Suvinai Pornavalai
(เสกสรรค์ ยังคงเป็น"พี่เสก"ของผม)
กระแสตอบรับปาฐกถาของอาจารย์เสกสรรค์ในวาระครบรอบ๔๐ ปี ๑๔ตุลาเรื่อง"เจตนารมย์๑๔ ตุลาเพื่อประชาธิปไตย"ของฝ่ายต่อต้านระบอบทักษิณนั้นไม่ค่อยดีเอาเสียเลย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะโทนของปาฐกถานี้ออกจะเอาใจฝ่ายเสื้อแดงมากไปหน่อย แต่สะท้อนความเป็นจริงที่คลาดเคลื่อนไปจากการรับรู้ของฝ่ายที่ต่อต้านระบอบทักษิณ
ผมรู้จักพี่เสกทางความคิดและติดตามการเติบใหญ่ทางจิตวิญญาณของพี่เสกมานาน ต้องบอกว่านานมากทีเดียวจนกระทั่งกลายเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งของผมที่ชื่อ"เสกสรรค์กับมังกร"ที่ผมมอบให้สำนักพิมพ์สามัญชนจัดพิมพ์ให้ในวาระครบรอบ๖๐ ปีของพี่เสก
พี่เสกเป็นคนที่เห็นทุกข์มาก่อนและรู้ทุกข์เป็นอย่างดี โดยเฉพาะทุกข์ที่มาจากความคิดและการปรุงแต่ง"ตัวตนอันสูงส่ง"
ในประเทศนี้มีคนน้อยคนนักที่สามารถฝึกตนจนรู้ทัน"อัตตาละเอียด"ของตนเองได้ถึงขนาดนี้
พี่เสกเป็นคนที่ไม่เคยหลงไหลในอำนาจ ไม่เคยหลงไหลในเงินทองตั้งแต่หนุ่ม ถ้าจะมีสิ่งที่พี่เสกยึดติด สิ่งนั้นก็คือความหลงใน"ตัวตนอันสูงส่ง"ของตัวเขาเองที่สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์๑๔ ตุลาที่ทำให้ตัวเขากลายเป็น"ฮีโร่จำเป็น"
ตอนที่ผมเคลื่อนไหวร่วมกับพันธมิตรในปี๒๕๔๙ พี่เสกเคยเตือนผมด้วยความหวังดีแต่ไม่ห้ามปรามว่า"ระวังอย่าตกเป็นเครื่องมือของชนชั้นนำ เพราะนี่เป็นการต่อสู้ระหว่างพวกชนชั้นนำกันเอง"ซึ่งการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ได้พิสูจน์แล้วว่ามันเป็นจริงตามนั้น
พี่เสกเป็นนักกลยุทธ์ที่เดินหมากได้อย่างสุขุมและรู้ทันเกมมาตั้งแต่หนุ่ม
เมื่อผมได้ประเมิณจากสิ่งที่ผมรู้จักพี่เสกมาอย่างไม่ฉาบแวยผิวเผินเหมือนคนทั่วไป
ทำให้ผมไม่สามารถสรุปง่ายๆเหมือนคนอื่นๆที่ต่อต้านระบอบทักษิณได้ว่า"พี่เสกเปลี่ยนไป" "หรือพี่เสกขายจิตวิญญาณให้กับทักษิณไปแล้ว อดีตคนเดือนตุลาหลายคนอาจใช่ แต่ไม่น่าใช่คนอย่างพี่เสกอย่างแน่นอน
