หลายคนสนใจถามกันมามากเกี่ยวกับถึงแนวคิดเรื่องการปฏิรูปพรรคปชป.เลยนำบทสัมภาษณ์นสพ.มาให้อ่านกันอีกครั้งครับ...
สัมภาษณ์พิเศษ:"ปชป.ต้องมองไกลใจกว้างต่อการเปลี่ยนแปลง"
นสพ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 โดยธนพล บางยี่ขัน
หลายคนที่ติดตามสถานการณ์การเมืองช่วงนี้คงอดสงสัยไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับศิษย์ก้นกุฏิประชาธิปัตย์อย่าง "อลงกรณ์ พลบุตร"รองหัวหน้าพรรคดูแลรับผิดชอบภาคกลาง ซึ่งระยะหลังการออกมาขยับตัวแต่ละครั้งดูจะหลุดกรอบ แหกธรรมเนียมปฏิบัติของพรรคเก่าแก่ จนสร้างแรงกระเพื่อมสั่นสะเทือนไปทั้งพรรค ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องการออกมาเป็นตัวตั้งตัวตีเรียกร้องให้เกิดการยกเครื่องประชาธิปัตย์เพื่อหนีจากวงจรความพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้ง ซึ่งยังตีโจทย์ไม่แตกมาถึง 21 ปี และล่าสุดกับการแหกกรอบพรรคออกมาเตรียมเสนอแนวคิดเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่สุดท้ายต้องยอมจำนนกับมติพรรคม้วนเสื่อเก็บร่างกฎหมายนิรโทษกรรม
"อลงกรณ์" ในวันนี้ซึ่งสวมเสื้อประชาธิปัตย์ลุยถนนการเมืองมา 22 ปี และมีแผนในใจแล้วว่าอีกกี่ปีจะเกษียณอายุตัวเอง เปิดใจถึงภารกิจ "ปฏิรูปพรรค" ที่ตั้งใจว่าจะต้องทำให้ประชาธิปัตย์กลับมาเป็นทางเลือกให้ประชาชนก่อนวางมือทางการเมืองให้ได้ แม้รู้ทั้งรู้ว่าเป็นเส้นทางที่เต็มไปด้วยความยาก ลำบากและไม่เป็นผลดีต่อตัวเอง "ความจริงผมอยู่เฉยๆ ก็ได้ ทำงานอย่างที่เป็นอยู่เป็นรองหัวหน้าพรรคภาคกลาง เป็นปาร์ตี้ลิสต์ลำดับสูง รอการเปลี่ยนแปลงกลับมาเป็นรัฐบาล ก็มีตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี อยู่แบบขอนลอยน้ำ หรือแม้จะเป็นฝ่ายค้านอีก 10-20 ปีก็ยังเป็น สส.อีกต่อไปแต่ผมเห็นว่าวันเวลามีค่าสำหรับประเทศและสำหรับคนที่รักประชาธิปัตย์ เราอาจจะเสี่ยงตัวเองในการนำเสนอความแตกต่าง แต่ถ้าเราไม่เสนอใครจะเสนอ ...แต่พรรคให้ผมมามากกว่าที่ผมให้พรรค สิ่งที่ผมจะทำให้ช่วงท้ายของชีวิตทางการเมืองของผมคือการปฏิรูปพรรค สร้างการเปลี่ยนแปลงให้ประชาธิปัตย์กลับมายิ่งใหญ่เป็นหลักของบ้านเมือง เป็นพรรคจรรโลงระบอบประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง"
อลงกรณ์ ชี้แจงว่า แนวคิดปฏิรูปพรรคเกิดขึ้นทุกครั้งหลังการเลือกตั้ง และเหมือนไฟไหม้ฟาง ไม่มีอะไรเกิดขึ้น โดยช่วงปีกว่าที่ผ่านมาพรรคได้พูด เรื่องนี้หลายครั้งมีการประชุมเป็นการเฉพาะที่จ.พิษณุโลก มีการจ้างมืออาชีพทำการวิเคราะห์จุด แข็งจุดอ่อน จะต้องปฏิรูปอะไรบ้าง หลังจากนั้นเรา ก็ปฏิรูปไปบ้าง แต่ไม่เพียงพอ จนได้ข้อสรุปว่าต้องปฏิรูปใหญ่ แบบองค์รวมที่ทุกฝ่ายเห็นด้วยและทุกคนต้องช่วยกันผลักดันปฏิรูป 3 ด้าน โครงสร้างการบริหารจัดการ วัฒนธรรมองค์กรและบุคลากร
อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนขณะนี้คือ การนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อหาข้อสรุปร่วมกับข้อเสนอจากสมาชิกคนอื่นๆและคาดว่าอีกประมาณไม่เกิน 2 สัปดาห์ น่าจะได้ข้อยุติ หากยังไม่สมบูรณ์ก็ปรับปรุงให้เป็นไปตามกรอบแนวทางที่วางไว้ หากสมบูรณ์ก็เสนอเข้าที่ประชุมตามลำดับ คือนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคและที่ประชุม สส.พรรค
โจทย์สำคัญคือ ทำอย่างไรถึงจะกลับมาเอาชนะการเลือ กตั้ง ซึ่งตลอด 21 ปีที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จ เราจะอยู่แบบเดิมๆ ต่อไปไม่ได้ เพราะจะทำให้ประเทศเสียโอกาส ระบอบประชาธิปไตยจำเป็นต้องรักษาระบบถ่วงดุล ตรวจสอบ เพื่อไม่ให้เสียงข้างมากใช้อำนาจเกินขอบเขต หรือใช้อำนาจอย่างฉ้อฉล แต่ถ้าหากเราไม่เข้มแข็งเพียงพอ ระบบเช็กแอนด์บาลานซ์ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่สุดก็จะเสียดุล หมายถึงการเสียประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน
"ผมมีแนวคิดข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปพรรคซึ่งความจริงก็ช้าไปด้วยซ้ำ เราปล่อยเวลาผ่านมา 21 ปีเราก็อยู่กันอย่างนี้ คิดกันเองแก้กันเอง พยายามแล้วพยายามอีกก็ยังไม่สำเร็จ จนบางครั้งเราก็ออกนอกแนวที่เราเคยเชื่อมั่นในระบบรัฐสภาบางครั้งเราก็ต้องยอมด้วยสถานการณ์บ้านเมืองที่บังคับไม่สามารถให้เรายืนอยู่บนหลักการที่เราเชื่อมั่นได้ 100% ...บทเรียนหลังสุดที่เกิดขึ้นในปี 2551 ที่ส่งผลให้เราได้เป็นรัฐบาล ผมถือว่าเป็นการจ่ายราคาแพงมากในเวลาต่อมา ไม่ว่าเราจะถูกกล่าวหาว่าอิงแอบเผด็จการ หรือปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต ในยามที่เราเป็นรัฐบาล สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการสั่นคลอนเกียรติภูมิของพรรคในขณะที่ผมเป็นรองหัวหน้าพรรค ผมต้องทำอะไรบางอย่าง เพราะมันเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบที่เราจะต้องต่อสู้และฟื้นฟูพรรค และต้องเสนอแนวทางฟื้นฟูพรรค ซึ่งผมได้เสนอแนวทางปฏิรูปพรรค ซึ่งแตกต่างจากวิถีทางเดิมๆ แต่ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงเราจะกลับมาเข้มแข็งได้อย่างไร สิ่งที่หัวหน้าพรรคในอดีตเคยพูดไว้ว่าเราเชื่อมั่นในระบบรัฐสภาเราต้องดำเนินวิถีทางดังกล่าวอย่างเคร่งครัด"
อลงกรณ์ อธิบายว่า สิ่งที่จำเป็นต้องปรับปรุงในพรรคคือการปฏิรูปวัฒนธรรมสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีวัฒนธรรมเดิมฝังรากลึกเอาไว้ ทำให้พฤติกรรมของคนในองค์กรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แม้จะมีความหลากหลายแตกต่าง แต่ไม่ง่ายต่อการพลิกตัว มีแต่แนวทางปฏิรูปเท่านั้นที่จะทำให้เกิดการยกเครื่องทั้งวิธีคิดวิธีทำงานรวมถึงบริหารจัดการ และโครงสร้างต่างๆ
