บล็อกของผมพูดถึงแต่เรื่องสุขภาพการเจ็บป่วย จะนอกเรื่องบ้างก็เป็นเรื่องสนุกสนานเฮฮาคลายเครียด เรื่องอื่นๆที่เป็นสาระแต่ไม่เกี่ยวกับสุขภาพไม่ว่าจะเป็นศาสนา หรือการเมือง ผมไม่เคยพูดถึงเลย ที่ผมไม่พูดถึงการเมืองนั้นมีเหตุผลสองอย่าง อย่างหนึ่งก็เพราะคนไข้ของผมมีทั้งสีเหลืองสีแดง ที่เป็น ส.ส. ก็มี ที่เป็นรัฐมนตรีก็มี มีทั้งฝ่ายเพื่อไทยและฝ่ายประชาธิปัตย์ แม้แต่ท่านผู้อ่านบล็อกนี้ก็มีทั้งเหลืองทั้งแดง ถ้าผมพูดเรื่องการเมืองไป ไม่ว่าจะพูดออกเหลืองหรือออกแดง ก็ต้องทะเลาะกับคนไข้ของผมเสียราวครึ่งหนึ่ง ดังนั้นผมเงียบเสียดีกว่า
แต่ว่ามาถึงวันนี้บ้านเมืองของเราได้เฉียดเข้าใกล้จวนแจจะตกขอบเหวของความหายนะ ผมจึงคิดว่าเป็นเวลาที่ผมควรแหกประเพณีของบล็อก ขอเขียนเรื่องการเมืองสักหนึ่งครั้ง ครั้งเดียว แล้วจะไม่เขียนถึงอีกเลย
อีกเหตุผลที่ผมไม่เคยเขียนเรื่องการเมืองมาก่อนก็คือผมเองเคยตั้งใจว่าจะทำงานเป็นหมออาชีพมุ่งใช้ชีวิตดูแลคนเจ็บไข้โดยจะไม่ยุ่งอะไรกับการเมืองอีกเลย ตั้งแต่หลังเหตุการณ์ตุลาคม 2519 เป็นต้นมา เหตุผลเรื่องนี้มันยาว แต่ผมเล่าคร่าวๆให้ท่านผู้อ่านได้ เพื่อจะได้เข้าใจเรื่องที่ผมจะเขียนวันนี้ คือหลังเหตุการณ์ที่นักศึกษาเดินขบวนขับไล่รัฐบาลทหารเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 ผมก็เหมือนนักศึกษาในสมัยนั้นคนอื่นๆที่ฝักใฝ่การเมืองจนการเมืองเป็นมากกว่าครึ่งหนึ่งของชีวิตประจำวัน ตัวผมเองเป็นรองนายกองค์การนักศึกษาของมหา’ลัย ซึ่งมีงานหลักคือประสานงานม็อบต่างๆนอกมหา’ลัยมากกว่างานเรียนหนังสือ วาระหลักของขบวนการนักศึกษาสมัยนั้นมีเรื่องเดียว คือทำอย่างไรจะลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนลงได้ หรือที่เรียกว่า wealth distribution วิธีการที่พวกเราตกลงกันได้เป็นเอกฉันท์มีประเด็นเดียว คือต้องต่อต้านการคืนชีพของรัฐบาลเผด็จการทหารทุกรูปแบบ แต่การจะเดินหน้าไปอย่างไรโดยไม่มีเผด็จการทหารนั้น นักศึกษาเองก็แบ่งเป็นสองแนว แนวหนึ่งนิยมระบบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง อีกแนวหนึ่งเชื่อว่าระบบเลือกตั้งไม่เวอร์ค เพราะเปิดช่องให้พวกนายทุนขุนศึกศักดินาตามเข่นฆ่าทำลายผู้นำคนจน จำต้องก่อการปฏิวัติลุกฮือของชนชั้นกรรมาชีพ แล้วตั้งรัฐบาลเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพขึ้น เรียกง่ายๆว่าแนวทางคอมมิวนิสต์ พวกนิยมแนวทางหลังนี้บางคนก็ได้ไปติดต่อสื่อสัมพันธ์กับ พคท.(พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองนอกกฎหมายและทำงานอยู่ในป่า ตัวผมนั้นเป็นพวกไม่ชอบความรุนแรงและนิยมระบบเลือกตั้ง แม้ว่าอีกใจหนึ่งยังออกจะเห็นด้วยว่าท่ามันจะไม่เวอร์ค เพราะขณะที่พวกเราพยายามยึดมั่นในแนวทางประชาธิปไตยอยู่นั้น ก็ได้เห็นผู้นำชาวนา ผู้นำกรรมกร ที่ลุกขึ้นมานำเรียกร้องเพื่อปากท้อง ได้ทะยอยถูก “เก็บ” หรือฆ่าตายอย่างทารุณไปหลายราย
