อภิสิทธิ์"เตือน"นายกฯปู" ไม่มีความเร่งด่วน ทูลเกล้าฯ แก้ไขร่าง รธน. ชี้ไม่ควรดึงสถาบันเข้าสู่ความขัดแย้ง แนะแก้ปัญหาปากท้อง น้ำท่วมดีกว่า รู้ทันรัฐ ทดสอบแรงต่อต้านสังคมก่อนเปลี่ยนแปลง สอน "ยิ่งลักษณ์" ยึดคำพูดตอนหาเสียง "แก้ไข ไม่แก้แค้น"...
เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา และคุณสมบัติ ส.ว.ขึ้น ทูลเกล้าฯ ในวันที่ 1 ต.ค.ว่า ร่างดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และไม่มีความความจำเป็นเร่งด่วนใด ๆ อีกทั้งยังมีเวลาอีก 20 วัน จึงควรรอการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน อย่าเอาปัญหาหรือความขัดแย้ง ขึ้นทูลเกล้าฯ เลย เพราะในระหว่างนี้ศาลอาจมีแนวทางที่ชัดเจนออกมาเช่น ยกคำร้อง หรืออาจจะมีคำสั่งที่ชัดเจนที่ทำให้ทุกอย่างราบรื่น โดยไม่ต้องสร้างความขัดแย้งในสังคมเพิ่มขึ้นด้วย เมื่อถามว่าหากนายกฯ ยังดึงดันที่จะทูลเกล้าฯ ร่างแก้ไขนี้ จะกลายเป็นเดดล็อกทางการเมืองหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เท่ากับเอาสิ่งที่มีความขัดแย้งอยู่ขึ้นทูลเกล้าฯ ในขั้นตอนที่จะต้องทรงลงพระปรมาภิไธย หรือมีพระบรมราชวินิจฉัย ซึ่งตนเห็นว่า ไม่พึงกระทำเพราะควรให้กระบวนการจบสิ้นชัดเจนทั้งในแง่อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ กับตุลาการก่อน ไม่อยากให้ดึงสถาบันเข้าสู่ความขัดแย้งทางการเมืองและไม่เห็นเหตุผลที่นายกฯ จะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ในขณะนี้
เมื่อถามว่าจะเป็นการกดดันทั้งศาล รัฐธรรมนูญและสถาบันฯ พร้อมกันหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าคิดทำอย่างนั้นก็ยิ่งเท่ากับว่า รัฐบาลต้องการส่งเสริมให้เกิดความขัดแย้งในสังคม และจะลุกลามออกไป รัฐบาลปฏิเสธยากว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีปัญหาทำไมจึงไม่รอให้ศาลวินิจฉัยก่อน เพราะที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีจะหลีกเลี่ยงนำเรื่องที่มีปัญหาขึ้นทูลเกล้าฯ ตนสังเกตว่า รัฐบาลนี้ต้องการที่จะสร้างแรงกดดันต่อสถาบันต่าง ๆ และต้องการทดสอบกระแสว่า จะมีการต่อต้านเข้มแข็งมากน้อยแค่ไหน ควบคู่กันไปก็มีความพยายามระดมมวลชนเข้ามากดดันในรูปแบบต่าง ๆ หรือใช้วิธีการ ใช้ ส.ส.นักกฎหมายมาขู่ว่าจะดำเนินคดีกับตุลาการชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลไม่มีความจริงใจในเรื่องความปรองดอง เพราะพยายามที่จะปลุกเร้าให้เกิดบรรยากาศการเผชิญหน้าเช่นนี้ ทั้งที่แต่ละฝ่ายต้องทำหน้าที่ให้สมบูรณ์โดยศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัย เรื่องนี้ จึงหวังว่าศาลจะไม่หวั่นไหวไปกับความพยายามที่จะกดดันจากซีกรัฐบาลจึงขอเป็น กำลังใจให้ตุลาการได้วินิจฉัยเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ทั้งหมดอยู่ที่รัฐบาลว่า ต้องการให้เกิดความขัดแย้งเพื่ออะไร เพราะมีหน้าที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจปัญหาน้ำท่วมเป็นหลัก ทุ่มเทตรงนี้ดีกว่าการสร้างเงื่อนไขความขัดแย้ง จึงหวัง และเรียกร้องไปถึงนายกรัฐมนตรีว่าต้องช่วยกันดูแลปัญหาเศรษฐกิจ น้ำท่วม ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามกระบวนการที่ถูกต้อง อย่าดึงประเทศ และสังคมเข้าสู่ความขัดแย้ง ทางที่ดีนายกฯ ควรทำตามที่เคยหาเสียงไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ไข ไม่แก้แค้น การปรองดอง และค่าครองชีพ แต่กลับไม่ทำ จึงถึงเวลาแล้ว ที่นายกฯ ต้องทบทวนท่าที แม้จะมีความพยายามควบคุมสื่อ โดยใช้เรื่องเท็จมาโฆษณาชวนเชื่อ แต่ตนยังเชื่อว่า ประชาชนสัมผัสได้ว่า ของแพงจริงหรือไม่ เศรษฐกิจฝืดเคืองจริงหรือไม่ การพยายามใช้วิธีโฆษณาชวนเชื่อมากเกินไป ที่สุดจะเกิดช่องว่างระหว่างความจริงกับสิ่งที่รัฐบาลนำเสนอหรือสื่อใดที่ ถูกครอบงำก็จะหมดความน่าเชื่อถือ จนเกิดอันตรายเพราะสังคมจะแสวงหาความจริงได้ยาก แต่จะเกิดความขัดแย้งมากขึ้น.