ประเด็นเรื่องการตอบโต้รายวันอลงกรณ์ เห็นว่า หากเป็นรูปแบบการทำงานการเมืองเมื่อ20 ปี ก่อนอาจจะประสบความสำเร็จ เพราะ ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารไม่ มาก ส่วนใหญ่ฟัง สส.พูดจา ปราศรัย แต่ทุกวันนี้มีสื่อมวลชน มีอินเทอร์เน็ต สิ่งที่เราพูดคิด ดำเนินการในอดีตอาจไม่มีประสิทธิภาพอย่างทุกวันนี้ เราก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานในเชิงคุณภาพมากขึ้นและเปิดพรรคกว้างมากขึ้นสร้างแนวร่วมมากขึ้น ลดการตอบโต้รายวันลง วันนี้สังคมต้องการคุณภาพของความเห็นมากกว่าการตอบโต้ไปมา เพราะประชาชนมีข้อมูลเปรียบเทียบในการใช้ดุลยพินิจมากกว่า ประชาธิปัตย์ต้องทำงานที่เป็นรูปธรรมให้เห็นเป็นตัวอย่างมากขึ้น เช่น วันนี้รัฐบาลมีปัญหาจำนำข้าว คำถามคือหากประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลจะทำอย่างไร ใช้นโยบายประกันเพียงอย่างเดียวเหมือนเดิม หรือจะพัฒนานโยบายดังกล่าวให้เป็นทางเลือกที่ดีกว่า เราก็ยังตอบไม่ได้ ผ่านมาสองปีของรัฐบาลชุดนี้ไม่รู้ว่าวันใดวันหนึ่งจะมีการยุบสภา เพราะการบริหารจัดการยังไม่มีการปรับปรุงองค์กรให้สนับสนุนงานดังกล่าว ได้ ทั้งนี้ สิ่งที่จะเห็นหลังจากการปฏิรูป คือ การพิจารณาจุดยืน และแนวทางของพรรค จะมีความรอบคอบ มีการรับฟังความเห็นจากหลายฝ่ายมากขึ้น การบริหารจัดการแบบใหม่เปิดกว้าง มีข้อมูลครบถ้วน มีระบบการสนับสนุน การตัดสินใจ ซึ่งในปัจจุบันยังเป็นแค่ตัวบุคคล คณะบุคคล ที่ยังขาดความรอบด้าน กระบวนการดำเนินการทางการเมือง เมื่อมีระบบสนับสนุนเชิงข้อมูลและการวิจัยจะทำให้การกำหนดท่าทีและการกำหนดนโยบายในการขับเคลื่อนทางการเมืองไปจนถึงการกำหนดนโยบายสำคัญของประเทศมีความเป็นระบบมากขึ้น มีประสิทธิภาพในเชิงการเป็นนโยบายที่จะพัฒนาประเทศที่ดีขึ้น โดยหัวใจความสำเร็จจะอยู่ที่หัวหน้าพรรค ที่จะเป็นผู้นำทางการเปลี่ยนแปลง ผู้นำการปฏิรูป นำพรรคไปสู่ยุคใหม่
ส่วนเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนในพรรคที่ห่วงว่าการปฏิรูปครั้งนี้อาจทำให้ประชาธิปัตย์ต้องเสียจุดยืนไปเดินตามคู่แข่ง เสนอนโยบายประชานิยมเพื่อหวังชนะเลือกตั้งนั้น ถือเป็นความคิดที่ตรงกันข้ามกับข้อเท็จจริง เพราะการปฏิรูปพรรคจะทำให้พรรคสร้างนโยบายบนความยั่งยืนเพื่อแข่งขันกับนโยบายประชานิยมแบบสุดกู่ของพรรคเพื่อไทยโดยจะจัดตั้ง "สำนักวิจัยพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์"ซึ่งพรรคไม่มีในปัจจุบัน