แล้วทหารก็ทำรัฐประหารโหดเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 นักศึกษาจำนวนหนึ่งถูกฆ่าตาย บางคนถูกจับแขวนคอ อีกจำนวนมากหนีหัวซุกหัวซุน รวมทั้งผมด้วย ส่วนหนึ่งหนีเข้าป่าไปสมทบกับ พคท. แต่ผมหนีไปตั้งหลักไม่ไกล พอเห็นปลอดภัยก็กลับเข้าหอเรียนหนังสือต่อ ประสบการณ์ที่เหล่าผู้นำนักศึกษาได้รับจากการกระทำของขุนศึกในสมัยนั้น ผมบรรยายได้คำเดียวว่า.. “ยากที่จะลืม”
ผมเองนั้นเป็นคนขี้ขลาด เมื่อเจอเข้าก็บอกตัวเองได้ทันทีว่านี่ไม่ใช่วิธีที่ผมจะใช้ชีวิตที่ทอดยาวรอผมอยู่ข้างหน้าอีกหลายสิบปี จึงสาปส่งการยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมืองตั้งแต่นั้น ช่วงประมาณปีพ.ศ. 2524 เมื่อเรียนจบไปเป็นหมอชนบท มีชาวบ้านนิยมนับถือมาก ก็มีคนมายุว่าคุณหมอน่าจะสมัครผู้แทน ผมได้แต่หัวเราะหึ..หึ ในช่วงเวลานั้น เมื่อไปกลับเยี่ยมบ้านเกิด เพื่อนๆมัธยมรุ่นเดียวกันซึ่งกระจายเป็นครูใหญ่ครูน้อยอยู่ทั่วเขตเลือกตั้งก็รุมชวนให้สมัครผู้แทนโดยอาสาว่าจะช่วย ผมก็ได้แต่หัวเราะหึ..หึ เพราะในใจผมต่อเรื่องการเมืองนั้นมีคำตอบชัดอยู่แล้ว
ช่วงตั้งแต่ปีพ.ศ. 2519 เป็นต้นมา เป็นช่วงที่เมืองไทยใกล้จวนแจจะเกิดสงครามกลางเมือง (civil war) หมายความว่าสงครามที่ชาวบ้านรบกับชาวบ้านด้วยกันเอง
ฝ่ายหนึ่งก็คือฝ่ายที่พวกเราเรียกว่า “นายทุน-ขุนศึก-ศักดินา” ซึ่งมีกำลังพลหลักเป็นชาวบ้านที่ถูกปลุกปั่นให้เกลียดชังพวกคอมมิวนิสต์ที่จะมาล้มเจ้า โดยพวกขุนศึกศักดินาได้ลงไปจัดตั้งมวลชนชาวบ้านขึ้นเป็นกลุ่มลูกเสือชาวบ้านทั่วประเทศ เอาไว้เป็นทัพหนุนของทัพหน้า ตัวทัพหน้าเองก็เป็นชาวบ้านที่พวกขุนศึกลงไปติดอาวุธให้โดยตรง เรียกว่า “ทหารพราน”
ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งคือ พคท. ซึ่งมุ่งโค่นล้มนายทุน-ขุนศึก-ศักดินา และมุ่งสถาปนารัฐบาลเผด็จการโดยชนชั้นกรรมาชีพขึ้น ฝ่ายนี้มีกองกำลังเป็นชาวบ้านเช่นกัน แต่เป็นชาวบ้านที่ พคท. ได้ปลุกระดมให้สำเหนียกถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมและให้เจ็บแค้นต่อการถูกกดขี่ขูดรีด ส่วนที่เป็นมวลชนนั้นไม่ได้ติดอาวุธ แต่ส่วนที่เป็นแนวร่วม, เป้า ส. (หมายถึงคนที่จ่อคิวจะได้เป็นสมาชิกพรรค) และคนที่เป็นสมาชิกพรรคนั้น พคท.ได้ติดอาวุธให้ด้วย โดยที่ประมาณครึ่งหนึ่งของเพื่อนนักศึกษาที่ผมรู้จักและทำกิจกรรมด้วยกัน ได้มาอยู่กับฝ่าย พคท.
ตรงกลางระหว่างสองฝ่ายนี้ก็คือพวกที่หวังอาศัยเวทีประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งในการแก้ปัญหา ซึ่งก็มีทั้งนายทุน ปัญญาชน คนชั้นกลางทั่วไป และนักการเมืองสายไม่รุนแรงซึ่งมีเพื่อนเก่าของผมอยู่ด้วยอีกจำนวนหนึ่ง
แต่เหตุการณ์ก็ผ่านมาได้อีกหลายปีโดยไม่มีสงครามกลางเมืองขนาดใหญ่จริงๆเกิดขึ้นนอกจากยุทธการป่าล้อมเมืองระดับไม่รุนแรง เพื่อนที่อยู่กับ พคท. ได้เล่าให้ผมฟังว่า พคท. เองมีโครงสร้างภายในที่ล้าหลังพัฒนาไม่ขึ้น ไม่มีศักยภาพพอที่จะก่อการปฏิวัติยึดอำนาจรัฐมาตั้งเป็นรัฐบาลเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพขึ้นได้ ท้ายที่สุด พคท. ก็ล่มสลายไป ขณะเดียวกันรัฐบาลป๋าเปรมได้เปิดอ้าแขนรับพวกเราที่เคยเข้าป่าไปอยู่กับ พคท. ให้กลับบ้าน พวกเราเกือบทั้งหมดก็กลับมา เพื่อนรุ่นพี่บางคนกลับมาเป็นหมอฝึกหัดอยู่ภายใต้ความดูแลของผมซึ่งตอนนั้นผมเป็นแพทย์ประจำบ้านแล้ว พวกเราที่กลับมา ได้รับการกระซิบจากฝ่ายขุนศึกว่าให้อยู่แต่ในกรุงเทพฯ คนที่เป็นหมอก็ให้เป็นหมอในกรุงเทพฯ ห้ามออกไปอยู่ชนบท คนที่ยอมเชื่อฟังก็ได้รอดชีวิตมา ซึ่งบางคนกลายมาเป็นผู้นำฮาร์ดคอร์ของมวลชนเสื้อแดงอยู่ในวันนี้ เพื่อนสนิทของผมคนหนึ่งกลับมา เขาไม่ยอมอยู่ในกรุงเทพ แต่ไปทำร้านอาหารอยู่ริมน้ำโขงที่เชียงราย แล้ววันหนึ่งเขาก็ถูกตาม “เก็บ” ตายคาร้านของเขาอย่างโหด***มทารุณ
พวกเพื่อนๆที่ยังมีหัวคอมมิวนิสต์ได้เคยเปรยให้ผมฟังว่า เมื่อหมดสิ้น พคท. สำหรับคนชั้นกรรมาชีพ การจะยึดอำนาจรัฐมองไม่เห็นทางอื่น มีทางเหลืออยู่ทางเดียวคือต้องสามัคคีกับนายทุน ซึ่งเขาใช้คำว่า “นายทุนชาติ” เพื่อชิงอำนาจรัฐมาให้ได้ก่อน เมื่อได้แล้วก็ค่อยใช้อำนาจนั้นมากระจายรายได้หรือสร้าง wealth distribution ภายหลัง นั่นหมายความว่าการปฏิวัติต้องทำเป็นสองก๊อก ก๊อกแรก กรรมาชนสามัคคีกับนายทุนชาติโค่นล้มขุนศึกศักดินา ก๊อกสองกรรมาชนค่อยมาโซ้ยกับนายทุนชาติซะเองต่อเพื่อบังคับเฉลี่ยความรวยมาให้คนจน
