Ricebeanoi
หากนับผลงาน “รักชาติปากมัน” ของ “พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)” ที่นับว่า “คลาสสิค” ที่สุดในประวัติศาสตร์ของพรรคเก่าแก่แห่งนี้
เรื่องที่ต้องติดอันดับต้นๆ เลย ก็ต้องเป็น กรณี “สปก 4-01” ที่เป็นการ “โกงที่ดินเกษตรกร” เพื่อไปให้กับ “ผู้ใกล้ชิดคนในพรรค” จนกลายเป็นตราประทับ ยี่ห้อ “ประชาธิปัตย์” ที่ชัดเจน
กระทั่ง “รัฐบาลชวน หลีกภัย (ชวน 1)” ถึงขนาดต้อง “ยุบสภา” หนีความอับอาย !
หลังการเลือกตั้งกันยายน 2535 “พรรคประชาธิปัตย์” ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดย “ชวน หลีกภัย” หัวหน้าพรรค ปชป. ขณะนั้นขึ้นดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” สมัยแรก (ชวน 1)
แม้ “ชวน” จะพยายามรักษาภาพของความซื่อสัตย์สุจริตและสร้างภาพ “นายกรัฐมนตรี” ผู้สมถะ จากสตอรีย์ “เช่าบ้าน” อยู่ตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย ยันได้เป็น “นายกฯ”
แต่ก็ไม่สามารถปิดบัง “ร่องรอย” แห่งการทุจริต ของคนในพรรค “ปชป.” ได้ โดยเฉพาะเมื่อ “ชวน” ตัดสินใจผลักดัน “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เป็น “รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” และเร่งดำเนินการนโยบาย “ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม” เพื่อมอบให้ “เกษตรกร”
แต่ “นายสุเทพ” กลับใช้อำนาจและช่องโหว่ของกฎหมาย แปรรูป “ที่ดิน” สปก 4-01 ที่จะต้องแจกเอกสารสิทธิ์ให้กับเกษตรกร เอาไปให้กับ “ทศพร เทพบุตร” สามีของ อัญชลี วานิช เทพบุตร (อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ซึ่งขณะนั้นเป็น “เลขานุการ” ของ “นายสุเทพ” กว่า 98 ไร่ 1 งาน 7 ตารางวา
รวมไปถึง “บรรดาผู้มีอันจะกิน” ในจังหวัดภูเก็ตและพื้นที่ภาคใต้อีกหลายคน ที่มีความสนิทสนมและให้การสนับสนุน “นายสุเทพ” ในเส้นทางการเมือง เป็นจำนนวนหลายร้อยไร่ !!!
ทั้งๆที่บุคคลเหล่านั้นไม่ได้เป็น “เกษตรกร” ตามที่กฎหมายบัญญัติ !
“สปก 4-01” จึงกลายเป็น “ผลงานอัปยศ” ของ “พรรคประชาธิปัตย์” ที่แสดงให้เห็น”ความหน้ามืด” โกงได้แม้กระทั่ง “ที่ดินหลวง”- กินได้ แม้กระทั่ง “ที่ดินของคนยากคนจน”
เพียงเพื่อต้องการที่จะสนองประโยชน์ให้กับ “พวกพ้อง” และ “บริวาร” ของ “นายสุเทพ”!
ซึ่งสุดท้ายเรื่องก็ลุกลามกลายเป็นสิ่งที่สังคมจับตาและออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมของการกระทำดังกล่าว
โดยเฉพาะในประเด็นที่ “ฝ่ายรัฐบาลปชป.” พยายามยืนยันว่า “ผู้มีอันจะกิน” ที่ได้รับที่ดิน สปก.ไปนั้น คือ “เกษตรกร” ตามที่กฎหมายบัญญัติ
ตั้งแต่ตัว นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รมช.เกษตรฯ ไปจนถุึง ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ที่ยืนยันความถูกต้องเสียงแข็ง
และยังรวมไปถึง “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” โฆษกรัฐบาลชวน 1 ที่ร่วมด้วยช่วยกันยืนยันหนักแน่นว่า การกระทำของนายสุเทพ ที่แจกเอกสารสิทธิ์ สปก 4-01 สำหรับเกษตรให้กับ “พวกพ้องตัวเอง”นั้น เป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว !
เดือดร้อนถึงขั้น “ชวน หลีกภัย” นายกรัฐมนตรี ต้องส่งเรื่องให้ “สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา” ตีความความหมายของคำว่า “เกษตรกร” !
