วันนี้แล้วสินะที่พลพรรคเพื่อไทยกับ สว. ส่วนใหญ่ ในสภา จะทำงานครั้งสำคัญที่สุดในชีวิต เพื่อนายใหญ่อย่างแท้จริง ถ้าทำสำเร็จ จะเป็นการเริ่มต้นสถาปนาระบอบทักษิณ เพื่อคืบคลานรุกเข้ายึดประเทศไทยแบบเบ็ดเสร็จ แต่ถ้าไม่สำเร็จ งานนี้ อาจถึงกับตายยกแก๊งค์ เก็บผ้า เก็บผ่อน ยัดใส่กระเป๋า ไปอยู่ต่างประเทศ กันยกขบวน ตั้งแต่หัวยันหาง เป็นแน่แท้
ก่อนอื่นใด ขอยกข้อกฎหมายในรัฐธรรมนูญ 50 มาแสดงไว้ ให้ประจักษ์ ตามนี้ครับ
มาตรา 291 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้
(7) เมื่อการลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวแล้ว ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่เติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และให้นำบทบัญญัติมาตรา 150 และมาตรา 151 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 150 ร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัตินั้นจากรัฐสภาเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
มาตรา 151 ร่างพระราชบัญญัติใด พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ ถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายในสามสิบวันให้นายกรัฐมนตรีนำพระราชบัญญัตินั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว
มาตรา 154 ร่างพระราชบัญญัติใดที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยตามมาตรา 150 หรือร่างพระราชบัญญัติใดที่รัฐสภาลงมติยืนยันตามมาตรา 151 ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีกครั้งหนึ่ง
(1) หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ให้เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี แล้วให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับความเห็นดังกล่าวส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยไม่ชักช้า
(2) หากนายกรัฐมนตรีเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ให้ส่งความเห็นเช่นว่านั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาทราบโดยไม่ชักช้า
ในระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ให้นายกรัฐมนตรีระงับการดำเนินการเพื่อประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไว้จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันตกไป
ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้แต่มิใช่กรณีตามวรรคสาม ให้ข้อความที่ขัดหรือแย้งนั้นเป็นอันตกไป และให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการตามมาตรา 150 หรือมาตรา 151 แล้วแต่กรณี ต่อไป
------------------
นี่คือเซ็ทของกฎหมายรัฐธรรมนูญที่จะถูกหยิบนำมาใช้ หลังจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันนี้ ผ่านไปเสร็จสิ้นแล้ว ทุกข้อ ทุกวรรคตอน ที่จะถูกหยิบยก จะสร้างจุดเกิด จุดเปลี่ยน จุดดับ ได้เลย เป็นการชิงเหลี่ยม ไหวพริบทางการเมือง อยู่ที่ใครจะทิ้งไพ่ใบไหน และใครจะโชว์โง่ออกมา
ในที่นี้ จะไม่กล่าวถึงมาตรา 151 เพราะเป็นมาตราที่เกี่ยวกับการทรงใช้อำนาจยับยั้งกฎหมาย ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่เคยถูกใช้เลย แต่มาตราอื่นที่จะได้นำมากล่าว ล้วนแล้วแต่สำคัญ โดยเฉพาะมาตรา 150 เมื่อร่างพระราชบัญญัติผ่านวาระสาม ไปแล้ว นายกมีหน้าที่ต้องนำขึ้นทูลเกล้าถวาย เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
มาตรา 291(7) ในกรณีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ ผ่านการพิจารณาวาระสาม ให้อนุโลมใช้มาตรา 150 และ 151 มาใช้บังคับได้ เช่นนี้ จึงย่อมถือว่า ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้น เสมือนหนึ่ง เป็นร่างพระราชบัญญํติ ตามมาตรา 150-151 ด้วย