เพราะคนที่ข้ามด่านอำนาจและเงินทองมาได้ตั้งแต่หนุ่มอย่างทรนงอย่างพี่เสกและตอนนี้มีชีวิตในวัยเริ่มชราที่ร่างกายมิได้แข็งแรงเหมือนแต่ก่อนแต่ก็ไม่เคยกลัวความตายเพราะเจริญมรณานุสติอยู่เสมอ
คนแบบนี้ผมไม่เชื่อหรอกว่าจะเป็นคนที่ขายวิญยาณให้กับทักษิณเพื่อความสะดวกสบายเล็กๆน้อยในช่วงบั้นปลายของชีวิต
เพราะฉะนั้นบทสรุปที่ผมได้ในกรณีนี้ก็คือ จุดยืนทางการเมืองของพี่เสกได้กลายเป็นจุดยืนของ"การเมืองเชิงบูรณาการ"ไปแล้วคือไม่ใช่ทั้งแดงและเหลือง แต่ต้องการ"ก้าวข้ามทั้งแดงและเหลืองเพื่อหลอมรวมแดงและเหลืองเข้าด้วยกัน"เพื่อการสลายสีและถอดถอนเหตุปัจจัยทางความคิดที่จะนำไปสู่สงครามการเมืองหรือการเข่นฆ่ากันเองเพราะความความขัดแย้งทางความคิด
การสรุปแบบนี้เกี่ยวกับพี่เสกจึงน่าจะสอดคล้องกับพัฒนาการทางจิตที่ผ่านมาทั้งชีวิตของพี่เสกมากกว่าในสายตาของผม
จุดยืนแบบ"การเมืองเชิงบูรณาการ"เป็นจุดยืนที่อาภัพและเป็นเสียงข้างน้อย เพราะเป็นจุดยืนแบบค้างคาวที่ไม่ใช่ฝ่ายหนูและไม่ใช่ฝ่ายนก มิหนำซ้ำยังถูกเข้าใจผิดได้ง่ายจากทั้งสองฝ่าย
เหตุการณ์ล่าสุดที่เพิ่งเกิดกับพี่เสกก็ยืนยันถึงความจริงเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
Bunnaroth Buaklee
ผมเห็นด้วยกับอ.สุวินัย ว่าอ.เสก แกไม่ได้ขายวิญญาณให้ทักษิณหรือเอียงข้างแดงซะแล้วหรอกครับ
อาจารย์แกติดกับความเป็นคนวงนอกมานานมากแล้ว แล้วก็ถูกบ้อมบ์เป็นวาระๆ ไปส่วนจะวางเฉยอุเบกขาได้แค่ไหนนั้นเสกสรรค์ยุคถอดหมวกคงจะไม่เหมือนก่อน จำได้ว่าตอนที่แขก คำ ผกา ขึ้นเวทีอภิปรายว่าด้วยสลิ่มไทยด้วยวาทกรรมเสียดสีเอามัน จัดคนในชาติที่ไม่เอาด้วยกับแดงกลายเป็นสลิ่มทั้งหมด อ.เสก ก็เป็นหนึ่งในสลิ่มเหล่านั้น ผมได้นั่งกินข้าวกับจารย์เสกหลังจากวาทกรรมสลิ่มเกิดไม่นาน ก็เหมือนแกจะไม่ยี่หระอะไร
ผมสวมวิญญาณเสือปืนไว เขียนบทความว่าด้วยปาฐกถา 14 ตุลาออนไลน์ในห้าโมงเย็นวันที่เสกสรรค์ ประเสริฐกุลพูดจบตอนบ่ายสาม จึงหยิบเอาสิ่งที่ตัวเองสะดุดที่สุด 3 ประเด็นมาพูด ประเด็นสุดท้ายว่าด้วยอำนาจนิยม ที่คงไม่ต้องอธิบายซ้ำแล้วเพราะพี่วิชช์ - สุรวิชช์ วีรวรรณ อธิบายความได้ครบถ้วนกระบวนความไปแล้ว
