CNN เจาะ เบื้องลึก ม็อบไล่รัฐบาล
http://news.sanook.c...ก-ม็อบไล่รัฐบาล
ฟารีด ซาคารียา ผู้ดำเนินรายการ The Global Public Square ทางซีเอ็นเอ็น สัมภาษณ์ดันแคน แม็กคาร์โก อาจารย์มหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศอังกฤษ เกี่ยวกับต้นตอของความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทยที่ดำเนินมานานค่อนทศวรรษ และแนวโน้มของสถานการณ์ข้างหน้า
แม็กคาร์โก อธิบายสาเหตุของการประท้วงในกรุงเทพในขณะนี้ว่า ผู้ประท้วงไม่พอใจทิศทางระบอบการเมืองที่ดำเนินมานานกว่าหนึ่งทศวรรษ ในอดีต ประเทศไทยปกครองโดยชนชั้นนำกลุ่มเล็กๆในกรุงเทพ ซึ่งตนเรียกว่า "network monarchy" อันมีศูนย์รวมอยู่ที่วัง, กองทัพ, ระบบราชการ และกลุ่มธุรกิจใหญ่
แม้การเลือกตั้งถือเป็นบรรทัดฐานมานานกว่า 30 ปี แต่รัฐบาลจากการเลือกตั้งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากเครือข่ายนี้จึงจะอยู่ในอำนาจได้ หากไม่ได้รับความเห็นชอบ รัฐบาลจะล้มลงในเวลาไม่นาน หรือถูกกองทัพขับพ้นตำแหน่ง บรรดากลุ่มอนุรักษ์นิยมในสังคมไทย ซึ่งรวมถึงชนชั้นกลางกรุงเทพ และผู้ออกเสียงเลือกตั้งในภาคใต้ ซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ สนับสนุนเครือข่ายผู้ปกครองนี้
อย่างไรก็ดี นับแต่การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2544 คนไทยส่วนใหญ่สนับสนุนพรรคการเมืองที่เชื่อมโยงกับอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร อย่างเหนียวแน่น พรรคที่สนับสนุนทักษิณ ซึ่งมีฐานเสียงแข็งแกร่งในภาคเหนือและภาคตะวันออกฉียงเหนือ กวาดเสียงข้างมากเด็ดขาดในการเลือกตั้งปี 2544, 2548, 2549, 2550 และ 2554 ขณะพรรคประชาธิปัตย์ชนะอย่างฉิวเฉียดในปี 2535 และไม่เคยชนะขาดลอยเลยนับแต่ปี 2524
ผู้ประท้วงรู้สึกโกรธแค้นที่คนกรุงเทพไม่มีอำนาจชี้ขาดผลการเลือกตั้งอีกต่อไป จึงรู้สึกว่า ประเทศชาติไม่ได้อยู่ในกำมือของตัวเอง คนเหล่านี้อ้างว่า ประเทศถูกเงินของทักษิณจับเป็นตัวประกัน แต่สถานการณ์จริงมีความซับซ้อนกว่านั้นมาก
แม็กคาร์โก ซึ่งนักศึกษาในประเทศไทยเรียกด้วยความคุ้นเคยว่า อาจารย์ดันแคน ชี้ว่า ชาวบ้านในภาคเหนือและอีสาน ไม่ใช่เกษตรกรยากจนที่ยอมรับการถูกริดรอนสิทธิ์เสียง และแบมือรับการอุปถัมภ์จาก "ผู้อยู่ดีกินดี" ในกรุงเทพ อีกต่อไปแล้ว ทักษิณไม่ได้ใช้การเลือกตั้งโจมตีพรรคประชาธิปัตย์ และอำนาจของเมืองหลวง เขาเพียงแต่รู้จักใช้ประโยชน์จากความไม่พึงพอใจดังกล่าวของชาวบ้าน
ผู้ดำเนินรายการ ซาคารียา ถามว่า มีข้อสงสัยกันว่า ทักษิณมีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ อาจารย์ผู้สอนวิชาการเมืองประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผู้นี้ ตอบว่า ทักษิณทำงานสนับสนุนรัฐบาลยิ่งลักษณ์จริง แต่ยิ่งลักษณ์ไม่ใช่ "โคลน" หรือมนุษย์ถอดแบบพันธุกรรมของทักษิณอย่างที่เขาเคยคาดหวัง ยิ่งลักษณ์เป็นตัวของตัวเอง และสร้างพันธมิตรทางการเมืองของเธอเอง
อาจารย์ดันแคน มองว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ควรรับมือการประท้วงด้วยความมีเหตุมีผล มีท่าทีรับฟังและผ่อนปรน อย่างที่กำลังทำอยู่นี้ ไม่ทำให้สถานการณ์ร้อนแรงขึ้นโดยไม่จำเป็น ต้องเดินหน้าอย่างหนักแน่นไปสู่การเลือกตั้ง นับเป็นเรื่องดีถ้านักวิชาการหรือบุคคลที่ได้รับความเคารพในสังคมไทย ช่วยไกล่เกลี่ยให้เกิดการประนีประนอม เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุรุนแรง
ต่อคำถามของผู้ดำเนินรายการที่ว่า คาดว่ากองทัพจะมีบทบาทอย่างไรต่อการประท้วงรอบล่าสุดนี้ แม็กคาร์โกตอบว่า ในวิกฤตปัจจุบัน การที่กองทัพลังเลที่จะเข้าแทรกแซงโดยตรง สะท้อนให้เห็นว่า ดีลที่ยอมให้ยิ่งลักษณ์อยู่ในตำแหน่งต่อไป ยังมีพลังหลงเหลืออยู่ กองทัพรู้ดีว่า การรัฐประหารจะยิ่งตอกลิ่มการแบ่งขั้วของการเมืองไทย และกองทัพจะถูกด่าหากการณ์ไม่เป็นไปตามคาด
อย่างไรก็ดี นักวิชาการชาวอังกฤษบอกว่า ผู้ประท้วงจะทุ่มสุดแรงเกิด ผลักดันกองทัพให้เข้าแทรกแซงในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ เพราะการยึดอำนาจของทหารจะทำให้พวกเขาขับรัฐบาลได้สำเร็จตามที่ต้องการ.
แม็กคาร์โก บอกว่า รัฐบาลของเธอคงอยู่มานานไม่ได้เกือบ 30 เดือนเช่นนี้ หากไม่ได้รับไฟเขียวจากกลุ่มพลังจารีต ยิ่งลักษณ์ เครือข่ายอำนาจดั้งเดิม และกองทัพ มี 'ดีล' ซึ่งตกลงกันที่จะปกปิดความแตกแยกทางการเมืองของประเทศ และปล่อยให้รัฐบาลทำงานไป
"สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ดีลนี้อ่อนตัวลง เป็นเพราะการผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเมื่อปลายปี 2556 ซึ่งทักษิณได้ผลักดันแบบสุดซอย อีกสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะพรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มพลังที่ต่อต้านทักษิณ เดินหน้าอย่างเป็นระบบที่จะล้มดีลนี้" เขาวิเคราะห์
อาจารย์ดันแคน ซึ่งรู้ภาษาไทยในระดับดี บอกว่า พวกผู้ประท้วงไม่มีข้อเรียกร้องทางการเมืองที่ชัดเจนมากไปกว่าการ "กู้ชาติ" เพื่อให้ประเทศถอยหลังกลับไปสู่ยุคก่อนทักษิณ ที่เครือข่ายผู้ปกครองและเหล่าผู้สนับสนุนสามารถชี้เป็นชี้ตายได้ และชาวบ้านเป็นผู้ไร้สิทธิ์ไร้เสียง