ความเชื่อทางพุทธ ถ้าไปทำหรือมีส่วนร่วมสนับสนุน จะเป็นกรรมที่ทำให้ชีวิตเจอมรสุมเยอะมาก หากินไม่ขึ้น เขาว่างั้นกันนะ
คุณค่าของชีวิต ตอน 1 : การทำแท้งเป็นบาปหรือไม่
คุณตื่นนอนกลางดึก หูคุณแว่วเสียงบางอย่าง คุณรู้ว่าไม่ใช่เสียงพายุหิมะแน่ คุณลุกขึ้นจากเตียง คุณมองออกไปนอกหน้าต่าง ข้างนอกบ้านหิมะกำลังตกหนัก คุณเดินลงไปที่ชั้นล่าง คุณพบว่ามีชายแปลกหน้าคนหนึ่งนอนอยู่ในห้องรับแขก คุณถามเขาว่า "คุณเข้ามายังบ้านของฉันทำไม?" เขาตอบว่า "เพราะประตูเปิดอยู่"
คุณบอกเขาว่า "แต่นี่เป็นบ้านของฉัน คุณไม่มีสิทธิ์เข้ามาในบ้านของคนอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต" เขาตอบว่า "ก็บ้านของคุณอบอุ่นดี"
คุณบอกให้เขาออกไปจากบ้านคุณเสีย เขาบอกว่า "ผมออกไปไม่ได้หรอก ขืนออกไปตอนนี้ ผมก็หนาวตายข้างนอกนั่นสิ"
คุณบอกว่า "แต่ฉันมีสิทธิเป็นเจ้าของบ้านนี้" เขาตอบว่า "ผมก็มีสิทธิในการมีชีวิต ถ้าผมออกไปข้างนอกแล้วตาย คุณก็ต้องเข้าคุกเพราะฆ่าผมตายทางอ้อม"
เรื่องที่เล่ามานี้มิใช่เรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับใคร มันเป็นตัวอย่างที่นักวิวาทะปัญหาเรื่องการทำแท้งมักยกมาเปรียบเทียบ
เจ้าของครรภ์ (บ้าน) มีสิทธิ์ในร่างกายของตนเองจริงหรือไม่? มีเสรีภาพในการทำแท้งเด็กในท้อง (ไล่คนแปลกหน้าออกจากบ้าน) หรือไม่?
การทำแท้งเป็นประเด็นถกกันมานาน เป็นประเด็นร้อนในสังคมทั่วโลก บ่อยครั้งถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง และเป็นเรื่องที่จะถกกันไปอีกนานแสนนาน ตราบที่ผู้หญิงตั้งท้องได้และไม่ทุกคนที่อยากมีลูก โดยสองค่ายความคิด : Pro-choice กับ Pro-life
Pro-choice เห็นว่ามนุษย์สมควรมีเสรีภาพในการเลือก หญิงเจ้าของครรภ์จึงมีสิทธิ์ตัดสินว่าจะอุ้มท้องหรือไม่ รัฐไม่มีสิทธิ์เหนือสิ่งที่เกิดในภายในมดลูกของหญิงคนนั้น
Pro-life เห็นว่าชีวิตมนุษย์แม้ในรูปของตัวอ่อนย่อมมีค่า เมื่อสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นมาแล้ว แม้ว่ามันอยู่ในรูปของตัวอ่อน ก็มีสิทธิที่จะอยู่ในโลกนี้ ไม่มีใครมีสิทธิที่จะทำลายมันโดยพลการ เพราะการทำลายตัวอ่อนก็คือฆาตกรรม
นี่จึงเป็นวิวาทะของสองซีกความคิดต่อสองสาระที่ต่างก็สำคัญต่อมนุษย์ ?: ชีวิตกับเสรีภาพ
ตัวเลขของการทำแท้งทั่วโลกในปัจจุบันคือประมาณ 46 ล้านครั้ง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประเทศที่มีอัตราการทำแท้งสูงมากๆ มิใช่ประเทศเสรีนิยม หากเป็นประเทศสังคมนิยม เช่น รัสเซีย เวียดนาม ในตัวเลข 46 ล้านรายนี้ มีเพียง 26 ล้านรายที่ทำแท้งอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตัวเลขขององค์การสหประชาชาติชี้ว่า การทำแท้งกว่า 88 เปอร์เซ็นต์เกิดขึ้นก่อนตัวอ่อนอายุ 12 สัปดาห์
