อดีตขุนคลัง โชว์เอกสาร 2 ฉบับ ใครให้กู้แก่รัฐบาลเสี่ยง น่าจะผิดกฎหมาย เตือนไปยังกก.ผจก.ธนาคารทหารไทย หลังได้ข้อมูลเป็นผู้ชนะประมูล เป็นผู้ให้กู้แก่รัฐบาลงวดแรก 2 หมื่นล้าน ด้าน สรรเสริญ สมะลาภา ระบุได้รับรายงานการประมูลสินเชื่อจำนำข้าวล่ม
วันที่ 30 มกราคม นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟชบุคส่วนตัว เตือนไปยังกรรมการผู้จัดการธนาคารทหารไทย หลังได้ข้อมูลว่า ธนาคารทหารไทยเป็นผู้ชนะประมูล จะเป็นผู้ให้กู้แก่รัฐบาลงวดแรก 2 หมื่นล้าน ชำระหนี้ที่ค้างจ่ายให้กับชาวนาในโครงการจำนำข้าว “ผมคาดว่ารัฐมนตรีคลังได้ตั้งความหวังไว้กับธนาคารทหารไทยมาก เพราะถึงแม้จะมีแบงก์ต่างประเทศเข้ามาถือหุ้นใหญ่ แต่ทางการก็ยังถือหุ้นอยู่ในธนาคารนี้เป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการคลัง จึงยังมีอิทธิพลในธนาคารนี้่พอสมควร แต่การที่ธนาคารพาณิชย์จะให้กู้แก่รัฐบาลนั้น เขาต้องมีการพิจารณาความถูกต้องตามกฎหมายให้ถี่ถ้วน เพราะถ้าการกู้ผิดกฎหมาย แบงก์ที่ให้กู้อาจจะไม่ได้รับชำระคืน หรือกว่าจะได้คืน ก็ต้องมีขบวนการทางกฎหมายยาวนาน ภาษานักบริหารความเสี่ยง เขาเรียกว่า Legal Risk หรือความเสี่ยงทางกฎหมาย”
อดีต รมว.คลัง กล่าวถึงความเสี่ยงด้านความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงิน และของสถาบันการเงินต่างประเทศ ที่ค้าขายกับแบงก์ ถ้าผู้ฝากเงินเห็นพฤติกรรมว่า แบงก์ไม่ได้ยึดหลักการบริหารงานอย่าง ระมัดระวัง ผู้ฝากเงินอาจจะเร่งถอนเงินกัน ดังเกิดขึ้นแล้วที่ ธ.ก.ส. และ ออมสิน ความเสี่ยงนี้เรียกว่า Reputation Risk หรือความเสี่ยงทางชื่อเสียง สุดท้าย ผู้บริหารยังจะมีสิทธิโดนผู้ถือหุ้นฟ้องคดีแพ่ง เป็นการส่วนตัวอีกด้วย โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นที่เป็นสถาบัน เช่น กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ “ผมได้เห็นเอกสาร 2 ฉบับ ที่ชี้ชัดว่าแบงก์ใดที่ให้กู้แก่รัฐบาลนั้น มีความเสี่ยงมากกว่าที่คิด หนึ่ง หนังสือจากกฤษฎีกาที่แสดงความเห็นว่า รัฐบาลสามารถกู้เงิน 1.3 แสนล้านได้ โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ใช้ความเห็นของ คณะกรรมการกฤษฎีกา แต่เป็นความเห็นของเลขากฤษฎีกาคนเดียว และขั้นตอนการพิจารณาก็ไม่ได้สุขุมรอบคอบเท่าใด เพราะกระทรวงการคลังมีหนังสือถามไป ลงวันที่ 23 มกราคม 2557 กฤษฎีกาก็มีหนังสือตอบในวันเดียวกัน ลงวันที่ 23 มกราคม 2557 ด้วย สอง ถึงแม้กฤษฎีกาจะได้มีความเห็นดังกล่าวก็ตาม แต่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง ก็ได้ตระหนักว่า การกู้เงินครั้งนี้ อาจจะผิดกฎหมาย โดย ผอ. สบน. ได้ทำบันทึกถึงปลัดกระทรวง เพื่อส่งต่อรัฐมนตรี เตือนว่า "การที่ กกต. มีความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงการกู้ยืมเงินโดยการปรับลดวงเงินกู้และค้ำประกันหนี้ของรัฐวิสาหกิจบางแห่ง