“พอกันที...เราต้องลุกขึ้นมาบอกกับนักการเมืองว่าพวกคุณหยุดได้แล้ว”
เป็นคำตอบของ “นาตาลี เวิร์นนีโฮรา” พนักงานสาวของโรงแรมห้าดาวกลางเมืองเคียฟ ที่ผันตัวเองมาเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เมื่อถูกถามว่าคนไทยควรได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการชุมนุมของชาวยูเครนที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก
นาตาลี เป็นหนึ่งในจำนวนชาวยูเครนนับล้านๆ คนที่ออกมาร่วมเดินขบวนและชุมนุมต่อต้านรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีวิคเตอร์ ยานูโควิช ที่ถูกประณามว่าเป็นผู้นำที่รัฐบาลที่มีการทุจริตคอร์รัปชั่นมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองของยูเครน
เธอยืนเคียงบ่าเคียงไหล่มวลชนชาวยูเครนที่ออกมาชุมนุมตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ช่วยระดมผู้คนจากภาคส่วนต่างๆ มาร่วมเคลื่อนไหว หลังเลิกงานเธอยังช่วยงานครัวของผู้ชุมนุม หรือไม่ก็ร่วมกับเพื่อนฝูงเตรียมอาหารจากบ้านมาเลี้ยงดูมวลชน
จัตุรัสไมดานที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของชาวยูเครน เหมือนกับที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมักเป็นศูนย์กลางการเคลื่อนไหวทางการเมืองของบ้านเรา เป็นเวลาเกือบ 5 เดือนแล้วที่ชาวยูเครนยังปักหลักชุมนุมที่จัตุรัสแห่งนี้ ถึงแม้ประธานาธิบดียานูโควิชจะถูกบีบออกจากตำแหน่งและเผ่นไปกบดานในดินแดนภายใต้อิทธิพลของรัสเซียตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์แล้วก็ตาม
วันที่ผมและทีมงานจาก “เนชั่น ทีวี” เดินทางมาสำรวจจัตุรัสไมดาน เรายังสัมผัสได้ถึงอารมณ์และความมุ่งมั่นของชาวยูเครนที่ยอมอดทนต่ออากาศที่หนาวเหน็บ (ก่อนหน้านี้ต้องเผชิญกับอากาศที่บางวันลดลงมาถึง -20 องศาเซลเซียส)
“เรามีความหวัง และเราเชื่อว่าเราจะเปลี่ยนแปลงยูเครนให้ดีขึ้นได้” ชายหนุ่มในชุดทหารลายพรางประกาศอย่างมั่นอกมั่นใจ ท่ามกลางเสียงเพลงปลุกใจจากเวที
เขาเป็นหนึ่งในหมู่คนหนุ่มหลายหมื่นคนที่เข้าร่วมกับทหารกองหนุนที่รัฐบาลยูเครนเร่งรีบจัดตั้งขึ้นมาเพื่อรับมือกับสถานการณ์เผชิญหน้าทางทหารกับรัสเซีย สถานการณ์ในยูเครนซับซ้อนและตึงเครียดมากยิ่งขึ้น หลังรัสเซียส่งทหารเข้าไปยึดคาบสมุทรไครเมีย ซึ่งเป็นเขตปกครองตนเองของยูเครนและเป็นเมืองหน้าด่านสู่ “ทะเลดำ” ของกองทัพเรือรัสเซีย ตามมาด้วยการลงประชามติแยกตัวออกจากยูเครนเพื่อไปเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ทำให้การชุมนุมที่จัตุรัสไมดานมีความเข้มข้นด้วยเลือดรักชาติมากยิ่งขึ้น
เราคงอดไม่ได้ที่จะหาความเหมือนระหว่างการชุมนุมที่จัตุรัสไมดานกับการชุมนุมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ในบ้านเรา เพราะทั้งสองเหตุการณ์เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน ถึงแม้จะมีปัจจัยและความซับซ้อนที่ต่างกัน แต่ดูเหมือนว่า เป้าหมายการชุมนุมในเคียฟและกรุงเทพฯ มีความใกล้เคียงกันมาก
ผมและทีมงานได้ยินเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองจากผู้ชุมนุมกลางจัตุรัสไมดาน เหมือนกับที่ได้ยินจากมวลมหาประชาชนในกรุงเทพฯ ทุกคนที่ผมพูดคุยด้วยมีความเห็นตรงกันว่า ตั้งแต่ยูเครนเป็นเอกราชจากสหภาพโซเวียตในปี 2534 นักการเมืองไม่เคยทำอะไรเพื่อประเทศชาติ ทุกอย่างทำเพื่อตัวเองและพวกพ้อง
