http://www.thaipost....ws/090514/90210
สสค.เผย การศึกษาไทยรั้งท้ายอาเซียน เด็กหลุดนอกระบบ 3-5 ล้านคน แรงงาน 80% ไร้ฝีมือ เศรษฐกิจไม่ขยับ ติดกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางมานานถึง 30 ปี ‘อ๋อย’ ชี้ปฏิรูปการศึกษาต้องกระจายอำนาจให้ชุมชน หาความสมดุลบริหารการศึกษา ส่งเสริมให้เด็กรักการอ่าน
สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายเพื่อนปฏิรูปการเรียนรู้จัดการประชุมวิชาการ “อภิวัฒน์การเรียนรู้สู่จุดเปลี่ยนประเทศไทย” นายกฤษณพงศ์ กีรติกร รองประธาน สสค. กล่าวว่า มีตัวชี้วัดสำคัญเพื่อสะท้อนประสิทธิภาพการจัดการศึกษาทั่วโลกให้การยอมรับอยู่ 4 ด้าน ได้แก่
1.ทรัพยากรด้านการศึกษา
2.ระยะเวลาการอยู่ในสถานศึกษาของเด็ก
3.ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา
4.ผลลัพธ์ด้านสังคมและเศรษฐกิจ
ซึ่งพบว่าประเทศไทยยังมีปัญหาทั้ง 4 ด้าน
ในส่วนของการลงทุนนั้น ประเทศไทยลงทุนด้านการศึกษาเป็นอันดับ 2 ของโลก ซึ่งพบว่างบประมาณกว่า 95% ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายเงินเดือนบุคลากร งานบริหารและครุภัณฑ์ มีเพียง 4.5% เท่านั้นที่เป็นงบพัฒนาผู้เรียน โดยจากผลการจัดอันดับคุณภาพการศึกษาในเวทีเศรษฐกิจโลกที่ไทยอยู่ในอันดับรั้งท้ายของอาเซียน มาจากสาเหตุสำคัญคือ อัตราเข้าเรียนประถมศึกษามีเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาถึง 10% หรือ 3-5 ล้านคน อีกทั้งเด็กไทยเกือบครึ่งของประเทศก็อยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐาน นอกจากนี้ยังพบอีกว่า แรงงานไทยส่วนใหญ่ถึง 80% เป็นแรงงานไร้ฝีมือ ประเทศไทยจึงเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางมาเป็นระยะเวลานานกว่า 30 ปี เพราะระบบการผลิตกำลังคนและการวิจัยของเรายังอ่อนแอ
นายกฤษณพงศ์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ มีข้อเสนอถึงระบบบริหารจัดการใหม่ซึ่งได้จากการสังเคราะห์ความรู้จากประเทศที่ประสบความสำเร็จทางการศึกษา และจากเวทีระดมความเห็นของทุกภาคส่วนในสังคมเพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพทางการศึกษา ประกอบด้วย การยกระดับคุณภาพครูคุณภาพครู เพื่อสร้างจุดเปลี่ยนเรียนรู้ในห้องเรียน การลดช่องว่างคุณภาพโรงเรียน เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กในทุกพื้นที่เข้าถึงโรงเรียนดี มีคุณภาพ ขยายผลระบบดูแลช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส การสร้างโอกาสการเข้าถึงสื่อการอ่านและพื้นที่การอ่าน และปรับปรุงหลักสูตรกระบวนการเรียนการสอนเพื่อปลูกฝังทัศนคติและทักษะการทำงานที่ดี
โดยนายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า การปฏิรูปศึกษาต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้เรียนอย่างเต็มศักยภาพ รวมถึงส่งเสริมให้มีการกระจายอำนาจให้ชุมชนได้มีบทบาทมากขึ้น ให้โรงเรียนมีอิสระในการจัดการศึกษามากขึ้น ซึ่งจากข้อมูลพบว่ามีเด็ก ป.3 อ่านหนังสือไม่ออกหลายหมื่นคน และหลายแสนคนอ่านหนังสือไม่เข้าใจ สาเหตุของปัญหาคือ หลักสูตรและเวลาที่เด็กต้องเรียนถึง 8 กลุ่มสาระ ทำให้เวลาสอนภาษาน้อยเกินไป และหลักสูตรที่ให้สอนแบบอ่านเป็นคำ ไม่ได้สอนสะกดคำ และการเรียนหลักไวยากรณ์ตั้งแต่เล็ก ภาษาไทยจึงกลายเป็นวิชาที่ยากและน่าเบื่อ ซึ่งต้องมีการส่งเสริมการอ่านโดยอาศัยการส่งเสริมจากหลายองค์ประกอบ เช่น สร้างสิ่งแวดล้อมให้คนรักการอ่าน สร้างห้องสมุด หรือมีหนังสือดีๆ น่าอ่าน เป็นต้น
นายจาตุรนต์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ การเรียนการสอนในพื้นที่สูงและพื้นที่ชายขอบที่มีหลายกลุ่มชาติพันธุ์นั้นยังมีปัญหาอยู่ โดยเฉพาะด้านภาษาที่เป็นภาษาของชาติ ซึ่งพบว่าการสอนของครูสอนในลักษณะเดียวกับเด็กไทยทั่วไป ทำให้เด็กเหล่านี้ยังไม่เข้าใจในภาษาไทย สาเหตุที่สำคัญคือเรายังไม่มีระบบการผลิตและพัฒนาครู ในเรื่องของวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ของกลุ่มชาติพันธุ์ และวิธีการสอนภาษาที่ดี ฉะนั้นต้องปรับการสอนใหม่ให้ใช้ทวิภาษา โดยเริ่มสอนจากภาษาที่เด็กใช้ในชีวิตประจำวันก่อน จากนั้นจึงมาสอนเป็นภาษากลาง ซึ่งทั่วโลกค้นพบมานานแล้วว่าทำให้เด็กเรียนรู้ได้ดีขึ้นมากกว่าสอนภาษากลางตั้งแต่ต้น.