และนำวงเงินมาเพิ่มให่แก่ ธกส. สำหรับนำมาใช้จ่ายในโครงการรับจำนำข้าวตามนโยบายของรัฐบาลนั้น อาจมีผลกระทบต่อความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรี หากมีการวินิจฉัยชี้ขาดโดยองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ต่อไปว่า การดำเนินการดังกล่าว อาจเป็นการฝ่าฝืนหรือละเมิดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ อันอาจมีผลทำให้เกิดความรับผิดชอบในทางกฎหมายและในทางการเมืองตามมาได้ "
นายธีระชัย กล่าวว่า พูดเป็นภาษาชาวบ้านก็คือ สบน. ขอเตือนว่า ข้าราชการกระทรวงคลัง ในการกู้ 1.3 แสนล้าน อาจจะมีความผิดมาตรา 181 (3) และอาจถูกฟ้องคดี และท้ายบันทึกรัฐมนตรีคลังแทงเรื่อง ถึงรองปลัดกระทรวงการคลัง และ ผอ. สบน. โดยสั่งการยืนยันให้ข้าราชการดำเนินการกู้ 1.3 แสนล้านต่อไป ฉะนั้นเป็นอันว่า ขณะนี้ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลัง เขาเปลี่ยนใจแล้ว มีการทำหลักฐานเพื่อวิงวอนให้รัฐมนตรีคลังฉุกคิดแล้ว เพราะตระหนักกันแล้ว ว่าการกู้ 1.3 แสนล้านนี้ น่าจะผิดกฎหมาย
“จึงขอให้ กก ผจก ธนาคารทหารไทยรับทราบข้อมูลนี้ไว้ด้วย เพราะแบงก์นี้มีแบงก์ต่างประเทศระดับใหญ่สุดของโลกถือหุ้นอยู่ด้วย สำหรับแบงก์ระดับโลกเหล่านี้ เขาจะไม่สนใจกำไรที่อาจจะได้ หากมีความเสี่ยงแบบนี้ เขาจะไม่ยินยอมให้มีการโอนอ่อนตามแรงกดดันทางการเมืองเด็ดขาด เขาจะเน้นรักษาชื่อเสียงไว้อย่างมั่นคง”
ขณะที่นายสรรเสริญ สมะลาภา กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟชบุค โดยได้รับรายงานว่า การประมูลสินเชื่อจำนำข้าว 20,000 ล้าน ล่ม เนื่องจากแบงก์เสนอดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูง เพราะมีความเสี่ยง ทำให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะต้องยกเลิกการประมูล อีกแหล่งบอกว่า นี่เป็นรายงานแบบแก้เกี้ยวเพราะที่จริงแล้ว ไม่มีแบงก์ใดเข้าร่วมประมูลเลย เนื่องจากกลัวปัญหาด้านกฎหมาย ทำให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะต้องเปิดประมูลใหม่อีกครั้ง (ตามกำหนดทุกวันอังคาร) ซึ่งคงจะรวบยอดเข้าเป็น 40,000 ล้าน "ไม่ว่าจะล่มเพราะดอกเบี้ยสูง หรือปัญหาด้านกฎหมาย แท้ที่จริงแล้วก็คือปัญหาเดียวกัน เพราะถ้าเป็นเรื่องกฎหมายเช่น มติของกฤษฎีกาที่ให้รัฐบาลกู้และมีผลให้รัฐบาลชุดต่อไปชำระคืน จะต้องเป็นมติของคณะกรรมการ ไม่ใช่มติของเลขาธิการเพียงคนเดียว ซึ่งก็หมายความว่ามีความเป็นไปได้ที่แบงก์จะโดนเบี้ยวหนี้ และก็แปลเป็นความเสี่ยง ในที่สุดกลายเป็นดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ผมคิดว่านี่คือสาเหตุหลักที่หลายแบงค์ออกมาต่อต้านการปล่อยกู้ครั้งนี้เพราะจะกระทบต่อประชาชนที่นำเงินมาฝาก"
http://www.isranews....9LwqjI.facebook