กระทั่ง “พรรคชาติไทย” นำโดย “บรรหาร ศิลปะอาชา” และ “เนวิน ชิดชอบ” รวบรวมเสียง ส.ส.ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ “รัฐบาลชวน หลีกภัย” ในประเด็น การแจกเอกสารสิทธิ์ที่ดิน สปก.4-01
จนสุดท้าย “นายชวน หลีกภัย” ต้องตัดสินใจ “ยุบสภา” เพราะไม่สามารถชี้แจง “การทุจริต” ที่เกิดขึ้นให้สังคมมีความกระจ่างชัดเจน
แม้หลังจากนั้น “พรรคประชาธิปัตย์” จะยังยืนยันตลอดเวลาว่า “การโกงที่ดินของเกษตรกร ไปให้กับพวกพ้อง” ครั้งนั้น เป็นสิ่งที่ “ถูกต้อง” !
แต่ก็ไม่สามารถหนีความจริงได้ เมื่อ “ศาลฎีกา” มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2550 ในคดีหมายเลขดำที่ 1765/2541 และคดีหมายเลขแดงที่ 1485/2544 ให้นายทศพร เทพบุตร จำเลย (สามีนางอัญชลี วานิช เทพบุตร) ออกจากที่ดิน สปก. ที่ครอบครองมายาวนานกว่า 12 ปี เนื้อที่ 98 ไร่ 1 งาน 7 ตารางวา เนื่องจาก “จำเลย” ไม่ได้เป็นเกษตรกรจริง !
ซึ่งน่าสังเกตว่า นอกจาก “พรรคประชาธิปัตย์” จะไม่ยอมรับ “การโกง” ของตัวเองว่าเป็น “การกระทำผิด” แล้ว “บุคคลต่างๆ” ที่มีชื่อเกี่ยวข้องกับ “กระบวนการกินคลาสสิค” ครั้งนั้น “พรรคประชาธิปัตย์” ก็ยังคงเชิดชู เป็น “นักการเมืองระดับแถวหน้า” และ “คนดี” ของพรรคต่อไป
ไม่ว่าจะเป็น “ชวน หลีกภัย” ที่ยังคงเป็น “ผู้นำทางจิตวิญญาณ” ของ ปชป.
“สุเทพ เทือกสุบรรณ” ก็ก้าวสู่ “เลขาธิการพรรค ปชป.” และได้เป็นถึง “รองนายกรัฐมนตรี” ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ในเวลาต่อมา
ส่วน “อัญชลี วานิช เทพบุตร” ภรรยาของ “ทศพร เทพบุตร” กระโดดจาก “เลขานุการ”ของ “นายสุเทพ” ขึ้นเป็น “เลขาธิการนายกรัฐมนตรี” ใน “รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”
และคนสุดท้าย “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” โฆษกรัฐบาลชวน 1 ต่อมาก็ขึ้นเป็น “หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์” และก้าวขึ้นเป็น “นายกรัฐมนตรี” หลังสลับขั้วทางการเมืองปี 2551
โดยที่ “บุคคลเหล่านี้” ไม่ได้ “ละอาย” ต่อ “ประชาชน” ที่พวกเขาร่วมกัน”ปล้น” ครั้งนั้น แม้แต่น้อย !!!
พระนครสาส์น
ศาลฏีกาพิพากษาขับสามีอัญชลีพ้นที่ดินส.ป.ก.ภูเก็ต
โดย คม ชัด ลึก วัน ศุกร์ ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2550 02:54 น.
ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษา ยืนตามศาลอุธรณ์ ขับทศพร เทพบุตร สามี อัญชลีอดีต ส.ส.ภูเก็ต พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมพวก ออกจากที่ดิน ส.ป.ก. ชี้ขาดคุณสมบัติ
เมื่อ 10.00 น. วันที่ 7 มิ.ย.50 ที่บัลลังก์ 2 ศาลจังหวัดภูเก็ต นายมนตรี สาโรช พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ ลักษณะสมบูรณ์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดภูเก็ต ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลฏีการะหว่าง สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ สปก.มอบหมายพนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ตเป็นโจทก์ฟ้อง นายทศพร เทพบุตร (สามีนางอัญชลี วานิช เทพบุตร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ภูเก็ต และอดีตส.ส.ภูเก็ต พรรคประชาธิปัตย์ ) จำเลย คดีหมายเลขดำที่ 1765/2541 และคดีหมายเลขแดงที่ 1485/2544 เพื่อขับไล่ออกจากที่ดิน
ทั้งนี้สปก.ภูเก็ตได้ยื่นฟ้องนายทศพร โดยฟ้องว่า นายทศพรได้ยื่นคำขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินเขตปฏิรูปที่ดิน โดยครอบครองอยู่ตั้งแต่ปี 2532 เนื้อที่ 98 ไร่ 1 งาน 7 ตารางวา ตามเอกสาร สปก.4-01 ก. เลขที่ 140 อ.เมือง จ.ภูเก็ต โดยอ้างว่าประกอบอาชีพเกษตร ทำสวนผลไม้และปลูกยางพารา หลังจากนั้นได้รับการร้องเรียน ว่านายทศพรขาดคุณสมบัติ จากนั้นทางสปก.ได้มีการตรวจสอบคุณสมบัติ ทราบว่า นายทศพรมีที่ดินเป็นของตนเอง 97 ไร่ 3 งาน 30 ตรว.และประกอบอาชีพอื่นๆ โดยเป็นผู้บริหารนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดและบริษัทจำนวน 6 แห่ง มีการลงทุนเป็นเงิน 55,320,000 บาท
