Quote
วันอังคาร ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2556, 13.12 น.![]()
29 ต.ค.56 คำต่อคำการแถลงข่าวของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กรณีที่อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้อง
สืบเนื่องจากที่ทางสำนักงานอัยการสูงสุดได้มีการแถลงข่าวเมื่อวานนี้ว่าจะสั่งฟ้องผม กับคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ในข้อหาร่วมกันก่อให้มีการฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ย่อมเล็งเห็นผล ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ส่งสำนวนไปให้ก่อนหน้านี้ วันนี้ผมกับคุณสุเทพก็อยากจะมาเรียนยืนยันถึงข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แล้วก็จุดยืนของเราทั้ง 2 คนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แล้วก็เรื่องของกฎหมายนิรโทษกรรมให้เกิดความชัดเจน
ผมเรียนให้ทราบเป็นเบื้องต้นก่อนว่า เดิมทีนั้นทางสำนักงานอัยการสูงสุดได้มีหนังสือให้ผมกับคุณสุเทพนั้นไปรับทราบคำสั่งคดีนี้ว่า อัยการสูงสุดจะสั่งฟ้องหรือไม่ในวันที่ 31 ตุลาคม คือวันพฤหัสบดีที่จะถึงนี้เพียงแต่ว่าเมื่อวานนี้ทางสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตัดสินใจที่จะแถลงข่าวก่อนที่จะถึงวันนัด
อย่างไรก็ตามวันนัดหมายนี้ก็ยังมีอยู่ เพราะฉะนั้นในวันพฤหัสบดีที่จะถึงนี้ผม กับคุณสุเทพ ก็จะเดินทางไปที่สำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อรับทราบว่าคำสั่งของอัยการสูงสุดเป็นเช่นไร แล้วก็จะต้องปฏิบัติกับผมกับคุณสุเทพต่อไปอย่างไร คือสรุปง่ายๆ ก็คือว่า ยืนยันว่าพวกผมทั้ง 2 คนไม่หนีไปไหน จะเผชิญแล้วก็ต่อสู้คดีนี้ตามกระบวนการยุติธรรมทุกประการ ด้วยเหตุผลซึ่งผมเคยได้ย้ำไปหลายครั้งแล้วว่า ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของข้อเท็จจริง หรือข้อกฎหมาย เรามีประเด็นที่โต้แย้ง หักล้าง สิ่งที่ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ แล้วก็อัยการสูงสุดได้มีความเห็นไป
ผมไม่ลงรายละเอียดมากครับ แต่ยืนยันว่า ในส่วนของข้อเท็จจริง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2553 ผมและคุณสุเทพ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง เกิดการชุมนุมทางการเมืองที่เป็นการชุมนุมที่ศาลวินิจฉัยว่าผิดกฎหมาย เลยขอบเขตของการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ มีการดำเนินการประกาศใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองตามกฎหมายและตามขั้นตอนต่างๆ ซึ่งแม้มีผู้โต้แย้ง ศาลก็ได้วินิจฉัยว่าเป็นคำสั่งที่ออกมาโดยชอบ
จากนั้นก็เป็นเรื่องของการปฏิบัติ ซึ่งในเหตุการณ์ดังกล่าว พี่น้องประชาชนทราบดีว่าการชุมนุมนั้นได้ลุกลามไปเป็นลักษณะของการมีผู้มีอาวุธ จะแฝงตัว หรือจะเคลื่อนไหวคู่ขนานไปกับผู้ชุมนุมก็แล้วแต่ แต่ได้ใช้อาวุธสงครามในการทำร้ายประชาชนในการก่อความไม่สงบ ไม่ว่าจะเป็นการยิงระเบิด หรือทำให้ผู้คน เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร หรือประชาชนเสียชีวิต ซึ่งตลอดระยะเวลาดังกล่าว ทั้งผม แล้วก็คุณสุเทพ ก็มีจุดยืนที่ชัดเจนว่าจะต้องนำบ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติ ความสงบสุข โดยหลีกเลี่ยงความสูญเสีย และมีนโยบายที่ไม่เข้าไปสลายการชุมนุมอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตามครับ ทางสำนักงานอัยการสูงสุดนั้นได้แถลงออกไป ตรงกันข้ามกับข้อเท็จจริงดังกล่าว โดยอ้างว่าสำนวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษนั้นไม่ได้ระบุถึงเรื่องชายชุดดำ ก็ขอเรียนย้ำครับว่า ผมและคุณสุเทพได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมไปยังอัยการสูงสุด และผู้ที่รับผิดชอบในคดี แสดงให้เห็นว่า การละเลยข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งมีนัยยะสำคัญมากต่อการวินิจฉัยว่ามีการกระทำผิดหรือไม่นี้ เป็นสิ่งที่ทางอัยการสูงสุดย่อมทราบดีอยู่ เหตุผลที่อัยการสูงสุดย่อมทราบดีว่ามีชายชุดดำนั้นไม่ใช่เพราะว่าหน่วยงานต่างๆ อย่างเช่น คอป. หรือกรรมการสิทธิมนุษยชน ล้วนแล้วแต่มีรายงานยืนยันการมีผู้มีอาวุธอยู่ในการชุมนุม แต่เป็นเพราะสำนักงานอัยการสูงสุด และอัยการสูงสุด คือผู้ที่ส่งฟ้องคดีก่อการร้าย คดีหมายเลข 2542/2553 ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดย่อมทราบดีว่า ในสำนวนคดีดังกล่าว มีการระบุถึงการปฏิบัติการณ์ของชายชุดดำ หรือผู้ติดอาวุธอยู่ ผมว่าไม่น้อยกว่า 20 หน้า
ดังนั้นการที่ทางอัยการสูงสุดจะอ้างเพียงแค่ว่า สำนวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษในคดีนี้ไม่ระบุถึงการต่อสู้ หรือการมีอาวุธที่ใช้ในการชุมนุมนี้จึงฟังไม่ได้ เพราะอยู่ในหนังสือร้องขอความเป็นธรรม และอยู่ในสำนวนคดีที่อัยการสูงสุดได้ส่งฟ้องคดีก่อการร้ายไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553
ประเด็นถัดมาก็คือในเรื่องของข้อกฎหมาย ผม และคุณสุเทพ ก็ได้ทำเรื่องร้องขอความเป็นธรรม ในประเด็นที่ว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษนี้ไม่มีอำนาจในการสอบสวนคดีนี้ เนื่องจากว่าในการบรรยายพฤติกรรมของผม และคุณสุเทพ ความผิดที่อ้างว่าผม และคุณสุเทพได้ทำนั้นคือการออกคำสั่ง ผมในฐานะนายกรัฐมนตรี คุณสุเทพในฐานะที่เป็นประธาน หรือผู้อำนวยการใน ศอฉ. ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นการออกคำสั่งในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ การบรรยายในสำนวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษในหน้า 9 ยังได้ระบุด้วยซ้ำว่า พฤติกรรมที่กระทำผิดนี้เป็นเรื่องของการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งแสดงให้เห็นได้ชัดว่า มูลเหตุที่จะมีการพิจารณาคดีนี้เป็นเรื่องของการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ และตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องจึงเป็นอำนาจของ ปปช. ที่จะดำเนินการในการสอบสวนคดีนี้ มิใช่อำนาจของกรมสอบสวนคดีพิเศษ
การจะมากล่าวอ้างว่า คดีนี้เป็นคดีฆาตกรรม จึงมีความขัดแย้งในตัว เพราะถ้าผม หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กระทำการนี้ ย่อมไม่มีอำนาจไปออกคำสั่งใดๆ ทั้งสิ้น ที่เป็นที่มาของเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ดังนั้นเราจึงเห็นว่า ทางอัยการสูงสุดนั้นตระหนักดีทั้งถึงข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ แต่กลับมีความเห็นสั่งฟ้องผม และคุณสุเทพ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ
ผมและคุณสุเทพนั้น ได้ฟ้องอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษว่าได้กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ และใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมกลั่นแกล้ง เราเห็นว่าพฤติกรรมของอัยการสูงสุดไม่ต่างจากอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพราะฉะนั้นผม และคุณสุเทพก็จะฟ้องร้องดำเนินคดีกับอัยการสูงสุดในกรณีนี้เช่นเดียวกันต่อไป ด้วยเหตุผลข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่ได้สรุปให้ท่านทั้งหลายได้ทราบคร่าวๆ นี่คือจุดยืน แล้วก็ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับตัวคดีที่มีการส่งผม และคุณสุเทพ ไปฟ้อง
ถัดมาเมื่อเกิดเหตุนี้ขึ้น มีการวิพากษ์วิจารณ์หรือมีการวิเคราะห์ไปต่างๆ นานาว่า จะส่งผลอย่างไรต่อท่าทีที่ผม และคุณสุเทพมีต่อกฎหมายนิรโทษกรรม เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากได้มีการแก้ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ให้มาครอบคลุมถึงคดีที่เกิดขึ้นในปี 2553 ทั้งหมด ซึ่งหมายรวมถึงคดีนี้ด้วย โดยที่ผมต้องขอยืนยันว่า การอภิปราย และการลงมติของผมทุกครั้ง ในการประชุมกรรมาธิการฯ นั้น ผมได้แสดงจุดยืนคัดค้านการนิรโทษกรรมดังกล่าว ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า ผมยืนยันว่าความผิดต่อชีวิต ไม่ใช่ความผิดที่พึงจะนิรโทษกรรม ไม่ว่าการกระทำผิดต่อชีวิตจะเกิดขึ้นจากฝ่ายเจ้าหน้าที่หรือจากฝ่ายผู้ชุมนุม หรือชายชุดดำ หรือใครก็ตาม เพราะการนิรโทษกรรมนี้เป็นเรื่องของการละเว้นการใช้อำนาจรัฐในกรณีที่มีประชาชนนั้นแข็งขืนต่อรัฐ แต่ชีวิตของผู้สูญเสียทั้งหลายนี้ไม่ใช่ชีวิตของรัฐ รัฐเอาสิทธิ์อะไรที่จะไปบอกว่า ละเว้นการใช้อำนาจรัฐดำเนินคดีกับการที่ใครก็ตามไปเอาชีวิตของบุคคลอื่น
ผมจึงยืนยันคัดค้านตรงนี้ แล้วก็เป็นจุดยืนที่สอดคล้องกับคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ และองค์กรทางด้านสิทธิมนุษยชนทั้งหลายที่บอกว่า การนิรโทษกรรมการกระทำความผิดที่เป็นการจงใจ ละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้อื่นนั้นเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ ไม่นับรวมว่าความพยายามที่จะทำเรื่องนี้ก็คือ เพื่อที่จะไปเหมารวมกับคดีทุจริต คอร์รัปชั่น ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกที่เขาจะให้การนิรโทษกรรมแก่คนที่โกงกินทำความเสียหายให้แก่ชาติบ้านเมือง
ผมย้ำเพื่อความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนทุกคนครับ กับผู้สนับสนุนผม สนับสนุนพรรคฯ หรือคุณสุเทพว่า การเดินหน้าคัดค้านเรื่องนี้จะเข้มข้นยิ่งกว่าเดิม ไม่เอาเรื่องคดีที่ผม แล้วก็คุณสุเทพ ตกเป็นจำเลยนี้มาเกี่ยวข้องในการดำเนินงานทางการเมือง และการแสดงจุดยืนของพวกเรา การคัดค้านที่ผมประกาศไปแล้วในขั้นตอนต่อไปก็คือการดำเนินการคัดค้านในสภา ทั้งในวาระที่ 2 ทั้งในวาระที่ 3 และจะใช้สิทธิ์ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการยื่นเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหลายมาตรา
การเคลื่อนไหวนอกสภา ผมก็ได้บอกแล้วว่า พร้อมที่จะทำครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ขอบเขตที่เป็นสิทธิของประชาชนที่จะเคลื่อนไหวตามรัฐธรรมนูญ เพราะแม้ผมจะเป็น สส. หรือเป็นนักการเมืองนั้น ผมก็เป็นประชาชนคนหนึ่งที่มีสิทธิ เสรีภาพ ในการเคลื่อนไหวเช่นเดียวกัน ก็จะดำเนินการ
---มีต่อ---