http://www.oknation....2/05/28/entry-2
จุดสร้างเขื่อนแม่วงก์..ไหนใครว่า..ป่าเสื่อมโทรม !!!
ก่อนจะลากเมาต์ลงไปชมสภาพป่าที่หน่วยพิทักษ์ป่าแม่เรวา อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อันเป็นส่วนเป็นของผืนป่าตะวันตก และก็เป็นพื้นที่โครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ มูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาท ขอนำคำพูดของนักการเมืองรายหนึ่งมาฝากกัน อ่านแล้วก็คงพอจะเข้าใจนะครับว่า บ้านเมืองเราไฉนจึงมีพวกชอบทำตัวอยู่เหนือกฎหมาย
22 พฤษภาคม 2012 - นายวีระกร คำประกอบ อดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย จังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า เขื่อนแม่วงก์ ศึกษาอีไอเอมาแล้ว 4 รอบจนไม่รู้ว่าจะให้มีการศึกษา"หาพ่อกันทำไมอีก" ทั้งที่ชาวบ้าน 90% เอาเขื่อนนี้ มีเพียง 10% ไม่ตอบคำถามและไม่แน่ใจเท่านั้น
"อยากถามว่าที่เอ็นจีโอ มาบอกว่ามีต้นสัก 160,000 ต้นนั้นเป็นต้นสักขนาดเท่าหัวแม่โป้ง 1-2 นิ้วก็นับว่าเป็นสักสมบูรณ์หรือไม่ ถ้าใครไปเดินป่าแถวสบกกไปช่องเย็นจะรู้ว่าส่วนใหญ่เป็นป่าไผ่ และป่าเต็งรัง เช่นเดียวกับเสือโคร่งที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร บอกว่าเจอเสือโคร่งที่นี้ ผมคิดว่ามันคงไม่ยอมรอให้น้ำท่วมและจมน้ำตายแน่ๆ" นายวีระกร กล่าว
http://www.flood.rmutt.ac.th/?p=2777
เกาะแก่งหินที่แก่งลานนกยูง
หลายวันก่อน สมาชิก OKnature มีโอกาสเดินทางไปเยือน หน่วยพิทักษ์ป่าแม่เรวา ผืนป่าอนุรักษ์ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 80 กิโลเมตร เรามีเวลาสำรวจพื้นที่ป่าบริเวณนี้ประมาณ 2 วัน ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับความกว้างใหญ่ของผืนป่า จึงกำหนดจุดที่จะไปสำรวจตรวจตรากันหลัก ๆ ก็เป็นพื้นที่ไฮไล์ของหน่วยฯแม่เรวา ได้แก่ แก่งลานนกยูง มออีกหืด และ หน่วยจัดการต้นน้ำขุนน้ำเย็น
สาเหตุที่มุ่งหน้าไปยังหน่วยฯแม่เรวานั้น ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า อยาก "พิสูจน์" ให้เห็นกับตาตัวเองว่า ผืนป่าบริเวณที่จะมีการให้สัมปานตัดไม้เพื่อก่อสร้างเขื่อนนั้น เป็น "ป่าเสื่อมโทรม"ตามคำพูดของนักการเมืองหรือไม่ ???
อย่างไรก็ตาม การใช้เวลา 2 วันในป่าแม่เรวา ก็ยังถือว่าเป็นการสำรวจแบบคร่าวตามประสานักท่องเที่ยว จึงไม่มีรายละเอียดในเชิงวิชาการออกมาให้ดูกัน ใครเป็นผู้รู้ในเชิงนิเวศวิทยา ช่วยกันสำรวจในเชิงลึกให้ทีเถอะครับ
ในเอ็นทรีนี้ขอนำภาพที่เดินทางไปสำรวจมาให้ชมกัน ใช้สายตาตัดสินกันว่า บริเวณจุดสร้างเขื่อนแม่วงก์นั้นเป็น "ป่าที่มีชีวิต" หรือ "ป่าที่ตายไปแล้ว"
ส่วนประเด็นที่ว่า สมควรสร้างเขื่อนหรือไม่-อย่างไร สร้างแล้วคุ้มค่าหรือไม่กับการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ ผมไม่ขอพูดถึงนะครับ เพราะมีการวิวาทะกันมากพออยู่แล้วทั้งในสื่ออินเตอร์เน็ตและสื่อกระแสหลัก
สภาพป่าเต็งรังของ"มออีหืด"
ย้อนกลับไปที่ผืนป่าแม่เรวาอีกครั้ง โดยทั่วไปเป็น ป่าเต็งรัง ป่าไผ่ และป่าเบญจพรรณ ถือเป็นป่ารุ่นสอง (secondary growth) หลังจากที่ชาวบ้านถูกอพยพออกไปเมื่อประมาณ 30 ปี มาแล้ว แต่ป่ากลุ่มนี้มีอยู่ไม่กี่พันไร่ ใครที่เข้าไปแค่ตื้นๆ เดินยังไม่ทันเหนื่อย ก็จะหลงเชื่อตามลมปากนักการเมืองว่า เป็นป่าเสื่อมโทรม แต่สภาพป่าที่เคยถูกบุกรุกนี้เอง มีการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูกันอยู่ตลอดเวลา โดยมีชาวบ้านแม่เรวาและหน่วยจัดการต้นน้ำขุนน้ำเย็น ทำงานร่วมกันอย่างแข็งขัน
สภาพภายหลังได้รับการฟื้นฟูในปัจจุบันนั้น ปรากฎว่ากลับกลายป็นผืนป่าเบญพรรณ และป่าเต็งรัง ที่สมบูรณ์มาก โดยเฉพาะบริเวณ "จุดชมวิวมออีหืด"และป่าสองข้างทางเข้า "หน่วยจัดการต้นน้ำขุนน้ำเย็น"นั้น เป็นป่าที่เขียวขจียิ่งนัก
นอกจากนั้น ป่าด้านในที่ต้องข้ามลำห้วยแม่เรวาเข้าไปนั้น เป็นป่าสักผืนใหญ่ที่นับว่าจะหายากยิ่ง ซึ่งทำให้ผมอดคิดไม่ได้ว่า การผลักดันโครงการสร้างเขื่อนนั้น เป็นเป้าหลอก สัมปทานตัดไม้สักต่างหากที่เป็นเป้าจริง ไม่ใช่ผมคนเดียวที่คิดเช่นนี้ ชาวบ้าน 2-3 คนที่เป็นเด็กวัยรุ่นก็มองไม่ต่างไปจากนี้เช่นกัน !!!