ตัวจริง เสียงจริง "โปรดฟังอีกครั้ง"
อดีตโฆษกคณะปฏิวัติคนนี้ เคยทำงานกับผู้นำประเทศหลายยุค จึงได้เห็นรัฐประหารต่างวาระ และนี่คือ อีกเสี้ยวของการเมืองที่ผ่านมา
สำหรับเด็กรุ่นใหม่แล้ว อาจไม่รู้จัก อาคม มกรานนท์ ผู้ประกาศข่าวรุ่นแรกๆ ของสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม เขาคนนี้เคยมีบทบาทในการเมืองไทย เคยเป็นโฆษกอ่านแถลงการณ์คณะปฏิวัติ และคณะปฏิรูปหลายยุคสมัย ในฐานะข้าราชการและผู้ประกาศข่าว รวมถึงโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในยุคสมัยหนึ่ง อดีตนักแสดง พิธีกรรายการโทรทัศน์เกมโชว์ นาทีทองและประตูดวง รวมถึงสมาชิกวุฒิสภา หลังเกษียณ เขาหันมาทำงานรับเหมาก่อสร้าง จัดรายการวิทยุ
และเมื่อเร็วๆ นี้ในวัย 83 ปี อาคมเพิ่งหยุดทำงานในชีวิต แต่สิ่งที่เขาไม่เคยหยุดคือ การติดตามการเมือง เขาบอกว่า ครึ่งหนึ่งชีวิตเกี่ยวข้องกับการเมือง เคยเป็นโฆษกประกาศการรัฐประหารในเมืองไทยถึง 8 ครั้ง
เรื่องราวในมุมการเมืองที่อดีตโฆษกคณะปฏิวัติคนนี้เรียนรู้เป็นเช่นไร ลองตามอ่าน....
เวลามีการปฏิวัติ คุณมักจะได้รับความไว้วางใจให้อ่านแถลงการณ์ ?
ในช่วงปีพ.ศ. 2498-99 ผมเป็นข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์ เป็นผู้ประกาศข่าว ส่วนมากคนที่ยึดอำนาจจะยึดกรมประชาสัมพันธ์ก่อน ผมจึงมีหน้าที่อ่านแถลงการณ์ เพราะตอนนั้นมีผู้ประกาศรุ่นเด็กๆ พวกเขาก็เลยให้ผมอ่าน ผมอ่านคำประกาศแถลงการณ์ปฎิวัติครั้งแรกเมื่อ ปีพ.ศ. 2500 สมัยจอมพลป.พิบูลสงคราม ตอนนั้นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฎิวัติ ผมตื่นเต้นมาก เพราะผมไม่เคยอ่านแถลงการณ์ ตอนนั้นโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหมยังเป็นขาวดำ ต้องอ่านแถลงการณ์สามภาษา คือ ไทย อังกฤษและฝรั่งเศส ผมอ่านภาษาไทยและฝรั่งเศส ผมเคยเรียนที่เมืองปารีสอยู่ห้าปีเกี่ยวกับการกำกับรายการโทรทัศน์และการทำละคร และตั้งแต่นั้นมา เวลาจอมพลสฤษดิ์มีแถลงการณ์เรื่องอะไร ก็จะให้ผมอ่าน
ชีวิตที่ผ่านมาเคยอ่านแถลงการณ์คณะปฎิวัติกี่ครั้ง
ประมาณ 8 ครั้ง ตั้งแต่สมัยคณะปฏิวัติขับไล่รัฐบาล ยุคจอมพลป.พิบูลสงคราม จอมพลถนอม กิตติขจร อาจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ฯลฯ ผมมองว่า ในเมืองไทยยังมีความเข้าใจผิดกับคำว่า ปฏิวัติ ปฎิรูป และรัฐประหาร เราใช้คำว่า 'ปฏิวัติ'จนเคยชิน จริงๆ แล้วปฏิวัติ หมายถึง การล้มหมดทุกอย่าง เหมือนปีพ.