ต่อมา ประมาณปี 2544 ก็เป็นจังหวะเดียวกันกับที่ได้มี “นายทุนใหญ่ใจถึง” เข้ามาเล่นการเมืองด้วยวิธีใช้เงินจำนวนมากซื้อสส.เข้าคอก เพื่อนผมที่เป็นนักสังคมนิยมแนวทางรุนแรงหลายคนได้เข้าไปซุกปีกนี้ พรรคของ “นายทุนใหญ่ใจถึง” ชนะเลือกตั้งอย่างง่ายดาย เรียกว่าวิธีซื้อแบบนี้ทำให้ได้อำนาจรัฐมาง่ายๆโดยแทบไม่ต้องเปลืองเลือดเนื้อเลย เพื่อนผมหลายคนแฮปปี้ ได้เป็นรัฐมนตรี และได้ผลักดันนโยบายที่หากจะเรียกจากมุมของพวกสังคมนิยมก็เรียกได้ว่าเป็นนโยบายกระจายรายได้ แต่พวกนายธนาคารเรียกว่านโยบายประชานิยม ในบรรดานโยบายเหล่านี้ ผมเห็นมีอยู่สองเรื่องที่มีผลดีต่อคนชั้นกรรมาชีพอย่างเป็นรูปธรรม คือนโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรค กับนโยบายกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งหากไม่มี "นายทุนใหญ่ใจถึง" ให้อาศัยใบบุญ สิ่งนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น
แต่ฮันนิมูนระหว่างนักสังคมนิยมหัวรุนแรงกับ “นายทุนใหญ่ใจถึง” มีอยู่ได้ไม่กี่ปี ปัญหาที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เพราะมิชชั่นที่แท้จริงของ “นายทุนใหญ่ใจถึง” คือการสร้างอำนาจผูกขาดถาวรด้วยการกอบโกยกักตุนทุนทรัพย์ไว้สร้างอำนาจให้ตัวเองและครอบครัวต่อๆกันไปไม่สิ้นสุด มิชชั่นนี้ก่อความไม่พอใจในหมู่นายทุนอื่นที่ถูกกีดกันไม่ให้ได้เอี่ยวในผลประโยชน์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนายทุนที่อิงอยู่กับขุนศึกศักดินา พวกอื่นที่ไม่พอใจก็มีนักการเมืองที่อยู่คนละพวก (ซึ่งก็มีเพื่อนของผมอีกจำนวนหนึ่ง) และปัญญาชนคนชั้นกลางที่ต้องการให้ใช้หลักผิดชอบชั่วดีในการดูแลบ้านเมือง ทั้งสามพวกนี้ได้สามัคคีกับพวกขุนศึกศักดินาโค่นล้ม “นายทุนใหญ่ใจถึง” ซึ่ง “นายทุนใหญ่ใจถึง” ก็ทราบดี จึงด้านหนึ่งได้ใช้ยุทธการปลุกระดมและจัดตั้งมวลชนคนยากจนในชนบทไว้เป็นเกราะกันชนปกป้องตัวเองจากพวกขุนศึก อีกด้านหนึ่งได้ลงมือ “ซื้อ” ขุนศึกส่วนหนึ่งมาเป็นพวกของตน ในวันที่ถูกทหารทำรัฐประหารล้มรัฐบาลของตัวเองเมื่อปีพ.ศ. 2549 ตอนนั้นตัว “นายทุนใหญ่ใจถึง” อยู่ที่สหรัฐอเมริกา เพื่อนคนหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับเขาเล่าให้ผมฟังว่านาทีแรกที่ได้รับรายงานข่าวรัฐประหาร นายทุนใหญ่ใจถึงเอ่ยปากถามว่า
“ใครทำ.. พวกเราหรือเปล่า?”