ไม่ว่าความเห็นของชาวโลกต่อเรื่องนี้เป็นอย่างไร ประวัติศาสตร์ของโลกก็บันทึกชัดว่า การทำแท้งในสมัยโบราณไม่เป็นเรื่องวุ่นวายเหมือนปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะผู้คนสมัยนั้นยังไม่รู้รายละเอียดของการปฏิสนธิ ยิ่งไม่รู้พัฒนาการของตัวอ่อนในแต่ละขั้น จวบจนเมื่อโลกประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์และเรารู้ว่า ชีวิตเกิดจากการผสมระหว่างอสุจิกับไข่ มุมมองเกี่ยวกับชีวิตก็เปลี่ยนไป ความคิดต่อต้านการทำแท้งขยายวงกว้างออกไป แต่ละสังคม แต่ละประเทศมีมุมมองต่างกัน และความเห็นเรื่องนี้แปรต่างกันไปตามความเชื่อ วิธีการใช้ชีวิต วัฒนธรรม ฯลฯ
ในศตวรรษที่ 19 ประเทศส่วนใหญ่ในโลกห้ามการทำแท้ง จนถึงศตวรรษที่ 20 หลายประเทศจึงเริ่มอนุญาตให้ทำแท้งได้โดยไม่มีบทลงโทษ ประเทศแรกๆ ที่อนุญาตการทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย ได้แก่ สหภาพโซเวียต (พ.ศ. 2462) เยอรมนี (พ.ศ. 2478) สวีเดน (พ.ศ. 2481)
สำหรับทัศนคติการทำแท้งในประเทศไทยเป็นเรื่องค่อนข้างแปลก เพราะในสมัยโบราณเรามองว่าการทำแท้งเป็นเรื่องธรรมดา สังคมยอมรับการตัดสินใจของสตรีเป็นใหญ่ คนโบราณมองว่านี่เป็นสิทธิของหญิง การทำแท้งได้กลายเป็นสิ่ง 'ผิด' เมื่อกฎหมายไทยเดินตามหลังประเทศที่ 'ศิวิไลซ์' ทางตะวันตก
กฎหมายตราสามดวงของไทยโบราณไม่เอาผิดหญิงที่ทำให้ตัวเองแท้งลูก หมวดพระอัยการทาสในกฎหมายตราสามดวงมาตรา 94 แบ่งการตั้งครรภ์ออกเป็นสองช่วง ช่วงสามเดือนแรกเรียก 'เขตรักษาท้อง' ช่วงสามเดือนจนครบกำหนดเรียก 'ทศมาส' ทารกที่คลอดหรือแท้งในช่วงหลังนี้ ไม่ว่าเด็กที่คลอดจะรอดหรือตาย ให้ถือว่าเป็นการคลอดทั้งสิ้น
นอกจากการทำแท้งเพราะความพลาดพลั้งแล้ว ยังมีการทำแท้งเพราะเพศของตัวอ่อนด้วย
ในบางประเทศเช่นจีน อินเดีย การทำแท้งตัวอ่อนเพศหญิงสูงกว่าชายหลายเท่า เพราะสังคมไม่นิยมทารกหญิง วัฒนธรรมของชาวจีนนิยมเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง เพราะเด็กชายจะเป็นผู้สืบแซ่ต่อไป การจบแซ่ที่รุ่นใดถือว่าเป็นเรื่องอัปมงคลของตระกูลนั้น ทว่าเมื่อพลเมืองจีนสูงถึงหลักพันล้าน ความจำเป็นที่ต้องควบคุมจำนวนประชากรจึงเกิดขึ้น โดยการออกนโยบาย 'ครอบครัวเดียว ลูกคนเดียว' ขณะที่ค่านิยมทารกเพศชายยังไม่หมดสิ้นไป จึงมีรายงานการทำแท้งไปจนถึงการฆ่าเด็กทารกหญิงที่เพิ่งเกิดเสมอๆ
ในประเทศอินเดีย บางพิธีกรรมทางความตายต้องใช้ญาติที่เป็นชายเท่านั้น ทำให้ทารกชายเป็นที่นิยมมากกว่า เทคโนโลยีการตรวจเพศในตัวอ่อนกลายเป็นดาบสองคม เมื่อคนใช้มันเพื่อจุดประสงค์ในการรู้เพศของตัวอ่อน และทำลายตัวอ่อนที่เป็นหญิง
โฆษณาในยุคทศวรรษ 1970-1980 ในอินเดียตีพิมพ์ว่า "ลงทุน 500 รูปี (เป็นค่าตรวจสอบเพศเด็ก) ในวันนี้ จะประหยัดเงินห้าหมื่นรูปี (ค่าสินสอดที่ฝ่ายหญิงให้ฝ่ายชาย) ภายหลัง" ตัวเลขบ่งว่าในช่วง ค.ศ. 1985-2005 ตัวอ่อนเพศหญิงถูกทำลายไปราวสิบล้านชีวิต จนในปี ค.ศ. 1994 รัฐบาลอินเดียต้องห้ามการตรวจเพศเด็กโดยสิ้นเชิง
เรื่องนี้ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องดีหรือร้ายสำหรับหญิง เพราะมันกลายเป็นกรรมตามสนองครอบครัวที่นิยมเพศชาย นั่นคือเมื่อมีชายมาก หญิงน้อย ทำให้หญิงสามารถเลือกคู่ครองได้มากกว่าชาย!