วันนี้ขอทิ้งท้ายเรื่องนี้ประกอบความเห็นของอ.สุวินัย อีกรอบ เป็น รอบเก็บกวาดสิ่งที่อยากเสนอแต่ยังไม่ได้เสนอ
ผมคิดว่าชุดความคิดอ.เสก ในเรื่อง 40 ประชาธิปไตยของอ.เสก ครอบคลุมองค์ประกอบที่กว้างมาก แผ่ไปถึงปัจจัยภายนอก ว่าด้วยทุนข้ามชาติ ซึ่งสำคัญและมีผลต่อ “ระบบ-ระบอบ” มากแต่หลายคนมองข้ามไป อันที่จริงอิทธิพลใหญ่จากภายนอกมีผลต่อระบบ-ระบอบภายในของเรามานานแล้วแหละ ตั้งแต่ยุคอาณานิคม ยุคสงครามโลก ยุคสงครามเย็น มาจนถึงล่าสุดคือว่าด้วย โลกาภิวัตน์ทุนครอบโลก ที่กำลังเป็นอยู่ปัจจุบัน
-ปัญหาคือกว้าง แต่ไม่ลงลึกและไม่ผูกให้กระชับ-
จุดเด่นของการได้พูด 2 เวที ทำให้สามารถบรรยายเรื่องได้ 2 ตอนที่ไม่ซ้ำกัน คือได้ความกว้าง ความครอบคลุม แต่ปัญหาที่ผมคิดว่าเป็นจุดอ่อนที่สุดของชุดปาฐกถาชุดนี้คือ บทสรุปที่ร้อยเกี่ยวเอาบริบทปัจจัยที่ได้นำเสนอยังไม่กระชับ ชัดเจน ให้คนฟังได้จับเป็นประเด็น นั่นคือ ต้องไปย่อยเคี้ยวประมวลผลเอาเอง อีกประการคือ ไม่ลงลึก เอาแต่ภาพรวม
เพราะคุณลักษณะของสิ่ง/สรรพสิ่ง/ประเภท/กระบวนฯลฯ นั้นไม่ได้มีแค่ด้านเดียว คือมีอย่างน้อย 2 ด้านเสมอ คนเสื้อแดงอาจมีภาพด้านหนึ่งของพลังมวลชนหนุนพรรคการเมืองเพื่อผลประโยชน์กลุ่ม (Interest group) แบบที่อ.เสกนำเสนอ แต่อีกด้านคือพลังที่ฉุดรั้งประชาธิปไตยด้วยหากมีพฤติกรรมที่ไม่สอดคล้องกับวิธีการแบบประชาธิปไตย
เช่นเดียวกัน ภาพด้านที่อ.เสกนำเสนอชนชั้นกลางคือ ผู้ที่เคยก้าวหน้าแล้วไปใช้วิธีการไม่ถูกต้องในรอบ 2549 ทั้งๆ ที่อีกด้านหนึ่งของกลุ่มชนชั้นกลางคือผู้เรียกร้องสิ่งที่เป็นองค์ประกอบพื้นฐานของประชาธิปไตยที่ประเทศนี้ยังให้กับประชาชนไม่ได้
ผมคิดว่านี่เป็นจุดที่อ.เสก ละเลยไปนะ -- เพราะพลังต่างๆ มีทั้งด้านบวกและลบ อันนี้เป็นเรื่องที่อ.เสกรู้อยู่แน่นอน ปัญหาคือ ไม่ได้นำเสนอไว้ในชุดปาฐกถา มันเลยเป็นภาพด้านเดียวที่เป็นจุดอ่อนให้เกิดการโต้แย้งไปจนถึงการขว้างก้อนอิฐใส่
