ประกันตนตามมาตรา 40
“ผู้ประกันตนมาตรา 40” สำหรับการประกันตนตามมาตรา 40 นั้น เป็นผลมาจากการประกันตนมาตรา 39 โดยมีการเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ เพื่อต้องการให้ผู้คนหันมาเข้าร่วมกับการประกันสังคม โดยมีความหมายถึง บุคคลที่มิใช่ลูกจ้างตามมาตรา 33 หรือเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 เรียกว่าเป็น “ผู้ประกันตนโดยอิสระ”
แต่เดิมนั้นก็มีคนเข้าร่วมการประกันสังคมมากอยู่แล้ว และเมื่อมาตรา 40 ได้ออกมาก็ยิ่งทำให้ผู้คนอีกไม่น้อยที่ตัดสินใจเข้าร่วมกับการประกันสังคม ซึ่งการที่จะเข้าร่วมเป็นผู้ประกันตนได้นั้นก็ต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนด โดยคุณสมบัติก็คล้ายๆ กับการเข้าร่วมเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 โดยระบุไว้ดังนี้
- เป็นผู้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์
- ต้องไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือผู้ประกันตนตามมาตรา 39
หากว่าเรามีคุณสมบัติตามนี้ก็สามารถสมัครได้เลย เพียงแต่ยื่นใบสมัคร พร้อมทั้งแนบสำเนาบัตรประชาชนและชำระเงินสมทบงวดแรกที่สำนักงานประกันสังคมในท้องที่ ซึ่งในการชำระเงินนั้นมีทางเลือกให้ 2 ทาง คือ ชุดสิทธิประโยชน์ 1 โดยต้องจ่ายเงินสมทบ 100 บาทต่อเดือน ใน 100 บาทจะแบ่งเป็นส่วนที่ผู้ประกันตนต้องจ่ายเอง 70 บาท ที่เหลืออีก 30 บาทรัฐบาลจะเป็นผู้จ่ายให้
โดยสิทธิประโยชน์ที่เราจะได้รับเมื่อเลือกประกันตนในชุดสิทธิประโยชน์ที่ 1 โดยจะได้รับการคุ้มครองขั้นพื้นฐาน 3 กรณี คือ เงินทดแทนรายได้กรณีเจ็บป่วย เงินทดแทนรายได้กรณีทุพพลภาพ เงินค่าทำศพ
ส่วนทางเลือกที่สองนั้นเรียกว่า ชุดสิทธิประโยชน์ 2 โดยต้องจ่ายเงินสมทบ 150 บาทต่อเดือน โดยใน 150 บาทนั้น ทางผู้ประกันตนต้องจ่ายเอง 100 บาท ส่วนอีก 50 บาทนั้นทางรัฐบาลจะเป็นผู้จ่ายให้ ซึ่งไม่ว่าจะเลือกกรณีไหน หากว่าจ่ายเงินสมทบงวดแรกก็เป็นผู้ประกันตนทันที
ในการเลือกเข้าร่วมประกันตนตามมาตรา 40 แบบชุดสิทธิประโยชน์ 2 นี้ เราผู้มีสถานะเป็นผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานคอยคุ้มครองอยู่ 4 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ เงินค่าทำศพและเงินบำเหน็จชราภาพ
หากว่าเราเลือกใช้บริการกรณีใด กรณีหนึ่งแล้วเกิดความไม่พอใจ ต้องการเปลี่ยนมาใช้อีกกรณีหนึ่งก็สามารถทำได้ โดยในหลักเกณฑ์ระบุไว้ว่า ทั้ง 2 กรณีนั้นสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงไปใช้อีกกรณีหนึ่งได้ หากว่ามีความไม่พอใจหรือไม่สะดวก โดยสามารถเปลี่ยนแปลงได้ปีละ 1 ครั้ง ก่อนวันที่ 25 ธันวาคมของทุกปีและจะมีผลเปลี่ยนแปลงในวันที่ 1 มกราคมของปีถัดไป นอกจากนั้นหากว่ามีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลส่วนตัวอย่าง ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ หรือลาออกจากสถานะผู้ประกันตนสามารถทำได้ทันที เพื่อความถูกต้อง
การเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 นั้นไม่ได้มีสิทธิประโยชน์ทางด้านสุขภาพและความมั่นคงในชีวิตเท่านั้น ยังมีสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีอีกด้วย เงินสมทบในแต่ละปีที่เราจ่ายไป สามารถนำไปลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาได้ เพียงใช้ใบเสร็จรับเงินที่ได้รับจากการจ่ายเงินสมทบ มาใช้เป็นหลักฐาน
จากข้อมูลข้างต้นเราจะเห็นได้ว่าสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตามมาตรา 40 พึงได้นั้นขึ้นอยู่กับรูปแบบการเลือกประกันตนอีกที โดยมีดังนี้
เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย หากว่าต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลนานกว่า 2 วันขึ้นไปจะได้รับเงินทดแทน 200 บาทต่อวัน แต่ต้องไม่เกิน 20 วัน แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขการจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 3 เดือนจากระยะเวลา 4 เดือน
เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพได้รับเงินทดแทนจำนวน 500- 1,000 บาทต่อเดือนนานถึง 15 ปี ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบ 6 เดือนขึ้นไปและคำวินิจฉัยของแพทย์ โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้
ชำระเงินสมทบอย่างน้อย 6 เดือนภายในเวลา 10 เดือน ก่อนทุพพลภาพ ได้รับ 500 บาทต่อเดือน
ชำระเงินสมทบอย่างน้อย 12 เดือนภายในเวลา 20 เดือน ก่อนทุพพลภาพ ได้รับ 650 บาทต่อเดือน
ชำระเงินสมทบอย่างน้อย 24 เดือนภายในเวลา 40 เดือน ก่อนทุพพลภาพ ได้รับ 800 บาทต่อเดือน
ชำระเงินสมทบอย่างน้อย 36 เดือนภายในเวลา 60 เดือน ก่อนทุพพลภาพ ได้รับ 1,000 บาทต่อเดือน
เงินทำศพจะได้รับ 20,000 บาทต่อราย แต่ต้องจ่ายเงินสมทบครบ 6 เดือนภายในเวลา 12 เดือน ก่อนถึงวันที่เสียชีวิต เงินค่าทำศพนั้นจะตกเป็นสิทธิประโยชน์ของผู้มีสิทธิ ซึ่งบุคคลที่เป็นผู้มีสิทธิมีดังนี้
- บุคคลที่ผู้ประกันตนได้ทำหนังสือระบุให้เป็นผู้จัดการศพก่อนจะเสียชีวิต
- บิดามารดา สามีภรรยาหรือบุตร ตามกฎหมาย
- บุคคลที่มีหลักฐานแสดงตนว่าได้รับเป็นจัดการศพ
เงินบำเหน็จชราภาพ ในกรณีของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แบบชุดสิทธิประโยชน์ 2 จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ เมื่ออายุได้ 60 ปีบริบูรณ์เท่านั้น ในบางกรณีที่ผู้ประกันตนเสียชีวิตไม่สามารถมารับเงินบำเหน็จชราภาพได้ สิทธิประโยชน์ดังกล่าวจะตกเป็นของผู้มีสิทธิ เช่น บิดามารดา สามีภรรยา บุตร หรือไม่ก็เป็นบุคคลที่ผู้ประกันตนได้ทำหนังสือระบุเอาไว้ว่าเป็นผู้มีสิทธิก่อนที่จะเสียชีวิต
หากว่ารู้สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับเหล่านี้แล้ว เชื่อว่าหลายคนก็คงอยากที่จะมีสถานะเป็นผู้ประกันตน ซึ่งการที่จะสมัครเป็นผู้ประกันตนนั้นไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด เพียงแค่ไปยื่นเรื่องที่สำนักงานประกันสังคมท้องที่ของตนเอง หรือสมัครผ่านตัวแทนเจ้าหน้าที่ประกันสังคมหรือสมัครที่หน่วยเคลื่อนที่ พร้อมด้วยเอกสารดังต่อไปนี้
- แบบการขึ้นทะเบียนการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 หรือ สปส.1-40
- บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้ พร้อมสำเนา
วิธีการนำส่งเงินสมทบ
การนำส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ก็มีลักษณะคล้ายๆ กับกรณีผู้ประกันตนตามมาตรา 39 โดยจะมีการชำระเงินสมทบด้วยกัน 2 ทาง คือหักจากบัญชีธนาคารและการชำระด้วยเงินสด
การหักผ่านบัญชีจะทำผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือธ.ก.ส. และธนาคารออมสิน ซึ่งในขั้นตอนดังกล่าวจะมีค่าธรรมเนียม 5 บาทต่อครั้ง โดยค่าธรรมเนียมดังกล่าวต้องอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ประกัน
การชำระด้วยเงินสด ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 หากต้องการชำระเป็นเงินสดก็สามารถไปชำระได้ที่สำนักงานประกันสังคมในท้องที่ หรือไม่ก็ชำระผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7-ELEVEN หรือเคาน์เตอร์เซอร์วิสอื่นๆ ที่ให้บริการ โดยจะมีค่าธรรมเนียม 10 บาทต่อครั้ง โดยค่าธรรมเนียม ดังกล่าวต้องอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ประกันตน
ในกรณีของการชำระเงินผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส เมื่อชำระเงินเสร็จผู้ประกันจะได้รับใบเสร็จแสดงการชำระเงินในทันที ซึ่งผู้ประกันตนต้องนำใบเสร็จรับเงินและสมุดนำส่งเงินไปให้เจ้าหน้าที่ประทับตราที่สำนักงานประกันสังคมในท้องที่ เนื่องจากจำเป็นต้องใช้เป็นหลักฐานประกอบการยื่นเรื่องรับสิทธิประโยชน์ เมื่อเกิดเหตุจำเป็น
