นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนขอขอบคุณชาวบางบาลที่เสียสละให้พื้นที่รับน้ำทำแก้มลิงซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์มาก เพราะเรามีความจำเป็นต้องหาพื้นที่รับน้ำชั่วคราว ทั้งนี้ขอฝากผู้ว่าราชการจังหวัดไปดูแลประชาชน เพราะถือว่าทำคุณประโยชน์ให้กับจังหวัดและประเทศ ซึ่งวิธีการนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดเพราะจะสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างเป็นระเบียบและพื้นที่เหล่านี้ก็จะเป็นพื้นที่เชื่อมต่อแม่น้ำสายหลัก และต้องไปดูการขุดลอกคูคลองเพื่อให้น้ำไหลผ่านลงมาสู่แก้มลิง จากนั้นก็สูบน้ำระบายออกในเวลาที่เหมาะสม จะต้องให้กระทบกับการดำรงชีวิตของประชาชนให้น้อยที่สุด นี่คือหัวใจสำคัญที่เข้ามาทำการขอร้องประชาชน
"เรามีความรู้สึกประทับใจที่ประชาชนเสียสละให้กับรัฐบาลและกยน.ในการหาพื้ยนที่รับน้ำ ถ้าเราจัดให้น้ำอยู่เป็นระบบเราก็จะแก้ไขปัญหาน้ำที่ไม่มีจุดจบได้ วันที่ 17 ก.พ. ตนจะลงไปดูพื้นที่ปลายน้ำทั้งหมดเพื่อให้น้ำไหลผ่านลงทะเลได้อย่างสะดวก ซึ่งระหว่างนั้นเราต้องพักน้ำในแก้มลิงก่อน ทั้งนี้รัฐบาลยืนยันว่าจะพัฒนาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและพัฒนาเศรษฐกิจต้อนรับเวิลด์เอ็กซ์โป 2020 ด้วยจากนั้นนายกรัฐมนตรีและคณะ เดินทางไปยังพื้นที่เกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา เพื่อตรวจเยี่ยมการบูรณะพื้นที่โบราณที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยครั้งที่ผ่านมา" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว
บางบาล-ปทุมโวยลั่น รบ.มัดมือชกแก้มลิง ต้องทำประชาพิจารณ์ก่อน นายกฯปิดฉากทัวร์นกขมิ้น
ที่ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อ เวลา 9.30 น. วันที่ 17 กุมภาพันธ์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการติดตามการแก้ปัญหาอุทกภัย และการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำตลอด 5 วันที่ผ่านมาว่า มีการอนุมัติโครงการป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมเพิ่มเติม จากการสรุปร่วมกันระหว่าง คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อ วางระบบการบริหารทรัพยากรน้ำ (กยน.) และ ผู้ว่าราชการจังหวัด อีก 117 โครงการใช้งบประมาณอีก 5 พันล้านบาท
ยังต้องการพื้นที่แก้มลิงรับน้ำเพิ่ม
ทั้งนี้ได้ให้แต่ละหน่วยงานไปทำเรื่องเสนอเข้าครม.ในวันที่ 20 ก.พ.นี้ โดยจะมีคณะทำงานลงไปติดตามการทำงานใน 3 เดือนนี้อย่างใกล้ชิด ส่วนพื้นที่แก้มลิงได้ทั้งหมด 1.5 ล้านไร่ สามารถรองรับน้ำได้ประมาณ 5 พันล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้หากเป็นไปได้รัฐบาลก็ยังต้องการพื้นที่แก้มลิงจากประชาชนเพิ่มเติม
ยังอุบไต๋ยอดตัวเลขเยียวยา
รัฐบาลต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงาน ทุกกระทรวง ผู้ว่าราชการทุกจังหวัด รวมถึงผู้ว่าฯกทม.ที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
วันนี้เราได้เชื่อมการแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบแล้ว ขอบคุณประชาชนที่ให้พื้นที่รับน้ำในนามของรัฐบาลยืนยันว่าจะดูแลเยียวยาให้ดีที่สุด แต่ยังไม่ขอเปิดเผยตัวเลขการจ่ายเงินเยียวยา ขอให้ ผวจ.ได้ลงไปทำความเข้าใจกับประชาชน ในพื้นที่ก่อนนายกฯกล่าว
คาดปริมาณน้ำ2หมื่นล้านลบ.ม.
