::: ตามฝัน... ตามมันให้ถึง
::: " แฟนพันธู์แท้ Apollo " เป็นหญิงไทยคนแรกที่ได้ท่องอวกาศกับนาซ่า
::: ‘ มิ้ง ’ หญิงไทยคนแรกสู่อวกาศ ทึ่ง!ติด 1 ใน 23 คนจากผู้สมัครทั้งหมด 5 แสน...
::: สจล.เปิดตัว "พิรดา เตชะวิจิตร์" คนไทยคนแรกที่จะไปท่องอวกาศกับยานลิงซ์ มาร์ก ทู ขององค์การนาซา สหรัฐอเมริกา ประมาณต้นปี 2558 เจ้าตัวเผยตื่นเต้นและดีใจมากที่มุ่งมั่นจนความฝันเป็นจริง ด้านสถาบันเตรียมก่อตั้ง "คณะวิศวกรรมอวกาศ" แห่งแรกของประเทศ
::: เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์นี้ ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มีงานแถลงข่าวเปิดตัว "น.ส.พิรดา เตชะวิจิตร์" หรือมิ้ง หญิงไทยและคนไทยคนแรกที่จะได้ไปท่องอวกาศร่วมกับยานลิงซ์ มาร์ก ทู (lynx mark 2) องค์การนาซา ประเทศสหรัฐอเมริกา ประมาณต้นปี 2558 พร้อมทั้งมีการเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของชั้นบรรยากาศที่ต่อมนุษยชาติ รวมทั้งมีนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยเกี่ยวกับอวกาศของ สจล. อาทิ โครงการวิจัยเกี่ยวกับชั้นบรรยากาศและอวกาศ เช่น การก่อตั้งศูนย์ข้อมูลไอโอโนสเฟียร์และจีเอ็นเอสเอส เป็นที่แรกของประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้ โครงการศึกษาวิจัยสายอากาศสำหรับเครื่องบิน โครงการวิจัยเครื่องรับสัญญาณดาวเทียม NOAA และโครงการวิจัยเรื่องระบบเตือนภัยพิบัติการบริหารจัดการ โดยมีคณาจารย์และนิสิตนักศึกษา สจล.เข้าร่วมงานแถลงข่าวและเสวนาในครั้งนี้จำนวนมาก
::: ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างมากที่ประเทศไทยของเราได้มีตัวแทนที่ผ่านการคัดเลือกให้ร่วมเดินทางขึ้นไปสำรวจอวกาศกับยานลิงซ์ มาร์ก ทู ของสหรัฐอเมริกา และนับเป็นคนไทยคนแรกอีกด้วยที่จะมีโอกาสได้ออกไปนอกโลก ที่มีความสูงขึ้นไปจากพื้นดินกว่า 100 กิโลเมตร การเดินทางที่จะเกิดขึ้นครั้งนี้จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนไทยได้อีกหลายคน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่มีความฝันจะเป็นนักบินอวกาศ หรือสนใจศึกษาในเรื่องความรู้เกี่ยวกับอวกาศ การเดินทางออกไปสำรวจนอกโลก ตลอดจนความรู้เกี่ยวกับชั้นบรรยากาศ อันมีประโยชน์อย่างมหาศาลต่อชีวิตมนุษย์และประเทศชาติ ทั้งในภาคธุรกิจ ภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนเรื่องของความมั่นคงและการทหารด้วย
::: คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.กล่าวว่า องค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องอวกาศและชั้นบรรยากาศ เมื่อผนวกรวมเข้ากับสาขาวิชาวิศวกรรมหลากหลายแขนง ก็สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดกลายเป็นวิทยาการทางด้านดาวเทียม ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของคนในยุคปัจจุบันอย่างมาก เช่น การเกษตรอัจฉริยะ การสื่อสารโทรคมนาคม โทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ และวิทยุ-โทรทัศน์ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับภูมิสารสนเทศ ธรณีวิทยา การพยากรณ์อากาศ แผ่นดินไหว สึนามิ การสำรวจพื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ตลอดจนกิจการการบิน เป็นต้น
::: "สิ่งที่น่าเป็นห่วงและน่าเสียดายก็คือ เด็กและเยาวชนของประเทศเรายังขาดความรู้ในเรื่องอวกาศและเทคโนโลยีกิจการดาวเทียม ซึ่งจะเป็นเรื่องสำคัญมากต่อโลกในอนาคตอันใกล้นี้ แต่ประเทศไทยไม่เคยมีการปลูกฝังทั้งในเรื่องขององค์ความรู้และจินตนาการ ทำให้เด็กไทยยังขาดแรงบันดาลใจต่ออาชีพเหล่านี้อย่างมาก เราไม่เคยมีฮีโร่ในเรื่องแบบนี้ ที่ผ่านมามีแต่ฮีโร่ที่เป็นนักกีฬา นักร้อง นักดนตรี ซึ่งการเดินทางของ น.ส.พิรดาในครั้งนี้จะเป็นการส่งต่อแรงบันดาลใจครั้งสำคัญให้กับคนไทยที่มีความฝันคล้ายกันกับผู้หญิงคนนี้ เพื่อจะได้มีความมุมานะพยายามในการไปให้ถึงความฝันของตัวเองให้ได้
::: นอกจากนี้ ขณะนี้คณะวิศวกรรมศาสตร์กำลังหารือเตรียมความพร้อมเพื่อจะก่อตั้งคณะใหม่ขึ้นมา เพื่อศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของอวกาศและชั้นบรรยากาศที่อยู่นอกโลกโดยเฉพาะเป็นแห่งแรกของประเทศ ชื่อว่า "คณะวิศวกรรมอวกาศ (Aeronautical Engineering)" คาดว่าน่าจะก่อตั้งได้ภายในปี 2558 แน่นอน" ศ.ดร.สุชัชวีร์กล่าว
::: ด้าน น.ส.พิรดากล่าวว่า รู้สึกตื่นเต้นและดีใจอย่างมากที่จะได้มีโอกาสขึ้นไปท่องอวกาศ แน่นอนมันคือความฝันของหลายๆ คนรวมทั้งตนเองด้วย ตอนเด็กก็เคยได้ดูหนัง อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับอวกาศนอกโลกเหมือนเด็กทั่วไป ซึ่งก็ทำให้มีความฝันอยากเป็นนักบินอวกาศอยู่แล้ว แต่เหตุการณ์ที่ทำให้ตัดสินใจเลือกเดินสายนี้และศึกษาอย่างจริงจังก็คือ เคยมีโอกาสได้ไปร่วมประชุมทางวิชาการเกี่ยวกับอวกาศ ซึ่งในที่ประชุมพิธีกรได้ต่อสายไปหานักบินอวกาศตัวจริงๆ และทุกคนในห้องประชุมก็เงียบฟัง การสนทนากับนักบินอวกาศจากสถานีอวกาศนอกโลกในครั้งนั้น ทำให้รู้สึกตื่นเต้นและความฝันเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าตัวเองจะต้องออกไปท่องอวกาศเหมือนนักบินคนนั้นให้ได้สักครั้งในชีวิต เธอกล่าวว่า ต่อมาเมื่อเรียนจบปริญญาตรีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ แล้วได้ไปเรียนต่อปริญญาโทด้านดาวเทียมที่ประเทศฝรั่งเศส จึงได้มีโอกาสพบกับ "อี โซยอน" นักบินอวกาศหญิงคนแรกของเกาหลีใต้ เธอได้สร้างแรงบันดาลใจให้ตนเองอย่างมหาศาล จากนั้นจึงมีความกระตือรือร้นในการศึกษาวิจัย เสนอชื่อขอทุนในการทำวิจัยต่างๆ หลายต่อหลายครั้งจนคณะกรรมการจำชื่อได้ กระทั่งได้เห็นโครงการของ "แอ็กซ์ อพอลโล" น่าสนใจเลยสมัครเข้าไปร่วมโครงการ จนได้รับคัดเลือกเป็นคนไทยคนแรก และเป็น 1 ใน 23 คนจากผู้สมัคร 500,000 คน ใน 63 ประเทศทั่วโลกที่จะได้ร่วมขึ้นไปสำรวจอวกาศครั้งนี้