ผมคิดในแง่บวกว่า หากมีการปาฐกถารอบ 3 ในช่วงเดียวกัน ภาพใหญ่ทั้งหลายที่นำเสนอไป 2 วันจะถูกร้อยเชื่อมให้เกิดภาพที่ชัดเจนขึ้น เพราะปาฐกถาใดๆ ก็ตามมีข้อจำกัดที่เงื่อนเวลา ต้องอยู่ในกรอบเวลาและมีประเด็นนำเสนอจำกัด
แต่อย่างไรก็ตามในเมื่อมีแค่ 2 ภาค 13-14 ตุลาดังที่ได้ยินได้ฟัง ผมคิดว่า ปาฐกถาชุดนี้ก็มีจุดอ่อนคือการร้อยเชื่อมชี้ประเด็น ไปจนถึง จุดอ่อนในแง่ของบทสรุปที่ให้คนฟัง(ที่หลากหลายระดับ) ได้เข้าใจง่ายกว่านี้
อ.เสกบอกว่า “ทุนข้ามชาติ” (ตลอดถึงทุนใหม่ที่มีลักษณะเดียวกันหรือเป็นพวกกัน) เป็นปัญหาของประชาธิปไตย
แล้วบอกว่า “ช่องว่างชนชั้น ความเหลื่อมล้ำ” ที่ขยายออกๆ ก็เป็นปัญหากับประชาธิปไตย
โดยตรรกะนี้ ทุนใหม่ที่มาเป็นอำนาจใหม่ในปัจจุบัน ก็คือตัวแทนของทุนข้ามชาติ ที่ยากปฏิเสธไม่ดูเหมือนไม่มีนโยบายใดๆ เลยที่ผ่อนหนักเป็นเบา ปะทะปะทัง สร้างเบาะรอง มีแต่จะทะลุ่มทะลุยไปข้างหน้าร่วมกับทุนข้ามชาตินั้น (ล่าสุดก็แก้รธน.มาตรา 190 ไปแล้ว)
ปมปัญหาของประชาธิปไตยปัจจุบันจึงมีหลายเรื่องทับซ้อนกันอยู่ ทุนใหม่ สู้กับ ทุนเก่า อำนาจใหม่ สู้กับ อำนาจเก่า แต่ทั้งหมดยังไม่หลุดจากโครงสร้างแบบเดิมคือ วิธีการ+ความคิดแบบอำนาจนิยม ที่ฝังอยู่ในสังคมนี้มายาวนาน
เมื่อก่อนระบบราชการเป็นตัวแทนของอำมาตยาธิปไตยครอบงำสังคมไทย โครงสร้างของระบบราชการและธรรมเนียมวัฒนธรรมแบบอุปถัมภ์รวมศูนย์ มันเอื้อต่อ “อำนาจนิยม” และง่ายในการฉ้อฉล+รักษาอำนาจ ปัจจุบัน ทุนใหม่พรรคเพื่อไทยทั้งมวลได้ครอบโครงสร้างระบบราชการและใช้ประโยชน์จากธรรมเนียมอุปถัมภ์อำนาจรวมศูนย์อย่างเต็มที่
มาด้วยวิธีแบบประชาธิปไตย แทนที่จะกวาดล้างธรรมเนียมแบบแผนแบบอุปถัมภ์ อำนาจรวมศูนย์อันเป็นเครื่องมือของอำนาจนิยม กลับใช้หนทางนั้นหาประโยชน์รักษาอำนาจตนเอง
นิยายกำลังภายในบอกว่า การผึกวิทยายุทธ์แบบมารนั้นง่าย สำเร็จง่าย มีอานุภาพสูง เร็วกว่าการก้มหน้าก้มตาฝึกตามแบบธรรมะ ที่มีขั้นตอนสำเร็จช้าแต่ยั่งยืน
ทุนใหม่อำนาจใหม่ ชูธงฝ่ายธรรมะ แต่กระบวนท่าทั้งหมดเป็นมารทั้งสิ้น !
