เครือข่ายราษฎรอาสาปกป้อง ๓ สถาบัน (ครส.)
จดหมายเปิดผนึก
ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาวิกฤตชาติ และการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่
สาเหตุที่บ้านเมืองขาดคณะรัฐมนตรี จนเกิดสภาพสุญญากาศทางการเมือง
๑. จากการที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากความ
เป็นรัฐมนตรีเฉพาะตัวตามมาตรา ๑๘๒ และส่งผลให้รัฐมนตรีบางท่านต้องพ้นจากตำแหน่งด้วย
๒. การให้ความเห็นชอบบุคคลขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีใหม่ตามรัฐธรรมนูญจะ
กระทำไม่ได้เลยภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เพราะต้องให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร
พิจารณา ตามมาตรา ๑๗๒ และบุคคลนั้นต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๑๗๑
ซึ่งขณะนี้ ไม่มีสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเนื่องมาจากการยุบสภา
๓. การขาดนายกรัฐมนตรีทำให้ขาดองค์ประกอบสำคัญของคณะรัฐมนตรี
ตามมาตรา ๑๗๑ วรรคแรก รัฐบาลไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ อีกทั้งไม่มีผู้รับสนอง
พระบรมราชโองการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปได้
๔. สถานการณ์ของบ้านเมืองจึงตกอยู่ในสุญญากาศทางการเมืองที่ไม่มี
คณะรัฐมนตรีและไม่อาจตั้งใครขึ้นปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีได้ จึงเป็นความจำเป็น
ของบ้านเมืองที่จะต้องดำเนินการโดยใช้มาตรการอื่นในรัฐธรรมนูญขึ้นทดแทนเพื่อ
ซ่อมแซมโครงสร้างทางการเมืองที่ไม่สมบูรณ์ให้ใช้การได้ต่อไป โดยอาศัยการวินิจฉัย
ให้เป็นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ตามมาตรา ๗
แนวทางที่ ๑ : การบูรณะโครงสร้างการเมืองไทยโดยอาศัยธรรมเนียมการปกครอง
ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีลำดับขั้นตอน ดังนี้
๑. อาศัยอำนาจอธิปไตยที่เป็นของปวงชนชาวไทย ซึ่งพระมหากษัตริย์ผู้ทรง
เป็นประมุขทรงใช้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา ๑ มาตรา ๒ มาตรา ๓ และมาตรา ๑๐
๒. มาตรา ๑ คำว่าราชอาณาจักร เป็นการประกาศรูปแบบรัฐโดยชัดแจ้งว่า
ปกครองโดยพระมหากษัตริย์ มีอำนาจอธิปไตยในด้านการปกครอง (Ruling Power) หรือ
ทรงเป็นรัฏฐาธิปัตย์ในการปกครองนั่นเอง
๓. มาตรา ๒ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหา
กษัตริย์ทรงเป็นประมุข แสดงให้เห็นในอีกมิติหนึ่งว่า อำนาจในทางการปกครองที่เป็น
“การเมือง”นั่น เป็นของประชาชนโดยอีกสถานะหนึ่งของพระมหากษัตริย์ก็เป็นประชาชนด้วย
และได้รับการยกให้เป็นประมุขของประชาชนผู้มีอำนาจอธิปไตยในทางการเมือง
๔. มาตรา ๓ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้
ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาลตามบทบัญญัติแห่ง
รัฐธรรมนูญนี้
๕. นอกจากนี้ พระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขผู้ปกครองประเทศยังมีพระราช
อำนาจในด้านการรักษาความมั่นคงแห่งรัฐ ปรากฏในมาตรา ๑๐ ของรัฐธรรมนูญที่พระมหา
กษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย กองทัพเป็นผู้พิทักษ์รักษาความมั่งคงของชาติและ
สถาบันที่จะสร้างความมั่นใจให้กับการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยในด้าน
การเมืองด้วย
๖. ในยามปกติแล้ว คณะบุคคลที่เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในการใช้
อำนาจอธิปไตยเหล่านั้น ได้แก่ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี
ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด และผู้พิทักษ์รักษา
อำนาจอธิปไตยในด้านความมั่นคง ได้แก่ ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ และ
ผู้บัญชาการทหารอากาศ คณะบุคคลดังกล่าวจึงเป็นผู้นำองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยในด้าน
ต่าง ๆ นั่นเอง ส่วนองค์กรอิสระไม่ใช่องค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยโดยตรงตามนัยยะมาตรา ๓
ของรัฐธรรมนูญ
๗. ดังนั้น ในยามที่บ้านเมืองคับขันประสบกับภาวะขาดผู้นำองค์กรผู้ใช้อำนาจ
อธิปไตยในบางด้าน การให้ผู้นำองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยในส่วนที่เหลือได้ช่วยในการซ่อม
สร้างขึ้นมาทดแทนก็น่าจะเหมาะสม บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของนายกรัฐมนตรี
เป็นเพียงวิธีการตามกฎหมาย สามารถแก้ไขหรือยกเว้นโดยผู้ใช้อำนาจอธิปไตยให้เหมาะสม
เพื่อการแก้ไขเหตุการณ์เมื่อคราวจำเป็น เพื่อให้สภาพการณ์ที่เป็นสุญญากาศนั้นหมดไป