อย่างไรก็ตาม เรื่องกฎหมายอาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่าบริบททางสังคมและศีลธรรม เพราะการทำแท้งก้าวไกลกว่า 'ผิดกฎหมาย-ถูกกฎหมาย' มันข้ามไปยังประเด็นของ บาป-ไม่บาป, ภาระสังคม, คุณค่าของชีวิต, ความรับผิดชอบของปัจเจกและสังคม ไปจนถึงขอบเขตของเสรีภาพ
มีคำถามมากมายในการถกเรื่องการทำแท้ง : การฆ่าทารกที่เกิดแล้วกับการทำลายตัวอ่อนต่างกันหรือไม่ ในเมื่อทั้งคู่ก็ยังไม่สามารถมีชีวิตรอดด้วยตัวเอง? การทำลายตัวอ่อนที่มีอายุสองเดือนกับสามเดือน สี่เดือน ห้าเดือน เจ็ดเดือน... ต่างกันอย่างไร? ที่จุดใดเราเรียกมันว่าเป็น 'ฆาตกรรม' ? รัฐใช้สิทธิอะไรในการห้ามหรืออนุญาตการทำแท้ง ในเมื่อรัฐธรรมนูญเน้นเรื่องเสรีภาพของมนุษย์? การบังคับให้หญิงอุ้มท้องทั้งที่ไม่ต้องการเด็กนั้นเป็นเรื่องแย่หรือดี? หากการทำแท้งตัวอ่อนที่เกิดจากการข่มขืนไม่ผิดหรือไม่บาป ทำไมการทำแท้งตัวอ่อนอื่นๆ จึงผิดหรือบาป? อะไรคือบรรทัดฐาน? ทำไมสังคมยอมรับการทำแท้งของหญิงที่ถูกข่มขืนและการทำแท้งตัวอ่อนเพื่อรักษา ชีวิตแม่ว่าไม่ผิด ไม่บาป ทั้งที่เป็นการทำลายชีวิตตัวอ่อนชนิดเดียวกัน? หรือเพราะแม่มีชีวิตก่อนจึงมีคุณค่ามากกว่า? เปรียบเทียบได้กับกรณีเมื่อเรือโดยสารล่ม คนที่ลงเรือชูชีพก่อนมีสิทธิ์รอดชีวิตมากกว่าคนที่มาทีหลัง?
การทำแท้งเป็นเรื่องผิดหรือไม่ บาปหรือไม่ เป็นคำถามที่อยู่ในพื้นที่สีเทา เพราะเราไม่สามารถหามาตรอะไรมาวัดว่า การกระทำหนึ่งถูกหรือผิด (ที่สำคัญคือ อะไรคือถูก? อะไรคือผิด?) หรือจะใช้มุมมองไหนเป็นหลัก มุมมองของแม่? ของหมอ? ของผู้รักษากฎหมาย? ของสังคม? ของศาสนา? ของธรรมชาติ?
