ผมว่าลุงกำนันสุเทพ ไม่ใช่ผู้นำแสงสว่าง และที่สำคัญเรามาผิดทางกัน
จากไทยรัฐครับ
ม็อบอหิงสาในอินเดีย คนสามัญที่ไม่ธรรมดา
ประเทศอินเดียจะเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม 2557 พรรค “คนธรรมดา” กำลังได้รับความสนใจ
เพราะเป็นทางเลือกใหม่ต่อสู้อย่างอหิงสาขนานแท้ และมีนโยบายปราบคอร์รัปชันอย่างจริงจัง
ได้ใจประชาชนอินเดียประมาณ 1,300 ล้าน ไปหลายเปอร์เซ็นต์ พรรคการเมือง “ตัวเต็ง” ในการเลือกตั้งคราวนี้
มีอยู่ด้วยกัน 3 พรรค คือ 1.พรรคคองเกรส (congress) ของนายราหุล คานธี เป็นพรรคเก่าพรรคแก่ ฐานเสียงมั่นคง
2.พรรคภารติยะ ชนะตา (BJP) ของนายหเรนทระ โมดิ แม้จะไม่เก่าแก่ แต่ก็มีประสบการณ์ทางการเมืองมาแล้วอย่างโชกโชน
และ 3.พรรคคนธรรมดา (AAP) ของนายอรวินท์ เกจริวาลเป็นพรรคการเมืองใหม่ เพราะความสด ใหม่
และอุดมการณ์ทางการเมืองเด่นชัด ทำให้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เสน่ห์ของพรรคนี้อยู่ที่หัวหน้าพรรคเป็นคนธรรมดา
แม้จะเพิ่งลาออกจากราชการมาเป็นนักการเมือง แต่ก็ชนะการเลือกตั้งมุขมนตรีกรุงเดลีอย่างหักปากกาเซียน
ปัจจุบันมีท่าทีว่าจะแรงไม่หยุดฉุดไม่อยู่ ด้วยเหตุและปัจจัยหลายประการ นายอรวินท์ เกจริวาล เดิมเป็นข้าราชการ
ถ้าเป็นบ้านเราอาจเทียบได้กับเจ้าหน้าที่สรรพากร ท่านทนสภาพอันแหลกเหลวของคอร์รัปชันไม่ไหว
เมื่ออยู่ไปให้รู้สึกแน่นอกก็เลยลาออก ประกาศตัวลงเล่นการเมือง ชูนโยบายปราบคอร์รัปชันชนิดเข้มข้นและถึงพริกถึงขิง
เส้นทางกว่าจะมาตั้งพรรคการเมือง แม้จะชื่อ พรรคคนธรรมดา แต่ก็ไม่ธรรมดา ผศ.ดร.สมบัติ มั่งมีสุขศิริ
หัวหน้าภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เรียนจบปริญญาเอกจากประเทศอินเดีย
และเพิ่งไปอินเดียกลับมาบอกว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองของพรรคคนธรรมดา เริ่มเมื่อปี พ.ศ.2554
รูปแบบการเคลื่อนไหวเป็นไปอย่างอหิงสาอย่างแท้จริง ไม่มีอาวุธ และปราศจากความรุนแรงทุกรูปแบบ
“ท่านนำเอาวิธีการของคานธีมาใช้อย่างแท้จริง ในการประท้วงแต่ละครั้ง ไม่มีการทำร้ายเจ้าหน้าที่
แม้เจ้าหน้าที่จับกุมเอาตัวผู้นำประท้วงไปคุมขังก็ตาม” ฟังอาจารย์เล่าแล้ว ไม่จำเป็นใดๆ ที่จะมองมาทางบ้านเราเมืองเรา
อย่างการประท้วงครั้งสำคัญ “ท่านนำผู้คนไปประท้วงหน้ารัฐสภากรุงเดลี คนไปร่วมหลักแสนคน อินเดียเขามีกฎหมายว่า