มาตรา 154(1) ก่อนที่นายกจะนำร่างพระราชบัญญํติขึ้นทูลเกล้า หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิก ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ให้เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี แล้วให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับความเห็นดังกล่าวส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐ ธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบทันที
โปรดอ่านให้ดีๆนะครับ มาตรา 150 ไม่ได้ระบุไว้ตายตัวว่า ประธานสภาจะต้องส่งร่างให้นายกภายในกี่วัน และตามมาตรา 154(1)ก็ไม่ได้บัญญัติว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้ จะต้องวินิจฉัยให้เสร็จภายในกี่วัน หากประธานสภาส่งร่างให้นายกทันที นายกมีหน้าที่จะต้องปฎิบัติตามมาตรา 150 เลย แต่ถ้ายังไม่ส่ง อาจรอให้คำร้องของฝ่ายค้านมาอยู่ในมือด้วย ประธานสภาก็ทำได้เช่นกัน
อีกแนวทางหนึ่ง จาการที่พิจารณา 154(1)ก็คือ ไม่ได้ให้อำนาจประธานสภาใช้ดุลพินิจ หรือแสดงความเห็นอื่นใด นอกจากส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ กับแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรี แต่หากเกิดกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่รับวินิจฉัยคำร้องตามมาตรา 154(1) โดยเหตุผลว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแตกต่างกับร่างพระรชบัญญัติ ซึ่งตรงนี้ได้เคยมีคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2554 ไม่รับคำร้องตามมาตรานี้ ในสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลมาแล้ว ตรงนี้ ก็ต้องไปดูเนื้อหาในคำร้องที่ยื่นในครั้งนั้น กับคำร้องในครั้งนี้ ที่ปรากฎความไม่โปร่งใสนาๆนับประการ โดยเฉพาะหลักการของรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งของ สว.ที่ีไม่ต้องขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งถ้าศาลไม่รับคำร้อง นายกก็สามารถปฎิบัติตามมาตรา 150 ได้
ถ้ามีคำสั่งไม่รับคำร้องตามวรรคก่อน ตรงนี้ ต้องมาดูว่า เมื่อร่างรัฐธรรมนูญมีปัญหา ที่อาจขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ศาลรัฐธรรมนูญจะมีความเห็นประกอบเหตุผลที่ไม่รับอย่างไร ซึ่งอาจนำมาเทียบเคียงกับคำร้อง 4 ฉบับ ที่ศาลรัฐธรรมนูญรับไว้ก่อนหน้านี้ คือตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการโดนกล่าวหาว่า ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตรงนี้ หนักกว่้ามาตรา 154(1) เสียอีก ความบกพร่องต่างๆที่เกิดขึ้น ย่อมเป็นที่รับรู้กันทั่วไป แต่ถ้านายกตัดสินใจจะใช้หน้าที่ตามมาตรา 150 คราวนี้ กระบวนการต่อไป อาจเข้าไปถึงมาตรา 151(กรุณาย้อนไปอ่านมาตราด้านบน)ซึ่งทุกอย่างจะเป็นการภายในของสถาบันประมุขแห่งรัฐ
หากให้คาดเดา ฝ่ายทักษิณจะต้องรีบเร่งออกกฎหมาย เพื่อให้ทันการเลือกตั้ง สว.ในต้นปีหน้า ซึ่งแน่นอน เมื่อประธานสภาส่งร่างแก้ไขไปให้นายก ย่อมหมดความรับผิดชอบของตน แต่ภาระหนักอึ้ง จะตกไปที่สองบ่าของนายกแทน เพราะต้องดำเนินการภายใน 20 วัน เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เชื่อว่า ก็ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเช่นกัน ซึ่งทั้งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กับคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จะอยู่ในมือประธานสภา อยู่ที่ว่า จะส่งให้ใครก่อน เท่านั้น