ศ.2475 ล้มจากการปกครองตามระบบพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ นี่เรียกว่า การปฏิวัติ แต่หลังจากนั้นไม่มีการปฏิวัติแบบนั้นเลย มีแต่การปฏิรูป หรือเรียกว่ารัฐประหาร เหมือนสมบัติผลัดกันชม ถ้าไม่ดีก็ไล่ออก ถ้าบริหารไม่ดีอีก ก็ขับไล่อีก แต่คนไปเรียกปฏิวัติ ผมพยายามบอกเสมอว่าเมืองไทยมีปฏิวัติครั้งแรกคือ ปีพ.ศ. 2475 นอกนั้นรัฐประหาร ส่วนในยุคพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เรียกการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยการยึดอำนาจว่า ปฏิรูป คือ เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนรัฐบาล โดยใช้ทหารบุกยึดอำนาจ
จากประสบการณ์ของคุณ การยึดอำนาจโดยทหารมีบ่อยแค่ไหน
จากที่ผมทำหน้าที่ตรงนั้นมาตลอด ผมคิดว่าเมืองไทยหลายยุคสมัย ปกครองโดยระบบเผด็จการทหาร แต่ก็เผด็จการพลเรือนด้วยในยุคอาจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร ผมมองว่า ถ้าผู้นำประเทศเป็นคนดี ซื่อสัตย์ ประเทศชาติก็เจริญ แต่เราไปเจอผู้นำที่โกงกินบ้านเมืองมากกว่าพัฒนาประเทศ ผมเคยทำงานกับจอมพลสฤษฎ์ ผมเป็นหลานท่าน ผมรู้จักท่านตั้งแต่เด็กๆ ท่านก็ไม่ใช่คนเก่ง แต่เป็นทหารที่คำไหนคำนั้น อย่างกรณีการวางเพลิงเผาตลาดพลู ผมก็อยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วย ตอนนั้นมีการสั่งยิงพี่น้องสองคนที่หลักประหารกำแพงวัด
ผมจำได้ว่า พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ยมนาค มาบอกท่านว่า "สองคนพี่น้องที่จับมา สงสัยจะไม่ใช่คนร้าย" ท่านฟังแล้วก็นั่งนิ่งๆ แล้วให้ประทับยิ่ง ทั้งๆ ที่มีคนมาบอกว่า "ทั้งสองคนที่จับได้ไม่ใช่คนร้าย" ตอนเดินทางกลับ ผมก็ถามท่านว่า "ทำไมสั่งให้ยิ่ง..." ท่านบอกว่า “ข้าเป็นแม่ทัพ สั่งคำไหนต้องเป็นคำนั้น” ผมก็ถามต่อว่า ถ้าสั่งให้ทหารลงเหว แล้วจะทำยังไง” ท่านก็บอกว่า “ก็ต้องลงเหว”
แม้กระทั่งการบริหารประเทศชาติ จอมพลสฤษฎ์ ท่านใช้คนเป็น ตอนท่านอยู่บ้านสี่เสาเทเวศร์ ผมทำงานกับท่าน ท่านจะนอนดึก นั่งคิดงาน ถ้าวันรุ่งขึ้นมีการประชุมคณะรัฐมนตรี ท่านจะนั่งอ่านเอกสารอย่างละเอียด และคนที่ให้ความเห็นคำปรึกษาท่านก็คือ พลเอกหลวงสุทธิสาร ในช่วงการประชุมครม.วาระต่างๆ ผมก็ได้เห็นว่า ท่านปล่อยให้รัฐมนตรีถกเถียงกัน ท่านก็นั่งคราบไปป์ มองเฉยๆ จนได้เวลา ท่านก็เอามือตบโต๊ะ จากนั้นก็พูดถึงสิ่งที่จะทำ เพราะท่านคิดแผนมาจากบ้านแล้ว
เป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ ?
