตย์ที่มีศักยภาพสูงสุดในเวลานี้ต้องตัดสินใจ
การต่อสู้เปลี่ยนระบอบเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้งไม่สามารถเปลี่ยนในสภาได้ การเปลี่ยนแปลงระบอบอันเลวร้ายทั่วโลกจะเกิดได้เฉพาะมวลชนนอกสภาเท่านั้น
มวลชนนอกสภาจะไม่สามารถชนะได้เลยหากตั้งธง "โค่นระบอบทักษิณ" เพราะการตั้งธงเช่นนั้น ก็จะนำไปสู่การเผชิญหน้ากับคน 15 ล้านคนของพรรคเพืี่อไทย ทำไปก็รังแต่จะเสี่ยงกับสงครามระหว่างประชาชนเสียเลือดเนื้อทั้ง 2 ฝ่าย เป็นสงครามยืดเยื้อยาวนาน
การเคลื่อนไหวมวลชนนอกสภาครั้งนี้จึงต้อง "ตั้งธงเปลี่ยนระบบ ปฏิรูปประเทศไทย เพื่ออำนาจและผลประโยชน์ของประชาชน 65 ล้านคนอย่างแท้จริง"
ข้อเสนอของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ที่ยื่นมือไปยังพรรคประชาธิปัตย์ว่า ให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เสียสละลาออกเพื่อปฏิเสธความชอบธรรมระบอบเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้งครั้งนี้ แล้วมานำมวลชนเพื่อเรียกร้องการปฏิรูปประเทศไทยเพื่อผลประโยชน์ของคนไทย 65 ล้านคน ถึงเวลานั้นคุณสนธิก็จะเข้าร่วมในฐานะผู้ตามและสนับสนุนในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ด้วย
การลาออกจาก ส.ส. เป็นการเสียสละที่มีผลกระทบรุนแรงมาก เพราะภาพลักษณ์ของฝ่ายรัฐบาลเป็นเผด็จการในรัฐสภาเต็มตัว และพลังของพรรคประชาธิปัตย์ที่ลาออกเพื่อปฏิเสธระบบนั้นรุนแรงเปรียบเสมือนการเดิมพันด้วยการ "ทุบหม้อข้าว" บุกประตูตีเมืองเพื่อ "เปลี่ยนระบบ"เป็นเป้าหมายเดียวจนกว่าจะได้รับชัยชนะ ถึงเวลานั้นคนในชาติก็รวมใจพร้อมจะทุบหม้อข้าวสู้ไปพร้อมกับพรรคประชาธิปัตย์อย่างแน่นอน
แต่การเดิน 2 ขา ทั้งในสภา และนอกสภา ก็แสดงว่าพรรคประชาธิปัตย์ยังต้องการเป็นส่วนหนึ่งของระบบนี้และรอวันเปลี่ยนขั้ว ไม่เดิมพันหมดหน้าตักจริง พลังนอกสภาก็จะไม่เข้มแข็งพอที่จะเกิดการรวมชาติเพื่อเปลี่ยนระบบ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากประชาธิปัตย์ยังเลือกสู้ "รายประเด็น"มากกว่าการเคลื่อนมวลชนเพื่อ "เปลี่ยนระบบ" เพียงแค่รัฐบาลแสร้งปลดเงื่อนไขเล็กน้อย ยอมอ่อนลงในกระบวนการทางสภา (เช่น ยอมถอนไม่นิรโทษกรรม ผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในชั้นแปรญัตติ) ก็จะสามารถลดพลังอำนาจในการเคลื่อนไหวนอกสภาในประเด็นนั้นๆให้อ่อนลง เพื่อเปิดโอกาสให้รัฐบาลไปทำชั่วเรื่องอื่นที่สำคัญกว่านี้ได้ไปเรื่อยๆ และก็จะได้รับชัยชนะทางคณิตศาสตร์ด้วยจำนวน ส.ส.ในสภาอยู่ร่ำไป
หรือในอีกด้านหนึ่งหากประชาธิปัตย์ยังหวัง "ต่อสู้รายประเด็น" และหวังพึ่งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญในระบบแบบนี้ หากเกิดการข่มขู่คุกคามและล็อบบี้ด้วยผลประโยชน์ จนองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีคนเพียงไม่กี่คนไม่กล้าตัดสินอย่างตรงไปตรงมาแล้ววินิจฉัยให้พรรคเพื่อไทยสามารถเดินหน้าในปัญหารายประเด็นนั้นได้(เหมือนกับที่เกิดขึ้นมาแล้วในช่วงเวลาที่ผ่านมา) หรือแม้แต่แก้ไขกฎหมายหรือแก้ไขที่มาของ ส.ว. เพื่อยึดองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแล้ว ต้องระวังด้วยว่าการฝากความหวังไว้ที่คนเพียงไม่กี่คนในองค์กรอิสระเหล่านั้นอาจทำลายการเคลื่อนไหวรายประเด็นนอกสภาให้หมดความชอบธรรมลงในที่สุด
การสู้ 2 ขา ทั้งนอกสภาและในสภา ย่อมแสดงว่าประชาธิปัตย์ยังยอมรับระบบปัจจุบันอยู่ 1 ขา ไม่ได้เคลื่อนตัวเพื่อเปลี่ยนระบบเต็มตัว การเคลื่อนนอกสภาก็จะได้มวลชนจำนวนหนึ่งแต่ไม่เต็มกำลังสูงสุดที่จะเปลี่ยนบ้านเมืองได้ ดังนั้นหากรัฐบาลเห็นว่าสถานการณ์ภายนอกสภาเพลี่ยงพล้ำก็จะยังมีเครื่องมือในการยุบสภา กระแสการชุมนุมก็จะยุติลงประชาธิปัตย์ก็จะสนใจกลับไปเลือกตั้งและก็จะพ่ายแพ้อีก และจะสร้างความชอบธรรมให้กับฝ่ายรัฐบาลอีก
นี่คือเหตุผลว่า "ทำไมต้องเทหมดหน้าตักต่อสู้นอกสภาอย่างเดียว" เพราะเป้าหมายจะเป็นไปเพื่อการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศจนกว่าจะได้รับชัยชนะ โดยไม่แยแสว่าจะมีการยุบสภาหรือไม่ ไม่จำเป็นต้แงกลับไปเลือกตั้งอีกหากยังไม่มีการเปลี่ยนระบบ เพราะนี่คือการ...