นั่นหมายความว่าย้อนหลังไปไกลถึงแต่สมัยนั้น (2549) การซื้อขุนศึกไว้เป็นพวกของตนก็ได้ดำเนินไปจนถึงจุดที่หากจะใช้ก่อรัฐประหารก็ทำได้แล้ว เพียงแต่ว่ากลุ่มขุนศึกที่ชิงลงมือในวันนั้นเป็นอีกพวกหนึ่ง การแพ้เกมกันในชั่วเวลาสั้นๆที่นับกันเป็นชั่วโมงนี้ทำให้ “นายทุนใหญ่ใจถึง” ต้องระเห็จไปอยู่ต่างประเทศและยังไม่ได้กลับเมืองไทยจนทุกวันนี้
การรัฐประหารโค่นล้ม “นายทุนใหญ่ใจถึง” ได้สำเร็จในปี 2549 ทำให้ฝ่ายต่อต้าน “นายทุนใหญ่ใจถึง” กล้าแข็งขึ้น ฝ่าย “นายทุนใหญ่ใจถึง” เองกลับต้องสาละวนตกเป็นฝ่ายตั้งรับ จนชีวิตของเพื่อนๆนักสังคมนิยมที่ไปซุกอยู่ในปีกของ ” นายทุนใหญ่ใจถึง” ทุกวันนี้ไม่มีเวลามาคิดเรื่อง wealth distribution อีกต่อไปแล้ว เพราะต้องมัวแต่ยุ่งอยู่กับการต่อสู้เพื่อธำรงรักษาอำนาจรัฐผ่านการใช้เงินและลูกเล่นทุกรูปแบบโดยเลิกคำนึงถึงหลักผิดชอบชั่วดีไปเลย ขอเพียงยืดเวลายึดกุมอำนาจรัฐออกไปให้ได้อย่างเดียว นโยบายประชานิยมซึ่งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของการกระจายรายได้ที่เคยได้ผล ได้แปลงรูปมาเป็นวิธีหาเสียงแบบสุกเอาเผากินและก่อปัญหามากกว่าแก้ปัญหา เพื่อนๆของผมทุกคนดูเหมือนจะลืมพันธะกิจหลักที่จะ distribute wealth ไปหมดสิ้น ปัญหาพื้นฐานของคนจน ถ้าไม่นับเรื่องการรักษาพยาบาลซึ่งทำได้ดีเสียเรื่องหนึ่งแล้ว เรื่องอื่นยังไม่ได้รับการแก้ไขเลยแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเกือบสิบปี ปัญหาคนจนไร้ที่ดินทำกินซึ่งเป็นที่มาของ “ม็อบปากมูล” ที่หนังสือพิมพ์เคยขนานนามว่าม็อบตลอดกาล เคยมีอยู่อย่างไร ก็ยังมีอยู่อย่างนั้น ไม่มีแม้แต่ความคิดที่จะปฏิรูปที่ดิน ปัญหาชาวนามีต้นทุนการผลิตสูงและผลผลิตคุณภาพต่ำก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาการกระจายอำนาจและงบประมาณไปชนบทที่รัฐธรรมนูญบังคับไว้ นอกจากจะไม่ได้ทำแล้วยังถูกระงับอีกต่างหาก ส่วนใหญ่เพื่อนๆเผลอลืมเพราะเผลอไปยึดติดเงินและอำนาจซึ่งเป็นเพียงเครื่องมือที่จะบรรลุเป้าหมายแทนการมุ่งมั่นที่ตัวเป้าหมายเองเสียฉิบ กิจกรรมปกป้องอำนาจนี้ทำกันโดยทิ้งหลักผิดถูกชั่วดีไปหมด มุ่งเอาแต่ชนะและยึดกุมอำนาจรัฐให้ได้ ทำกันอยู่นานตลอดเกือบสิบปีที่ผ่านมา จนทำให้รากวัฒนธรรมของสังคมไทยสั่นคลอนเหมือนต้นไม้ที่ถูกดึงให้รากบางส่วนขาด สังคมไทยทุกวันนี้ไม่มีใครสนใจแยกแยะความชั่วความดีออกจากกันอีกต่อไปแล้ว คนระดับนำของสังคมและอาจารย์มหา'ลัยพูดออกโทรทัศน์ว่าชั่วหมายความว่าดีได้อย่างหน้าตาย และคนไทยทุกคนก็มีส่วนร่วมกันปล่อยให้สิ่งนี้เกิดขึ้น อย่างน้อยก็ด้วยการทำตัวเป็น “ไทยเฉย” ดังนั้นการที่ประเทศชาติของเราเดินมาจนถึงจุดนี้ได้ จึงเป็น “กรรมหมู่” ที่คนไทยทุกๆคนร่วมกันก่อ จะโทษกันและกันไปก็ไร้ประโยชน์