ก็ใช่...ท่านใช้วิธีการให้คนอื่นโต้เถียงกันก่อน แล้วค่อยออกความเห็น โดยท่านจำสิ่งที่ถกเถียงกันได้ แต่มีคำตอบอยู่แล้ว หรือตอนไปตรวจราชการ เวลาปลัดกระทรวงจัดที่พักให้ ท่านจะไม่พัก จะไปนอนกลางเต้นท์ในป่า หรือช่วงที่ถนนเพชรบุรีสร้างเสร็จใหม่ๆ ไม่มีต้นไม้เลย ท่านก็สั่งให้เอาต้นไม้ลงก่อนภายใน 7 วัน และท่านจะแวะไปดูตอนดึกๆ ซึ่งผมติดตามตลอด ก็เห็นว่าท่านทำงานอย่างไร เรื่องคอรัปชั่นก็มีบ้าง ประมาณว่าร้อยบาทกินสิบบาท เพื่อแบ่งไว้ให้ลูกน้องที่ทำงานด้วย ผมจำได้ว่าในสมัยนั้น จอมพลประภาสเคยถามท่านว่า จะให้ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเมื่อไหร่ ท่านตอบว่า "กูตายก่อน ค่อยเสร็จ" รัฐธรรมนูญฉบับนั้นใช้เวลาร่าง 12 ปี ท่านให้เหตุผลว่า เมืองไทยเราเร็วเกินไปที่จะมีประชาธิปไตย
เพราะอะไร
จอมพลสฤษฎ์บอกว่า เรายังไม่ได้ให้การศึกษากับประชาชนว่า การปกครองแบบประชาธิปไตยดีอย่างไร เพราะเราเอาวิธีการมาจากประเทศอื่นทั้งหมด ตอนนั้นประชาชนมีประมาณ 8-9 ล้านคน ยังไม่รู้จักและเข้าใจคำว่า ประชาธิปไตย ประชาชนก็เลยคิดว่า พูดตามใจคือ ไทยแท้ แม้กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังไม่เข้าใจว่าประชาธิปไตยคืออะไร การเลือกตั้งอย่างเดียวไม่ใช่ประชาธิปไตย เป็นวิธีการส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย มีคนบอกว่า ประชาธิปไตยไม่ได้หมายความว่าคือการเลือกตั้ง เรื่องนี้ก็ยังถกเถียงกัน
ก่อนทำรัฐประหาร ทหารจะส่งสัญญาณอย่างไร
เมื่อทหารเห็นว่า บ้านเมืองไม่ไหวแล้ว โกงกินกันเยอะ ประชาชนเดือดร้อน ก็จะยึดอำนาจ สมัยก่อนถ้ายึดกรมประชาสัมพันธ์ สถานีโทรทัศน์และโรงไฟฟ้า ได้ทั้งหมด ก็จะประกาศแถลงการณ์รัฐประหาร แต่สมัยนี้ยึดอำนาจลำบาก เพราะมีเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
เวลาจะยึดอำนาจ ผมถูกใช้ให้อ่านแถลงการณ์ ตัวผมเองก็ไม่ได้รู้ล่วงหน้า คณะรัฐประหารจะเรียกตัวให้มาพบก่อน จะเก็บตัวไม่ให้กลับบ้าน เพื่อให้อ่านแถลงการณ์ พอถึงเวลา หัวหน้าคณะรัฐประหารและเลขาธิการคณะรัฐประหาร ก็จะถือซองปิดผนึกมาซองหนึ่ง จะอ่านได้ก็ต่อเมื่อถึงเวลาถ่ายทอดออกรายการทีวี
ครั้งไหนที่อ่านแถลงการณ์คณะรัฐประหาร คุณตื่นเต้นที่สุด