"ผมคิดว่าเราต้องมองไกลใจกว้างต่อการเปลี่ยนแปลง อย่ากลัวการเปลี่ยนแปลง อย่ามองแค่รั้วบ้านตัวเอง ต้องมองไปถึงการปฏิรูปประเทศว่าในระบบสองพรรค สองขั้วการเมืองใหญ่ ไม่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็เป็นรัฐบาลที่จะต้องบริหารประเทศดังนั้น การปฏิรูปประชาธิปัตย์จะนำไปสู่การกลับมาชนะใจประชาชนอีกครั้งด้วยคุณภาพของนโยบายที่ดี การบริหารจัดการที่ดี ...เราต้องคิดเก่งทำเก่งกว่าพรรคเพื่อไทยประชาธิปัตย์จึงจะชนะการเลือกตั้ง อย่าไปคิดส้มหล่น อย่าไปคิดหวังอำนาจอย่างอื่นไม่เช่นนั้นถึงแม้เราจะชนะได้เป็นรัฐบาลประเทศก็ไม่มีสันติสุข ในมุมกลับกัน เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยก็จะต้องไม่ใช้อำนาจในการบริหารอย่างฉ้อฉล เพราะในที่สุดประชาชนก็จะไม่ให้การสนับสนุน ควรใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนรวมและมาแข่งขันเชิงคุณภาพ ประเทศนี้ก็จะเกิดคุณภาพ ก็จะกลับมาสู่ความสามารถในการแข่งขันอีกครั้ง"
การออกมาปลุกกระแส "ปฏิรูป" ของอลงกรณ์เที่ยวนี้ดูจะสร้างแรงเสียดทานให้กับตัวเขาอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะจากคนในพรรค จนหลายคนวิตกว่าจะนำไปสู่ความแตกแยก แต่เจ้าตัวยืนยันว่าไม่มีความแตกแยกในความแตกต่างตัวเขาต่อสู้เคียงคู่กับพรรคไม่ว่ายามรุ่งเรืองหรือตกต่ำ ไม่ว่ายามเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล "ผมเป็นคนของพรรค ไม่ใช่คนของใครไม่ใช่เด็กของใคร ผมมีความเป็นอิสระ ตามอุดมการณ์ของพรรค ในการเสนอความแตกต่างทางความคิด ผมเคารพมติพรรค รักษาวินัยพรรคมาโดยตลอด
ผมเป็นคนที่จงรักภักดีต่อพรรค เป็นคนที่ยึดมั่นกับพรรคมาโดยตลอดไม่เปลี่ยนแปลง ตั้งแต่เริ่มชีวิตการเมืองผ่านร้อนผ่านหนาวมามากแม้จะมีแรงเสียดทานการตำหนิติเตียน ความไม่เห็นด้วย หรืออะไรก็ตาม ผมก็เข้าใจได้ในวิถีชีวิตทางการเมือง แต่เชื่อโดยเจตนาดีและความภักดีที่มีต่อพรรคมายาวนานก็จะเป็นเกราะคุ้มกันผมอยู่กับพรรคนี้มาตั้งแต่เกิด ไม่คิดจะไปไหนและจะอยู่ต่อไป"
อลงกรณ์ เปรียบเทียบว่า สิ่งที่เขาพยายามผลักดันให้เกิดการปฏิรูปนั้น บางทีมันก็เหมือนกับ "ยาขม" แต่ก็เป็นยาที่มีประโยชน์ อาจมีคนที่ไม่ชอบบ้าง ก็เป็นเรื่องธรรมดาแต่วันหนึ่งข้างหน้าก็จะเห็นผล อย่างพรรคเลเบอร์ของอังกฤษสมัยก่อนที่พ่ายแพ้พรรคอนุรักษ์นิยมมาอย่างยาวนาน ก็มีคนอย่างโทนี แบลร์และคนอื่นๆที่คิดนอกกรอบและเปลี่ยนวิถีทางด้วยการปฏิรูปพรรค ซึ่งประสบความยากลำบากในช่วงต้นๆ แต่ท้ายที่สุด คนในพรรคเลเบอร์ก็ให้การยอมรับและทำให้พรรคกลับมาสู่ชัยชนะ
---------------------------
พรรคเค้าได้วิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนเพื่อการปฏิรูปกันไปแล้ว (SWOT)
ในฐานะคนที่เลือกพรรคนี้ มองเห็นจุดอ่อน หรือ จุดแข็งของพรรค ยังไงกันบ้างคะ?