หลังการรัฐประหารและโดนกลศึก "ตุลาการภิวัฒน์" จนต้องหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ “นายทุนใหญ่ใจถึง” ได้ใช้ความพยายามผ่านรัฐบาลหุ่นของตนเพื่อกลับมามีอำนาจเต็มอีกครั้งให้ได้ โดยทำการอย่างไม่คำนึงถึงหลักผิดชอบชั่วดีใดๆ การกระทำดังกล่าวได้ก่อให้เกิดพลังต่อต้านขึ้นใหม่ในสังคม คือกลุ่มคนชั้นกลางที่ยังเชื่อมั่นเรื่องผิดชอบชั่วดี กลุ่มนี้ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากพันเป็นหมื่น จากหมื่นเป็นแสน จากแสนเป็นล้าน จากล้านเป็นหลายล้าน และขยายข้ามชั่วอายุจากคนรุ่นเก่าลงไปถึงคนรุ่นใหม่ เรียกว่าเป็นการฮึดสู้ของ “ไทยเฉย” ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และคนกลุ่มนี้ได้แสดงเจตนาที่จะเข้ามาสร้างระบบการเมืองที่มีพื้นฐานอยู่บนสำนึกผิดชอบชั่วดีขึ้นมาใหม่
สังคมไทยได้เดินมาถึงปากเหวที่อาจเกิดสงครามกลางเมืองอีกครั้ง ซึ่งดูจะเป็นปากเหวที่ลึกและอันตรายกว่าครั้งก่อน หากสังคมไทยถลำเข้าสู่สงครามกลางเมืองคราวนี้ มันจะยืดเยื้อเรื้อรังไม่มีวันจบและประเทศชาติจะทรุดโทรมราวกับร่างกายของคนป่วยเป็นมะเร็งระยะแพร่กระจายนั่นเทียว เพราะกำลังพลแต่ละฝ่ายนั้นมหึมามหาศาลก้ำกึ่งกัน ชนิดที่ว่าหากทั้งสองฝ่ายฆ่าฝ่ายตรงข้ามตายได้หมด ประเทศไทยก็แทบไม่เหลือคนเดินถนนเลย
ฝ่ายหนึ่งก็คือมวลชนคนยากคนจนในชนบท ซึ่งโดยการปลุกปั่นของพวกเพื่อนๆนักสังคมนิยมแนวเผด็จการ พวกเขาถูกปั่นจนมีความเชื่อว่าชีวิตจะดีขึ้นถ้าปกป้อง “นายทุนใหญ่ใจถึง” ไว้เป็นพวกตน และทำลายล้างพวกขุนศึกศักดินาหรืออำมาตย์ให้สิ้นซากไปเสีย พวกตนก็จะได้ธำรงรักษาอำนาจรัฐที่พวกตนสามารถมีส่วนร่วมไว้ได้ และอนาคตก็จะแก้ปัญหาการปันส่วนผลผลิตที่ไม่เป็นธรรมที่เป็นเหมือนหัวอกกลัดหนองคนจนมาตลอดได้
อีกฝ่ายหนึ่งคือ ไทยเฉยฮึดสู้ ซึ่งประกอบขึ้นจากนายทุนน้อย นักการเมืองที่สู้สนามเลือกตั้งที่ใช้เงินไม่ได้ ปัญญาชน-คนชั้นกลางที่ทนสังคมแบบไร้ความผิดถูกชั่วดีอีกต่อไปไม่ไหว ฝ่ายนี้นอกจากจะถูกปลุกจิตสำนึกให้ลุกขึ้นมา "กู้ชาติ" แล้ว ยังถูกทำให้เชื่อว่าการจะนำประเทศกลับมาเป็นสังคมที่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีใหม่ได้อีกครั้งนั้น ไม่มีวิธีอื่นนอกจากต้องกำจัด “นายทุนใหญ่ใจถึง” และบริวารให้สิ้นซากไปเสียก่อน