ความโกรธแค้นของชาวยูเครนพุ่งเป้าไปที่ประธานาธิบดียานูโควิช ผู้ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของการคอร์รัปชั่นที่ระบาดไปทั่วทุกหัวระแหง ถ้าชาวยูเครนรู้คำว่า “โคตรโกง” ก็คงใช้คำนี้ไปแล้วเวลาพูดถึงอดีตผู้นำคนนี้
และเหมือนจะหยิบยืมคำพูดมาจากเวทีต่อต้านรัฐบาลของไทยเลยทีเดียว เมื่อผู้ชุมนุมที่จัตุรัสไมดานประกาศก้องว่า ต้องการเห็นการเมืองใหม่ที่ประชาชนมาก่อนผลประโยชน์ทางการเมือง
ถึงแม้ชาวยูเครนจะได้ชัยชนะด้วยการโค่นยานูโควิชลงไปแล้วก็ตาม แต่ก็ยอมรับว่า การต่อสู้ยังไม่จบ และที่ยังมาชุมนุมอยู่กันทุกวันนี้ก็เพราะต้องการแสดงให้เห็นว่า ประชาชนจะไม่ยอมให้นักการเมืองเป็นคนผูกขาดการกำหนดอนาคตทางการเมืองเหมือนที่ผ่านมา
“เราต้องชุมนุมต่อไป เพื่อให้นักการเมืองรับรู้ว่าประชาชนต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง” ผู้ชุมนุมอีกคนหนึ่งบอกกับเรา
การต่อสู้ทางการเมืองทุกครั้งจะต้องมีจุดหักเห หรือสถานการณ์ที่เป็นตัวเร่ง ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์พยายามผลักดันเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้คนไทยต้องออกมาตามท้องถนน เหมือนกับที่ชาวยูเครนต้องลุกขึ้นมาขับไล่ประธานาธิบดียานูโควิช ที่ฝืนความรู้สึกของประชาชนด้วยการหันหลังให้สภาพยุโรปและยอมสวามิภักดิ์ทางด้านเศรษฐกิจต่อรัสเซีย
ถึงแม้น้อยคนนักที่จัตุรัสไมดานจะรู้จักประเทศไทย แต่ก็ยังอุตส่าห์มีเสียงไถ่ถามจากชาวยูเครนบางคนถึงสถานการณ์ในบ้านเรา “ประชาชนใกล้จะชนะแล้วยัง?” ชายวัยกลางคนคนหนึ่งถามผมเมื่อรู้ว่าเรามาจากไหน
มันอาจเป็นเรื่องยากที่จะเปรียบเทียบความเหมือนระหว่างการต่อสู้ของประชาชนในสองประเทศนี้ เพราะสาเหตุและปัจจัยและเหตุผลทางประวัติศาสตร์ที่ต่างกัน
แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันอย่างแน่นอนก็คือ “มวลมหาประชาชน” ของประเทศไทยและยูเครน ได้ลุกขึ้นมาแล้ว เพื่อตะโกนว่า “พอกันทีสำหรับนักการเมืองที่เห็นแก่ตัวและขี้โกง”
.......................
(หมายเหตุ : 'พอกันที'เสียงมวลมหาประชาชนชนจากไทยถึงยูเครน : รายงานhttp://www.komchadlu...21/181295.html)
--------------------------------------------------
แรกๆประชาชนชาวยูเครนออกมาประท้วงขับไล่รัฐบาลคอรัปชั่น ต่อมามีประชาชนฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลต้องการแบ่งแยกประเทศไปขึ้นกับรัสเซีย
ช่างคล้ายคลึงกับเมืองไทยที่มวลมหาประชาชนออกมาขับไล่รัฐบาลยิ่งเละและระบอบทักษิณที่คอรัปชั่น บริหารผิดพลาด เล่นพรรคเล่นพวก กลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้าม สรุปรวมว่ารัฐบาลยิ่งเละทำทุกอย่างเพื่อตนเองและพวกพ้อง มิใช่เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ เมื่อรัฐบาลฯเริ่มเข้าสู่ทางตัน ก็มีการจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธคอยทำร้ายฝ่ายตรงข้าม ปลุกระดมคนที่สนับสนุนให้แบ่งแยกประเทศไปตั้งเป็น สปป.ล้านนาภายใต้การปกครองของตระกูลชั่วจนชินฯ