ส่วนตัวมองเห็นประเด็นเหล่านี้อ่ะ
- การตอบโต้รายวัน มองว่าบางทีก็หยุมหยิมเกินไป หรือบางทีข้อมูลไม่ได้กรอง ส.ส.แต่ละคนก็เอาไปเล่นกัน พอข้อมูลมันเป็นเท็จ บ่อยเข้าก็กลายเป็นขาดความน่าเชื่อถือไปทั้งพรรค อย่างเช่นเรื่อง (คุณบุญยอดอ้างว่า นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลขอให้เปิดประตูเครื่องบินลงดอนเมือง)
ในโซเชี่ยลเนทเวิล์ค ก็ต้องมีเฟซบุ๊คที่ไว้คอยตอบโต้พวกกุข่าว พวกลวงโลกอย่างเจเจสาทร และเวปแดงที่ชอบเต้า แต่ไม่ใช่เต้าข่าวหรือลวงโลกซะเอง เพราะสังคมเฟซบุ๊คตอนนี้มีอิทธิพลมากๆ กับคนรุ่นใหม่ คุณศิริโชค หรือ คุณมัลลิกาไม่ควรเปลืองตัวเองเรื่องพวกนี้ น่าจะใช้นอมินี พวกเซเลป หรือลูกหลานนักการเมือง หรือนักวิชาการที่นามสกุลป๊อปๆ หน่อย ทำเรื่องพวกนี้แทน เพื่้อเข้าถึงคนรุ่นใหม่ และเป็นการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา รวมถึงไว้หยอดความล้มเหลวต่างๆ ของรัฐบาล แต่เน้นว่าต้องเป็นความจริงเท่านั้น ให้สมกับสโลแกนพรรค - โฆษกพรรคอย่างคุณชวนนท์ก็ยังโอเค แต่รองโฆษกพรรคอย่างคุณมัลลิกา หรือ ส.ส.อย่างคุณศิริโชค ต้องนิ่งกว่านี้ค่ะ พูดอะไรต้องน่าเชื่อถือ มีน้ำหนัก มีข้อมูลที่พิสูจน์ได้ เป็นกระบอกเสียงพรรคไม่ควรจัดจ้านจนคนอื่นมองข้ามข้อมูลที่นำเสนอไป ลบภาพแก็งค์ไอติมดีกว่า
- พี่มาร์คเป็นทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งของพรรค คือเป็นเป้าใหญ่ที่พวกหน้าเหลี่ยมและพวกแดงมันกลัว น่าจะเพราะไม่มีประวัติทุจริต ครอบครัวไม่ใช่นักธุรกิจ ไม่มีประวัติชู้สาว พวกมันเลยทำได้แค่สร้างวาทกรรมฆาตกรร้อยศพ หรือไปขุดเรื่องเมื่ออดีตชาติอย่างเกณฑ์ทหารมาโจมตี ฉะนั้นบางเรื่องก็ควรปล่อยให้คนอื่นเป็นคนพูดความผิดพลาดเรื่องนโยบายรัฐบาลนี้แทน เหมือนยิ่งลักที่ลอยตัวแล้วปล่อยให้ รมต.กระทรวงแถ ลง กันเอง ฝ่ายค้านก็ปล่อยควรให้คุณกรณ์ตอบเรื่องการเงินการคลังไป เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือคุกคามสื่อก็ให้คุณสาธิต วงศ์ เป็นคนตอบ เรื่องปัญหาปากท้องค่าครองชีพก็มอบพวก รมต.คลังเงาทั้งหลาย สรุปคือเพิ่มบทบาทคนอื่นในพรรค และลดบทบาท ลดการเป็นเป้าของพี่มาร์คลงมา จะได้ไม่เฝือ ไม่ช้ำ เหมือนกระจายความเสี่ยงให้ลูกพรรคบ้างค่ะ
