ขอคั่นรายการ ด้วยความคิดเห็นของนักวิชาการครับ
ชาวสวนยางในภาคใต้ได้ออกมาประท้วงรัฐบาลด้วยการปิดถนนสายหลัก โดยเรียกร้องให้รัฐบาลประกันราคารับซื้อยางในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด ในขณะเดียวกันทางฝ่ายรัฐบาลได้ยื่นข้อเสนอรับซื้อยางแผ่นดิบที่ราคา 80 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งในปัจจุบันมีราคาอยู่ที่ประมาณ 76 บาท
นอกจากนี้ รัฐบาลจะนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีให้อนุมัติเงินกู้แก่เกษตรกรสวนยางเป็นวงเงินกว่า 20,000 ล้านบาท โดย 5,000 ล้านบาทจะช่วยลงทุนในกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มคุณค่า และอีก 15,000 ล้านบาทลงทุนในการอัพเกรดอุปกรณ์ และขณะนี้การแก้ปัญหายังไม่คลี่คลาย
ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัย ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร ได้ให้สัมภาษณ์สถานีทีดีอาร์ไอ ต่อปัญหาการแทรกแซงราคายางในประเทศไทย โดย ดร.วิโรจน์ วิเคราะห์ว่า ตัวแปรที่กำหนดราคายางมี 2 ตัวแปรหลัก คือ ราคาน้ำมัน กับ เศรษฐกิจโลก ซึ่งปัจจัยเศรษฐกิจโลกก็สะท้อนไปสู่อีกตัวแปรคือความต้องการใช้ยางของประเทศที่สำคัญ เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น พอราคายางเริ่มสูงขึ้นมีประเทศต่าง ๆ หันมาปลูกยางมากขึ้นและเมื่อดูรอบบ้านเราจะเห็นว่าในระยะหลังหลายประเทศอย่าง ลาว กัมพูชา จีน สิบสองปันนาเรื่อยไปจนถึงปากีสถาน ฯลฯ ก็หันมาปลูกยางกันมากขึ้น ยางใช้เวลา 5-6 ปีจึงจะเริ่มกรีดได้ และในช่วงนี้ก็เป็นช่วงมีผลผลิตออกมามากขึ้นนี่เป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่สะท้อนว่าตอนนี้เราอยู่ในช่วงยางขาลงและคาดว่ายังจะลงต่อ
ดร.วิโรจน์ เสนอทางออกว่า ถ้ายอมถอยและยึดหลักการไม่พยายามไปสู้กับตลาด สิ่งที่รัฐบาลทำได้คือ ทำให้ราคาในประเทศผันผวนน้อยกว่าราคาตลาดโลก โดยอาจใช้มาตรการเก็บภาษีเวลาราคาในตลาดโลกสูง และเวลาราคายางตกต่ำก็มาอุดหนุนการส่งออกแทน เป็นการแทรกแซงเมื่อจำเป็น ซึ่งก็คงมีข้อถกเถียงกันได้มากว่าแค่ไหนถึง หลายคนก็พูดถึงต้นทุน แต่ผมจะชี้ข้อเท็จจริงอันหนึ่งคือ ยางที่กำลังกรีดกันในวันนี้ ต้องมองถอยหลังไปที่ 5 ปีครึ่ง สำหรับภาคใต้ และนานกว่านั้นสำหรับภาคอีสาน ณ เวลาที่เกษตรกรตัดสินใจปลูกกัน ก็คงคงคิดต้นทุนและราคาที่จะขายได้ไว้แล้ว ซึ่งตอนนั้นผมเชื่อว่าเกษตรกรแทบจะไม่มีใครที่คิดว่าแทบจะได้ราคาสูงกว่า กิโลกรัมละ 50 บาท ส่วนต้นทุนก็คงพูดได้ว่าต่ำกว่า 50 บาท แต่ทีนี้หลังจากปลูกมาแล้วก็เกิดสถานการณ์ที่ว่า ใน 2-3 ปี ถัดมาราคายางขยับขึ้นมา 70 บาทไปจนถึงมากกว่า100 บาทและก็กลับมาลดลง
ช่วงที่ยางขึ้นไปเกิน 100 บาทหรือ 100 บาทปลาย ๆ เกษตรกรก็มีฐานะดีขึ้นมากดูได้จากยอดการซื้อรถปิ๊กอัพที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ในแง่หนึ่งอาจพูดได้ว่าช่วงนั้นเป็นลาภลอยของชาวสวนยาง ไม่ได้เป็นฝีมือจากใครแต่มาจากปัจจัยน้ำมันที่สูงขึ้นตอนนั้น พอเป็นแบบนั้นเมื่อราคาตกลงมา เกษตรกรซึ่งคิดว่าราคาควรจะยืนอยู่ในระดับสูงก็อาจจะรู้สึกว่าแย่หรือตัวเองไม่ได้รับความช่วยเหลือ อย่างไรก็ตามการจะทำระบบรักษาเสถียรภาพราคายางก็ต้องคำนึงถึงเรื่องพวกนี้ด้วย คิดว่าราคาที่เกิน 100 บาทหรือใกล้ ๆ 100 บาท เป็นราคาที่ไม่สามารถคาดหวังได้ในระยะยาว