ตอนที่พ.อ.มนูญ รูปขจร และพันเอกประจักษ์ สว่างจิตร ยึดอำนาจ ตอนนั้นมีพลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร ตอนนั้นพันเอกมนูญ เป็นเลขาธิการคณะรัฐประหาร ทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร ปลัดกระทรวง และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ต้องมารายงานตัวที่กองบัญชาคณะรัฐประหาร เมื่อมีการยึดอำนาจแล้ว ก็มีคนยึดซ้ำอีก ถ้ายึดแล้ว แพ้ก็เป็นกบฏ หากจะให้ผมมอง ผมคิดว่าอยู่ที่ตัวบุคคล ถ้ามีการประกาศชื่อหัวหน้ารัฐประหารแล้ว สิ่งสำคัญคือ ประชาชนต้องยอมรับได้ เพราะเวลารัฐประหาร เลขาธิการคณะรัฐประหารมีอำนาจรองจากหัวหน้า สั่งการได้หมด ในยุคนั้นปลัดกระทรวง ซี 12 ต้องมารายงานกับพันเอก ซี 7-8 เพราะมีชั้นยศที่ต่ำกว่า พวกเขาก็รับไม่ได้ เมื่อไม่ยอมรับ ก็เลือกอีกข้าง ทำให้พันเอกมนูญ ต้องทำรัฐประหารสองครั้ง
อ่านแถลงการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายครั้ง คุณรู้สึกอย่างไรบ้าง
ครั้งที่ผมอ่านแถลงการณ์คณะรัฐประหารแล้วแพ้ คือ ยุค 14 ตุลา ปีพ.ศ. 2516 ยุคจอมพลถนอม กิตติขจร ตอนนั้นคณะรัฐประหารสู้กับนักศึกษา ในยุคนั้นผมได้สมญานามว่า โฆษกทรราช ตอนนั้น อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ,อ.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ฯลฯ เป็นคนละฝ่ายกับรัฐบาล ก็ไม่ค่อยชอบผม หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปเป็นสิบๆ ปี ทุกคนต่างเข้าใจว่า เราต่างทำหน้าที่ เมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้นก็จบ เจอกันก็คุยกันได้ แต่ในยุคนี้เป็นการต่อสู้ระหว่างกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ กับนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งหลายคนก็ถามว่า ทำไมทหารไม่ออกมา ถ้าเป็นสมัยก่อนยึดอำนาจไปนานแล้ว เมื่อทหารต้องทำตามคำสั่งรัฐบาล ถ้าเกิดอะไรขึ้นมา แล้วทหารต้องตกเป็นจำเลย ก็ทำให้ทหารคิดเยอะ
ใครๆ ก็บอกว่า การปฏิวัติล้าสมัยแล้ว คุณคิดเห็นอย่างไร
ปฎิวัติเกิดขึ้นได้เสมอ แล้วแต่เหตุการณ์บังคับ เพียงแต่เป็นแบบใช้กำลัง หรือ เจรจา ถ้าเป็นการเจรจา อาจจะบอกว่า "นายกรัฐมนตรีออกไปเถอะ เพื่อเห็นแก่ประเทศชาติ" แต่สถานการณ์ปัจจุบัน นายกรัฐมนตรีไม่ยอมลาออก แล้วจะเลือกตั้งในเร็วๆ นี้ ทั้งๆ ที่ 28 จังหวัดยังไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นตัวแทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
บทบาทโฆษกรัฐบาลในช่วง 10 ปีนี้เป็นอย่างไรบ้าง ?