ขั้นตอนการรับสิทธิประโยชน์ทดแทน
อย่างที่เราพอทราบเบื้องต้นแล้วว่าสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตามมาตรา 40 นั้นมีอยู่หลากหลายแบบ ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกันตนด้วยกันทั้งนั้น แต่การที่จะเข้าถึงสิทธิประโยชน์เหล่านั้น เราต้องรู้ถึงขั้นตอนและเอกสารสำคัญที่ใช้ยื่นเรื่องขอรับประโยชน์ทดแทนอย่างแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนฯ หรือ สปส. 2-01/ม.40 พร้อมทั้งเอกสารอื่นๆ ที่จำเป็น นอกจากนั้นการยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนต้องทำภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่มีสิทธิ หากว่าไม่มาตามกำหนดดังกล่าวถือว่าสละสิทธิประโยชน์นั้น จะตกเป็นของกองทุน ดังนั้นเราจะมาดูกันว่าการยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนในกรณีต่างๆใช้เอกสารอะไรกันบ้าง
กรณีขอรับเงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนฯ หรือสปส. 2-01/ม.40
- ใบรับรองแพทย์
- สำเนาเวชระเบียน ในกรณีที่มี
กรณีขอรับเงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีทุพพลภาพ
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนฯ หรือสปส. 2-01/ม.40
- ใบรับรองแพทย์
- สำเนาเวชระเบียน ในกรณีที่มี
กรณีเงินค่าทำศพ หากเสียชีวิต
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนฯ หรือสปส. 2-01/ม.40
- สำเนามรณบัตร
- หลักฐานแสดงว่าเป็นผู้จัดการศพ
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ผู้ประกันตนและผู้จัดการศพ
- สำเนาทะเบียนบ้าน ผู้ประกันตนและผู้จัดการศพ
กรณีเงินบำเหน็จชราภาพ ในกรณีนี้ยังแบ่งออกเป็นอีก 2 แบบ คือกรณีชราภาพและกรณีเสียชีวิต โดยแต่ละแบบใช้เอกสารต่างกันดังนี้
กรณีชราภาพ เกิดขึ้นเมื่อผู้ประกันตนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และไม่ต้องการเป็นผู้ประกันตนต่อจึงได้ลาออก เอกสารที่ต้องใช้ยื่นรับเงินบำเหน็จชราภาพคือ แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนฯ (สปส.2-01/ม.40) และ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
กรณีเสียชีวิต หากว่าผู้ประกันตนเสียชีวิต สิทธิประโยชน์ที่ได้รับนั้น จะตกเป็นของผู้มีสิทธิทันที ผู้มีสิทธิว่าได้แก่ พ่อแม่พี่น้อง สามีภรรยาหรือบุตร ที่ถูกต้องตามกฎหมาย หากว่ามีบุคคลที่ได้รับสิทธิจากผู้ประกันตนให้เป็นผู้จัดการศพก็จะได้รับสิทธิประโยชน์นั้นทันที ผู้มีสิทธิจะทการยื่นเอกสารดังนี้
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนฯ (สปส. 2-01/ม.40)
- สำเนามรณบัตร
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนาทะเบียนบ้านของผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพ
- สำเนาทะเบียนสมรสของผู้ประกันตนและของบิดา มารดา ในกรณีถ้ามี
- สำเนาสูติบัตรของบุตรหรือสำเนาทะเบียนบ้านของบุตรกรณีไม่มีสูติบัตร
เอกสารเหล่านี้จะถูกยื่นที่สำนักงานประกันสังคม เพื่อให้เจ้าหน้าที่พิจารณาต่อไป จะเห็นได้ว่าไม่ว่าผู้ประกันตนตามมาตรา 39 หรือ 40 ต่างก็ได้รับสิทธิประโยชน์หลายอย่าง นั่นเป็นเพราะว่าสำนักงานประกันสังคมต้องการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายเรื่องสุขภาพที่ประชาชนต้องแบกรับ อีกทั้งยังมีเงินบำเหน็จสร้างหลักประกันชีวิตไว้ในวัยชราอีกด้วย ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ขึ้นทุกช่วงขณะ
ดังนั้นหากว่าคุณเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 อยู่ก็อย่าลืมตรวจทานสิทธิของตนเอง หมั่นตรวจสอบข่าวคราวการเพิ่มเติมสิทธิของการประกันสังคมตลอดเวลา เพราะเมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้จริงจะสามารถใช้ได้ถูกต้องและเหมาะสม