ในท่ามกลางกำลังรบอันเปรียบเสมือนฝูงจิ้งหรีดข้างละฝูงนี้ ตรงกลางก็คือนักปั่นจิ้งหรีด ซึ่งนั่งกันอยู่สองมุม มุมหนึ่งคือ “นายทุนใหญ่ใจถึง” อีกมุมหนึ่งคือขุนศึกที่นายทุนใหญ่ยังซื้อไม่สำเร็จ ซึ่งผมขอเรียกง่ายๆว่า "ขุนศึกศักดินา" ก็แล้วกัน ดูจากเรคคอร์ดของนักปั่นจิ้งหรีดที่นั่งประจำที่ทั้งสองมุมแล้ว งานนี้คงหลีกเลี่ยงการฆ่ากันตายเป็นเบือได้ยาก เพราะนายทุนใหญ่นั้นมีเรคคอร์ดที่ชัดเจนจากทั้งกรณี “ยิงทิ้ง” ขี้ยาสองพันกว่าศพ กรณีกรือเซะ กรณีตากใบ กรณีเผาราชประสงค์ ส่วนเรคคอร์ดของฝ่ายขุนศึกศักดินานั้นก็ใช่ย่อย ผมเองเคยเห็นกับตามาแล้วสมัยเป็นนักศึกษา รวมทั้งการถูกฆ่าตายของเพื่อนสนิทของผมเองที่ริมฝั่งโขง ซึ่งผมขออนุญาตไม่ฟื้นฝอยหาตะเข็บนะครับ
ไปภายหน้าเมื่อเล่าขานให้ลูกหลานฟัง มันจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่เหลือเชื่อ ที่มวลชนจำนวนมหาศาลสองฝ่ายมารบกัน ต่างฝ่ายต่างก็มีวาระของตัวเองอยู่ในมือ แต่เมื่อเปิดโผออกมา วาระของแต่ละฝ่ายนั้นกลับเป็นคนละเรื่อง และไม่ได้ขัดแย้งอะไรกันเลย แบบนิทานชาวนาสามคน คนหนึ่งอุ้มไก่ อีกคนอุ้มห่าน แล้วต้องมาตบตีกันเพราะชาวนาคนที่สามบอกว่าไก่กับห่านของทั้งสองคนจะจิกตีกันจนทำให้สัตว์เลี้ยงของฝ่ายตรงข้ามตาย ทั้งๆที่ในชีวิตจริง ไก่บ้าที่ไหนจะมาจิกตีกับห่าน
วันจันทร์นี้ผมจะไปเดินถนนร่วมกับพี่ๆน้องๆหมอๆและพยาบาล ตามนัด ด้านหนึ่งไปเดินเพื่อให้น้องๆเกิดความรู้สึกอบอุ่นว่าขณะที่พวกเขาออกมาช่วยประชาชนคนเจ็บไข้ในสนาม ผมซึ่งเป็นรุ่นพี่ที่แก่แล้วได้ให้ความชื่นชมและสนับสนุนการธำรงเกียรติของวิชาชีพที่พวกเขาได้ทำ อีกด้านหนึ่งก็เพื่อร่วมเป็น “ไทยเฉยฮึดสู้” อีกคนหนึ่ง ที่อยากแสดงออกถึงความอยากเห็นสังคมไทยกลับมาเป็นสังคมที่เปี่ยมสำนึกผิดถูกชั่วดีดังเดิม ทั้งนี้โดยไม่ได้ให้ราคาอะไรกับพวกนักปั่นจิ้งหรีดที่อยู่เบื้องหลังไม่ว่าข้างไหนแม้แต่น้อย
ทุกครั้งที่ผมไปเดินก่อนหน้านี้ ผมพยายามมองหาทางออกของสังคมไทยที่เป็นรูปธรรมแต่ก็ยังมองไม่เห็น ผมไม่อาจคาดเดาได้ว่าผลสุดท้ายของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร บนนาทีที่ใกล้ถึงจุดหักล้างกันนี้ ผมยังมองไม่เห็นว่าจะมีโอกาสที่ฝ่ายหนึ่งซึ่งก็คือคนจนในชนบทที่ต้องการการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม กับอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งก็คือไทยเฉยฮึดสู้ที่ต้องการฟื้นฟูสังคมที่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีกลับขึ้นมาใหม่ จะได้มีโอกาสจูนความต้องการของกันและกัน และสร้างสรรค์สังคมใหม่ร่วมกันโดยไม่ถูกปั่นให้ฆ่าฟันกันได้อย่างไร เพราะ
ตราบใดที่ยังมีนักปั่นจิ้งหรีดหน้าเดิมนั่งประจำที่ทั้งสองมุมอยู่ โอกาสที่จะไม่ฆ่าฟันกันนั้นผมคิดว่า...ไม่มีเลย
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์