ช่วงสถานการณ์การเมืองปี 2553 พันเอกสรรเสริญ แก้วกำเนิด เป็นโฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี แม้เสธ.ไก่อูจะแถลงการณ์แบบเนือบๆ แต่มีความจริงมากกว่าความเท็จ ความจริงอาจไม่ครบร้อย ผมเคยเป็นโฆษกรัฐบาลมาก่อน ผมรู้ดีว่า สิ่งใดพูดได้ หรือ พูดไม่ได้ บางเรื่องก็ถูกสั่งไม่ให้พูด บ่อยครั้งที่สื่อมวลชนรุ่นเก่าๆ พยายามแหย่ให้ตอบคำถาม ถ้าทันเกม ก็ไม่ตอบ
ในยุคนี้ พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษก ศอ.รส. เวลาให้ข่าวการชุมนุมใหญ่ของมวลมหาประชาชนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เขาเคยแถลงการณ์ว่า มีคนมาร่วมชุมนุมประมาณแปดพันคน ทั้งๆ ที่มาร่วมชุมนุมเป็นแสน ถ้าเป็นการตั้งรับ เพื่อการต่อสู้ก็ผิดพลาด เพราะในสมัยพลเอกอิสระพงศ์ หนุนภักดีเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 เขาต้องสั่งให้ทหารรายงานว่า มีคนมาชุมนุมเท่าไหร่ ตอนนั้นมีการปราศรัยที่ลานพระบรมทรงม้า มีคนมาชุมนุมเต็มลานพระรูป ทหารรายงานว่า ไม่เกินหมื่นคน
ถ้าคำนวณว่า มีคนมาชุมชนหมื่นคน หากจะสลายกำลังประชาชน ต้องใช้ทหารเท่าไหร่ ต้องใช้กำลังทหารถึงสามเท่า ถ้าบอกว่า มีแค่แปดพัน จะสลายประชาชน ก็จะจัดกองกำลังผิด ถ้าแถลงการณ์แบบตั้งใจให้ตัวเลขผิด ผมว่าแย่ เพราะประชาชนรู้และไปร่วมชุมนุม ประชาชนก็เลยไม่ฟัง ดังนั้นการเลือกโฆษกแถลงการณ์ ต้องเลือกคนที่มีลูกรอกลูกชน รวมถึงวิธีการพูดด้วย จะพูดแบบนิ่มนวลก็ได้ แต่ถ้าพูดแล้วทำให้ประชาชนรู้สึกว่า กูเหนือกว่ามึง มันใช้ไม่ได้
เป็นโฆษกรัฐบาล ต้องมีไหวพริบในการตอบคำถาม ?
ผมเคยเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สมัยก่อนมีโฆษกรัฐบาลคนเดียว ตอบคำถามให้ทุกกระทรวง แต่สมัยนี้มีโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี โฆษกกระทรวงมหาดไทย ฯลฯ การประชุมครม.ในบางเรื่อง ไม่ควรตอบ โฆษกรัฐบาลก็ตอบ ถ้าให้ผมมองผู้สื่อข่าวสมัยนี้ พวกเขาพยายามโชว์การตั้งคำถาม และคนตอบคำถามก็ตอบหมดทุกเรื่อง ผมขอยกกรณีที่ไม่ควรตอบบางคำถาม อย่างกรณีรัฐบาลต้องส่งกำลังไปชายแดนกัมพูชา นักข่าวถามว่า ต้องส่งกำลังไปเท่าไหร่ มีอาวุธอะไรบ้าง โฆษกรัฐบาล ตอบหมดทุกอย่าง นักข่าวถาม เพราะความอยากรู้ การถามและตอบแบบนี้เป็นการเปิดเผยความลับของชาติ ผมมองว่า สื่อมวลชนต้องรู้ขอบเขตของตัวเอง และโฆษกก็ต้องรู้ว่า อะไรควรตอบ หรือ ไม่ควรตอบ หรือกรณีผมเคยเป็นพิธีกรรายการเปิดอกพูด ผมเชิญแขกมาสัมภาษณ์ ผมไม่เคยบอกหัวข้อว่า จะถามเรื่องอะไรบ้าง แต่สมัยนี้มีบทให้คนถูกสัมภาษณ์ทราบก่อน
ใช่ว่า ใครๆ ก็เป็นโฆษกรัฐบาลได้ ?