อยู่ที่ว่า เมื่อร่างผ่านวาระสาม ประธานสภาจะส่งเรื่องให้นายกทันทีหรือไม่ ถ้าส่งให้เลย โดยไม่รออีกฝ่ายหนึ่งยื่นเรื่องคัดค้านขึ้นมา นั่นถือว่า เป็นการฆ่ากันชัดๆ คราวนี้ นายกรับคนเีดียวเต็มๆ เป็นการส่งเข้าสู่ killing zone อย่างแท้จริง เพราะเจอเงื่อนเวลาบังคับให้นำร่างนั้น ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ภายใน 20 วัน
ในส่วนของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งหมายถึงพรรคฝ่ายค้าน กับ สว.เสียงข้างน้อย ถ้าได้ยื่นเรื่องเข้ามา นายกทำอะไรต่อไม่ได้เลย เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรค 2 บอกว่า ในระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ให้นายกรัฐมนตรีระงับการดำเนินการเพื่อประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ไว้จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยเสร็จสิ้น เมื่อมาคิดอีกที การโดนบล็อคแบบนี้ อาจเป็นผลดีกับนายกก็ได้
แต่ถ้านายกดื้อดึง จะนำร่างขึ้นทูลเกล้า เพราะต้องทำภายใน 20 วัน แล้วคำวินิจฉัยที่ยังไม่ออกมา จากศาลรัฐธรรมนูญ ปัญหานี้ จะหาคำตอบได้จากที่ใด ในเมื่อรัฐธรรมนูญบอกต้องเบรคเรื่องไว้ แต่นายกจะทำหน้าที่ ในอีกกรณี เมื่อยื่นเรื่องเข้ามา ประธานสภาอาจตัดไฟแต่ต้นลม โดยมีดุลพินิจไม่รับเรื่องเลยก็ได้ โดยมีเหตุผลว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่ร่างพระราชบัญญัติตามมาตรา 154 คราวนี้ งานอาจเข้าประธานสภาแทน และอาจถูกร้องต่อ ปปช.ได้ เพราะเล่นไปวินิจฉัยร่างกฎหมายว่าใช่หรือไม่ใช่ แทนที่จะเป็นอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ
ยกเว้น ประธานสภารอความเห็น จากฝ่ายไม่เห็นด้วย เพื่อให้มาประกบคู่กับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียก่อน แล้วค่อยนำร่างกับคำร้องของฝ่ายตรงข้าม ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัย จากนั้นในขณะเดียวกัน ก็ส่งหนังสือไปยังนายก แจ้งว่า ได้ส่งร่างไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ตรงนี้ ซอพท์ที่สุด เป็นไปตามมาตรา 154(1)นายกก็ไม่มีเงื่อนเวลามาบังคับ แล้วถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญแล้ว ทางสะดวก เปิดให้ผ่านได้ทันที
แต่ถ้าชิงรับร่างมาก่อน และจะนำร่างที่อาจมีมลทิน เป็นร่างที่ยังไม่สมบูรณ์ ทั้งบกพร่องในเนื้อหาิ ผิดขั้นตอนในทางปฎิบัติ โดยเฉพาะอาจมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ขึ้นทูลเกล้าถวาย ไม่ว่าศาลจมีคำวินิจฉัยว่าร่างขัด หรือไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ หรือไม่ก็ตาม ตรงนี้จะเป็นการมิบังควรเป็นอย่างยิ่ง นายกต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย ซึ่งอาจมีความผิดทางอาญาได้ ทั้งหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และกบฎแผ่นดิน นายกก็อย่าหลงไปเชื่อบริวาร ที่ขยันเอาใจนาย ยุแยงตะแคงรั่ว กันให้มากนัก ส่วนประธานสภาก็เล่นให้เป็นหน่อยก็แล้วกัน
แต่ถ้าไม่เป็นไปตามนี้ ลุแก่อำนาจ เหมือนต้องการท้าทายอะไรบางอย่าง ก็ถือว่า She เต็มใจที่จะเสี่ยง เดินเข้าสู่หลักประหารด้วยตนเอง ซึ่งคงจะโทษใครไม่ได้ ทั้งประธานสภา ทั้งนายก ก็โตๆกันแล้ว คิดได้เอง ว่าการทำตามใจคนเพียงคนเดียวนั้น จะก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับตนเอง และสร้างปัญหาให้กับประเทศ ถ้าคิดว่า ทำได้ ก็ทำไป แล้วเราอาจเห็นนายกหญิงคนแรกของไทย เป็นนายกคนแรกที่ต้องเข้าคุก ก็ได้ นอกจากจะหนีไปเหมือนกับพี่ชาย ที่ไม่ยอมกลับมาติดคุก แต่จะแก้กฎหมาย ไม่ให้ต้องรับโทษ เหมือนที่กำลังทำกันอยู่ เวลานี้
บอกได้เลยว่า หมากเกมส์นี้ เดินผิด เพียงตาเดียว ล้มกระดานแน่ๆ