เมื่อถามว่าสถานการณ์น้ำในปีนี้ จะท่วม กทม.หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า เราตั้งสมมุติฐานน้ำไว้ที่ 2 หมื่นล้าน ลบ.ม. การระบายน้ำของเขื่อนรับไป 5 พันล้าน ลบ.ม. พื้นที่แก้มลิงอีก 5 พัน ลบ.ม. ดังนั้นน้ำจะหายไป 1 หมื่นล้าน ลบ.ม. เหลืออีก 1 หมื่นล้าน ลบ.ม. ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน และประชาชนในการขุดลอก คูคลองให้น้ำไหลสะดวก
ฟุ้งแผนชัดเจนปีนี้เอาอยู่แน่
ดังนั้นหากไม่มีปริมาณน้ำฝนมากกว่านี้ การขุดลอกคูคลองได้รับความร่วมมือ อย่างดี ก็มั่นใจว่าสถานการณ์จะดีกว่าปีที่ผ่านมาแน่นอน เพราะเราจะให้น้ำไหลไปตามฟลัดเวย์ธรรมชาติ แต่ยอมรับว่าอาจมีพื้นที่ที่กระทบบ้าง เพราะผังเมืองวันนี้เปลี่ยนไป ซึ่งเรายังไม่ได้สำรวจ แต่ก็เชื่อว่าสถานการณ์น่าจะดีกว่าปีที่แล้ว รวมทั้งกทม. ไม่น่ามีสภาพอย่างที่เคยเห็นนายกฯกล่าว
ปิดท้ายตรวจปตร.จุฬาลงกรณ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังนายกฯแถลงข่าวสรุปผลการลงพื้นที่ติดตามแก้ปัญหาอุทกภัยฯแล้ว ได้เดินทางต่อไปยังประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นพื้นที่โครงการ ส่งน้ำ และบำรุงรักษารังสิตใต้ จ.ปทุมธานี โดยมีประชาชน กลุ่มคนเสื้อแดงมารอต้อนรับ จำนวนหนึ่ง
ชูชาติโวยคนปทุมก็เดือดร้อน
โดยนายชูชาติ หาญสวัสดิ์ รมช. มหาดไทยกล่าวลักษณะตัดพ้อว่า ตนเป็นห่วงอยุธยา แล้วน้ำไม่ผ่านจ.ปทุมธานีหรืออย่างไร คนปทุมฯจะอยู่กันอย่างไร เป็นห่วง จ.พระนครศรีอยุธยา แล้วจะให้จ.ปทุมธานีเป็นพื้นที่รับน้ำหรืออย่างไร ตนเป็นห่วงกระบวนการ บริหารจัดการน้ำ อยากชี้แจงข้อเท็จจริง ให้นายกฯเข้าใจ ตนไม่เข้าใจว่ากรมชลประทาน ทำอย่างนี้ได้อย่างไร
นายกฯตัดบทโยนเข้ากยน.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างนั้นนายกฯ ได้ชิงแย่งไมค์จากนายชูชาติทันที พร้อมพูดตัดบทว่า ทุกอย่างอยู่ในแผนของ กยน.แล้ว เข้าใจในข้อกังวล จากนี้จะนำเรื่องเข้าที่ประชุมกยน. พร้อมได้มอบให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทยเข้าไปดูแล และได้ให้ตัวแทนการประปา ชี้แจงถึงแผนการก่อสร้างสถานีสูบน้ำจุฬาลงกรณ์เพิ่มเติมแทน
เพิ่มศักยภาพสถานีสูบน้ำจุฬาฯ
ด้านนายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า กรมชลประทานเร่งเพิ่มประสิทธิภาพ สถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์ ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี โดยระยะเร่งด่วนจะติดตั้งเครื่องสูบน้ำกึ่งถาวร 12 เครื่อง ปรับปรุงเครื่องสูบน้ำ สถานีสูบน้ำจุฬาลงกรณ์เดิมให้เสร็จในเดือนพฤษภาคม เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำได้ถึง 108 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็นปริมาณน้ำที่ระบายสูงสุดต่อวันถึง 9.33 ล้านลบ.ม. ระยะยาวสร้างสถานีสูบน้ำจุฬาลงกรณ์ เพิ่มเติมสูบน้ำได้สองทาง เมื่อโครงการแล้วเสร็จ สถานีสูบน้ำจุฬาลงกรณ์จะระบายน้ำรวมกันได้ 144 ลบ.ม.ต่อวินาที คิดเป็นปริมาณน้ำ 12.44 ล้านลบ.ม.ต่อวัน บรรเทาปัญหาน้ำท่วม พื้นที่จ.ปทุมธานีและกทม. นายธีระ กล่าว