เพราะความไม่มีบทสรุปของอ.เสก จึงทำให้เกิดความย้อนแย้งขึ้นมา เช่น ทุนใหม่ที่เข้ามามีอำนาจรัฐโดยมีมวลชนหนุนหลัง ด้านหนึ่งก่อให้เกิดพัฒนาการสักก้าวสองก้าวในแง่ของการสร้างนโยบายให้ประชาชน แต่อีกด้านหนึ่งที่อ.เสก (พูดแล้วแต่ต้องตีความต่อ) ยังไม่ได้อธิบายให้ชัดคือ ด้วยความเป็นทุนใหม่เป็นนายหน้าโลกาภิวัฒน์มาปกครองแบบนี้ ก็ยากที่จะสร้างประชาธิปไตยถาวรให้เกิดขึ้นได้
นั่นเพราะอ.เสกบอกเองว่า ทุนข้ามชาติ เป็นอุปสรรคต่อ ประชาธิปไตย และมันยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำถ่างกว้างไปอีก
แปลเป็นภาษาของผมคือ ต่อให้พรรคเพื่อไทยและเสื้อแดงเดินหน้าต่อไปแบบนี้เรื่อยๆ ประชาธิปไตยที่แท้จริงยังไม่เกิด ขณะที่ความเหลื่อมล้ำ และการรุกเข้ามาของทุนโลกก็จะมากขึ้นๆ เรื่อยๆ
อ.เสก เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจแน่ๆ เพราะเป็นกรรมการปฏิรูปและเป็นคนเขียนรายงานสรุปของกก.ชุดนี้ แถมยังมีทิ้งท้ายสั้นๆ ว่า ควรกระจายอำนาจให้คนเล็กคนน้อยได้มีที่ทางอยู่รอด
น่าเสียดายมากที่ไม่มีการย้ำบทสรุป 2 วันปาฐกถาในเชิงแปรเป็นแนวปฎิบัติ ไม่เหมือนอ.ธีรยุทธ ที่ฟันธงโชะเลยว่ากระจายอำนาจคือทางออก
ปมปัญหาของเมืองไทยตอนนี้ไม่ว่าฝ่ายไหนคือ “วิธีการ” คนเสื้อแดงก็เหอะอย่าแค่หยิบคำปาฐกถาบางส่วนไปลากเข้าความแล้วตีปีก เพราะขบวนที่เรียกตัวเองว่าเป็นพลังประชาธิปไตยทั้งพรรคและเสื้อแดงน่ะ สวมอยู่บนวิธีการที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อยๆๆ แบบที่บางคนไม่รู้ตัวก็มี
เช่น การแก้รธน.เป็นสภาผัวเมียอะไรนั่นมันแค่อยากเอาชนะศึกต่อพลังการเมืองอีกฝ่าย ซึ่งพวกเขาก็เล่นกันอยู่หยิบมือเดียวในโครงสร้างส่วนบน แต่กลับสร้างความหายนะให้กับประชาชนส่วนใหญ่ แถมทำให้ “ระบบ” เสียหายไปอีก ... แก้แล้วควรจะดีขึ้นแต่นี่แก้แล้วระบบไม่ได้ดีขึ้นเลย มันจะกระเทือนต่อ “ระบอบ” ด้วยซ้ำ
โดยสรุปคือ ชุดปาฐกถา 2 วันของอ.เสกน่ะ กว้าง ครอบคลุม แต่มันเป็นวิทยานิพนธ์แค่ 4 บทแรกนำเสนอเรื่องราวข้อมูลโน่นนั่นมาวางบนฐานทฤษฎี ข้อมูลบางอย่างที่นำเสนอก็ขาดไปนะเช่นการพยายามมองแบบทวิลักษณ์ หยิบภาพใหญ่มาเสนอมันจึงเกิดการโต้เถียงว่า “ไม่ใช่” ที่สำคัญคือดันขาดบทสำคัญบทสุดท้ายคือบทสรุป
ผมสรุปแทนแล้วกันว่า กระจายอำนาจโดยเร็วครับ
เร่งกระจายก่อนที่ทุนใหม่อำนาจใหม่ที่ผูกกับทุนโลกที่เข้ามาสวมโครงสร้างอำนาจนิยมราชการรวมศูนย์ธรรมเนียมอุปถัมภ์จะพาประเทศของเราเละเทะ การกระจายอำนาจคือหนึ่งในวิธีการแก้อำนาจนิยม(ทั้งเก่าและใหม่) สร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชน หนุนเสริมโครงสร้างส่วนล่างให้เข็มแข็ง แก้การกินรวบประเทศ และที่สำคัญคือ กุญแจแก้ปัญหาประชาธิปไตยไทย ที่อำนาจรัฐทั้งเก่าและใหม่ รวมทั้งทุนเก่าและใหม่ไม่อยากให้เกิดต่างหาก !