คณะกรรมการ สปก.อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 19 และมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มีมติให้เพิกถอนหนังสืออนุญาต ให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินของนายทศพร โดยมอบหมายให้เลขาธิการ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินตามคำสั่งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่ 257/2538 ลงวันที่ 18 เม.ย.2538 โดยนายทศพรได้อุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนดังกล่าว อ้างว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามอุทธรณ์ของนายทศพร ลงวันที่ 24 พ.ค.2538 แต่นายทศพรไม่ได้ไปให้ถ้อยคำต่อพนักงานตามที่กำหนด คณะกรรมการ สปก.จึงมีมติไม่รับการพิจารณาอุทธรณ์ เนื่องจากนายทศพรไม่ได้เป็นเกษตรกร จึงไม่มีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ตามรายงานการประชุมของคณะกรรมการ สปก.ครั้งที่ 4/2539 ลงวันที่ 4 พ.ย.2539 สปก.ภูเก็ตจึงแจ้งให้นายทศพรและบริวารออกจากที่ดินของ สปก.ตามหนังสือลงวันที่ 14 มี.ค.2540 แต่นายทศพรและบริวารเพิกเฉย หลังจากที่มีการตรวจสอบคุณสมบัติต่างๆแล้ว สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือ สปก.ได้ฟ้องร้องผู้ที่ถูกเพิกถอนเอกสารสิทธิ
แต่ในการฟ้องร้องศาลนั้นศาลชั้นต้นนั้น ทางศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง จากนั้น สปก.ได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ โดยให้นายทศพรและบริวารออกไปจากที่ดิน สปก.ดังกล่าว จากนั้นนายทศพรได้ฎีกา โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่าตามที่นายทศพรอ้างว่าที่ดินพิพาทเดิมเป็นของนายจรัญ ตุ้งกู ซึ่งได้ครอบครองที่พิพาทมาตั้งแต่ปี 2499 และได้โอนให้จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ ตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นมา สปก.ไม่มีสิทธิขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินดังกล่าวนั้น
ศาลฎีกาเห็นว่าการจะได้ที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น ได้มีบัญญัติวไว้ในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 5 ว่าให้ผู้ที่ครอบครองที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินต้องแจ้งการครอบครองที่ดินต่อนายอำเภอท้องที่ภายใน 180 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติน้ใช้บังคับมาตรา 1 บุคคลที่จะมีกรรมสิทธิ์ที่ดินจะต้องได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ตามบทกฎหมาย ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับและมาตรา 4 บุคคลได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับให้มีสิทธิครอบครองสืบไปและคุ้มครองตลอดถึงผู้รับโอนด้วย
แต่กรณีของนายจรัญได้ครอบครองที่ดินพิพาทสืบต่อมาจากบิดาของนายจรัญ ซึ่งครอบครองในปี 2499 อันเป็นเวลาภายหลังพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ประกาศใช้แล้วและไม่ปรากฏว่าได้ครอบครองที่ดินโดยชอบตามบทกฎหมายใด การครอบครองของนายจรัญจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ดินจึงไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายจรัญ
นอกจากนี้ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 2 ยังบัญญัติว่าที่ดินซึ่งมิได้เป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลใด ให้ถือว่าเป็นของรัฐ ดังนั้นที่ดินที่นายจรัญครอบครองจึงต้องถือว่าเป็นที่ดินของรัฐอยู่ นายทศพรรับโอนมาจากนายจรัญ จึงไม่มีสิทธิ์ดีกว่า โจทก์หรือ สปก.จึงมีสิทธิ์นำที่ดินดังกล่าวมาปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้
ส่วนนายทศพรเป็นเกษตรกรตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2516 หรือไม่นั้น มาตรา 4 ให้คำนิยามไว้ว่า เกษตรกร หมายความว่าผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักและให้หมายความรวมถึงบุคคลผู้ยากจนหรือผู้จบการศึกษาทางเกษตรกรรมหรือผู้เป็นบุตรของเกษตรกร ซึ่งไม่มีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นของตนเองและประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก
แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่านายทศพรมีที่ดินอยู่ที่ใน ต.ไม้ขาว อ.ถลางจำนวน 3 แปลง อยู่ใน ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ตอีก 22 แปลงกับมีชื่อเป็นกรรมการบริษัท เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด นายทศพรจึงไม่ใช่ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก และไม่ใช่ผู้ที่ไม่มีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นของตนเองและประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก นายทศพรจึงไม่ใช่เกษตรกรตามความหมายของพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2516 โดย สปก.หรือโจทก์มีสิทธิ์นำที่ดินพิพาทมาปฏิรูปที่ดินได้ โดยศาลฎกีกาพิพากษายืน
สำหรับปัญหาที่ดินสปก. 4-01 ในภูเก็ตเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2537 เมื่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รมต.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น ได้เดินทางมามอบเอกสารที่ดินส.ป.ก.ให้กับเกษตกรผู้ยากไร้ที่ดินทำกินจำนวน 592 แปลง จำนวน 489 ราย พื้นที่ 10,000 กว่า ไร่ ทั้งพื้นที่ป่าเขาสามเหลี่ยม ป่าเทือกเขากมลา และป่าเทือกเขานาคเกิด และจากการตรวจสอบพบว่า มีตระกูลใหญ่ในจังหวัดภูเก็ตจำนวน 11 ตระกูล ที่ได้รับเอกสารสิทธิดังกล่าว ประกอบด้วย ตระกูลเทพบุตร, ศรีแสนสุชาติ, หงษ์หยก, ถาวรว่องวงค์, ประจันทบุตร , สุขศิริสัมพันธ์, เอกวานิช, ตันติวิท, ทองตัน, อมรไพโรจน์, กี่สิ้น จากนั้นทางจังหวัดภูเก็ตได้ตั้งกรรมการขึ้นมาสืบสวนข้อเท็จจริง และตรวจสอบคุณ สมบัติผู้ที่ได้รับสิทธิ์ ส.ป.ก.4-01 รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงมาตรวจสอบที่ดินส.ป.ก.4-01 ในภูเก็ตมาโดยตลอด
จากนั้นในวันที่ 17 เมษายน 2538 คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ต ได้มีมติเพิกถอนเอกสารในที่ดินส.ป.ก.ที่แจกให้นายทุนจำนวน 8 ราย เพราะขาดคุณสมบัติ ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ
ประกอบด้วย นายบันลือ ตันติวิท จำนวน 1 แปลงเนื้องที่ 69 ไร่ นายบุ่นเก้ง ศรีแสนสุชาติ จำนวน 2 แปลง จำนวนเนื้อที่ 89 ไร่นายเจริญ ถาวรว่องงวศ์ จำนวน 4 แปลง เนื้อที่ 15 ไร่ นายทศพร เทพบุตร จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 98 ไร่ นายสุทิน เทพบุตร จำนวน 2 แปลง 37 ไร่ นายณรงค์ นพดารา 1 แปลง จำนวน 21 ไร่ นายหัตถ์ กตัญชลีกุล จำนวน 2 แปลง เนื้อที่ 29 ไร่ และนายธเนศ เอกวานิช จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 6 ไร่ ที่เหลือยังไม่ถูกเพิกถอน 2 ราย คือนายเปี่ยน กี่สิ้น และนายสุรศักดิ์ หงษ์หยก หลังจากที่มีการตรวจสอบคุณสมบัติต่างๆ แล้ว ทางสปก.ได้ฟ้องร้องผู้ที่ถูกเพิกถอนเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.จำนวน 24 ราย ซึ่งศาลได้ตัดสินไปแล้วบางส่วน ซึ่งมี 2-3 คดีเท่านั้นที่สปก.เป็นผู้ชนะ นอกจากนั้นแพ้ทั้งหมด และทางส.ป.ก.ได้อุธรณ์คำสั่งศาลเพื่อพิจารณายื่นฟ้องใหม่ดังกล่าว
สำหรับกรณีที่สปก.ยื่นฟ้องนายทศพร เทพบุตร เพื่อให้ออกจากการครอบครองที่ดิน สปก. 4-01 นั้น ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง จากนั้น สปก.ได้อุทธรณ์คำสั่งศาล เพื่อให้มีการพิจารณายื่นฟ้องใหม่ เมื่อวันที่ 28 เม.ย.47 จากนั้นศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้นายทศพรและบริวารออกจากที่ดิน สปก.4-01 โดยนายทศพรได้ยื่นฎีกาต่อ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.50 ศาลจังหวัดภูเก็ตได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาพิพากษายืนคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ขับไล่นายทศพรและบริวารออกจากที่ดิน สปก.4-01 ก.เลขที่ 140 อ.เมือง จ.ภูเก็ต เนื้อที่ 98 ไร่ 1 งาน 7 ตรว.
http://news.sanook.c...itic_143298.php