ชาวบางบาลโวยลั่นถูกมัดมือชก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะเดียวกันได้มีความเคลื่อนไหวจากชาวบ้านในพื้นที่ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ไม่พอใจกรณีที่นายกฯ ประกาศว่าชาวบางบาลเต็มใจเป็นพื้นที่แก้มลิงเพื่อรับน้ำเหนือหลาก โดย นางสุดใจ อินทลำพัน อยู่บ้านเลขที่ 60/1 ม.2 ต.บางหลวง อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า รู้สึกงุนงงกับการมัดมือชกของภาครัฐ ไม่ทราบว่าเอาข้อมูลจากไหนเพราะความจริงการเสนอตัวเป็นทุ่งรับน้ำนั้น อยากถามว่าใครเสนอ ใครเห็นชอบ เพราะชาวบ้านจริงๆ เขาไม่ได้เสนอตัวแต่อย่างใด ส่วนราชการมัดมือชกเสนอตัวโดยอ้างชาวบ้านเองเสียมากกว่า
แนะให้ต้องทำประชามติก่อน
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมามีการนำชาวบ้านไปต้อนรับนายกฯที่วัดไผ่ล้อม นั้นจริงๆ แล้วถึงจะเป็นชาวบางบาลก็จริง แต่พบว่าเป็นแกนนำชาวบ้านในสายของ อสม. หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน โดยขอความร่วมมือไปต้อนรับนายกรัฐมนตรี แต่จะมาเหมาว่าชาว อ.บางบาล พร้อมและเห็นชอบกับการรับน้ำไม่ได้ เพราะยังไม่มีการ ทำประชาคม ประชามติ หรือประชาพิจารณ์เลย
จวกยับมาบอกว่ายอมรับน้ำได้ไง
ขนาดป้าเองสนใจในเรื่องนี้ ยังไม่ทราบเลย รวมทั้งไม่ทราบเงื่อนไขรายละเอียด อะไรเลย ชาวบ้านไม่ทราบอะไรเลยและจะมารับปากเต็มใจยกที่นาให้รับน้ำแทนคนอื่นได้อย่างไร จริงๆ ก็ไม่ขัดแบบขวางเต็มที่ เพราะหากเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบก็ยอม แต่หากเสียงส่วนใหญ่ไม่เอาก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องพิจารณาตามเสียงของชาวบ้านแต่นี่อะไร มาบอกว่าชาวบ้านรับแบบเต็มใจทั้งๆ ที่ชาวบ้าน ยังไม่ทราบอะไรเลย นางสุดใจกล่าว
ชาวบ้านยืนกรานไม่เอาด้วย
ด้านนางต้นอ้อ กลิ่นสุคนธ์ อายุ 40 ปี ชาวบ้าน ม.10 ต.มหาพราหมณ์ อ.บางบาล กล่าวว่า ตนเองไม่ทำการเกษตรแต่ทำอิฐมอญ และมีโรงอิฐจำนวนมากกว่า 200 โรงตั้งกลางทุ่งอำเภอบางบาล เพราะโรงอิฐตั้งใกล้ชุมชนไม่ได้มันมีควันไฟเวลาเผาอิฐ และหากเอาพื้นที่ทุ่งมารับน้ำเหนือหลากตนเองก็ไม่เห็นด้วยและงงกับข่าวที่นายกฯบอกว่าชาวบ้านเห็นชอบ
ฉันก็เป็นชาวบ้านไม่ได้เห็นชอบตามที่นายกฯบอกแม้แต่น้อยเพราะเมื่อปี 2554 น้ำเข้ามาท่วมในพื้นที่มากมาย โรงอิฐตนเองเสียหายไปกว่า 1 ล้านบาท และได้รับเงินชดเชยมาเพียง 5,000 บาท เท่านั้นถามว่าคุ้มหรือไม่ นางต้นอ้อกล่าว
นายกเล็กปทุมฯค้านเป็นแก้มลิง
ขณะที่นายชาญ พวงเพ็ชร์ นายกอบจ.ปทุมธานี กล่าวว่า ตามที่มีกระแสว่ารัฐบาลจะใช้พื้นที่ของ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี เป็นแก้มลิงเพื่อรองรับน้ำที่จะบ่าเข้ามาในพื้นที่ของปีนี้นั้น ตนเองยังไม่ทราบรายละเอียดหรือ เห็นข่าวนี้แต่อย่างใด เพียงแต่มีชาวบ้านในพื้นที่โทรศัพท์มาสอบถามในเรื่องนี้ แต่โดยส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดนี้
ลั่นต้องทำประชาพิจารณ์ก่อน
ในความเป็นจริงแล้วนั้นพื้นที่ของจ.ปทุมธานีนั้น ในปัจจุบันนี้ถือว่าเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่มีน้อยมาก โดยเฉพาะ อ.สามโคก ปัจจุบันมีชุมชนและบ้านจัดสรรเกิดขึ้นมามากมาย ดังนั้น การจะใช้เป็นพื้นที่เก็บน้ำคงไม่ถูกต้องที่สำคัญนั้นเขามีการสอบถามหรือทำประชาพิจารณ์กันก่อนหรือยังเพราะถือว่าเป็นเรื่องที่กระทบต่อประชาชนในพื้นที่เป็นจำนวนมาก จึงควรมีการสอบถาม ความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่กันเสียก่อน นายชาญกล่าว
Edited by Bookmarks, 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - 23:26.