- ใครที่ดูมีภาพเป็นลบผ่านสาธารณชน อาจจะดูรุนแรง หรือไม่มีวุฒิภาวะ ไม่รู้กาละเทศะ หรือแค่พลาดไป พวกเราเข้าใจ แตสังคมไม่เข้าใจ อย่างน้องคุณสุเทพ คุณบุญยอด คุณณัฐ คุณเทพไท และคนที่หลับในสภา ฯลฯ ก็ให้คนพวกนี้ไปทำประโยชน์ให้กับสาธารณะ น้ำท่วม ไฟไหม้ ปลูกป่า ทาสีวัด อะไรให้คนกลุ่มนี้ออกหน้า เดินตามหลังพี่มาร์คเ็ป็นกลุ่มแรกเลย เพื่อลดภาพจำลงไป
- ส.ส.ควรให้ความสำคัญในพื้นที่ รวมทั้งคนที่ยังไม่ได้เป็น ส.ส.แต่เป็นแคนดิเดทในจังหวัดต่างๆ เรามี แทนคุณ(อี้)โมเดลให้เห็นแล้ว พลิกล๊อคได้เพราะความขยันแท้ๆ คะแนนเลือกตั้งซ่อมมากกว่าเลือกตั้งใหญ่ได้ เพราะลงพื้นที่อย่างแท้จริง ตอนนี้ก็เห็นคุณตั้น คุณสาธิต ปิตุ เรื่องพวกนี้คนไกลๆ อย่างเราไม่รู้ แต่คนในพื้นที่ย่อมรู้ดี รีบทำก่อนมันยุบสภาฯ หนีนะคะ
- อยากให้มีเพจของใครซักคนที่ภาพลักษณ์ดีๆ และมียอดไลค์เยอะๆ อย่างคณสรรเสริญ สมะ เป็นศูนย์รวมผลงานหรือประชาสัมพันธ์กิจกรรมดีๆ ของลูกพรรค ไม่ใช่สะเปะสะปะอย่างที่เป็นอยู่ คุณกรณ์ไปช่วยเหลือเสม็ดกลับมาป่วย ส.ส.ภาคเหนือโดนแดงคุกคาม คุณตั้นไปฉีดพ่นยากำจัดยุงลาย ฯลฯ ใครไปทำประโยชน์อะไร หรือใครโดนแดงคุกคาม ก็ให้มีเซนเตอร์ ให้คนทั่วไปได้เข้าถึงและรับรู้จากแหล่งเดียว แล้วจะแชร์กันไปแค่ไหน ในเพจส่วนตัวของแต่ละคนด้วยก็ว่าไปค่ะ
จบการแสดงความเห็นแบบละอ่อนการเมืองนะคะ
สรุปว่า
โดยทั่วไปเห็นด้วยกับคุณอลงกรณ์ โดยเฉพาะประเด็นว่า การได้เป็นรัฐบาล หรือการมี ส.ส.เยอะพอจะถ่วงดุลอำนาจ ไม่ใช่แค่ผลประโยชน์ของพรรค แต่เป็นผลประโยชน์ของชาติ เพราะตอนนี้คิดว่าชาวบ้านทั่วไปได้เห็นเหมือนกันว่า เผด็จการรัฐสภา หรือพวกมากลากไป มันอันตรายแค่ไหน อย่ามัวแต่เล่นการเมืองกันอยู่เลยค่ะ เอาชนะใจประชาชนให้ได้โดยไว ลางยุบสภามาให้เห็นอยู่บ่อยๆ แล้ว
ปล.แต่ตินิดนึงถึงวิธีการสื่อสารของคุณอลงกรณ์ บางทีมันทำให้พวกเสี้ยมเอาไปตีกินได้ อย่างเ่ช่น ควรเป็นหัวหน้าพรรคแทน หรือควรย้ายพรรคไปเลย แบบนี้บางทีกองเชียร์ก็สับสนนะคะ บอกข้อด้อยของพรรคตัวเองแล้ว ก็หยอดความเสื่อมของพรรคแม้วบ้าง ว่ามันเลวร้ายยัง ถึงทำให้อยู่เฉยไม่ได้ต้องปฏิรูปพรรคสู้ เพื่อประโยชน์ของประชาชนมากกว่า และยังไงก็จะไม่แปรพรรค(พักตร์)
Edited by lovelygam, 25 สิงหาคม พ.ศ. 2556 - 13:22.