::: "ปัจจุบันดิฉันทำงานเป็นวิศวกรดาวเทียมอยู่ที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) มีหน้าที่คอยติดต่อสื่อสารกับดาวเทียมไทยโชต หรือดาวเทียม THEOS ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของไทย ก็มีโอกาสพบเจอประสบการณ์มากมาย และตัดสินใจสมัครโครงการ ซึ่งมี 3 หัวข้อให้สมัครคือ
1.ต้องแข่งรายการแฟนพันธุ์แท้
2.ส่งผลิตภัณฑ์ของแอ็กซ์ไปจับสลาก และ
3.ทำคลิปวิดีโอเข้าร่วมโหวต
ดิฉันส่งไปทั้ง 3 อย่าง จนได้รับเลือกจากการเป็นแฟนพันธุ์แท้อพอลโล ได้ก้าวขึ้นสู่ยานอวกาศของสหรัฐและจะได้ออกไปสำรวจนอกโลกประมาณต้นปี 2558" น.ส.พิรดากล่าว
::: หญิงไทยคนแรกที่จะได้ท่องอวกาศกล่าวถึงประสบการณ์ในการเตรียมความพร้อมเพื่อจะไปร่วมท่องอวกาศกับยานลิงซ์ มาร์ก ทู ในโครงการ Axe apollo space academy พร้อมกับตัวแทนมนุษยชาติอีก 22 ชีวิตที่ผ่านการคัดเลือกจากทั่วโลกว่า เมื่อปลายเดือน ธ.ค.ปีที่ผ่านมา ได้เดินทางไปเก็บตัวเพื่อเตรียมความพร้อมทั้งด้านร่างกายและสภาพจิตใจที่แคมป์อวกาศ รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการทดสอบที่ยากลำบากและกดดันอย่างมาก เพราะต้องผ่านด่านภารกิจมากมาย โดยต้องฝึกหนักทั้งหมด 7 วัน อาทิ ทดสอบสภาวะพร่องออกซิเจน คือเมื่อยานเคลื่อนที่ขึ้นไปจะทำให้เลือดจากหัวไปเลี้ยงที่เท้ามากเกินไป อาจเกิดอันตรายได้ จึงต้องฝึกวิธีเกร็งตัว และฝึกทดสอบเก้าอี้ดีดตัว ภาวะหลงการบิน การใช้ชีวิตในสภาพไร้น้ำหนัก รวมถึงทดสอบสภาพจิตใจเพื่อรับแรงกดดันเมื่อต้องออกไปใช้ชีวิตอยู่ในอวกาศอีกด้วย ซึ่งในวันนั้นยานอวกาศจะทยานขึ้นไปเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 103 กิโลเมตร และลอยอยู่ในอวกาศราว 6 นาที เพื่อให้ผู้โดยสารถ่ายรูปและจดจำประสบการณ์ล้ำค่านั้นไว้ ทั้งหมดจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 60 นาที.





Nunta VS
เด็กไทยเก่งไม่แพ้ใครในโลก เสียดายที่ขาดการส่งเสริมอย่างจริงจังจากภาครัฐ ทุกครั้งที่เด็กไทยของเราได้มีโอกาสเข้าไปแข่งขันทักษะความสามารถในระดับนานาชาติ เรามักจะได้รับชัยชนะรับรางวัลใดรางวัลหนึ่งมาทุกครั้ง แม้กระนั้นชัยชนะที่เกิดขึ้น รัฐก็แทบจะไม่ให้ความสำคัญใดๆ
ต่อไป รัฐฯควรให้ทุนการวิจัยเพิ่มขึ้น ไมใช่ตัดงบไปโกง แดรกไม่อิ่ม อบ่างทุกวันนี้ นะเม้ย!!!!