"ทุบหม้อข้าวบุกประตูตีเมือง เปลี่ยนประเทศเพืี่อคนไทย 65 ล้านคน"
ที่ต้องย้ำว่าเพื่อคนไทยทั้ง 65 ล้านคน นั้นก็เพราะหากประชาธิปัตย์ในฐานะผู้แพ้ในยุคปัจจุบัน
ชูธงปฏิรูปประเทศไทยเพื่อคน 65 ล้านคนแล้ว หมายถึงผลประโยชน์ได้กับคนทุกสีทุกหมู่เหล่า ที่แทบจะไม่มีใครออกมาต่อต้าน ขัดขวางให้เกิดการนองเลือดได้เลย
เช่น
ใครจะออกมาต่อต้าน หากประชาธิปัตย์ชูธงการปฏิรูปพลังงาน เพิ่มค่าภาคหลวง และให้คนไทยในฐานะประชากรในประเทศที่มีทรัพยกรปิโตรเลียมอันมหาศาล ได้ใช้ราคาพลังงานเหมาะสมดับฐานะทางเศรษฐกิของตัวเอง ?
ใครจะออกมาต่อต้าน หากประชาธิปัตย์ชูธงการปฏิรูปผลประโยชน์ของชาติ ทำสงครามกับคอรัปชั่น ชูธงปฏิรูปให้คดีทุจริตคอรัปชั่นไม่มีอายุความ และใช้มาตรการทางภาษีในการตรวจสอบการได้มาของทรัพย์สินของนักการเมือง ซึ่งเป็นข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่ตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เอง?
ในขณะที่รัฐบาลตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศจากอดีตนักการเมืองจะแก้กันเองในระบบ แต่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ซึ่งมี นพ.ประเวศ วะสี และคุณอนันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน และได้มีข้อเสนอต่อรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อนักการเมือง แต่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน 65 ล้านคน พรรคประชาธิปัตย์เมื่อลาออกแล้วก็ย่อมมีความชอบธรรมนำประชาชนนอกสภาตั้งเป็น "สภาปฏิรูปประเทศไทยภาคประชาชน" ทำประชาพิจารณ์นอกสภา เพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้จนกว่าจะสำเร็จใ ให้ประเทศชาติลดความเหลื่อมล้ำ ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน
ขอย้ำ ไม่มีใครออกมาต่อต้านของพลังการขับเคลื่อนเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน 65 ล้านคน ผู้ที่ออกมาต่อต้านก็จะต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในที่สุด
ถ้าทำได้เช่นนี้ถือเป็นการเสียสละครั้งย่ิงใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์เอง และจะทำให้ประชาธิปัตย์ได้ใจประชาชนในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง และพรรคประชาธิปัตย์ก็จะก้าวหน้าอย่างมั่นคง และยั่งยืน
ข้อสำคัญหาก "ธงทางการเมืองถูกต้อง" ก็จะเกิดแนวร่วมอย่างมากมาย เมื่อผู้คนหลายแสนหรือนับล้านเกิดขึ้น มันก็จะไม่มีการประชุมสภาไปโดยปริยาย ไม่ต้องพึ่งองค์กรอิสระเพียงไม่กี่คน ไม่ต้องพึ่งพาทหาร แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศโดยการปฏิวัติของประชาชน ถึงเวลานั้นเรื่องความชั่วช้ารายประเด็นที่ก่อให้เกิดปัญหาของประเทศก็จะต้องยุติไปโดยปริยายด้วยเช่นกัน
เมื่อบ้านเมืองเป็นอัมพาต และเป็นความเห็นพ้องของประชาชนที่ต้องการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ถึงเวลาตอนนั้นการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ถ้าไม่ใช่กระบวนการเจรจา ก็เกิดสุญญากาศเกิดขึ้นเพื่อหาทางออกให้กับประเทศไทย แม้ถึงเวลานั้นแม้แต่องค์กรอิสระ ศาล และทหาร ก็จะมีความกล้าหาญเดินตามประชาชนในที่สุด
Edited by phat21, 17 August 2013 - 11:42.