ถ้าใครจะประท้วงต้องขออนุญาตก่อน ทำให้เจ้าหน้าที่จับกุมตัวไป ท่านยอม ให้จับแต่โดยดี เมื่อเข้าไปอยู่ในคุก
คนนับล้านมาล้อมคุกไว้เฉยๆ เพื่อให้กำลังใจ ไม่ได้คุกคามเจ้าหน้าที่ ไม่ได้ทำลายสิ่งของราชการ
ยืนยันเคารพสิทธิตามกฎหมาย คนที่มาประกาศชัดเจนว่า มาเพื่อให้กำลังใจเท่านั้น” ประเด็นที่เรียกร้องคราวนั้นคือ
ต้องการต้านคอร์รัปชัน กำจัดคอร์รัปชันในทุกระบบ โดยขอให้พิจารณากฎหมายชื่อว่า โลกบาล ให้มีองค์กรอิสระ (อย่างแท้จริง)
เข้ามาตรวจสอบนักการเมืองทุกคน ให้มีความโปร่งใสในการทำงาน ให้เป็นรัฐบาลที่ปราศจากการคอร์รัปชัน หลังจากนั้น
ด้วยเจตนาอันมุ่งมั่น ทำให้นายอรวินท์ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างมาก เกิดเป็นกลุ่มเป็นก้อนสำคัญขึ้นมา
นอกจากประท้วงข้างถนนแล้ว ยังต่อสู้ตามครรลองประชาธิปไตย คือตั้งพรรคชื่อ พรรคคนธรรมดา (AAP) ขึ้นมา
คนร่วมแนวคิดจากไหนบ้าง คำตอบคือ เป็นสามัญชน คนชั้นรากหญ้าที่เคยเป็นเหยื่อของคอร์รัปชัน
ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใหญ่มากในอินเดีย กลุ่มที่สองคือกลุ่มนักวิชาการ ที่เริ่มมีความหวังใหม่กับการต่อต้านคอร์รัปชัน
การเติบโตของพรรคนี้ นอกจากคนหลายกลุ่มเข้ามาร่วมแล้ว ยังได้รับเงินบริจาคทีละเล็กทีละน้อย พรรคไม่มีนายทุนหลัก
และการเคลื่อนไหวทั้งหมดโปร่งใส เมื่อจัดตั้งพรรคขึ้นมา ก็ส่งคนเข้าเลือกตั้ง มุขมนตรีแห่งเดลี ตอนแรกๆ
นักวิเคราะห์คิดว่าพรรคนี้แพ้แน่ๆ ไม่อาจหาญสู้กับพรรคคองเกรสได้ ไม่น่าเชื่อที่พรรคคองเกรสที่ครองที่นั่งมาตลอดที่เดลี
จะมาสู่ยุคพ่ายพรรคคนธรรมดา สาเหตุที่พ่าย อาจารย์สมบัติบอกว่า เพราะพรรคที่ครองเสียงข้างมากมานานเกิดความประมาท
และอีกอย่างคือเป็นพรรคใหม่ เป็นความหวังใหม่ของผู้คน และเป็นธรรมดา “คนที่อยู่ในพรรคเก่ามานานย่อมมีประวัติคอร์รัปชันมาก
เมื่อคนมีความหวังใหม่ เสียงส่วนใหญ่ของผู้โหวตก็จะเป็นคนจนเป็นจำนวนมาก คนที่รวยมีน้อย พอมีความหวังใหม่เกิดขึ้นมาก็เทให้”
ประการสำคัญคือ หัวหน้าพรรคคนธรรมดา เป็นคนมีผลงานดี เขาประกาศชัดเจนว่า ไม่รับอะไรจากการต่อสู้เรียกร้อง
ประท้วงแล้วก็กลับไปอยู่บ้านนอก การทำตัวเป็นคนธรรมดาของเขาก็เป็นเรื่องสำคัญ แสดงให้เห็นว่าเขาต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้มี