๘. องค์คณะผู้นำองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตย (อาจเรียกว่า คณะอธิปมนตรี
แห่งรัฐ) ที่เหลืออยู่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ประกอบด้วย
๑. รองประธานวุฒิสภา (นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย) ปฏิบัติ
หน้าที่แทนประธานวุฒิสภาจนกว่าจะได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นประธานวุฒิสภาคนใหม่
๒. ประธานศาลฎีกา (นาย ดิเรก อิงคนินันท์)
๓. ประธานศาลรัฐธรรมนูญ (นาย จรูญ อินทจาร)
๔. ประธานศาลปกครองสูงสุด (นาย หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล)
๕. ผู้บัญชาการทหารบก (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา)
๖. ผู้บัญชาการทหารเรือ (พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย)
๗. ผู้บัญชาการทหารอากาศ (พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง)
(หมายเหตุ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายกรัฐมนตรี เป็นตำแหน่งที่ขาดไป)
๙. รองประธานวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่ประธานวุฒิสภา ริเริ่มเชิญบุคคลในองค์
คณะที่เหลือเข้าร่วมหารือ และหาข้อยุติในประเด็นปัญหา เพื่อนำความเข้ากราบบังคับทูล
และรับสนองพระบรมราชโองการ เพื่อให้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ นายกรัฐมนตรี
คนใหม่ ขจัดอุปสรรคเรื่องวิธีการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีโดยอ้างประเพณีปฏิบัติตาม
รัฐธรรมนูญที่เคยใช้
๑๐. ข้อดีในการใช้แนวทางที่ ๑ นี้ก็คือ มีความเชื่อมโยงกับผู้ใช้อำนาจอธิปไตย
โดยตรงและได้บุคคลที่ได้รับการยอมรับจากผู้นำของทั้ง ๓ เหล่าทัพ จึงมีหลักประกันด้าน
ความมั่นคง
แนวทางที่ ๒ : ใช้หลักประเพณีการปกครอง ฯ ตามมาตรา ๗ ของรัฐธรรมนูญอย่างเดียว
โดยคำว่าประเพณีหมายถึง สิ่งที่ยึดถือปฏิบัติสืบกันมาจนเป็นแบบแผน ขนบธรรมเนียม ซึ่ง
ประเพณีการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนี้ ประเทศไทยได้
ยึดถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่ ๒๔๗๕ หรือจะยึดถือตามชื่อเรียกการปกครองประชาธิปไตย อันมี
พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ปรากฏในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ โดยแบบแผน
ต่าง ๆ ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือธรรมนูญการปกครองฯ ทุกฉบับ ดังนั้น ในกรณีที่มา
ของ นายกรัฐมนตรีตามประเพณีที่เคยปฏิบัติ และมีบทบัญญัติไว้ใน รัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ
มีดังนี้
๑. นายกรัฐมนตรีทุกคน ต้องได้รับโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์
๒. ในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมา ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการทุกครั้ง
๓. มีประธานสภาในชื่อเรียกต่าง ๆ หรือ หัวหน้าคณะรัฐประหาร ในชื่อเรียกต่างๆ เป็นผู้
รับสนองพระบรมราชโองการ
๔. คุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี บางครั้งก็มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บางครั้งก็ไม่
กำหนด ซึ่งส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
๕. การคัดเลือกนายกรัฐมนตรี บางครั้งก็ทำในที่ประชุมสภาหรือบางครั้งก็ไม่มีข้อกำหนด
กล่าวคือไม่จำเป็นต้องผ่านที่ประชุมสภาก็ได้
จึงสรุปได้ว่า หากจะอ้างประเพณีการปกครอง ฯ ที่เคยปฏิบัติแล้ว
นายกรัฐมนตรีก็ไม่จำเป็นต้องมาจากการคัดเลือกของที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทน
ราษฎร และไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ “ต้อง” แต่งตั้งและ
โปรดเกล้าฯ โดยพระมหากษัตริย์ โดยมีประธานสภาในขณะนั้น ไม่ว่าในชื่ออื่นใด
เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ดังนั้น ในสภาพสุญญากาศทางการเมืองไทยในปัจจุบัน รองประธานวุฒิสภา
ปฏิบัติหน้าที่ประธานวุฒิสภา อาจหารือที่ประชุมวุฒิสภาเพื่อกำหนดกรอบปฏิบัติตาม
ประเพณีดังกล่าว ทั้งนี้ไม่ว่าจะใช้แนวทางใด ก็ถือเป็นสิทธิเฉพาะตัวของรองประธานวุฒิสภา
ปฏิบัติหน้าที่ประธานวุฒิสภาเพื่อเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่
ซึ่งถือเป็นการวินิจฉัยกรณีไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา
กษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งนี้ สมควรรีบดำเนินการเพื่อนำสันติสุขกลับสู่บ้านเมืองโดยเร็วที่สุด
นาย บวร ยสินทร
เครือข่ายราษฎรอาสาปกป้อง ๓ สถาบัน (ครส.)
๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