ประเด็นการถกยังลามไปเชื่อมกับศาสนา บางศาสนาเช่นคริสต์นิกายคาทอลิกห้ามการคุมกำเนิด ในอีกหลายศาสนา การทำแท้งถูกตราว่าเป็นบาปมหันต์ ขณะที่ฝ่าย Pro-choice ชี้ว่า การปล่อยให้เด็กเกิดมาโดยไม่พร้อม ทำให้เด็กถูกทอดทิ้ง ไร้การศึกษา กระทั่งอดตาย อาจเป็นบาปมหันต์กว่า สถิติเด็กมีปัญหาเพราะเกิดมาโดยไม่พร้อมและเป็นภาระสังคมนั้นสูงขึ้นในทุก สังคม ในหลายกรณีแม่เด็กได้ 'คลอดแล้วเผ่น' ทิ้งเด็กไว้เป็นภาระต่อสังคม และทิ้งรอยบาดแผลในใจเด็กไปตลอดชีวิต
คาร์ล ซาแกน นักคิด นักเขียน นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน ตั้งคำถามในหนังสือ Billions and Billions ว่า "อะไรคือความรับผิดชอบของเราต่อคนอื่นๆ ? สมควรเพียงใดที่เราจะยินยอมให้รัฐรุกล้ำเข้าในเรื่องส่วนตัวของชีวิตของเรา? ขอบเขตของเสรีภาพอยู่แค่ไหน? อะไรคือความหมายของความเป็นมนุษย์?"
คาร์ล ซาแกน ชี้ว่า 'ชีวิต' มิได้เกิดเมื่อมีการปฏิสนธิ หากแต่ย้อนหลังกลับไปตั้งแต่ต้นกำเนิดของชีวิต ทั้งนี้เพราะชีวิตเป็นสายโซ่ที่ไหลต่อเนื่องไม่ขาดตอนมาตั้งแต่กำเนิดโลก เมื่อหลายพันล้านปีก่อน มันเป็นห่วงโซ่ที่ย้อนเชื่อมไปยังต้นกำเนิดของเผ่าพันธุ์มนุษย์หลายแสนปีมา แล้ว ดังนั้นไข่และตัวสเปอร์มก็มีชีวิต และถ้าใช้ 'ชีวิต' เป็นมาตรวัด เราก็มีคำถามต่อไปว่า การสำเร็จความใคร่ของชายเป็นการฆาตกรรมหมู่หรือไม่? เช่นเดียวกับการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการปฏิสนธิ เพราะทุกครั้งที่มีการหลั่ง จะมีตัวสเปอร์มหลายร้อยล้านตัวที่ตายไปเพราะไม่ได้ปฏิสนธิ การใช้ยาคุมกำเนิดเป็นการฆ่าทางอ้อมหรือไม่? ฝันเปียกเป็นการฆ่าโดยไม่เจตนาหรือไม่? การมีประจำเดือนของสตรีซึ่งเป็นการทำลายไข่ เป็นการฆาตกรรมหรือไม่? เพราะทุกเดือนที่ไข่ไม่ได้รับการปฏิสนธิ ก็เท่ากับว่าไข่ใบนั้นถูกปล่อยให้ตายไป ตลอดทั้งชีวิตของแต่ละคน มีตัวสเปอร์มหรือไข่ตายไปนับไม่ถ้วน เหล่านี้คือ 'ชีวิต' ทั้งนั้นมิใช่หรือ?
มองในมุมของธรรมชาติ มีหลักฐานชัดเจนว่าธรรมชาติสร้างชีวิตมาเกินจำนวนเสมอ เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อาหาร เช่น จำนวนกวางในป่ามีมากพอที่หลังจากเป็นอาหารของสิงโตแล้ว ยังสืบเผ่าพันธุ์ต่อไปได้ จำนวนปลาแซลมอนในทะเลมีมากพอให้หลังจากเป็นอาหารแก่ฝูงหมีแล้ว ยังเหลือพอสืบสายพันธุ์ ฯลฯ เป็นเช่นนี้ทั้งบนแผ่นดิน บนท้องฟ้า ใต้ดิน ใต้น้ำ
คำถามคือ การรักษาชีวิตโดยไม่ดูตาม้าตาเรืออาจเป็นการทำลายสมดุลธรรมชาติหรือไม่ หากมนุษย์รักษาชีวิตจนวันหนึ่งประชากรล้นโลก และทำให้ห่วงโซ่อาหารของทั้งโลกถูกทำลาย ทำให้อาหารไม่พอจนคนตายเพราะอดอาหาร?
(ยังมีต่อ)
วินทร์ เลียววาริณ
www.winbookclub.com
26 เมษายน 2551