ต้องศึกษาหาประสบการณ์ ไม่จำเป็นต้องเรียนมาด้านนี้ แต่ต้องรู้ว่า เวลานักข่าวตั้งคำถาม อะไรที่โฆษกไม่ควรตอบ จะเลี่ยงอย่างไรไม่ให้เขาจับได้ ถ้าเป็นกรณีรัฐบาลพลาด เราจะไม่ตอบ
คำว่า "โปรดฟังอีกครั้ง" กลายเป็นคำพูดที่คนคิดว่า ดูจริงจัง ขึงขัง ประโยคนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร
ผมนี่แหละเป็นคนแรกที่พูด ที่ผมพูดคำว่า "โปรดฟังอีกครั้ง" เพราะอะไรรู้ไหม ยุคอาจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี พลเอกสงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะปฎิรูป ในขณะเดียวกันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วย สั่งให้ผมอ่านแถลงการณ์ มีสองฉบับใส่ซอง ตอนนั้นผมก็ถูกเรียกตัว นัดให้มาหกโมงเย็นที่กรมประชาสัมพันธ์ แต่มาอย่างปกติ ต่างจากทุกครั้ง เวลายึดอำนาจจะอ่านแถลงการณ์ตอนหกโมงเช้า แต่คราวนั้นให้อ่านแถลงการณ์หกโมงเย็น สั่งให้ทหารแต่งชุดปกติ แต่ในเวลาเดียวกันส่งรถทหารแอบเข้าไปในกรมประชาสัมพันธ์ มีการส่งสัญญาณว่า ถ้าผมอ่านแถลงการณ์ฉบับที่ 1 เสร็จให้ทหารที่แอบเข้าไว้แต่งเครื่องแบบทันที เพื่อเตรียมยึดอำนาจ และตกลงกันว่า ถ้าอ่านแถลงการณ์ฉบับที่ 2 แล้วทหารอีกส่วนจะยึดกรมประชาสัมพันธ์ทันที กระทั่งผมเตรียมอ่านฉบับที่ 3 แต่ไม่มี...ผมก็ส่งสัญญาณ เมื่อไม่มี ผมก็เลยพูดว่า “โปรดฟังอีกครั้ง”
แถลงการณ์ในยุคนี้ คุณคิดเห็นอย่างไรบ้าง
สมัยก่อนแถลงการณ์จากรัฐบาลจะมีผู้อ่านแคนเดียว ผมเคยอ่านคนเดียว 30-40 ฉบับ คนที่มีอำนาจจะไม่ออกมาเล่นเองเหมือนสมัยนี้ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี ออกมาอ่านแถลงการณ์เอง ผมก็ไม่เข้าใจ และเขายังชอบใช้คำว่า "โปรดฟังอีกครั้ง" ซึ่งเป็นคนละเรื่อง ผมคิดว่า รองนายกรัฐมนตรีนำมาใช้เพื่อให้ดูขึงขัง แต่มันไม่ใช่ นั่นไม่ใช่บทบาทของเขา บทบาทของเขาคือ คิดแล้วสั่ง แต่นี่คิดด้วย สั่งด้วย ทำด้วย และทำให้รัฐมนตรีคนนั้นคนนี้ออกมาแถลงการณ์เอง
ในฐานะที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับรัฐประหารหลายครั้ง คุณคิดว่า ในยุคนี้ควรมีการยึดอำนาจแบบนั้นไหม
ผมคิดว่าในยุคนี้ไม่ควรมีรัฐประหาร เพราะไม่ส่งผลดีต่อประเทศชาติ แม้เราจะคิดว่า ถ้ามีการยึดอำนาจ อเมริกาจะไม่รับรองประเทศเรา ผมเถียงว่าไม่จริง ถ้ามีประเทศอื่นรับรอง ผมคิดว่าจีนเป็นประเทศแรก เพราะจีนมีความสัมพันธ์แน่นเฟ้นกับไทย แต่ผมไม่สนับสนุนการรัฐประหาร
คุณเคยทำงานกับผู้นำประเทศหลายคน อยากให้เล่าถึงสไตล์การทำงานสักนิด ?