การปราบปรามคอร์รัปชันอย่างแท้จริง ทำให้ชาวอินเดียที่ไปอยู่ทุกมุมโลกเห็นความจริงจังของเขา
“เขาเป็นหัวหน้าพรรคที่เป็นมุขมนตรีกรุงเดลี ชนะพรรคใหญ่แต่เขาก็ยังเป็นคนธรรมดา แต่งชุดธรรมดาไปทำงาน
สมาชิกของเขาวันไปสาบานตัวรับตำแหน่ง เขาขับรถตุ๊กๆที่ได้รับบริจาคจากผู้สนับสนุน ด้วยว่าต้องการสร้างค่านิยมใหม่ในอินเดีย
ว่าจะมีประโยชน์อะไรที่ขับรถคันใหญ่ที่ได้มาจากคอร์รัปชัน” ดร.อุเทน วงษ์สถิตย์ อาจารย์ภาควิชาเดียวกัน และเพิ่งจบมาจากอินเดียเสริม
ผลจากการต่อสู้เพื่อปราบคอร์รัปชัน โดยให้มีองค์กรอิสระอย่างแท้จริง และมีอำนาจตรวจสอบนักการเมือง และข้าราชการทุกระดับชั้น
แม้วันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายอรวินท์ เกจริวาล จะลาออกไป เพราะกฎหมายฉบับดังกล่าวไม่ผ่านสภา
สาเหตุมาจากพรรคการเมืองเก่าสองพรรคร่วมกันล้มไป พลันเมื่อข่าวการลาออกแพร่ออกไป
เงินบริจาคก็หลั่งไหลเข้ามายังพรรคคนธรรมดาให้เขาต่อสู้ทางการเมือง เฉลี่ยวันละ 3–4 ล้านรูปี กลายเป็นว่า การลาออกเป็นการแสดงสปิริตทางการเมือง
และยังได้มีเวลาเตรียมตัวสำหรับการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมนี้อย่างเต็มพิกัด โอกาสที่นายอรวินท์ เกจริวาล จะชนะในการเลือกตั้งคราวนี้
ดร.สมบัติวิเคราะห์ว่า มีความเป็นไปได้อย่างสูง เพราะว่านายอรวินท์เป็นคนวรรณะพ่อค้า ซึ่งเป็นวรรณะกลางๆ
ทำให้วรรณะชั้นต่ำลงไปซึ่งมีเป็นจำนวนมากในอินเดียสนับสนุน เรื่องราวเหล่านี้เคยปรากฏมาแล้วกรณีของ
ดร.เอ็มเบ็ดการ์ “บิดาแห่งรัฐธรรมนูญอินเดีย” อาจารย์สมบัติบอกว่า “สังคมอินเดียต่างจากเรามาก เขามีคนรวยคนจนก็จริง
แต่เรื่องชนชั้นวรรณะสำคัญมาก คนวรรณะกลางๆ อย่างพรรคคนธรรมดาซึ่งมีจำนวนมาก ทำให้พรรคนี้มีโอกาสชนะ”
สาเหตุที่พรรคคนธรรมดาได้ใจชาวอินเดีย นอกจากเป็นคนเอาจริง เดินในเส้นการเมืองอย่างโปร่งใสแล้ว ยังเป็นคนธรรมดา
และที่สำคัญทุกครั้งที่นำประท้วงรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม จะนำเอาหลักอหิงสาของคานธีมาใช้อย่างเคร่งครัด อหิงสา
“ตามจุดกำเนิดแล้ว เขาไม่ใช้อาวุธ ไม่ใช้ความรุนแรง มาเป็นล้านก็มาอย่างสงบ อหิงสาไม่ใช่ภายนอกอย่างเดียว ต้องภายในจิตใจด้วย
แค่เขาทำเราโกรธก็ผิดแล้ว” อาจารย์สมบัติทิ้งท้าย โดยไม่ยอมเปรียบเทียบกับบ้านเราแต่อย่างใด.
Edited by mebeam, 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 - 14:47.