อย่างจอมพลสฤษฎ์ จะตอบคำถามตรงไปตรงมา ตอบจริง ทำจริง ปากหวาน แต่โผงผาง นกยกรัฐมนตรีเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เวลาคิดอะไรไม่ค่อยบอกใคร ผมเป็นโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรีในยุคท่าน ผมเห็นว่า ท่านจะทำตามที่ท่านคิดไว้ ส่วนอาจารย์ธานินท์ กรัยวิเชียร จะเอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่ เพราะท่านเก่ง ใครจะเก่งกว่าท่านไม่ได้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นคนที่ลึก ก่อนจะทำอะไร คิดแล้วคิดอีก เดาใจยาก ถ้าเราให้ความเห็นแล้วถูกหลักการของท่าน ท่านจะพยักหน้า และท่านมีความจำดี หลายคนบอกว่าเป็นนักฆ่าลุ่มน้ำเจ้าพระยา ท่านเป็นคนไม่อาฆาตใคร แต่จำไม่ลืม ผมเคยทำงานกับท่านพักหนึ่งที่บ้านสี่เสาเทเวศน์
ผมมีหน้าที่เตรียมคำถามที่คิดว่าผู้สื่อข่าวจะถาม พร้อมคำตอบ ไว้ให้ท่านตอบ ทั้งๆ ที่ผมไม่รู้ว่าพวกเขาจะตั้งคำถามอะไรบ้าง ผมดูจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อผมเขียนเสร็จ ก็จะส่งให้ท่านอ่านตอนเช้า เมื่อท่านอ่านเสร็จ ก็ทิ้งไว้ไม่นำติดตัวไปด้วย เพราะท่านความจำดี ในรายงานผมเขียนไว้ตอนท้ายว่า ถ้าจวนตัวจริงๆ ให้ตอบว่า “กลับบ้านเถอะลูก” ท่านก็ใช้คำนี้ เพื่อเลี่ยงคำตอบ แล้วท่านก็ยิ้ม ส่วนในยุคนี้ เท่าที่รู้กำนันสุเทพเป็นคนใจนักเลง พูดคำไหนคำนั้น ถ้าเขาช่วยได้...เขาช่วยจริงๆ และเป็นคนรักลูกน้อง
ในช่วงวัย 83 ปี คุณยังมีความจำดีมาก คุณใช้ชีวิตอย่างไร?
หลังเกษียณ 60 ปี ผมก็ทำงานมาตลอด ทำงานด้านการคิดและวางแผนให้การรับเหมาก่อสร้าง ผมใช้สมองตลอด และผมจัดรายการวิทยุวิจารณ์การเมือง ผมเพิ่งหยุดทำงานเมื่อปีที่แล้ว และผมเขียนเฟสบุ้คตลอดเวลา ชีวิตผมอยู่กับการเมืองมาครึ่งชีวิต อยู่กับการปฏิวัติของทหารมาตลอด การเมืองก็ซึมอยู่ในตัวผม ตราบใดเข้าไปยุ่งกับการเมืองก็เหมือนติดยาม้า ต้องติดตามเรื่องราว เพราะมันเป็นเรื่องสนุก
การติดตามการเมืองสนุกอย่างไร
ได้เห็นกลยุทธ์การวางหมากของผู้นำการเมือง อย่างตอนนี้ ถ้ากำนันสุเทพพูดกับมวลมหาประชาชนอย่างนี้ แล้ววันต่อมารัฐบาลจะโต้ตอบยังไง ก็ลองคิดทายใจเกมนี้ ถ้าจะเป็นต่อต้องคิดให้หนัก ถ้าใครคิดจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ผมคิดว่า ต้องคิดหนัก เพราะปัญหาเยอะมาก และประชาชนก็ตั้งความหวัง
http://www.bangkokbi...ังอีกครั้ง.html